skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“กาแฟถ้ำสิงห์” วิสาหกิจของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน

“กาแฟถ้ำสิงห์” วิสาหกิจของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน

“กาแฟถ้ำสิงห์”

วิสาหกิจของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน

 

 

 

ความสำเร็จของวิสาหกิจออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านสิงห์ คือผลงานอันโดดเด่นในการจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์” มากู้ชีพเกษตรกรกาแฟโรบัสต้าของบ้านถ้ำสิงห์ให้กลับฟื้นอีกครั้งเมื่อปี 2551

 

เกษตรกรกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาในครั้งนี้ ได้เก็บรับบทเรียนราคาล่มจมจากการปลูกกาแฟเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือในปี 2522 กาแฟมีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ขายได้ถึงกิโลกรัมละ 120 บาท ส่งผลให้เกษตรกรมีเงินเก็บและฝากกับธนาคาร และมองหาพื้นที่ปลูกกาแฟเพิ่มที่อำเภอกระบุรี อำเภอท่าแซะ ทำให้พื้นที่ปลูกกาแฟของจังหวัดชุมพรขยายอย่างรวดเร็ว

 

 

แต่ชีวิตดีๆกับราคาตลาดงามๆ ต้องสลายลงในปี 2530 เมื่อราคาเม็ดกาแฟสดเริ่มตกต่ำ ชาวบ้านจึงหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวอื่นๆ ทำให้พื้นที่เคยปลูกกาแฟกว่า 20,000 ไร่ ลดฮวบเหลือแค่ 100 ไร่ รัฐบาลช่วงปี 2532 ยืนมือมาช่วยเหลือ อุดหนุนไร่ละ 6,800 บาท ให้เกษตกรโค่นต้นกาแฟทิ้งเหลือแต่การปลูกผลไม้ทุเรียน มังคุค กล้วยหอม ส่วนกาแฟโรบัสต้าอันขึ้นชื่อก็เงียบกริบ จวนสูญหายไปจาก บ้านถ้ำสิงห์ และของสินค้าดีของชาวชุมพร

 

กระทั่ง 20 ปีต่อมา ในปี 2551 นายนิคม ศิลปศร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ ในฐานะประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ผู้บุกเบิกปลุกพลังเกษตรกรให้ฟื้นคืนชีพมาปลูกกาแฟจนมีชื่อเสียงโด่งดัง สิ่งนี้เป็นภาพรวมความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของชาวบ้านถ้ำสิงห์ที่จับมือผนึกกำลังคนท้องถิ่นเพื่อมุ่งหวังยืนด้วยลำแข้งด้วยการนำกาแฟซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมมาสร้างรายได้ช่วยดัน เศรษฐกิจปากท้องชุมชนให้ขยับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

 

ดังนั้น การกลับมาของกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ตั้งแต่ปี 2551 จึงไม่ได้เดินตามรอยทางราคาสูงเมื่อปี 2522 แต่ปรับรูปใหม่ด้วยการลงมือให้กำเนิดกาแฟโรบัสต้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยทุกกระบวนการเป็นการลงแรงร่วมพลังด้วยน้ำมือของคนท้องถิ่นที่”วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์” เป็นหัวเรือใหญ่ คอยหนุนเสริมนำพันธุ์กล้ามาแจกเกษตรกรปีละ 5-6 หมื่นต้น หรือครัวเรือนละ 100 ต้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก แล้วรับซื้อผลผลิตมาแปรรูปเอง และสร้างแบรนด์ “ถ้ำสิงห์” ในติดตลาด สิ่งสำคัญทุกกระบวนการของกาแฟถ้ำสิงห์นั้นมีการจ้างงานคนในชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

 

รวมความแล้วกาแฟถ้ำสิงห์ได้ลุกขึ้นมาสู่ความสำเร็จและเป็นผลงานอันเยี่ยมยอดของพลังชุมชนบ้านถ้ำสิงห์ จึงไม่เป็นที่สงสัยกับ”วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2564 ประเภทการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร จากมูลนิธิสัมมาชีพ มาครอบครองด้วยความภูมิใจ

 

