skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“ปฏิวัติ”ระบบสาธารณสุข  เลิกผูกขาดจัดหายาต้านโควิด

“ปฏิวัติ”ระบบสาธารณสุข เลิกผูกขาดจัดหายาต้านโควิด

“ปฏิวัติ”ระบบสาธารณสุข

เลิกผูกขาดจัดหายาต้านโควิด

โควิดระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า รายงานผู้ป่วยใหม่จาก ศบค.กับกระทรวงสาธารณสุขมีเพิ่มขึ้นวันละระดับพันคนมาต่อเนื่องหลายเดือน แต่อาจารย์หมอจากโรงพยาบาลชั้นนำของไทย ทั้ง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เตือนถึงการระบาดว่า ไทยมีผู้ป่วยใหม่วันละเป็นแสนราย

ด้วยตัวเลขระดับพันแตกต่างกับเพิ่มขึ้นเป็นแสนรายกันไกลลิบลับทั้งเชิงปริมาณ หนำซ้ำยังสะท้อนถึงคุณภาพของระบบสาธารณสุขไทยมีอะไรแอบแฝง กลบซ่อน เอาแต่มุ่ง“กดตัวเลขผู้ป่วย”มากกว่าเน้นพุ่งเป้าไปควบคุมโรค ดังนั้นสิ่งที่รับรู้จากการ“เข้าถึงบริการ” จึงยากจะปักใจเชื่อได้สนิทใจ

 

แต่ความจริงอย่างน้อย 4 ประการปรากฎขึ้นทุกระลอกการระบาดของโควิด หนึ่งโรงพยาบาลรัฐ-เอกชนปัดตรวจหรือรับรักษาผู้ป่วยใหม่ โดยอ้างอย่างใจมึนชาและคุ้นชินปากอยู่ร่ำไปว่าเตียงเต็ม สองยังมีภาพหดหู่น่าเวทนายิ่งของผู้ป่วยหนักนอนซมอยู่บ้านรอวันเสียชีวิต สามกระทรวงสาธารณสุขเร่งประโคมให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดทอนความรุนแรงจากการติดโควิด และสี่ยาต้านโควิดทั้งฟาวิพิราเวียร์ และ โมลนูพิราเวียร์ขาดแคลนอย่างหนัก แม้องค์การเภสัชกรรมยืนยันว่า มีเพียงพอและทยอยแจกจ่ายให้โรงพยาบาล ซึ่งสวนทางกับความจริงของโรงพยาบาลรัฐที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ย

 

“สาเหตุที่ยาขาดแคลนเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ สธ. (สาธารณสุข) หลอกตัวเองนั่นแหละ มีข้อสังเกตเหมือนกับว่า จะมีการเน้นควบคุมเลขไม่เน้นควบคุมโรคทุกครั้งเลยที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ชมรมแพทย์ชนบท ตั้งข้อสังเกตที่ความจริงไม่ใช่สิ่งสวยงาม แต่เป็นความย้อนแย้งของข้าราชการหมอฝ่ายบริหารในระบบสาธารณสุขไทย

 

มีสิทธิ์แต่ได้สิทธิ์รักษายากเข็ญ

ชมรมแพทย์ชนบท มีภาพการขาดแคลนยารักษาผู้ป่วยโควิด โดยระบุว่า ผู้ป่วยคนหนึ่งต้องใช้ฟาวิฯ อย่างต่ำ 50 เม็ด หรือถ้าเป็นโมลนูพิราเวียก็คนละอย่างต่ำ 40 เม็ด แต่โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งเหลือฟาวิฯ 2,477 เม็ดใช้ได้เพียง 49 ราย ต้องหยิบยืมฟาวิฯ กันพัลวัน และยังมีอีกโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดหนึ่งได้จัดสรรโมลนูพิราเวียมาแก้ขัดช่วงฟาวิฯ ขาดแคลน ได้มาก่อนแห่งละ 120 เม็ด ใช้ได้กับผู้ป่วย 3 คน ด้วยตัวอย่างนี้ ช่างแตกต่างจากคำพูดที่มากด้วยตความรับผิดชอบของระบบสาธารณสุขไทยอย่างสิ้นเชิง

 

เมื่อยาขาดแคลนหนักมาก การแก้ปัญหาจึงเอาแต่ร้องแรกแหกกระเชอขอความร่วมมือจากประชาชน ด้วยเสียงโอดครวญเดิมๆ ตอกย้ำให้ผู้ป่วยเข้าใจ ขอผู้ป่วยน้อยเสียสละให้ผู้ป่วยหนัก เพราะหมอจำต้องจ่ายยาที่มีน้อยนิดให้กับคนที่จำเป็นที่สุดก่อน สภาพเช่นนี้ ทำให้ประชาชนได้แต่ก้มหน้า“ช่วยตัวเอง”สู้กับโควิดที่เร่งโหมความรุนแรงทะลวงลงปอดจนกลายเป็นผู้ป่วยหนัก นั่นคงเป็นเงื่อนไขจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านโควิดในวันที่อาจหายเกินเยียวยา

