skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“ชัยภูมิ”จมมิดน้ำพายุเตี้ยนหมู่

“ชัยภูมิ”จมมิดน้ำพายุเตี้ยนหมู่

“ชัยภูมิ”จมมิดน้ำพายุเตี้ยนหมู่

 

พายุเตี้ยนหมู่ (Dianmu) ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ ขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของเมืองญาจาง ประเทศเวียดนาม เคลื่อนผ่านไทยพาดทางฟ้าเหนืออีสานเข้าสู่พื้นที่เหนือตอนล่าง ออกอิทธิฤทธิ์ไม่เบาทำให้ฝนตกกระหน่ำตลอดคืนตั้งแต่ 24 ก.ย. และสะสมปริมาณน้ำฝนต่อเนื่องกระทั่งถึง 27 ก.ย.เมืองชัยภูมิก็จมมิดน้ำไปทันใด

       

พื้นที่“ชัยภูมิ” มีเทือกเขา 3 แห่งโอบล้อมไว้ทั้งเทือกเขาภูเขียว (รอยต่อ อ.ภูเขียว, หนองบัวแดง, คอนสาร, เกษตรสมบูรณ์) เทือกเขาพังเหย (รอยต่อ อ.หนองบัวระเหว, ซับใหญ่, ภักดีชุมพล, เทพสถิต, บำเหน็จณรงค์ (บางส่วน)) และเทือกเขาภูแลนคา (อ.เมืองชัยภูมิ, แก้งคร้อ, คอนสวรรค์ (บางส่วน) เกษตรสมบูรณ์ (บางส่วน), หนองบัวแดง (บางส่วน)) ด้วยเหตุนี้น้ำป่าจากเทือกเขาจึงไหลเชี่ยวพัดรุนแรงมาผสมโรงให้ที่ราบลุ่มมีระดับน้ำสูงจนมิดหลังคาบ้านชั้นเดียว แล้วชีวิตหลายพันครอบครัวเดือดร้อน ลำบาก ซ้ำร้ายโรงพยาบาลบำเหน็จณรงค์น้ำยังท่วมจนถึงชั้น 2 ของตึก และบ้านพักเจ้าหน้าที่ จนแทบถูกตัดขาดจากภายนอก

 

 

จังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วย 16 อำเภอ สถานการณ์เมื่อ 28 ก.ย. พายุเตี้ยนหมู่ถล่มมวลน้ำฝนเข้าใส่ไม่ลืมหูลืมตา จน 14 อำเภอมีสภาพกลายเป็นเมืองบาดาล เหลือเพียง อ.แก้งคร้อ และ อ.ซับใหญ่ ยังไม่ได้รับผลกระทบ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ บอกสถานการณ์น้ำท่วมสั้นๆว่า วิกฤตกว่า 50 ปีที่ผ่านมา

อาการน้ำท่วมรุนแรงนั้น อธิบายถึงมีน้ำขังสูงระดับ 1 เมตรขึ้นไปแล้วยังมีน้ำป่าบนเทือกเข้าทยอยไหลมาสมทบอีก ถนนจึงถูกตัดขาด ผู้คนขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน รอความช่วยเหลือที่ยังเข้าไม่ถึง อีกทั้งโรงพยาบาลยังหามคนป่วยหนีน้ำทะลักเข้าตึกกันจ้าละหวั่น ทุลักทุเล

 

          

 

“ประยุทธ์”ลงพื้นที่เยี่ยม 1 ชม.กลับ

พล.อ.ประยุท์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางคิวลงพื้นที่ชัยภูมิในวันที่ 29 ก.ย. ทางจังหวัดประชุมเจ้าหน้าที่เกณฑ์ประชาชนรอต้อนรับ โดยมีกำหนดการว่า นายกรัฐมนตรีจะมาลงที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. ตรงวิทยาลัยเกษตรเพื่อพบปะชาวบ้าน แล้วขึ้นรถยกสูงไปดูที่โรงพยาบาลชัยภูมิ

