skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“ชากไทยโมเดล” กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต วิสาหกิจต้นแบบแก้หนี้สินชุมชน

“ชากไทยโมเดล” กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต วิสาหกิจต้นแบบแก้หนี้สินชุมชน

“ชากไทยโมเดล”

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

วิสาหกิจต้นแบบแก้หนี้สินชุมชน

 

ความสำเร็จของหมู่บ้านชากไทย ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ไม่ได้อยู่ที่รางวัลหลากหลายจากหน่วยงานรัฐมอบให้ แต่สิ่งสะท้อนความสำเร็จอันโดดเด่นคือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนของประชากรในชุมชน กระทั่งผู้นำชุมชนทั้งเหนือ อีสาน กลาง มาศึกษาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนนำไปปฏิบัติ เพราะอย่างน้อยไม่ต้องกุมหัวหมุนเงินชำระหนี้เป็นรายเดือนหรือปี อีกทั้งไม่ต้องผวา จนประสาทกินกับเสียงมอเตอร์ไซด์มาจอดหน้าบ้านเพื่อทวงหนี้ซ้ำซากจำเจ

 

ดังนั้น การคิดค้นนวัตกรรมมาบริหารจัดการ “ลดหนี้ หมดหนี้ และปลดหนี้”ของคนในชุมชนภายใต้แนวทาง “ชากไทยโมเดล” จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต่างถิ่นใคร่อยากเรียนรู้ ซึมซับกลวิธีในทุกมิติทั้งการประสานดึงใช้ทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ มาหลวมรวมและจุดประกายพลัง “ระเบิดจากข้างใน” ให้กล้าเปิดใจ คลี่โชว์สัญญาเงินกู้ แล้วชุมชนผนึกร่วมสามัคคีแก้ไขภาระหนี้สินหมุนเวียนซ้ำซ้อนจากการกู้แหล่งทุนแห่งใหม่มาชำระต้นรวมดอกเบี้ยกับหนี้เก่าอีกกองทุน อาการเช่นนี้ไม่ต่างจากสำนวนไทยว่า ดินพอกหางหมู แล้วกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่บานเบอะ ชีวิตแบกทุกข์ ความสุขก็หมดหายไป

 

ภายใต้การบุกเบิกของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านชากไทย โดยนายเรวัต นิยมวงศ์ ประธานกลุ่ม ได้ชูแนวคิด “ชากไทยโมเดล” มาแก้ปัญหาหนี้สินลดรายจ่ายชุมชนแล้วต่อยอดเพิ่มรายได้ พร้อมกับนำ 13 กลุ่มกองทุนในชุมชนมาเป็นส่วนสนับสนุนการสร้างชีวิตใหม่ของชาวบ้านจนโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ โดยกลุ่มกองทุนการเงินหลักประกอบด้วย กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) และกองทุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)

 

กลุ่มกองทุนสนับสนุน 10 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มเกษตรยั่งยืน ธนาคารขยะ กลุ่มปรับปรุงคุณภาพผลไม้ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนฯ กองทุนสวัสดิการ กองทุนแม่ของแผ่นดิน กองทุนปุ๋ย ร้านค้าชุมชน กลุ่มบริหารจัดการน้ำ กลุ่มเลี้ยงไส้เดือน

 

ด้วยแนวคิดแก้หนี้สินชัดเจนและโดดเด่นในการผนึกสามัคคี 13 กลุ่มกองทุนมาหนุนหนุนการแก้ปัญหาลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มูลนิธิสัมมาชีพ จึงมีมติให้ชนะเลิศคว้ารางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2564 ประเภทการเงินและสวัสดิการชุมชน

 

กู้เงินทุนรัฐ-หนี้ซ้ำซ้อนคลุมบ้านชากไทย

บ้านชากไทยมีครัวเรือน 199 ครัวเรือน ประชากรรวม 576 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและปลูกผลไม้ทุเรียน มังคุด และลองกอง เป็นหลัก ชาวบ้านวัยแรงงานมีรายได้อยู่ที่ 73,525 บาท/คน/ปี คิดเป็น 212,817 บาท/ครัวเรือน/ปี

