“ชัยพร พรหมพันธุ์” ปรับตัว ใฝ่รู้ ปลูกข้าวอินทรีย์ คิดค้นเครื่องมือทำนาลดต้นทุน
“ชัยพร พรหมพันธุ์”
ปรับตัว ใฝ่รู้ ปลูกข้าวอินทรีย์
คิดค้นเครื่องมือทำนาลดต้นทุน
“ชัยพร”เกษตรกรปุ๋ยอินทรีย์ ทำนาลดต้นทุน มีผลงานเด่นเป็นแบบอย่างชาวนาใฝ่รู้ คิดสร้างสรรค์ทำเครื่องมือปรับปรุงการพรวนดินปลูกข้าวได้คุณภาพ ขายได้ราคาดี มีรายได้เพิ่ม เหลือเก็บออมเงินล้าน
นายชัยพร พรหมพันธุ์ อายุ 61 ปี เป็นเกษตรกร ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ประกอบอาชีพทำนาขายข้าวในพื้นที่ 108 ไร่ ตามแนวทางเกษตรปลอดภัยและลดต้นทุน โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์จนประสบความสำเร็จ ขายข้าวได้ราคาดี ถูกเรียกว่า ชาวนาเงินล้าน สามารถส่งลูกสาว 2 คน และลูกชาย 1 คน จบการศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหน้าที่การงานมั่นคง ทั้งที่ตัวเองจบเพียงชั้น ป.4
ก่อนประสบความสำเร็จเป็นชาวนาเงินล้าน นายชัยพร มีความลำบากตามประสาครอบครัวชาวนาดั้งเดิม เคยทำงานรับจ้างเป็นช่างกลึงนาน 3 ปี เมื่อไม่ดีขึ้นจึงวกกลับบ้านเกิดมาช่วยครอบครัวปลูกข้าวขายบนที่นาผืนเก่า 8 ไร่
หลังแต่งงานย้ายมาอยู่บ้านภรรยาและยังยึดอาชีพทำนาใช้สารเคมีบนพื้นที่ 25 ไร่ แต่ได้ข้าวน้อย ขายขาดทุน มีหนี้สินพอกพูนสะสมปีต่อปี พยายามค้นหาความรู้ใหม่มาพลิกเปลี่ยนการทำนา โดยหวังให้ได้ข้าวมากขึ้น มีคุณภาพ และขายได้ราคาดีเพื่อปลดหนี้สินแล้วลืมตาอ้าปาก กลายเป็นชีวิตชาวนาใหม่มีความสุขมั่นคงพอเพียง
ความหวังของนายชัยพร เริ่มบรรเจิดเมื่อได้รับความรู้การทำนาอินทรีย์ต้นแบบจากอาจารย์เดชา ศิริภัทร ซึ่งขอใช้ที่นาพ่อ 5 ไร่ปลูกข้าวแบบลดสารเคมี แล้วใส่สารสกัดจากพืชสมุนไพรควบคุมแมลงเป็นแปลงตัวอย่างทดลอง เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตกับนาใช้สารเคมีแล้ว ปรากฎว่า ได้ข้าวมีคุณภาพ ขายได้ราคาดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นตัวอย่างปลูกข้าวแบบชีวภาพ ฉีดด้วยสมุนไพร ไม่มีเพลี้ยรบกวน จึงนำมาทดลองปรับปรุงการทำนาตัวเอง 8 ไร่แบบลองผิดลองถูก และเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่หลายปี จนลงตัวกลายเป็นจุดเริ่มการทำนาวิธีผสมผสานกับสมุนไพร แล้วปัดทิ้งสารเคมีใช้ปลูกข้าวสิ้นเชิง พร้อมทั้งขยายที่นาปลูกข้าวเพิ่มขึ้นจาก 8 ไร่ ขยับเป็นปัจจุบัน 108 ไร่ มีผลผลิตขายได้ราคาดี กลายเป็นชาวนาเงินล้านที่ชุมชนต้องการเอาเป็นแบบอย่าง
ตลอดช่วงทำนาปลูกข้าว 40 ปี นายชัยพร ยังใฝ่รู้ ริเริ่มสร้างสรรค์และทดลองวิธีทำนาแบบลดต้นทุนเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง จนตกผลึกกระบวนการทำนาอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพย่อมสัมพันธ์กับขั้นตอนปรับปรุงดิน เตรียมพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง แล้วเติมด้วยการเพิ่มจุลินทรีย์จากขอนไม้ผุให้กับดิน ตลอดจนคิดสร้างพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือไถ่พรวนดินด้วยตนเอง
ด้วยกระบวนการเช่นนี้ ทำให้นายชัยพร สามารถลดต้นทุนทำนาเหลือไร่ละ 2,500 บาท ขณะที่ชาวนาคนอื่นมีค่าใช้จ่ายประมาณ 7,000 บาทต่อไร่ แถมยังได้ผลผลิตต่อไร่มากกว่า และขายได้ราคาดีกว่าถึงตันละ 8,500 บาท ส่วนชาวนาคนอื่นขายข้าวตันละ 7,500 บาท แตกต่างกันถึง 1,000 บาทต่อตัน
