skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“กอบชัย บุญอรณะ” นำร่องแนวคิด ผู้ก่อการดี-พัฒนา“ชัยภูมิ”
Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

“กอบชัย บุญอรณะ” นำร่องแนวคิด ผู้ก่อการดี-พัฒนา“ชัยภูมิ”

“กอบชัย บุญอรณะ” นำร่องแนวคิด ผู้ก่อการดี-พัฒนา“ชัยภูมิ”

 

 โครงการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงจังหวัดชัยภูมิ เริ่มขึ้นแล้วเมื่อ 18 ก.พ. 2564 ที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มีนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานและกล่าวเปิดงานหัวข้อ“ทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดชัยภูมิ” โดยเน้นให้ทุกภาคส่วนสลายความเป็นเอกเทศแล้วร่วมมือสร้างแนวทางใหม่อย่างเป็นบูรณาการมานำการพัฒนาจังหวัดเพื่อเปลี่ยนผ่านยุคศตวรรษที่ 21

 

นายกอบชัย กล่าวถึงการสร้างผู้ก่อการดี-นำการเปลี่ยนแปลงจังหวัดชัยภูมิว่า มุ่งหวังสร้างคนยุคใหม่ในพื้นที่อายุไม่เกิน 45 ปี และเป็นคนมีความมุ่งมั่นมานำการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะในจังหวัดชัยภูมิ ยังมีปัญหาหลากหลายให้ช่วยกันแก้ไข ขณะเดียวกันส่วนราชการจะได้รับฟังและได้ความคิดจากคนพื้นที่มาร่วมเติมเต็มแบบแผนการพัฒนาแต่ละท้องถิ่น

การอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จังหวัดชัยภูมิใช้รูปแบบผ่าครึ่งพื้นที่ แบ่งการอบรมใน 8 อำเภอจาก 16 อำเภอก่อน โดยคัดเลือกผู้เข้าอบรมไม่เกิน 64 คนจากภาครัฐครึ่งหนึ่งและผสมกับอีกครึ่งจากภาคเอกชน-ประชาชน และเชื่อว่า การผสมผสานเช่นนี้จะเป็นเป้าหมายให้หลักสูตรเกิดประโยชน์ มากเทคนิคมาเชื่อมโยงแนวทางพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

 

“ทิศทางที่เราทำต้องสร้างผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เพราะส่วนราชการมาแล้วไป ต้องมีส่วนราชการ ภาคธุรกิจ มาช่วยกัน หลักสูตรนี้ต้องสร้างพวกท่านมาช่วยกัน”

 

ส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นทั้งระดับพื้นที่ ตัวเมืองและจังหวัดให้ไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่ดีนั้น นายกอบชัย กล่าวว่า จากประสบการณ์บริหารจังหวัดเพชรบุรีมา ได้เห็นการดึงภาคเอกชน ทั้งบิสคลับ หอการค้า และภาคสังคมมามีส่วนร่วมสำคัญขับเคลื่อนกับภาครัฐ ซึ่งจังหวัดชัยภูมิต้องสร้างองค์กรเครือข่ายพัฒนาเช่นนี้ขึ้น

 

โดยสิ่งแรกควรแก้ไขและสลายพรหมแดนเอกเทศของแต่ละหน่วยงานแล้วก่อรูปบูรณาการเครือข่ายใหม่ขึ้นมานำการเปลี่ยนแปลง เพราะศักยภาพอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถนำการพัฒนาได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นหน้าที่สร้างเครือข่ายให้สำเร็จควรเป็นทุกภาคส่วนพื้นที่เป็นผู้สร้างความร่วมมือขึ้น พร้อมร่วมกันเรียนรู้แนวคิดธุรกิจ วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง หาโอกาสและขจัดอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง

 

“ท่านต้องวิเคราะห์ เศรษฐกิจที่เราอาศัยมาตลอดคืออ้อย ใช่คำตอบที่พัฒนารายได้หรือไม่ ทำไมบางพื้นที่ส่งกล้วยหอม มะม่วง ส่งออกสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง อีกอย่างผักปลอดสารพิษส่งตามความต้องการของตลาด เรามีพื้นที่ดี น้ำดีนำเปลี่ยนความคิดเกษตรกรให้เห็นตัวอย่างความสำเร็จ เรามีกลุ่มเรียนรู้สอนการเลี้ยงโค สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของพวกเรา เราต้องหยิบจุดแข็ง ข้อดี มานำสู่การเปลี่ยนแปลง”

นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ศักยภาพแล้วเราจะรู้ว่าต้องแก้ไขอะไร ยิ่งจังหวัดชัยภูมิเป็นเมืองเกษตร เราต้องรู้ศักยภาพของภูเขาและพื้นที่เกษตร ถ้าจะนำพัฒนาไปเป็นเมืองธุรกิจคงยากและใช้เวลานาน ดังนั้น เราต้องเป็นเมืองเกษตรและเมืองท่องเที่ยว เพราะป่าเขา หน้าแล้งมีบางจุดเขียวไว้อวดโชว์และนำมาพัฒนาได้

 

“เราต้องพยายามทำเรื่องเกษตรยุคใหม่ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยอ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก แต่ต้องปรับการเพาะปลูกแบบใหม่มาเปรียบเทียบ เช่น การปลูกอ้อยคั้น การเลี้ยงโค แบ่งพื้นที่ปลูกหญ้าในนาข้าวใช้วิธีปลูกสลับกันไป หรือแบ่งพื้นที่ปลูกผักเป็นรายได้เสริมอีก”

 

นายกอบชัย นำตัวอย่างการลงไปสัมผัสพื้นที่และประชาชนมาเสนอแนวคิดการพัฒนาว่า ท้องถิ่นควรพัฒนาห้องน้ำผู้สูงอายุและส่งเสริมไอโอดีน ส่วนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์น้ำมะพร้าว นมมีผลกับแม่ช่วงตั้งท้อง สิ่งนี้หน่วยงานท้องถิ่นจะช่วยอย่างไร รวมถึงเมื่อคลอดแล้วมีแนวทางดูแลเรื่องการเจริญเติบโตสมองในช่วง 1,000 วันด้วย

ส่วนการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยได้มาตรฐาน ถูกหลักโภชนาการนั้น เนื่องจากคนชัยภูมิกินเค็ม จึงเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดโรคไต โดยในจังหวัดมี 1,700 คน แต่ดูแลได้แค่วันละ 700 คน ดังนั้น การเปลี่ยนนิสัยการกินจึงต้องหาแนวทาง วิธีการไปนำการพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสุขภาพอนามัยที่ดีมีมาตรฐานชีวิตปลอดโรคขึ้น

 

ตลอดจนในด้านสิ่งแวดล้อม จังหวัดชัยภูมิมีสภาพอากาศดี มีโอโซนดี เราควรดูแลการจัดการขยะ จึงอยากให้ไปดูคูเมือง เรียนรู้การคัดแยกบริหารจัดการขยะ ส่งเสริมให้บริษัทคัดแยกขยะ ถึงที่สุดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต้องหาวิธีการจัดการขยะให้ได้เพื่อนำต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆให้เชื่อมโยงกัน

 

อีกทั้ง วิสัยทัศน์นำสู่เป้าหมายพัฒนาของจังหวัดชัยภูมิที่ว่า “สินค้าดี มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” นั้น หน่วยงานที่ให้ความรู้ต้องสัมผัสศึกษาตลาดสินค้าทั้งพืชเศรษฐกิจและของที่ระลึก แล้วนำสู่การพัฒนาสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น เพื่อได้ลดรายจ่ายในครัวเรือน สิ่งสำคัญต้องชี้แนะวิธีทำบัญชีครัวเรือน เนื่องจากช่วยให้เกิดการประหยัดและเหลือเงินออม

ผู้นำควรคิดถึงการพัฒนาสินค้าที่มีจุดอ่อน เช่น รายละเอียดไม่ดี หรือแปรรูปเพิ่มมูลค่ายังไม่ดี แม้วัตถุดิบดี แต่ยังทำราคาไม่ได้ ส่วนผลิตภัณฑ์โอทอป เช่น พวงกุญแจ ห่วงเป็นเหล็กควรปรับมาใช้วัตถุดิบในพื้นที่ทำเป็นห่วงแทนเหล็กหรือไม่ อีกทั้งดอกกระเจียวปรับเป็นของฝากเป็นตัวประกอบชิ่นงานที่ขายดี ทำให้เป็นคู่ค้า เนื่องจากสินค้าและผลิตภัณฑ์ดีจึงเป็นส่วนหนึ่งสินค้าขายดี ผู้นำจึงต้องศึกษาเรียนรู้ ค้นหาองค์ความรู้จากแหล่งออนไลน์และกลุ่มคนใน 8 กลุ่มต้องไปสืบค้นหาวิธี

 

“ผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เช่น เพชรบุรี ขนมไทยต้องไปครัวโลกให้ได้ แต่ยังไปไม่ได้เพราะน้ำตาล ไข่ ต้องหาความหวานอื่น ๆ มาทดแทน หน้าที่ผู้ว่าฯต้องให้โจทย์ให้ไกด์ ผู้ประกอบการเพชรบุรี 4 กลุ่ม กลุ่มป้า ย่า ยาย โดยที่ชัยภูมิเหมือนกันต้องสะอาดปลอดภัย ได้มาตรฐาน”

 

นายกอบชัย กล่าวถึงการท่องเที่ยวของจังหวัดว่า แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ธรรมชาติ ควรเริ่มจากส่งเสริมให้คนชัยภูมิเที่ยวชัยภูมิ ขยับถึงคนไทยเที่ยวชัยภูมิ และขยายสู่กลุ่มคนเมืองนอกเที่ยวชัยภูมิ

 

“คนจีนเข้ามาเที่ยวมีปัญหาเยอะ เกิดรายได้แค่ 40,000 บ. จึงควรเปลี่ยนเน้นทริปยุโรปมาเที่ยวชัยภูมิหรือไม่ โดยมาลงเครื่องที่ขอนแก่น ส่วนหน้าที่เราต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อม หน้าบ้านหน้ามองสวยงาม ช่วยนำพาชี้ให้เห็นและให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

สิ่งสำคัญจังหวัดชัยภูมิควรออกแบบท่องเที่ยวทั้งปี เช่น เที่ยวป่าหินงดงาม จบแล้วเที่ยวหน้าดอกกระเจียวต่อเนื่องได้ รวมถึงต้องเตรียมจัดกิจกรรมเล่นว่าวแต่ละอำเภอไว้รองรับ เมื่อคนเข้ามาชัยภูมิแวะเที่ยวทุ่งดอกไม้ ดังนั้นที่ปลูกและจัดสวนดอกไม้ควรให้เป็นระบบ มีจุดจอดรถ มีร้านกาแฟ เมื่อเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างจุดไกลกันต้องหาจุดเชื่อมเป็นแลนด์มาร์คดึงคนมาท่องเที่ยว

 

จังหวัดชัยภูมิมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นของดีมากมาย เช่น มอหินขาวในพื้นที่กรมป่าไม้ (มอหินขาวเป็นสวนหินทรายธรรมชาติสีขาววางเรียงรายคล้ายกับ“สโตนเฮนจ์”ของอังกฤษ) ทำอย่างไรให้เป็นเรื่องราว ทำให้มอหินขาวเป็นจุดขาย เกิดการท่องเที่ยวป่าหินงาม อุทยานทรายทอง ดังนั้น สิ่งแวดล้อมจึงดี มีห้องน้ำสะอาดได้สุขอนามัยควบคู่กันด้วย

 

“ที่จะทำโครงงานท่องเที่ยว เกษตร วัฒนธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้น ท่านคิดเองอย่างน้อย 1 ทีมต้องมี 1 โครงงาน ซึ่งมองการพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ สินค้าต้องทันสมัย ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ปรับปรุงการผลิต น้ำ ดิน สินค้าต้องเริ่มต้น ดินดี น้ำดี ตลาดต้องการต้องส่งเสริมช่องทางการผลิต”

 

ดังนั้น ส่วนราชการควรวางแผน คิดรูปแบบส่งเสริมกิจกรรมการขายแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆของดีที่หายไปต้องเอากลับมา โดยเฉพาะช้างคืนถิ่น ตีคลีไฟทำอย่างไรยกไปจัดเป็นอีเว้นข้างนอกได้ เพราะสิ่งแปลกใครก็อยากเห็น เช่น ช้างทุกอำเภอควรมีพื้นที่แสดงช้าง อีกทั้ง“สาวบ้านแต้” ควรทำเส้นทางจักรยานผู้หญิงให้ขี่จักรยานอย่างเดียว ได้กางร่ม ชมสวนผัก สวนออร์แกนนิค และเชื่อมโยงการขายผักทั้งปีมาส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวได้

 

นายกอบชัย กล่าวถึงกอบคิด ทัศนคติในการพัฒนาว่า การพัฒนาต้องเปลี่ยนแปลงให้เกิดแนวคิดใหม่ พร้อมใส่นวัตกรรมใหม่ได้ด้วย เพื่อนำสู่การปรับปรุงรูปแบบการผลิตใหม่ๆ ขึ้น เช่น การทำผ้าขาวม้าผลิตกระเป๋า ต้องคิดตามกรอบใหม่ลวดลายใหม่ เปรียบกับพัฒนาลายผ้าไหม ลายฟ้าหญิงสุวรรณวลีมอบให้ จะเป็นห้วงโซ่ในการพัฒนา