แน่ละ…นึกภาพย่อมเห็นการยกมือ ชูสองนิ้ว ถือไมค์พูดปลุกกำลังใจเจ้าหน้าที่และประชาชนให้ต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่มาแล้วก็จะผ่านพ้นไป ขอให้อดทน โดยใช้เวลาเยี่ยมในตัวเมืองประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วเดินทางกลับ ทำภารกิจเสร็จสมบูรณ์

มีรายงานจากประชาชนในพื้นที่ว่า ตัวเมืองชัยภูมิมีน้ำท่วมสูงตั้งแต่ช่วงสายเมื่อ 26 ก.ย. ถนนหน้าบ้านบางสายสูงระดับอกผู้ชายตัวสูง ยังไร้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานไหนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ บางบ้านรถจมอยู่ในน้ำ 2 คัน ชีวิตคนครอบครัวพยายามดิ้นรนกันเองเท่าที่จะทำได้ “พ่อออกไปซื้อกระสอบทราย 2 คันรถเพื่อมาขวางทางน้ำ ได้ลูกน้องพ่อเอาเครื่องสูบน้ำมาช่วยสูบน้ำออก และเอาเรือมาช่วยขนกระสอบทราย” นั่นคือภาพการช่วยตัวเองของครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้จากประชาชนที่เป็นมาและเป็นปกติแทบทุกปีที่น้ำท่วม

อีกทั้งมีรายงานว่า เบอร์โทรศัพท์หน่วยงานภาครัฐที่เทศบาลระบุไว้สายไม่ว่าง หรือโทรติดไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย ในตัวเมืองชัยภูมิ มีเรือสำหรับขนคน 3-4 ลำ และเพิ่งมีคำสั่งให้ใช้เรือเข้าพื้นที่ชุมชนและประสานขอให้รถทหารมารับส่งคนแทน ชาวบ้านในตัวเมืองบางคนเหลืออด บ่นใส่อารมณ์ระบุถึงทุกอย่างเต็มไปด้วยความสะเปะสะปะ มองไม่เห็นความหวังจะใช้ชีวิตกันวันต่อวันยังไง แม้สูบน้ำออกจากตัวบ้าน แต่น้ำข้างนอกดันกลับเข้ามาอยู่ดี เพื่อนบ้านที่มีที่ไปได้ลอยคอออกไปตั้งแต่เมื่อคืน 27 ก.ย.แล้ว

“เราอยากได้ความช่วยเหลือแค่น้ำกับอาหาร กระสอบทราย เพื่อไม่ให้ทุกอย่างมันแย่ไปกว่านี้ แต่ดูเหมือนความเดือดร้อน ความเจ็บปวดของชาวบ้านอย่างเรามันจะไม่มากพอให้บรรดาข้าราชการตระหนักและเล็งเห็นถึงความเดือดร้อน แต่ประชุมเตรียมงานใช้รถทหารขนคนมาต้อนรับนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่”

 

จมมิด ท่วมหนัก หนีน้ำอยู่บนหลังคาบ้าน

บัดนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ประกาศให้ 14 อำเภอของชัยภูมิเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม แต่ความเดือดร้อนหนักๆ อยู่ที่ 3 อำเภอ อ.เมืองชัยภูมิ อ.บำเหน็จณรงค์ และ อ.จัตุรัส