ไม่เพียงเท่านั้น นายชัยพร ยังร่วมมือกับสำนักงานวิจัยแห่งชาติและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จให้ชุมชนชาวนาอื่นๆ ได้รับรู้วิธีการและนำแบบอย่างไปปฏิบัติ และยังได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการทำนาแบบต้นทุนต่ำทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนได้ใช้แปลงนาของตนเองเป็นที่ศึกษาดูงานของผู้สนใจ รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญของกลุ่มกษตรกรทำนาแบบชีวภาพ
ในความสำเร็จของนายชัยพร มีสิ่งบ่งชี้เป็นรูปธรรมด้านการทำนาแบบลดต้นทุน คือใช้วิธีบำรุงดินแบบไม่เผาฟาง แต่ใช้อุปกรณ์เรียกว่า “ลูกควัก” ซึ่งดัดแปลงขึ้นเอง โดยไถกลบฟางและตีดินไปพร้อมกัน การไถกลบฟางจะเป็นการบำรุงดิน และไถให้ลึกราว 30 ซม. ตีดินให้เป็นหล่ม จะทำให้ดินนุ่ม ข้าวหยั่งรากได้ลึกและดูดสารอาหารได้มากขึ้น
เครื่องมือพรวนดินไถ่กลบฟางเตรียมดินทำนาด้วยตัวเองนั้น ยังทำให้นายชัยพร ประหยัดแรงงานและเวลาทำนา เช่น การไถและตีดินพร้อมกัน ช่วยประหยัดเวลาโดยพื้นที่นา 10 ไร่ใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมงก็ทำนากว่า 100 ไร่ด้วยตัวเองคนเดียว พร้อมด้วยวิธีปรับปรุงดินเปรี้ยว โดยใช้โดโลไมต์และถ่านแกลบโอชาทำให้ได้ผลผลิตสูง
อีกทั้งได้คิดค้นการกำจัดแมลง เชื้อรา ศัตรูข้าว โดยใช้น้ำสกัดชีวภาพชนิดสมุนไพรป้องกันแมลง การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ การใช้เชื้อไตรโคเดอร์ มากำจัดโรคข้าวที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนการบำรุงข้าว คิดค้นสูตรฮอร์โมนนมสดทำให้ข้าวแตกกอ สูตรฮอร์โมนไข่เพื่อเร่งดอก การใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์บำรุง ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ให้อาหารในช่วงที่พืชต้องการและที่สำคัญทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
รวมทั้ง มีการจัดการน้ำเพื่อเพิ่มการแตกกอและการเติบโตของข้าว เช่น การขังน้ำแบบแห้งสลับเปียก รวมถึงการจัดการนาเป็นลำดับขั้นตอน ให้ไถกลบฟางก่อนน้ำท่วม หว่านขี้หมูก่อนน้ำลด เมื่อข้าวอายุ 8-9 วัน ให้สูบน้ำเข้านาและรักษาระดับน้ำไว้ 30 วัน ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เมื่อข้าวได้อายุ 18 วัน และวันที่ 19 ให้ฉีดสมุนไพรผสมฮอร์โมน นมสดกับน้ำขี้หมู
ด้วยผลงานความสำเร็จดังกล่าว สำนักงานสภาเกษตรกร จ.สุพรรณบุรี จึงเสนอนายชัยพร เข้ารับการคัดสรรเป็นปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ โดยระบุความโดดเด่นว่า เป็นผู้ทำนาด้วยการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ สร้างแบบแผนของการทำนาแบบวิถีประกอบการที่มีการวางแผนและจัดการเรื่องต่าง ๆ ด้วยข้อมูลและความรู้ที่ผ่านการทดสอบ และสรุปรวบยอดเป็นแนวปฏิบัติไว้เป็นลำดับก่อนและหลังตามจำนวนนับวัน อันเป็นการจัดการทักษะตามลำดับขั้นตอนในวงจรของการผลิต มีการปรับใช้ความรู้ขยายจุลินทรีย์จากขอนไม้ผุไปใช้กับการย่อยสลายฟางข้าว โดยใช้พื้นที่นาของตนเองเป็นห้องทดลองและสถานที่ทดสอบความรู้ในทางปฏิบัติ
รวมถึงการประดิษฐ์อุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อการต่าง ๆ ที่นำไปสู่การทุ่นแรงและลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดการจ้างงาน ก็เป็นตัวอย่างของการพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในขั้นตอนทำนา ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้เป็นเรื่องที่ค้นพบได้น้อยมากจากผู้ทีมีอาชีพทำนาในปัจจุบัน
ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods
https://www.instagram.com/sammachiv/