 

ทางด้านหนี้นั้น ร้อยละ 66.83 ของครัวเรือนหรือประมาณ 133 ครัวเรือนหรือ 266 คนมีหนี้ โดยแบ่งเป็นสัญญากู้หนี้มากกว่า 1 สัญญา 62 ครัวเรือนจำนวน 162 คน และสัญญากู้หนี้ 1 สัญญา 71 ครัวเรือนจำนวน 124 คน รวมหนี้ครัวเรือนในชุมชนบ้านชากไทยทั้งสิน 8.03 ล้านบาท ยอดหนี้ของชาวบ้านดังกล่าวมาจาก 3 กลุ่มเงินทุนกู้ยืมหลัก คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตร้อยละ 50 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด คิดเป็นจำนวนเงิน 4.03 ล้านบาท โครงการ กข.คจ. ร้อยละ 4 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด คิดเป็นจำนวน 3.29 แสนบาท และกองทุน กทบ. ร้อยละ 46 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด คิดเป็นจำนวน 3.67 ล้านบาท

 

สิ่งสำคัญคือ 3 แหล่งหนี้เงินทุนเป็นหน่วยงานรัฐตั้งขึ้น โดย กทบ.สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วน กข.คจ.กับ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต อยู่ในสังกัดกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย แม้ยอมรับทางแนวคิดพื้นฐานล้วนมีเป้าหมาย “จัดหาแหล่งทุน”ให้ชาวบ้านเข้าถึง แต่แนวทางที่ดีก็เป็นภาระหนี้ผูกพัน ทำให้ชาวบ้านแก้ปัญหาด้วยการกู้หน่วยหนึ่งไปชำระอีกหน่วยหนึ่ง จึงเกิดเป็นภาระหนี้หมุนเวียนซ้ำซ้อน

 

ยอดหนี้เงินกู้เงินของชาวบ้านแตกต่างกัน ข้อมูลระบุว่า กู้ไม่เกิน 30,000 บาทดอกเบี้ยต่อปีร้อยละ 3 มีจำนวน 28 คนรวมมูลหนี้ 638,100 บาท และชาวบ้าน 45 คนกู้ตั้งแต่ 30,001-50,000 บาทดอกเบี้ยต่อปีร้อยละ 6-10 รวมมูลหนี้ 1,826,300 บาท อีกทั้งมีกู้มากกว่า 50,000 บาทขึ้นไป ดอกเบี้ยต่อปีร้อยละ 12-15 มีจำนวน 51 คน ซึ่งมากที่สุดของคนชุมชนเป็นหนี้ รวมมูลหนี้ 3,149,100 ล้านบาท

 

ส่วนการชำระหนี้แล้ว ถ้าคิดจากยอดกู้กองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตจำนวนหนี้ 78,500 บาท ต้องชำระต่อปีแบ่งเป็นเงินต้น 26,166 บาท ดอกเบี้ย 10,000 บาท รวมต้องชำระหนี้ 36,166 บาท ในขณะที่หนี้ กทบ.กู้จำนวน 40,000 บาท ต้องชำระต่อปีทั้งเงินต้น 40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอีก 2,400 บาท รวม 42,400 บาท อีกทั้ง การแบกหนี้และต้องชำระต่อปียิ่งหนักเป็นเท่าทวีคูณหากชาวบ้านมีสัญญาเงินกู้ 2 สัญญา ซึ่งตามข้อมูลมี 62 ครัวเรือนจำนวน 162 คน ดังนั้น ต้องชำระทั้ง 2 สัญญาทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยต่อปี คงคิดเป็นเงินเฉียดแสนบาทกันที่เดียว

 

