“ธนาคารปูม้า” แหลมผักเบี้ย ภูมิปัญญาฟื้นฟูทะเลไทย ทำประมงด้วยความรับผิดชอบ
แหลมผักเบี้ยอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีประมาณครึ่งชั่วโมง ที่นี่มีธนาคารปูม้า เป็นแหล่งอนุบาลปู และปล่อยปูม้าคืนสู่ทะเล
แพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย มีการทำประมงชายฝั่งมายาวนาน โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสัตว์น้ำที่ต้องการ ช่วงหนึ่งในอดีตมีการทำประมงกันมากจนทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงอย่างน่าใจหาย ชุมชนจึงได้ริเริ่ม โครงการ“ธนาคารปู” เพื่อให้สมาชิกที่ได้ปูไข่นอกกระดองนำมาบริจาคให้กับกลุ่ม เพื่อนำไปปล่อยไข่ก่อนนำไปขาย โดยเล็งเห็นว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการทำประมงอย่างรับผิดชอบ
นางอัจฉรี เสริมทรัพย์ ผู้ใหญ่บ้านดอนใน ตำบลผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลมจังหวัด เพชรบุรี เล่าให้ฟังว่า “กลุ่มวิสาหกิจแพปลาชุมชน (ธนาคารปูม้า)” เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2551 เกิดจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ดำเนินกิจการแปรรูปและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ความโดดเด่นของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ คือ มีการกำหนดกฎกติกาสำหรับสมาชิกเพื่อให้เกิดระเบียบในการปฏิบัติร่วมกัน โดยเฉพาะการทำประมงอย่างรับผิดชอบ และมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
รวมทั้งมีแนวทางฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ชัดเจน โดยคณะกรรมการและสมาชิกกลุ่ม จะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดกฎระเบียบกติกาในการปฏิบัติ และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการจัดการที่ดีและนำไปสู่ความยั่นยืนในอาชีพ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้มีการจัดการเงินทุนและจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบ โดยกระบวนการแบบมีส่วนร่วมและใช้หลักคุณธรรม สมาชิกทุกคนมีความพอใจ มีเป้าหมายส่งเสริมการทำประมงและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพและรายได้แก่ชุมชน ผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของลูกค้า สินค้ามีคุณภาพ มีการตรวจสอบควบคุมอย่างสม่ำเสมอ และมีฐานคิดในการกำหนดราคาอย่างมีเหตุผล มีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ
นางอัจฉรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันที่มีความหลากหลาย เชื่อมโยงเกื้อกูลกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบกิจการ สามารถสร้างความพอใจและความสุขให้สมาชิก ทำให้สมาชิกมีความเชื่อมั่น และสร้างความมั่นใจของสมาชิกในการดำเนินการร่วมกับกลุ่มต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงเข้มแข็งของกลุ่ม สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถบริหารจัดการหนี้สินได้ มีเงินทุนสำรองสำหรับประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ มีการรับสมาชิกเพิ่มขึ้น มีการเตรียมการเพื่อสืบทอดกิจการในอนาคต รวมทั้งมีการตั้งงบประมาณการใช้จ่ายไว้ 20% ต่อปี เพื่อดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น การสร้างบ้านให้ปลาเป็นการอนุรักษ์ให้ปลาได้มีที่อาศัย การอนุรักษ์พันธุ์ปูม้า โดยให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแพปลาชุมชนนำปูไข่นอกกระดอง นำมาเลี้ยงในธนาคารปูม้าเพื่อการขยายพันธุ์ปูและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ การใช้เครื่องมือประมงตามที่กฎหมายกำหนด
รายงานข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการจัดการของธนาคารปูม้า ต้องอาศัยความร่วมมือของชาวประมง ภายในพื้นที่ชุมชนตำบลแหลมผักเบี้ย ในการรวบรวมและบริจาคปูม้าที่มีไข่แก่ ติดบริเวณหน้าท้อง ซึ่งติดมากับอวนปูของชาวประมงที่ได้จากการออกไปทำประมงในแต่ละครั้ง มาใส่ไว้ในถังน้ำในโรงเรือน ที่ทางธนาคารปูม้าได้จัดเตรียมไว้ให้ทั้งหมด 35 ถัง ในอัตราส่วน 1 ถัง ต่อแม่ปูม้า 1 ตัว จนเมื่อแม่ปูม้าเขี่ยไข่ออกจากหน้าท้องแล้ว จึงจะสามารถนำแม่ปูไปขายได้ ไข่ที่ติดอยู่กับแม่ปูม้าจะฟักตัวเป็นตัวอ่อนระยะโซเอี้ย (zoea) และกินอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติหลังจากที่ถูกปล่อยลงสู่ชายฝั่งทะเล จนเติบโตเป็นปูม้าขนาดใหญ่ต่อไป
ไข่ของปูม้าแบ่งเป็น 4 ระยะหลักได้แก่ 1.ไข่สีส้ม-เหลือง จะมีอัตราการฟักของไข่มากที่สุดถึง ร้อยละ 88.17 2.ไข่สีน้ำตาล ร้อยละ 84.94 3.ไข่สีเทา ร้อยละ 66.12 4.ไข่สีดำ ร้อยละ65.23 ซึ่งมีอัตราการฟักน้อยที่สุด เนื่องจากว่าผนังของไข่บอบช้ำ ดังนั้นการลำเลียงแม่ปูมายังถังพักเลี้ยง จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่บอบช้ำและอาจทำให้แม่ปูเกิดความเครียด
ในด้านการตลาดนอกจากจะขายปูม้าสดๆ รับประกันความหวานของเนื้อปูแล้ว ที่นี่ยังมี “ร้านโอ้โหปูอร่อย” ซึ่งเป็นร้านของทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำหน่ายอาหารทะเลแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยจะเปิดบริการวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีบริการส่งอาหารทะเลสดๆ ถึงโรงแรมต่างๆ ทั้งในพื้นที่และโรงแรมชื่อดังในกรุงเทพฯ
ผลที่เกิดขึ้นในชุมชนที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ที่สะท้อนถึงความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแพปลาชุมชนแห่งนี้ ได้แก่ 1.ทรัพยากรสัตว์น้ำมีความสมบูรณ์ จากกิจกรรมสร้างบ้านปลา อนุรักษ์บ้านปู 2.คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จับสัตว์น้ำได้มากขึ้น และได้ขายสัตว์น้ำในราคาที่เป็นธรรม 3.เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน จากการขยายผลการพัฒนาของวิสาหกิจชุมชนในด้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของวิสาหกิจชุมชนที่ประสบผลสำเร็จ จากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน นำไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็งสร้างงานสร้างรายได้ เกิดความยั่งยืนในอาชีพ
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก สำนักการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเพชรบุรี และเว็บไซต์thaigreenagro.com และวิทยานิพนธ์เรื่องแนวทางการสร้างความยั่งยืนของกิจกรรมธนาคารปูม้า ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยไกรวัล ขวัญอ่อน, พิราพร นุชประเสริฐ, วิภาวี พิทักษ์กมลพันธ์, พรธวัล ขำงาม, พิทักษ์ ศิริวงศ์