ขยายเติบโต-เพิ่มรายได้ชุมชน

“นิคม ศิลปศร”กับชาวบ้าน 20 คนรวมตัวกันตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เพื่อกอบกู้ของดีคู่ชุมชนบ้านถ้ำสิงห์เมื่อปี 2551 เริ่มแรกลงเงินทุนคนละไม่เกิน 50,000 บาท จากนั้นขอสินเชื่อจากธนาคารออมสินมาเพิ่มอีก 1 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาฟื้นฟูการปลูกกาแฟแซมกับพืชอื่นในพื้นที่

 

พร้อมกับสร้างความมั่นใจว่าปลูกกาแฟแล้วมีที่ขายจริง โดยมีการประกันราคารับซื้อให้กิโลกรัมละ 25-30 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด เพราะตลาดรับซื้อเป็นเมล็ดกาแฟดิบพร้อมคั่วราคา 65 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่เมื่อนำเมล็ดกาแฟสดของวิสาหกิจชุมชนมาแปรเป็นเมล็ดกาแฟดิบพร้อมคั่วราคาจะสูงถึง 150 บาทต่อกิโลกรัม

 

 

ปัจจุบันกาแฟถ้ำสิงห์ เติบโตขยายเป็นธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ปลูก แปรรูป จำหน่าย เบ็ดเสร็จในชุมชนเดียว พร้อมพัฒนาแพ็คเกจสินค้าให้สวยงามและทันสมัย ขณะเดียวกันก็พยายามคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้แตกต่างจากกาแฟชุมชนอื่นๆ ในท้องตลาด โดยเฉพาะกาแฟดริพ กาแฟสดชงเอง กำลังได้รับความนิยมในหมู่คอกาแฟทั้งหลาย

 

 

 

ปัจจุบันวิสาหกิจมีกำลังการผลิตกาแฟคั่ว และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงส่งให้กับร้านกาแฟสด เดือนละประมาณ 600-800 กิโลกรัม ขณะที่กาแฟ 3 in 1 สามารถผลิตได้ 500 ลังต่อเดือน และ 4 in 1 สามารถผลิตได้ 1,200 ลังต่อเดือน ซึ่งยังผลิตไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า ส่วนการรับซื้อผลผลิตจากเกษตกร วิสาหกิจรับซื้อตามกำลังเงินของกลุ่มที่มีอยู่ โดยเฉลี่ยต่อปีนี้จะรับซื้อประมาณ 90 ตัน

 

ในอนาคต การขยายร้านกาแฟสดของวิสาหกิจชุมชนไปในห้างค้าปลีกค้าส่ง แม็คโคร สาขาจังหวัดชุมพร และตั้งเป้าเปิดในทุกสาขา อีกทั้งเพิ่มจำนวนสมาชิก 20-30 คนต่อปี และเตรียมขยับขยายเครือข่ายไปต่างจังหวัด เช่น สงขลา พัทลุง ยะลา และสุราษฎร์ธานี

 

การเติบโตของกาแฟถ้ำสิงห์นั้น ส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนด้านเงินทุนสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และหน่วยงานภาครัฐต่างๆมาช่วยต่อยอด ทำให้ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจสามารถซื้อเครื่องคั่วบด สร้างโรงอบด้วยพลังแสงอาทิตย์ พร้อมกับเปิดช่องทางทางการจำหน่ายด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น กาแฟคั่วบด, กาแฟคั่ว, กาแฟ 3 in 1 และกาแฟ 4 in 1 ผสมดอกคำฝอย สร้างเม็ดเงินเข้ากลุ่มปีกว่า 30 ล้านบาท โดยปี 2562 มีรายได้ 32 ล้านบาท กำไร 335,978 บาท ส่วนปี 2563 ทำรายได้ 32.9 ล้านบาท กำไร 348,647 บาท สามารถสร้างรายได้ให้สมาชิก 53,045 บาท/คน/ปี  ซึ่งรายได้เพิ่มขึ้น คิดเป็น 56% ของรายได้ประชากรจังหวัดชุมพร

 