ด้วยภาระหนี้กู้เงินทุนจากหน่วยงานรัฐที่ปกคลุมชุมชนบ้านชากไทยไปกว่าร้อยละ 66 จึงนับว่า เป็นภาระหนักหนาเอาการกับชาวบ้านที่มีรายได้จำกัดจำเขี่ยจากการขายพืชผลเกษตรกรรม และกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า เป็นชุมชนแบกหนี้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิตเข้ามาจัดตั้งเมื่อปี 2541 หากคิดอีกด้านหนึ่ง คือ การมีหนี้เป็นโอกาสของชาวบ้านเข้าถึงแหล่งทุน แต่ถ้าขาดทักษะการบริหารจัดการหนี้ ไม่มีแผน ไม่รู้รายรับ-รายจ่ายของตัวเอง ดังนั้น หนี้อาจทำลายชาวบ้านและฉุดรั้งความมั่งคั่งในอนาคตของชุมชน

 

ชากไทยโมเดลแก้หนี้ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา

“ชากไทย โมเดล” คือรูปแบบการบริหารจัดการหนี้ด้วยรูปแบบบูรณาการปรับรวมหนี้กองทุนของชาวบ้านตามแนวทาง “1 ครัวเรือน 1 สัญญา” โดยใช้แนวคิดขยายระยะเวลาการชำระหนี้เป็นแพ็คเกจ 3-5-7 เพื่อให้ครัวเรือนที่เข้าร่วมได้เลือกวิธีการชำระคืนที่เหมาะสมกับตนเอง พร้อมทั้งให้กลุ่มหรือกองทุนในชุมชนหนุนเสริมและสร้างพลังให้ 1 ครัวเรือน 1 สัญญาสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพไปบรรลุเป้าหมายเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย รู้จักหา รู้จักใช้ รู้จักเก็บออม

 

ทั้งนี้รูปแบบการบูรณาการกองทุนภายใต้ชื่อ “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านชากไทย” จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 มาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อแก้หนี้โดยเฉพาะ โดยนายเรวัต นิยมวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการศูนย์ฯ มีสมาชิกคือกลุ่มกองทุนในชุมชนบ้านชากไทยจำนวน 13 กลุ่ม โดยเป้าหมายบริหารกองทุนให้เป็นเอกภาพ ลดปัญหาการเป็นหนี้ของคนในชุมชนทำให้คนในชุมชนสามารถบริหารจัดการหนี้ จนนำไปสู่ 1 ครัวเรือน 1 สัญญาเพื่อจะช่วยลดปัญหาหนี้ซ้ำซ้อน หรือหนี้หมุนเวียนที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากกองทุนหนึ่งมาใช้อีกกองทุนหนึ่ง อันจะนำไปสู่หนี้เสียในที่สุด

 

สำหรับแพ็คเกจ 3-5-7 เป็นแนวคิดขยายระยะเวลาการชำระหนี้ แบ่งออกเป็น 3 ปี 5 ปี และ 7 ปี เป็นการเอื้ออำนวยในการผ่อนชำระหนี้ที่มีแผนเวลาชัดเจน ซึ่งพิจารณาตามความสมัครใจ และสอดคล้องกับรายได้ของแต่ละครัวเรือน แต่ทั้งนี้ก็ได้มีการแบ่งสัดส่วนหนี้ และอัตราดอกเบี้ยในเบื้องต้น เพื่อเข้าสู่เกณฑ์การพิจารณาในการกู้

 

 

เงื่อนไขภายใต้ระเบียบ

 

การบริหารจัดการหนี้ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา กำหนดไว้ 4 ข้อ คือ 1.ครัวเรือนที่เข้าร่วม 1 จะไม่สามารถกู้เงินจากกองทุนใดในชุมชนได้อีกจนกว่าจะชำระหนี้หมดสิ้น โดยต้องชำระดอกเบี้ยทุกเดือนชำระต้นปีละ 1 ครั้ง (ลดต้น ลดดอก) เมื่อสิ้นปีทางบัญชีมีการเฉลี่ยคืนดอกเบี้ยให้

 

  1. ครัวเรือนที่สมัครเข้าร่วม จะได้รับการพักชำระหนี้ 1 ปี เพื่อให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ ลดการก่อหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่เงินมาชำระหนี้ตามสัญญาเดิม เพราะเป็นสาเหตุการก่อหนี้หมุนเวียน หนี้ซ้ำซ้อน

 

