skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“คุณค่า”กับ“ความยั่งยืน”

“คุณค่า”กับ“ความยั่งยืน”

          กิจการที่ตระหนักในเรื่องความยั่งยืน ต่างมองหาแนวทางในการประเมินคุณค่าทางธุรกิจที่เกิดจากการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ที่เกี่ยวเนื่องกับผลทางการเงิน เพื่อให้ได้ภาพความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่ากับความยั่งยืนที่อธิบายได้

          ขณะที่การดำเนินงานในประเด็นความยั่งยืน (Sustainability Issues) เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตัวเลขผลประกอบการ แต่การดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Business Strategies) เป็นการผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจที่ส่งผลโดยตรงต่อการประกอบการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

          หลายกิจการมองประเด็นความยั่งยืน เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการ ขณะที่กิจการจำนวนหนึ่งมองเรื่องความยั่งยืน เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ผลักดันให้เกิดการสร้างผลกำไรและการเติบโต จากความต้องการในผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการลดการทำลายสภาพแวดล้อมทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงสังคม

          ผลลัพธ์จากการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินธุรกิจ ให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ และการขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิผล นำมาซึ่งบรรทัดสุดท้ายของกิจการ

          หน่วยงาน UN Global Compact และ UN-supported Principles for Responsible Investment (PRI) ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องมือ Value Driver Model ที่บริษัทสามารถใช้ประเมินและสื่อสารถึงผลกระทบที่แสดงเป็นตัวเลขทางการเงินจากการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยการเลือกใช้ตัววัดที่มีนัยสำคัญต่อผลประกอบการทางการเงินในสามมิติ ได้แก่ มิติการเติบโตของรายได้ จากผลิตภัณฑ์ บริการ และ/หรือ กลยุทธ์ที่ใช้เรื่องความยั่งยืนเป็นฐานในการพัฒนา (Sustainability-Growth หรือ S/G)

          มิติการประหยัดต้นทุน จากการดำเนินงานปรับปรุงผลิตภาพ ที่ขับเคลื่อนด้วยความริเริ่มด้านความยั่งยืน (Sustainability-Productivity หรือ S/P) และมิติการลดความเสี่ยง ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ (Sustainability-Risk Management หรือ S/R)

          องค์กรธุรกิจ สามารถหยิบเครื่องมือ Value Driver Model มาใช้โดยเริ่มจากการสำรวจสิ่งที่องค์กรดำเนินการซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ตามมิติที่เครื่องมือ VDM แนะนำ เพื่อระบุถึงช่องว่าง (Gap) ที่องค์กรยังมิได้ดำเนินการ หรือที่สามารถดำเนินการได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          ในมิติการเติบโตของรายได้ที่เกิดจากการใช้ประเด็นความยั่งยืนให้เป็นประโยชน์ ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ มักต้องการทราบข้อมูลในสองรายการ คือ คุณภาพของรายได้ในปัจจุบันที่มาจากเรื่องความยั่งยืน หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ร้อยละของยอดขายรวมที่ระบุโดยบริษัทหรือหน่วยงานภายนอกที่น่าเชื่อถือว่ามาจากผลิตภัณฑ์และบริการที่นำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และรายการที่สอง คือ อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนเทียบกับการเติบโตโดยรวมของกิจการ

          ในมิติการประหยัดต้นทุนที่เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยประเด็นความยั่งยืน ผู้ลงทุนต้องการทราบผลรวมของการประหยัดต้นทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ รวมถึงผลได้ทางตรงอื่นๆ ที่เกิดจากการดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนของกิจการ เช่น การลดการใช้พลังงานในโรงงานหรือในสถานประกอบการแห่งใหม่ อัตราการเข้าออกของพนักงานที่ลดลง ผู้ลงทุนยังต้องการที่จะล่วงรู้ถึงภาพรวมโครงสร้างต้นทุนที่เกิดจากกลยุทธ์ดังกล่าว ทั้งในแง่ของตัวเงินและอัตราส่วนร้อยละ เช่น ต้นทุนต่อหน่วยผลิต ต้นทุนต่อชั่วโมงทำงาน

          ในมิติการลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ผู้ลงทุนต้องการทราบรายการความเสี่ยงที่ถูกจัดว่าเป็นประเด็นสาระสำคัญต่อธุรกิจ ทั้งในแง่ของรายได้และชื่อเสียงของกิจการ  เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลโดยตรงต่อการเพิ่ม/ลดปัจจัยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนยังต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพัทธ์ในมาตรวัดที่เป็นความเข้มของความเสี่ยง (Risk Intensity) ในมิติต่างๆ

          แนวโน้มของโลกที่ให้ความสนใจต่อประเด็นความยั่งยืน ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงกดดันจากกฎระเบียบ ทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลยุทธ์ธุรกิจที่ยั่งยืนมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นจากนี้ไป การหยิบฉวยโอกาสของกิจการ สามารถทำได้โดยการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการใช้ประเด็นความยั่งยืนทั้งที่ดำเนินการอยู่และที่เห็นโอกาสในการดำเนินการ พร้อมทั้งสื่อสารสู่ภายนอกในภาษาที่บุคคลทั่วไปและผู้ลงทุนเข้าใจได้ง่าย และหากกิจการสามารถสื่อสารถึงข้อได้เปรียบจากการดำเนินกลยุทธ์ภายใต้แนวโน้มที่เกิดขึ้น ผู้ลงทุนย่อมให้คุณค่าส่วนเพิ่ม (Premium) แก่กิจการที่นำล้ำหน้ากิจการอื่น ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้

ข้อมูลจาก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ และภาพประกอบจากเว็บไซต์ interregeurope .eu

Back To Top