 

 

ส่วนอีกภาพหนึ่งของ “ผู้ป่วยมีเงินพร้อมจ่าย” ดูแตกต่างกับผู้ป่วยบ้านๆ คนเบี้ยน้อยหอยน้อยที่ถูกด้อยค่า เพราะโรงพยาบาลพร้อมโอบอุ้มรับเข้ารักษา นำไปนอนเตียงมีพยาบาลคอยดูแล หมอสั่งยาฟาวิฯ หรือโมลนูพิฯ มาต้านโควิด สกัดกั้นเชื้อลามลงปอด มนุษย์ในสังคมเงินหนา ชีวิตจึงมากเหลื่อมล้ำเป็นปกติ ส่วนผู้บริหารรัฐยังป้องปากย้ำถี่ๆ ให้เสียสละ สามัคคี ยามีรักษาเพียงพอ ไม่ปล่อยให้ใครตายในสถานการณ์โควิดระบาดอีกระลอก ช่างถนัดพูดสวยหรูตามเดิมมาต่อเนื่องการระบาดตลอด 3 ปี

 

ขณะที่ความเหลื่อล้ำในการรักษาถูกซ่อนไว้ในมาตรการเข้าถึงระบบสาธารณสุขเสมอหน้า ด้วยระบบรักษาตาม“สิทธิ์” ฟังดูช่างคล้อยตามมาตรฐานชึวิตมีคุณค่า แต่สังคมไทยยากจะเข้าถึงสิทธิ์ที่มี โดยเฉพาะสิทธิ์บัตรทอง สิทธิ์ประกันสังคม ซึ่งได้รับบริการไม่เท่าเที่ยมสิทธิ์ข้าราชการ ดังนั้น “สิทธิ์” ย่อมสะท้อนถึงช่วงชั้นคนในสังคมที่สืบสานตามขนบประเพณีแบ่งข้างเลือกฝ่าย “เจ้านาย”ต้องมาก่อน ส่วนคนบ้านๆ มีเพียงสิทธิ์แค่มารับยาแก้ปวด แก้ไอ ได้ฟ้าทะลายโจรไปกิน พร้อมกำชับให้กักตัว นอนดูอาการที่บ้าน เมื่ออาการหนักเข้า ทนไม่ไหวจึงร้องหาอาสาสมัคร “เส้นด้าย”และ“สายไหมต้องรอด”มาช่วยประคบประหงมลมหายใจให้ได้สู้ชีวิตอยู่ต่อ

 

 

กระทุ้ง“ปฏิวัติ”ระบบสาธารณสุข

มีข้อเสนอตั้งอยู่บนฐานการปฏิบัติจริงของอาสาสมัคร “เส้นด้าย” ที่ส่งทีมรักษาเข้าถึงชุมชนคนป่วยโควิดนอนซมทับ“สิทธิ์บัตรทอง”อยู่ที่บ้าน เนื่องจากคนมีสิทธิ์รักษาตามรัฐกล่าวอ้างกลับถูกทอดทิ้ง เข้าไม่ถึงสิทธิ์ตามระบบสาธารณสุขไทย สิ่งนี้เส้นด้ายมองว่า เป็นอุปสรรคในการต่อสู้กับโควิดระบาด ดังนั้น รัฐต้อง“ปฏิวัติ”ระบบสาธารณสุข เนื่องจากผู้ป่วยต้องวิ่งเข้าหาระบบการรักษาเอง

 

“เส้นด้าย” ยกเคสหนึ่งแจ้งขอความช่วยเหลือของผู้ชายคนหนึ่งอายุ 34 ปี หนัก 136 กก. ติดโควิด มีอาการหอบเหนื่อย ไข้สูง และมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ (Sat drop) ซึ่งเป็นอาการอันตรายของผู้ป่วยโควิด ผู้ป่วยไม่มีแรง ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลเองได้ ซ้ำร้ายไม่สามารถโทรติดต่อโรงพยาบาลตามสิทธิ์ได้เลย

 

“เส้นด้ายไปถึงได้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วย หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ได้ลองให้ผู้ป่วยโทรไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์อีกครั้ง ครั้งนี้มีผู้รับสายได้รับคำแนะนำว่า ผู้ป่วยต้องไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง แม้จะไม่มีแรงหรือมีความสามารถในการเดินทางก็ตาม”

 