  1. กำหนดวงเงินกู้ยืมพิเศษในกรณีที่มีความจำเป็นและฉุกเฉิน ในขณะที่ยังชำระหนี้ไม่หมด (วงเงินกู้ยืมเกินบัญชี) เพื่อเป็นการป้องกันการกู้เงินนอกระบบ โดยวงเงินนี้จะพิจารณาตามเครดิตที่แต่ละครอบครัว จะเบิกได้ต่อเมื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการฝ่ายอำนวยการของศูนย์จัดการ

 

  1. ระหว่างสัญญาครัวเรือนเป้าหมายสามารถปรับเปลี่ยนแพ็คเกจได้ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาที่เหลืออยู่ของแต่ละแพ็คเกจ

 

ปรับโครงสร้างหนี้หนุนความสำเร็จที่โดดเด่น

การดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนเป้าหมายเพื่อนำไปสู่ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา มีขั้นตอนกระบวนการ เริ่มจากเจรจาต่อรองระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เพื่อโอนภาระหนี้สินของครัวเรือนเป้าหมายให้กับกลุ่มกองทุนการเงิน ที่เป็นสมาชิกของศูนย์ จัดการกองทุนชุมชน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยพิจารณาจากจำนวนหนี้ทั้งหมดที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด

 

 

 

จากนั้นปรับเปลี่ยนสัญญากู้ยืมเงินของลูกหนี้ จากเดิมที่มีหลายสัญญาให้เป็นเพียง 1 สัญญา 1 ครัวเรือน โดยทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ ระหว่างลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้กับคณะกรรมการกลุ่ม/องค์กร/กองทุนการเงิน ที่เป็นสมาชิกศูนย์จัดการ กองทุนชุมชน และรับเป็นเจ้าหนี้รายใหม่

 

เมื่อดำเนินกาปรับโครงสร้างหนี้ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จเริ่มจากคณะกรรมกาศูนย์ และสมาชิกตกผลึกทางความคิด สามารถกำหนดเป้าหมายร่วม โดยแกนนำต้องเสียสละ และมีจิตอาสา

 

อีกอย่าง มีกระบวนการการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชน สมาชิก และครัวเรือน 1 ครัวเรือน 1 สัญญา ด้านต่างๆ เช่นการอบรมให้ความรู้ในเรื่องการประกอบอาชีพ วิธีการลดต้นทุนการผลิต การสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ การสร้างครัวเรือนต้นแบบเพื่อเป็นพี่เลี้ยง เป็นต้น รวมทั้งแบ่งความรับผิดชอบ ที่เหมาะสมกับคนกับงาน มีการจัดเวทีทบทวนการทำงาน การจัดการความรู้ ระหว่างคณะกรรมการ สมาชิก ครัวเรือน 1 ครัวเรือน 1 สัญญาแบบมีส่วนร่วมแก้ปัญหาการติดขัด อึดอัดของสมาชิกชุมชน

 

สิ้งสำคัญคือ กระบวนการหนุนเสริมของกลุ่มกองทุนในชุมชน ภายใต้แนวคิดเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย อย่างต่อเนื่อง เช่น ได้รับส่วนลดในการซื้อสินค้าจากร้านค้าชุมชน ได้รับการพิจารณาจากกลุ่มที่มีการจ้างแรงงาน เช่น กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ ได้รับการฝึกอบรมตามกิจกรรมสำนึกดี แผนดี บริหารหนี้ได้ภายใต้กิจกรรมการทำฮอร์โมนไข่ อาหารเสริมคุณภาพสูงและการผสมแคลเซียม – โบรอน ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนในการประกอบอาชีพและสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้

 

 

นอกจากนี้ยังหนุนด้วยการคัดเลือกให้เป็นครัวเรือนสัมมาชีพชุมชน ภายใต้กิจกรรมการเลี้ยงไส้เดือนได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตปลอดดอกเบี้ย จากกองทุนหมู่บ้านชากไทย รวมถึงการสร้างแรงจูงโดยใช้มูลของครัวเรือนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา เพื่อชี้ให้เห็นว่าถ้าเข้าร่วมโครงการแล้วจะมีเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าการชำระหนี้ในรูปแบบเดิม และมีโอกาสหลุดหนี้ในระยะเวลาที่แน่นอน เมื่อหมดหนี้แล้วถ้าสมัครเข้าร่วม โครงการต่อก็จะมีเงินทุนเป็นก้อนสำหรับการประกอบอาชีพ โดยมีตัวอย่างของการพูดคุยกับครัวเรือนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 1 ครัวเรือน ดังนี