นายวิเชียร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ รายงานว่า หนักที่สุดอยู่ที่เขต อ.เมืองชัยภูมิ ในโซนเศรษฐกิจใจกลางเมืองเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิทั้งหมด ระดับน้ำยังท่วมสูงเฉลี่ยกว่า 50 ซม. ถึงกว่า 2 เมตร ส่งผลให้เกือบ 25 ชุมชนเมืองเดือดร้อน ประชาชนถูกตัดขาด เข้าออกชุมชนไม่ได้ ประชาชนขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม อีกทั้งการประปาหยุดจ่ายน้ำ การไฟฟ้าตัดไฟบ้านเรือนในพื้นที่กว่า 4,500 หลังคาเรือน ในเขต ต.ชีลอง, ต.หนองนาแซง, ต.บ้านค่าย และ ต.กุดตุ้ม อ.เมืองชัยภูมิ สิ่งสำคัญโรงพยาบาลประจำจังหวัดชัยภูมิมวลน้ำทยอยไหลท่วมสูงขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนความช่วยเหลือ เทศบาลเมืองชัยภูมิเร่งแจกจ่ายข้าวกล่องและน้ำดื่มต่อวันรวมกว่า 5,500 คน มาต่อเนื่องกว่า 3 วันแล้ว ล่าสุด ได้รับให้จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน รถครัวอาหารและน้ำประปาสนามจากกองทัพภาคที่ 2 และกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาแล้ว

พื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ หนักหน่วงไม่แตกต่างกัน น้ำไหลหลากมาจากอ่างเก็บน้ำลำคันฉู เข้าท่วมพื้นในพื้นที่อย่างไม่ทันตั้งตัวเตรียมรับมือ จนถูกน้ำท่วมหนักนานนับสัปดาห์ ซ้ำร้ายเกิดน้ำหนุนสูงเข้าท่วมขยายวงกว้างต่อเนื่อง โรงพยาบาลบำเหน็จณรงค์ อพยพผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นที่น้ำท่วมน้อยหรือไม่ท่วม แม้ล่าสุดน้ำเริ่มลดลงบางส่วน แต่ยังมีน้ำท่วมสูงกว่า 1-2 เมตร และยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ประชาชนหลายตำบลชีวิตนับหมื่นครอบครัวเดือดร้อนรอคอยการช่วยเหลือทั้งน้ำดื่มและอาหารเพื่อประทังชีวิต  

รวมทั้งพื้นที่ อ.จัตุรัส มีรายงานว่า ผู้ว่าราขการจังหวัดลงสำรวจการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่อีกหลายตำบล ทั้งระดมเจ้าหน้าที่ทั้งกำลังทหาร ฝ่ายปกครอง รถขนาดสูง และเรือที่มีเครื่องยนต์แรงฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวแรงเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกตัดขาด แต่ยังเข้าถึงไม่ได้อีกจำนวนมากนับหลายพันครอบครัว โดยเฉพาะจุดในตำบลหนองโน, ต.กุดน้ำใส ยังมีชาวบ้าน เด็ก คนชรา ผู้ป่วยติดเตียงหนีน้ำขึ้นไปรออยู่บนหลังคาบ้านรอการช่วยเหลือและทนอดข้าวอดน้ำตั้งแต่เมื่อ 27 ก.ย.

 

กทม.ระทึก!!! วิกฤตน้ำปี 54 ตามหลอน

คนเมืองกรุง กทม. ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ ยังจดจำวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 สมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่งเริ่มเข้าบริหารประเทศได้ไม่นาน ส่วนขณะนี้ปี 2564 เวลาล่วง 10 ปีแล้ว พายุเตี้ยนหมู่ได้ฉุดเอาความหวั่นระทึกกลับมาอีกครั้ง

มีรายงานน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยารองรับน้ำไว้มาก ทยอยปล่อยมวลน้ำให้สมดุลกับตัวเขื่อนรองรับได้ น้ำถูกปล่อยออกมาระดับ 2,500 ลบ.เมตรต่อวินาที กระทบต่อชุมชนท้ายเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่บ้าง จังหวัดสุโขทัยประชาชนเริ่มเดือดร้อนหนักแล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่เชื่อว่ายังพอป้องกันภัยธรรมชาติได้

 

 

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต บอกว่า หากเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยมวลน้ำแตะที่ระดับ 2,600-2,800 ลบ.เมตรต่อวินาที ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบมากขึ้น และเมื่อผสมปนเปกับพายุอีก 2 ลูกในกลาง ต.ค. อาจเป็นตัวแปรสำคัญทำน้ำท่วม กทม.ได้

