skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“ชุมชน-ภูมิปัญญาดั้งเดิม-แบ่งปัน” ความสำเร็จ “เรือนไหมใบหม่อน”

“ชุมชน-ภูมิปัญญาดั้งเดิม-แบ่งปัน” ความสำเร็จ “เรือนไหมใบหม่อน”

คุณอาทร แสงโสมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ หจก.เรือนไหมใบหม่อน บรรยายหัวข้อ “รางวัล SME-สัมมาชีพกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน” ในหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ มีสาระน่าสนใจดังนี้

เรือนไหมใบหม่อน ทำธุรกิจไหมครบวงจร ตั้งแต่ผลิตไปจนถึงทอเป็นผ้าผืน เราทำต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ในขบวนการเรามีแนวทางนำสิ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์มาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นการแตกไลน์ธุรกิจ เราพยายามแตกไลน์ออกเป็น 3 ทิศทาง อันแรก ชาหม่อนทำจากใบหม่อน ถัดมาผลหม่อน เป็นเครื่องดื่มผลหม่อน และสุดท้ายกำลังจะไปสู่เครื่องสำอาง

เราเป็นผู้ประกอบการเรื่องหม่อนเรื่องไหม ในจังหวัดสุรินทร์ เรามีหัวใจทำงาน  3 เรื่อง คือ 1) เรื่องชุมชนเราอยากให้ชุมชนกับเราไปพร้อมๆ กัน ถ้าเราทิ้งชุมชนเราก็ไม่น่ามีความสุข 2) เราอยู่ธุรกิจหม่อนไหม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม เราไม่เดินหน้าอย่างเดียว เราเก็บภูมิปัญญาสินค้าอย่างที่ทางการตลาดพูดถึง เรื่องราวต่างๆ และ 3) การแบ่งปัน จากพนักงานของเรา คนที่เดินเข้ามาร้านเราอยากได้อะไรให้เขาบอกมา เขาต้องการความรู้ คำปรึกษาเราก็ให้ หลังจากให้แล้วในที่สุดเขากลับมาหาเราเอง เพราะเราเป็นฝ่ายให้ตลอด

การที่เราได้รับรางวัล เบื้องต้นเราไม่ได้คาดหวังอะไร แต่เนื่องจากเราเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ เราคิดว่าจะได้มีกรรมการสะท้อนเราว่าเราขาดตกบกพร่องอะไร มีสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างไร เพื่อจะได้ทราบตัวเอง ทางมูลนิธิสัมมาชีพ คงเห็นสิ่งที่เราตั้งใจ จึงคัดเลือกเรารับรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ

เรามีแนวคิดกับชาวบ้าน เราเป็นฝ่ายให้ก่อน ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานราชการ เอกชน ส่วนใหญ่ที่เข้ามาชี้แนะชาวบ้านจะรับฟัง เข้าใจดีหมด แต่ผ่านไปเมื่อวิทยากรกลับไปแล้ว ชาวบ้านก็กลับมามีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ  เขาทำมานานจะให้เปลี่ยนตอนนี้คงทำไม่ได้ แต่เมื่อเขาไว้วางใจ เมื่อเราไม่พยายามเสนอขายสินค้าเขา ถ้าเขารับแล้วรับเลย เขามีจะมีความเชื่อถือ หัวใจสำคัญเวลาเราจะสอนเขา สื่อสารกับเขาเราต้องพูดภาษาของเขา

ในเรื่องการทำงาน ตามที่เราได้สัมผัสกับชาวบ้าน พบว่าเขาอยากทำอยู่กับบ้านมากกว่า แทนที่จะรวมศูนย์ เราจึงคิดว่าทำไมเราไม่เอางานไปสู่ชุมชน ถ้ารวมศูนย์ ทำงาน 8 โมงเข้า – 5 โมงเย็น แต่ทำที่ชุมชนทำให้ทำงานมากขึ้นและยังได้แรงงานแฝง ก็ได้แรงงานสูงอายุมาทำงานกับเรา เราแทบไม่ขาดแคลนแรงงานเพราะเราเอางานไปสู่ชุมชน

ก่อนหน้านั้น ผู้สูงอายุไม่มีอะไรทำ เราเอางานไปสู่ชุมชนทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตเขามีคุณค่า ไม่ต้องคอยลูกหลายยื่นเงินทองให้ เขาได้สังคมภายนอกพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน เมื่อได้ทำงาน ทำให้เขามีสุขภาพจิตดีขึ้น ไม่ป่วยออดๆ แอดๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ถ้ารวมศูนย์ในเมือง เขาเช้าทำงานในเมือง เกิดปัญหาความอบอุ่นในครอบครัว ลูกเลิกโรงเรียนมาไม่เจอพ่อแม่ขาดความอบอุ่น แต่เราเอางานไปสู่ชุมชน เด็กเลิกเรียนกลับมาเจอหน้าพ่อแม่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา อีกอย่างงานของเราเป็นเรื่องภูมิปัญญา เมื่อเด็กๆเห็นพ่อแม่ทำงานทุกวันเขาก็ได้เรียนรู้ ซึ่งเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาในอนาคต

ในเรื่องการพัฒนานั้น ผ้าไหมส่วนใหญ่คนทั้งประเทศนึกถึงผ้าที่คนสูงอายุใช้ ซักยาก รีดยาก นี่คือผ้าไหมภาพรวมเราจึงพัฒนาเส้นใยให้ ซักรีดง่ายขึ้นเพื่อให้เข้ามาสู่การใช้ชีวิตประจำวัน เราทำวิจัยตลาดพบว่าคนอายุต่ำกว่า 30 ปี รู้จักผ้าไหมว่า คนแก่ใช้ แต่เขาไม่คิดว่าจะใช้เป็นโจทก์ที่เราพบมาและต้องตีโจทก์ให้แตก เราจะทำอย่างไรให้คนอายุต่ำกว่า 30 ปีใช้ผ้าไหม เราจึงคิดจะทำกางเกงยีนส์เป็นผ้าไหม เราจะมีผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างโดยมี SME BANK ให้การสนับสนุน ทำให้เราประสบความสำเร็จสูงขึ้น เรากำลังพัฒนาไหมซึ่งมีนวัตกรรมมาเกี่ยวข้อง ปัจจุบันเรามีเครือข่ายจาก 100 รายมาเป็น 400 ราย รวมสมาชิกในครอบครัวด้วย ธุรกิจเราดูแลคนกว่าพันคน  ถ้าเราทำพื้นที่เข้มแข็งก็ทำให้ประเทศเข้มแข็งด้วย

ผมทำงาน 365วัน เรามองว่าชุมชนเขากินใช้ทุกวัน เขามาหาเรา เรามานั่งปิดร้านไม่ได้ จำเป็นต้องเปิด  ทุกวันให้บริการพี่ๆ น้องๆ เรา ชาวบ้านมีความสุขเราก็มีความสุขด้วย ถ้าเราแสงหาความร่ำรวย รอบๆ เราจนลงเรื่อยๆ ชุมชนเราจะมีความสุขหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ ดังนั้นเราต้องมองชุมชนรอบๆ ตัวเราด้วย

Back To Top