อีกกรณีหนึ่ง เส้นด้ายสะท้อนปัญหาในช่วงที่โควิดเป็นโรคประจำถิ่น คือ เมื่อผู้ป่วยติดโควิดหลายคนต้องเดินทางเข้าหาระบบการรักษาเองทั้งไปและกลับ แม้บางคนที่มีความสามารถหน่อยก็โดยสารรถแท็กซี่ แต่ผู้ป่วยบางคนยังต้องโดยสารรถสาธารณะในการเดินทางก็มีอยู่มาก

 

“ในเคสผู้สูงอายุบางเคสที่เส้นด้ายเคยพบคือ ผู้ป่วยไม่สามารถเดินทางไปหาหมอได้ หลายครั้งเส้นด้ายทำงานโดยประสานงานกับมูลนิธิต่างๆ ในการส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล แต่เมื่อเข้ารับการรักษาแล้ว แพทย์ประเมินว่าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงให้กลับไปรักษาที่บ้าน ผู้ป่วยก็ต้องเดินทางกลับเอง…”

 

 

ประสบการณ์ของเส้นด้ายได้รับ เชื่อว่าหน่วยงานรัฐไม่ยอมเข้าไปถึงหรือตัดขาดการรับรู้ ปล่อยให้เป็นเวรกรรมของผู้ป่วยที่มีฐานะเศรษฐกิจแบบบ้านๆ ช่วยเหลือตัวเอง ราวกับทดสอบทฤษฎีชาร์ลส์ ดาร์วิน ว่า คนแข็งแรงกว่าจึงอยู่รอดจากโรคระบาดโควิด…อะไรประมาณนั้น

 

อันที่จริง โควิดระบาดในไทยนับแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 3 แต่ภาพคนเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขยังมีอยู่ซ้ำซากจำเจ จนกลายเป็นปัญหาชินชาที่รัฐไม่ใส่ใจแก้ไข ดังนั้น เส้นด้ายจึงกระทุ้งว่า ถึงเวลาแล้วที่ระบบสาธารณสุข ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างทันที เนื่องจากประชาชนได้ต่อสู้และดูแลกันอย่างเต็มที่แล้ว

 

“สู้กับโควิดอย่างเดียวพอ อย่าต้องให้เราสู้กับระบบการรักษาที่ยุ่งยากอีกอย่างเลย” นี่คือสิ่งต้องเริ่มด้วยการปฎิวัติ เพื่อนำไปสู่ระบบเข้าถึงสิทธิ์ ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมในยามเจ็บป่วย แม้แต่กลุ่มเสี่ยง 608 เมื่อมีหมอไปตรวจอาการถึงบ้านพัก ได้รับแจกยาโมลนูพิราเวียร์ ด้วยเงื่อนไขโรคอ้วน ซึ่งชายอายุ 34 ปี มีโรครุมเร้าหลายอย่าง แล้วยังหนัก 136 กก. เข้าข่ายโรคอ้วน กลับไม่มีหมอมาดูอาการ ไม่ได้รับแจกยาโมลนูพิราเวียร์ สิ่งนี้คือ ความไม่เท่าเทียมต้องปฎิวัติ ไม่ให้เหลือซากไว้เป็นอุปสรรคอีก

 

ยกเลิกผูกขาดยาต้านโควิด

ดูเหมือนไม่แตกต่างจากข้อเสนอของเส้นด้ายที่ชู “การปฏิวัติเข้าถึงระบบสาธารณสุขเท่าเทียม” ชมรมแพทย์ชนบท ฝ่ายหมอต่างจังหวัดที่รวมตัวตรวจสอบฝ่ายบริหารสาธารณสุข ได้เสนอแนะให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าการขาดแคลนยารักษาโควิด โดยพุ่งเป้าไปที่แกนกลางการผูกขาดระบบจัดหายา “ฟาวิพิราเวียร์ และ โมลนูพิราเวียร์” ให้เพียงพอต่อการบริการผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลตาม “สิทธิ์”

 

 

ชมรมแพทย์ชนบท เสนอว่า รัฐบาลผูกขาดการผลิตและจัดหายาฟาวิฯ ให้กับองค์การเภสัชกรรม  พร้อมขายฝันว่า ไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิฯ ป้อนให้โรงพยาบาลต่างๆได้เพียงพอ ต่อมาก็ขยายการผูกขาดสู่ยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดด้วย และนำมาสู่ปัญหายาขาดยาตลอดการสู้ภัยโควิด

 

“ในความเป็นจริงทั่วโลกนั้น ยาไม่ได้ขาด แต่ที่ประเทศไทยยาขาดเพราะการผูกขาด เพียงกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกการผูกขาดโดยองค์การเภสัชกรรม ให้บริษัทเอกชนสามารถนำเข้าได้ ความขาดแคลนยาจะหายไปในทันที”