นักวิชาการทางน้ำคนนี้ คาดการณ์ว่า ถ้าพายุมาจริง ฝนจะตกหนักมาก ปริมาณน้ำอาจเทียบเท่าปี 2554 เมื่อน้ำท่วมมีความรุนแรงสูงกว่าปี 2554 แน่นอน เพราะลักษณะทางกายภาพของ กทม.เปลี่ยน ไปเนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างถนน คันกั้นน้ำ ในพื้นที่เศรษฐกิจ มวลน้ำจะไหลเข้าพื้นที่พื้นที่ที่ไม่ได้ป้องกัน เช่น ชุมชน ดังนั้น ควรเตรียมพร้อมตั้งรับ โดยเฉพาะโรงพยาบาลอย่าให้ซ้ำรอยชัยภูมิทุลักมุเลหามคนป่วยหนีน้ำท่วม

“ตอนนี้เราไม่มีเครื่องมืออะไร ช่วยลดปริมาณน้ำได้แล้ว คลองผันน้ำต่างๆ เขาวางแผนไว้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าถึงจะสร้างเสร็จ ใช้งบประมาณ 3 แสนล้านบาท” รศ.ดร.เสรี ส่งสัญญาณความหวาดหวั่น

นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีความเห็นว่า ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมสุโขทัย แทบไม่ได้มาจากแม่น้ำยมจากทางเหนือแต่เป็นน้ำบ่าเข้ามาจากลุ่มน้ำโดยรอบเนื่องจากพายุใหญ่ผ่าน และน้ำจากสุโขทัยก็จะลงทุ่งบางระกำ ที่เป็นพื้นที่รับน้ำได้ ก่อนจะรวมกับแม่น้ำน่าน ซึ่งยังไม่มีน้ำมากนัก มารวมกันที่นครสวรรค์ และผ่านมาบึงบรเพ็ดที่ยังรับน้ำได้

ดังนั้น ขออย่าปล่อยข่าวให้คนมโนไปว่ามวลน้ำจะมา แค่ใช้ศัพท์มวลน้ำมา คนก็คิดว่าจะมาตามประสบการณ์ของตัวเองไหม ไม่มีใครมาพูดให้รู้เรื่องทั้งๆที่น้ำท่วมปี 2554 ก็เพิ่มคนรู้ เพิ่มความรู้กันตั้งเยอะ แต่ไม่เพิ่มวิธีการสื่อสารเลย

“เช่นเดียวกับน้ำท่วมระหว่างถนนที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ประคองน้ำไม่ให้ท่วมออกมา ถ้าน้ำยังแค่นี้ และพามวลน้ำท่วมที่แคบๆที่ว่ามาระบายออกระบบคลอง ที่แบ่งน้ำออกไปทางข้างกระจายไปทุ่งนั้นทุ่งนี้” ถึงที่สุดแล้ว นายศศิน มีความเห็นว่า หากมวลน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเคลื่อนตัวมาถึงอยุธยา ปทุมธานีก็มีระบบคลองแบ่งน้ำลดระดับออกไปกี่คลองซึ่งตามปกติ น้ำแค่นี้ยังรับได้สบายๆ เพราะถ้าเขื่อนเจ้าพระยายังระบายเท่านี้

สิ่งที่สะท้อนจากอาการแตกตื่นของประชาชนนั้น บ่งบอกว่า หน่วยงานราชการทางการไม่มีช่องทางชี้แจ้งความน่าจะเป็นตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือไร้มืออาชีพมาอธิบายแล้วคนฟังมั่นใจ เชื่อถือ รู้เรื่องเหมือนเดิมซ้ำๆอีก

ยิ่งผสมอารมณ์ป่วนระทึก หวั่นวิตกให้เลยเถิด ผุดขึ้นซ้ำซากจำเจ หรือปลุกใจให้ประชาชนสวดมนต์ไล่พายุ ซึ่งเป็นแนวคิดฉีกหนีกฎธรรมชาติและหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ไปอย่างน่าตะลึงงัน


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee</a

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top