 

“ดังนั้น ต้องมีกรอบคิดใหม่ ขาดอะไรประสานพัฒนาการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม ทำโปรแกรมลวดลายใหม่ ๆ โดยเยาวชน รุ่นหน้าต้องมาเรียน เพิ่มนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใหม่ ด้วยเหตุนี้ทั้ง 8 กลุ่มต้องนำระบบเทคโนโลยี โปรแกรม นวัตกรรมสมัยใหม่มาพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น ใช้โปรแกรม 5 G ทำยาหม่อง คอมพิวเตอร์ช่วยได้ ภาควิชาการเติม พยายามหานักธุรกิจใหม่ ๆ 64 คน อาจจะขยาย 600 คน ผมต้องการตรงนี้”

 

ในด้านการส่งเสริมการตลาด ต้องวางแผนทำอีเว้นท์ ซึ่งมีที่ไหนควรไป อีกอย่างคิดและออกแบบของที่ระลึกง่ายด้วย เช่น ช้างผ้าไหมภูเขียว พัฒนาลายตะเข็บให้สวยงาม ต้องเป็น 4 ขา ซึ่งผู้นำควรไปนำให้เปลี่ยนกรอบคิด ทำให้คนประณีตในการผลิต

 

สำหรับข้าวกล้องและข้าวฮางนั้น ข้อเสียข้าวฮางร่วนไม่มียาง ทำอย่างไรให้นิ่มข้าวเกาะกัน ได้คุณสมบัติโภชนาการ กลิ่นหอม ผสมในถุงเดียวจะสะดวก แค่เปลี่ยนแนวคิดวิธีการ การทำหน้าที่โค๊ต เมนเตอร์จึงต้องลงไปคลุกคลีด้วย เพราะการเป็นผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้ปฏิบัติมาก่อน

 

นายกอบชัย ย้ำว่า จากปัญหาและข้อจำกัด เราต้องสร้างผู้ก่อการดี สร้างผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง โครงการที่เราจะทำข้ามอำเภอได้ ไม่ต้องการให้เกิดการแข่งขัน แต่ต้องการให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งนี้ทั้ง 8 กลุ่มๆละ 8 คนจึงเป็นผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนา คิดใหม่ ทำใหม่ ทำเพื่อเมืองชัยภูมิเราเองต้องเป็นผู้พัฒนาจะนำไปสู่การพัฒนาจังหวัด พัฒนาคุณภาพชีวิต

 

อย่างไรก็ตาม จากช่วงที่ 1-2 แล้ว เราต้องเก็บข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหา แล้วหาแนวทางแก้ปัญหา ศึกษาเรียนรู้เทคนิคแนวทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทดลองปฏิบัติ หลังจากนั้นนำเสนอ เพื่อช่วยดู ช่วยให้ข้อเสนอแนะ

 

“จากนั้นปรับปรุงแผนงานกิจกรรมที่เราจะทำ เพื่อให้เส้นทางและการจัดการ การแปรรูปที่เหมาะสม ลงมือปฏิบัติได้จริง ทุกอย่างทำจริงได้ทำเลย เช่น พัฒนาเสื้อ จัดกรุ๊ปเที่ยว หลังจากนั้นครั้งที่ 3 รายงานให้ฟัง ครั้งที่ 4 จัดกิจกรรมโชว์ผลงาน”

นายกอบชัย กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เป็นหน้าที่ฝ่ายทำหลักสูตรต้องคิดทุกอย่าง มูลนิธิสัมมาชีพมาช่วยดูงาน ถ้าแผนงานใน 8 ชิ้นจาก 8 กลุ่มสามารถทำได้ 5-6 ชิ้นผ่านการประเมินชาวบ้าน โดยหลักสูตรเริ่มกุมภาพันธ์ ถึงกันยายนจบหลักสูตร เมื่อเราหาตัวช่วยมาสนับสนุน สามารถสร้างเครือข่ายได้ ใน 3 วันแรกคิดหาแผนงานคร่าว ๆ แล้วส่วนราชการหาหน่วยงานมาเติมเต็มให้ หรือหาใครมาเติมเต็มก็ได้ เพราะเป้าหมายโครงการอบรมต้องการให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันอย่างเป็นบูรณาการ

 


กลับสู้หน้าหลัก โครงการผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลง คลิก


ติดตามข้อมูลข่าวสานของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top