 

บทเรียนยาต้านโควิดขาดแคลนเช่นเดียวกับกรณีวัคซีนโควิดที่รัฐบาลให้องค์การเภสัชกรรมผูกขาดจนวัคซีนขาดแคลน แม้เอกชนสั่งและพร้อมนำโมเดิร์นน่าเข้ามาช่วย ก็ทำไม่ได้เพราะผูกขาดไว้ การยุติการผูกขาดเท่านั้นที่จะยุติภาวะยาขาดแคลนไปเลย

 

“เอาเข้าจริงๆ องค์การเภสัชกรรมก็ผลิตฟาวิกระพร่องกระแพร่งมากจนแทบจะไม่ได้ผลิต และหันมานำเข้าแทนเพราะถูกกว่า เช่นนี้แล้ว สธ.จะปิดกั้นเอกชนไปทำไม ให้เขานำเข้าด้วย ราคาฟาวิฯ โมลนูฯจะถูกลง และไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน”

 

ชมรมแพทย์ชนบท เสนอให้ เลิกการผูกขาดยาฟาวิฯ โมลนูฯ แพกซ์โลวิด โดยเรียกร้องให้ปลดล็อคเปิดทางบริษัทยาเอกชนนำเข้าได้ แล้วให้รัฐกำหนดอัตราการเบิกจ่ายชดเชยคืนแก่โรงพยาบาลในราคาต้นทุน ส่วนเงินร่วม 4 พันล้านที่จะกู้มาซื้อยานั้น ควรนำไปจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลแทนจะสามารถประหยัดได้กว่ามาก

 

ดังนั้น เมื่อ กทม. โรงพยาบาลเอกชน ร้านขายยา ขอจัดหาและจ่ายยาฟาวิและโมลนูพิราเวียร์ตามใบสั่งแพทย์ได้ เช่นนี้แล้วก็ควรปลดล็อคให้โรงพยาบาลของรัฐด้วย เพื่อปิดฉากความขาดแคลนฟาวิโมลนูอันเนื่องมาจากการผูกขาดขององค์การเภสัชกรรม รัฐวิสาหกิจที่ทุกโรงพยาบาลรู้ว่าขายยาแพงกว่าบริษัทยาคุณภาพของเอกชน เพราะทันทีที่ยกเลิกการผูกขาด ราคายาจะถูกลงจนสังคมจะตั้งคำถามว่า ทำไมที่ผ่านมาซื้อล็อตใหญ่แต่ราคากลับสูงกว่า

 

ในช่วงฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 11 คน ชื่อรองนายกรัฐมนตรี“อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.สาธารณสุข เป็นชื่อหนึ่งในเวทีซักฟอกทางการเมือง ข้อเสนอ“เลิกผูกขาดจัดหายาต้านโควิด” ของชมรมแพทย์ชนบท กระทรวงสาธารณสุขออกมาประกาศทันทีว่า เตรียมขยายคลินิกเอกชนจัดซื้อยา “โมลนูพิราเวียร์” เพิ่มการเข้าถึงยา ให้เฉพาะผู้ป่วยอาการสีเหลืองขึ้นไป

 

“กรณียาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ โดยโรงพยาบาลเอกชนได้รับการสนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์จากกระทรวงสาธารณสุขสำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาให้บริการผู้ป่วยโควิดเองเพิ่มเติมได้ ดังนั้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวีย์มากขึ้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด (EOC) จึงเตรียมการให้คลินิกเอกชนสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดได้ด้วยเช่นกัน”

 

รหัสคำประกาศอยู่ที่ “เตรียมการ” จึงเป็นคำประกาศที่ยังไม่ชัดเจนถึงการปฏิบัติให้ความเท่าเทียมได้บังเกิดขึ้นด้วยมาตรฐานการรักษาตามสิทธิ์อย่างจริงจัง ดังนั้น ขอภาวนาให้กระทรวงสาธารณสุขยืนหยัดตามสิ่งที่ประกาศต่อสาธารณะในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

และขอให้หลังเสร็จการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ขยับ “การเตรียมการ” ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเร่งเลิกผูกขาดการจัดหายาต้านโควิด แล้วกระจายการจัดหายาให้แก่โรงพยาบาลเอกชนตามสัญญา ขอให้หมออยู่เคียงข้างผู้ทุกข์ยาก ขอช่วยโอบรับได้เข้ารักษาตามสิทธิ์

 

พร้อมขออย่าเป็น “หมอการเมือง” ซึ่งเร่งรีบประกาศ “เตรียมการ” ให้พ้นๆจากศึกซักฟอกทางการเมือง สิ่งที่ขอจะมากไปหรือไม่ !!??

 


ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedeehttps:

//www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top