จุดเด่นขึ้นชื่อของกาแฟโรบัสต้าบ้านถ้ำสิงห์นั้น เริ่มจากสมาชิกเก็บเมล็ดมาส่งวิสาหกิจ จากนั้นวิสาหกิจจะคัดเมล็ด และนำมาตากที่โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 1 ปี แล้วนำมาคั่วผ่านกระบวนการแปรรูป จึงทำให้กาแฟมีรสชาติความเปรี้ยวน้อย หอม กลิ่นสะอาด มีคุณภาพเมื่อคอกาแฟยกแก้วลิ้มลอง

 

 

ถ้ำสิงห์ของชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชน

ด้านหนึ่งการขยายตัวของกาแฟถ้ำสิงห์สะท้อนผ่านจำนวนสมาชิกในกลุ่ม โดยเมื่อเริ่มต้นบุกเบิกแค่คน 20 คน ในปี 2551 แล้วขยายเพิ่มในปี 2553 เป็น 150 คน พื้นที่ปลูกกาแฟจำนวน 1,500 ไร่ ส่วนในปี 2561 เพิ่มเป็น 500 คน พร้อมกับมีพื้นที่ปลูกกาแฟเพิ่มเป็น 2,100 ไร่ โดยปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง 616 คนและพื้นที่ปลูกสูงถึง 2,500 ไร่

 

นอกจากรางวัลด้านคุณภาพที่ได้มามากมาย เช่น รางวัลชมเชยผลิตภัณฑ์ใหม่/นวัตกรรมใหม่จากสินค้า OTOP ปี 2553 และเป็นสินค้า OTOP 5 ดาว อีกทั้งรางวัลวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด ปี 2555 แต่ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว กาแฟถ้ำสิงห์ มีความใส่ใจไม่แพ้กัน โดยมีการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน เนื่องจากคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ต่างมีอาชีพหลักคือ การปลูกกาแฟ

 

เมื่อกาแฟถ้าสิงห์เป็นของชุมชน ซื้อผลผลิตจากสมาชิกในชุมชน ดังนั้นการบริหารจึงยึดการมีส่วมร่วม เน้นใช้หลักคุณธรรม เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ต้องดูแลคนในพื้นที่กว่า 600 ครัวเรือนให้มีอาชีพ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การมีคุณธรรมและพึ่งพาอาศัยกันในการบริหารจึงนำพาให้กิจการของชุมชนก้าวหน้าไปสู่ความแข็งแกร่ง คนมีงานทำ และมีรายได้มั่นคง เพราะวิสาหกิจส่งเสริมให้ปลูกพร้อมรับซื้อด้วยราคาประกัน

 

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี พร้อมการจัดการองค์ความรู้ ให้กลายเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าชุมชน จุดให้บริการอีคอมเมิร์ซชุมชน ขณะเดียวกันยังเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูกและแปรรูปกาแฟด้วย ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายหลักของแบรนด์ถ้ำสิงห์ได้ขยายตัวไปได้เรื่อยๆ จนถึงร้านโชห่วย

 

 

นับจากปี 2551 ถึงปัจจุบัน กาแฟถ้ำสิงห์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ดำเนินกิจการมาแล้ว 13 ปี ชื่อเสียงกาแฟโรบัสต้าอันโดดเด่นได้หวนกลับคืนมาอย่างน่าภูมิใจกิจการที่ผลักดันโดยชุมชน และลงน้ำพักน้ำแรงจากคนในชุมชน พร้อมต่อยอดไปสู่อนาคตให้ชุมชนมั่นคงยิ่งขึ้น โดยได้รับสนับสนุนให้ออกบูธแนะนำสินค้ากับหน่วยงานภาครัฐ กรมการพัฒนาชุมชน และกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดก็มีการขยายไปยังตลาดประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้รับการตอบรับน่าพอใจ ยอดการสั่งซื้อจำนวนมากในทุกเดือน

 

ดังนั้น จึงทำให้มั่นใจในการขยายตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มได้มากขึ้นกว่า 30 ล้านบาทต่อปี โดยกำไรจ่ายเป็นปันผลสมาชิกถือหุ้น และจัดสวัสดิการเพื่อสาธารณะประโยชน์เพื่อชุมชนบ้านถ้ำสิงห์ได้เติมเต็มชีวิตที่มีคุณภาพตามอัตภาพของท้องถิ่นพึ่งได้รับ


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

 

Back To Top