 

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ สะท้อนถึงความสำเร็จของแนวทาง 1 ครัวเรือน 1 สัญญาอย่างชัดเจน คือ หลังเข้าร่วมโครงการถ้าเลือกแพ็คเกจชำระคืนภายใน 5 ปี จะใช้เงินสำหรับการชำระเงินต้นปีละ 23,700 บาท ดอกเบี้ยรวมปีแรก 14,220 บาท รวมต้องใช้เงิน 37,920 บาท โดยรวมแล้ว ครัวเรือนนี้จะใช้เงินสำหรับการชำระหนี้ น้อยลงกว่าเดิมปีละ 40,646 บาท โดยประมาณ และที่สำคัญปีแรกยังได้รับการพักชำระหนี้ โดยจะเริ่มชำระหนี้ในปีต่อไป ซึ่งหนี้จะลดลงปีทุกปี และจะหมดหนี้ภายใน 5 ปี

 

ก้าวไปสู่ชุมชนชากไทยยั่งยืน

ข้อมูลเมื่อปี 2560-2562 มี 41 ครัวเรือนที่เป็นหนี้หรือร้อยละ 31 ของครัวเรือนที่เป็นหนี้ได้เข้าร่วมโครงการ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา การประเมินผลสำเร็จการบริหารจัดการหนี้ พบว่า มียอดหนี้รวม 2.59 ล้านบาท สามารถลดหนี้ได้ 27 ครัวเรือนจำนวน 5.71 แสนบาท ปลดหนี้ 2 ครัวเรือน 50,000 บาท นอกจากนี้ยังสนับสนุนต่อยอดการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำฮฮร์โมนไข่และอาหารเสริมคุณภาพสูง เพื่อลดต้นทุนการประกอบอาชีพและขายเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ในลักษณะเงินทุนคืนกลุ่ม

 

เป็นไปตามความมุ่งมั่น มาตรการการจัดการหนี้รูปแบบ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา ปรากฎความสำเร็จทำให้สมาชิกครัวเรือนในชุมชนบ้านชากไทยสามารถลดรายจ่าย ซึ่งพิจารณาจากจำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้ต่อปีหลังเข้าร่วมโครงการนั้นจ่ายต่ำกว่าหรือถูกกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ สะท้อนถึงครัวเรือนเกิดเงินออม อีกทั้งมีรายได้จากการสนับสนุนอาชีพ

 

ภาพรวมของข้อมูลการบริหารจัดการหนี้ทั้ง 41 ครัวเรือน
ปี ครัวเรือน ชำระหนี้เงินต้น/ปี ก่อนเข้าโครงการ ชำระหนี้เงิต้น/ปี หลังเข้าโครงการ
2560 13 46,624 15,505
2561 14 38,576 13,201
2562 14 37,619 24,671

 

อีกทั้งภายใต้แนวทาง “ชากไทยปลดหนี้”ในปี 2563-2565 นั้น ปี 2563 มีครัวเรือนปลดหนี้ได้ 8 ครัวเรือน ส่วนการก้าวเดินในปี 2565 คาดจะปลดหนี้ได้ อีก 25 ครัวเรือน และในปี 2566 จะมีจำนวนครัวเรือนปลดหนี้ได้เพิ่ม 6 ครัวเรือน ซึ่งการดำเนินเช่นนี้ เชื่อว่า ชุมชนบ้านชากไทยยิ่งส่อถึงการเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนและมีวิถีความมั่นคงของชาวบ้านเมื่อหมดภาระหนี้สิน สิ้นทุกข์ ไม่ต้องผวากับเสียงมอเตอร์ไซด์มาจอดหน้าบ้าน

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top