“วิสาหกิจชุมชนพิลาฟาร์มสตูดิโอ” กิจการชุมชนพันธุ์ใหม่ : แฟชั่น+วิถีเกษตร+ท่องเที่ยว
จากแฟชั่นดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ห้องเสื้อ ในวันที่ถูกพิษโควิดเล่นงาน ทำให้ “นิพนธ์ พิลา” ตัดสินใจกลับมาทำฟาร์มเกษตรที่บ้านเกิด ใน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ โดยดึงแรงบันดาลใจจากการออกแบบแฟชั่นมาผสานข้ามสายพันธุ์กับธุรกิจเกษตรชุมชน รีแบรนด์ดิ้งกลายเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ที่เรียกว่า “Fashion Farming” สุดล้ำ
แฟชั่นฟาร์มมิ่ง ในนิยามของนิพนธ์มีหลายมิติ ตั้งแต่การออกแบบแลนด์สเคป ฟาร์ม การออกแบบการเล่าเรื่อง การออกแบบแบรนด์สินค้าชุมชนที่เน้นสินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าเกษตรปลอดภัย (GMP) ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่มาตรฐานเพื่อการส่งออก รวมไปถึงมิติการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เน้นความเรียบง่าย ซึ่งเป็นหัวใจของการออกแบบ มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน
ภายใต้รูปแบบขององค์กรที่ถูกออกแบบให้เป็น “วิสาหกิจชุมชน” ซึ่งเขาเห็นว่า เหมาะสมที่สุดในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ กลายเป็นที่มาของการจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนพิลาฟาร์มสตูดิโอ จ.เพชรบูรณ์” ขึ้นเมื่อปี 2564 มี “นิพนธ์” นั่งเป็นประธานวิสาหกิจชุมชน
ปัจจุบันวิสาหกิจแห่งนี้มีสมาชิก 50 คน (20 ครัวเรือน) สร้างรายได้ปีละประมาณ 4 ล้านบาท จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตร เช่น ข้าว กระเทียม หอมแดง ผักใบ ผักหัว ผักแต่งกลิ่น และผลผลิตการเกษตรแปรรูป อาทิ มะขาม
ในอนาคตยังมีแผนบูรณาการพื้นที่ ไปสู่การจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ขณะที่ด้านการตลาดจะสร้างกระแสการรับรู้ผ่านงานมหกรรมดนตรีในฟาร์ม การจัดตลาดนัดจำหน่ายสินค้าชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนให้เพิ่มขึ้น
การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนพิลาฟาร์มสตูดิโอ จ.เพชรบูรณ์ จึงได้รับรางวัล “วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ” ประเภทการเกษตร ที่มอบโดยมูลนิธิสัมมาชีพ
รางวัลดังกล่าวมอบให้กับวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารจัดการกิจการที่ดี มีศักยภาพ และสร้างประโยชน์แก่สมาชิก ชุมชน สังคม และถือเป็น “ต้นแบบความสำเร็จ” ที่จะขยายไปสู่วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม ในระดับฐานราก
“รู้สึกดีใจ และเซอร์ไพรส์ที่ได้รับรางวัลนี้ เพราะเราเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เพิ่งก่อตั้งได้ 2 ปี ด้วยคอนเซปต์ที่ค่อนข้างจะต่างออกไปจากวิสาหกิจชุมชนอื่น ขอนำรางวัลอันทรงเกียรติที่ได้รับนี้มอบให้กับชาวบ้าน ให้กับเกษตรกรผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเรา และให้กับชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ทุกท่าน” ประธานวิสาหกิจชุมชนพิลาฟาร์มสตูดิโอ กล่าว
เขายังเล่าย้อนว่า หลังตัดสินใจจะกลับมาทำฟาร์มเกษตรที่บ้านเกิด สิ่งที่พบคือ “ภาคการเกษตร” เป็นอีกภาคที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด อาจจะมากกว่าอีกหลายธุรกิจ เพราะปัญหาการขนส่งสินค้าเกษตรในช่วงล็อคดาวน์ ทำให้สินค้าเกษตรล้นตลาด ในช่วงนั้น วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ จึงเริ่มต้นจากการนำสินค้าเกษตรจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นฟาร์มออนไลน์ 100% ภายใต้คอนเซ็ปต์ “กินดีอยู่ดี”
ก่อนจะขยับการเป็นคู่สัญญาขายสินค้าเกษตรผ่านหน้าร้านการค้า อาทิ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ควบคู่ไปกับช่องทางออนไลน์ในปัจจุบัน
อีกทั้งไม่ได้จำหน่ายเฉพาะสินค้าเกษตรในฟาร์มของตนเอง แต่มองไกลไปถึงการนำสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพของ จ.เพชรบูรณ์ มาจำหน่าย
“ยิ่งทำ ยิ่งทำให้มองเห็นว่า สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพจาก จ.เพชรบูรณ์ มีมากมาย ดังนั้น แทนที่จะโปรโมทแบรนด์สินค้าพิลาฟาร์มอย่างเดียว เราก็เล่าเรื่องให้ใหญ่ขึ้นด้วยการนำเสนอสินค้าเกษตรจากเพชรบูรณ์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี ช่วยชุมชนในพื้นที่ให้มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานคืนถิ่น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ เด็กจบใหม่ ที่ได้แรงบันดาลใจจากโมเดลธุรกิจนี้”
นิพนธ์ ยังให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ มีส่วนผสมของคนทำงานใน 3 เจเนอเรชั่น ทั้งคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ คนรุ่นตนเอง และคนรุ่นใหม่ มาร่วมกันระดมความคิด ความเห็น และร่วมกันทำงาน โดยสมาชิกที่เป็นเกษตรกรจะนำสินค้าเกษตรมาจำหน่ายผ่านช่องทางวิสาหกิจชุมชนฯ ส่วนสมาชิกที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร ก็จะมาเป็นพนักงานซึ่งได้รับค่าตอบแทนการทำงาน
“วิสาหกิจชุมชนของเรา เติบโตก้าวกระโดด ปีแรกโต 100% ปีที่สอง เติบโต 250% ปีที่ 3 คาดว่าหลังเปิดตัว สเตย์พิลาฟาร์ม ซึ่งเป็นที่พักออกแบบในสไตล์โลว์คาร์บอน รองรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร คาดว่าจะเติบโตก้าวกระโดดเป็น 500% หมายถึงฐานสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนฯก็จะเพิ่มขึ้น จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว พร้อมไปกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น”
นอกจากนั้น วิสาหกิจชุมชนฟิลาฟาร์มสตูโอ ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ ที่มีผู้คนจากหลายจังหวัด รวมถึงสถาบันการศึกษามาศึกษาดูงาน เพื่อขยายมุมมองความคิด ต่อยอดความรู้ สู่การทำฟาร์มเกษตรตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ “นิพนธ์” เล่า
และนี่คือ อีกหนึ่งต้นแบบวิสาหกิจชุมชนฯ ที่ใช้แนวคิดการออกแบบที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง มาพัฒนาพื้นที่ฟาร์มเกษตร และนำจุดแข็งด้านการเกษตรของประเทศ มาพัฒนาจากเกษตรดั้งเดิม สู่ “เกษตรสมัยใหม่-เกษตรสร้างสรรค์” ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพนี้ต่อไป