“ลิบง โฮมสเตย์” เสน่ห์ชาวเกาะ สู่สัมมาชีพยั่งยืน
“เกาะลิบง” ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ชื่อเสียงในเรื่องของความงดงามของท้องทะเลสีคราม จัดได้ว่าระดับโลกเลยทีเดียว แม้เกาะลิบงจะเริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จัก แต่ชาวบ้านยังคงดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ซึ่งการทำประมงพื้นบ้านและสวนยางพารา ถือเป็นอาชีพที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น
ชุมชนจากแดนใต้แห่งนี้ เคยได้รับการคัดเลือกให้เข้าแข่งขันประกวดรางวัลวิสาหกิจชุมชน-สัมมาชีพ มาแล้ว “กลุ่มวิสาหกิจฯ ลิบงโฮมสเตย์” มีดีอย่างไร วันนี้ทีมงานมูลนิธิสัมมาชีพ มีข้อมูลมาฝากกัน
“เกาะลิบงเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของทะเลตรัง และยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญของเมืองตรัง ตำบลลิบงมี 8 หมู่บ้าน แต่ในพื้นที่บนเกาะมี 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1, 4, 5 และ 7 มีพื้นที่ทั้งหมด 28,295 ไร่ หรือ ประมาณ 45.27 ตารางกิโลเมตร
“รอบๆ เกาะลิบงทางทิศตะวันออกของเกาะจะเต็มไปด้วยป่าชายเลนและหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กำลังจะสูญพันธุ์ พบได้มากบริเวณนี้ จนได้รับการขนานนามว่า “เป็นเมืองหลวงของพะยูน” เวลาน้ำลดสามารถเดินไปถึงหาดตูบ ซึ่งมีนกทะเลและนกอพยพมาจากไซบีเรีย ทิศตะวันตกของเกาะจะเป็นปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของหอยเป๋าฮื้อ ชายหาดขาว น้ำใส เหมาะสำหรับเล่นน้ำ” ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ได้รับการบอกเล่าจาก “นายอิสมาแอน เบ็ญสอาด” ประธานวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง
จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนจึงได้ดำเนินการจัดการท่องเที่ยวชุมชน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม
“ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง มีการจัดการทรัพยากร” เป็นวิสัยทัศน์ของ “กลุ่มวิสาหกิจ โฮมสเตย์ ชมรมท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนเกาะลิบง” ซึ่งจดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปี 2552 มีสมาชิกทั้งหมด 200 ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2558 มีรายได้จากการดำเนินการ จำนวน 1,125,550 บาท ปี พ.ศ. 2559 จำนวนเงิน 2,200,850 บาท และปี พ.ศ. 2560 จำนวน 1,967,800 บาท
นายอีสมาแอน ได้เล่าถึงเบื้องหลังความสำเร็จว่ากว่าจะเป็นอย่างทุกวันนี้ กลุ่มวิสาหกิจโฮมสเตย์ฯ เกาะลิบง มีการวางกฎระเบียบกลุ่ม แบ่งบทบาทหน้าที่ ตามภารกิจออกเป็น 8 กลุ่ม และจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเชื่อมร้อยกิจกรรมต่างๆ เพื่อการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน
ในอดีตรูปแบบการจัดการท่องเที่ยว ชาวบ้านทำกันเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ต่อมาเมื่อในปี พ.ศ. 2545 เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จังหวัดตรัง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวสู่การจัดทำมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย โดยสมาชิกทุกคนมีเงินฝากในกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และจะมีการประชุมสมาชิกทุกวันที่ 25 ของเดือน เพื่อจัดทำแผนงานฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรไปสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง
ผลจากการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจ ลิบงโฮมสเตย์ ได้ทำให้เกิดกระแสหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 – 2560 เป็นเงิน 5,294,200 บาท เฉลี่ย 1,764,733 บาท/ปี สร้างรายได้ให้สมาชิกในชุมชนเกาะลิบง ประมาณ 2,205 บาท/ครัวเรือน/เดือน ผลิตภัณฑ์ของชุมชน ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป เช่น กะปิกุ้ง ปลาเค็มสีเสียด น้ำพริกทะเลปู อาหารทะเลแช่แข็ง เช่น ปูม้า ปลาอินทรีย์ นอกจากนี้ยังมีบ้านพักโฮมสเตย์ เป็นรายได้เสริมของชุมชน การันตีด้วยรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย 3 สมัย กรมการท่องเที่ยว รางวัลด้านอนุรักษ์พะยูน กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นายอิสมาแอน เล่าต่อว่า บนเกาะมีที่พักโฮมสเตย์ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม อาทิ ถ้ำบาตู เขาบาตูปูเต๊ะ บ่อน้ำจืดในทะเล แหลมจูโหย แหลมปันหยัง ขณะที่กิจกรรมที่ชุมชนจัดให้นักท่องเที่ยวเลือก เช่น ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์พระยาลิบง, ชมถ้ำชาวเล, ชมโล๊ะกุ้ง, ออกเรือกับชาวประมง ตกปลา ตกหมึก, ชมนกอพยพจากไซบีเรียและนกประจำถิ่น, ชมสะพานหิน ประติมากรรมธรรมชาติ หรือออกเรือไปชมแหล่งที่อยู่ของพะยูน เป็นต้น
สำหรับกลุ่มลูกค้ามาจากคนภายในระดับชุมชน ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ช่องทางการจัดจำหน่ายมีทั้งจำหน่ายเอง ผ่านตัวแทนจำหน่าย ออกงานจัดบูธแสดงสินค้าต่างๆ เป็นต้น ส่วนการจัดสรรผลกำไร ประกอบด้วยเพื่อชาวบ้านคนทำงาน 70% กองทุนเงินทุนสำรอง 20% กองทุนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 5% กองทุนสวัสดีการชุมชน 5%
“นอกจากนี้ยังเกิดการรวมตัวของกลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นหลัง เช่น เพลงพื้นบ้าน ภูมิปัญญาเลี้ยงกุ้งมังกร การละเล่นพื้นบ้าน รองแง็ง ลาฮู ลิเกป่า ดนตรีพื้นบ้าน กลองสองหน้า การจักสาน การถนอมอาหารชาวเล ปลาเนื้อส้ม เป็นต้น ในด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เกิดสินค้าหรือบริการใหม่ เช่น “ตลาดวิถีชุมชนชาวเล” นายอีสมาแอน กล่าวและว่า แหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาถูกให้แก่สมาชิกเพื่อลดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นกับชาวชุมชนเกาะลิบง นับเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นได้ศึกษาเรียนรู้และปรับใช้ เพื่อพัฒนาต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ในที่สุด
เช่นเดียวกับภารกิจของมูลนิธิสัมมาชีพที่ได้ใช้แนวทางนี้ ในการหนุนเสริมโครงการต่างๆ ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างสัมมาชีพให้เต็มพื้นที่ต่อไป