skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
โอกาส SME ไทยภายหลังโควิด-วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โอกาส SME ไทยภายหลังโควิด-วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โอกาส SME ไทยภายหลังโควิด-วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

 

ในงานธุรกิจแฟรนไชส์ Smart SME EXPO 2022 เมื่อ 7 ก.ค. 2565 มีการเสวนาหัวข้อ “โอกาสของ SME ไทยภายหลังโควิด-วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน” โดยวิทยากรประกอบด้วย นายมงคล ลีลาธรรม ประธานคณะกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ, นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธุ์เอสเอ็มอีไทย มีนายวิเชฐ ตันติวานิช ประธานกรรมการบริษัท พีเอ็นจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินการเสวนา ซึ่งเน้นวิธีคิดและการปฎิบัติให้หลุดพ้นจากวิกฤติและฟื้นขึ้นมาได้เปรียบคนอื่น

 

 

สงครามก่อวิกฤติ 6 ปัญหา

นายแสงชัย มีความเห็นต่อผลกระทบจากวิกฤติว่า วิกฤติสงครามสร้างความเสียหายหลายส่วนมาซ้ำเติมไทย ต้องเจอปัญหาสังคม เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย และสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ระเบิดเวลา 3 ลูกกำลังปะทุทั้งหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพี จะเป็นปัญหากระทบ 6 เรื่องใหญ่ ซึ่งควรช่วยกันคิดจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร

 

เรื่องแรกผู้ประกอบการ SME มีรายได้ลดลง เรื่องสองต้นทุนและพลังงานแพงขึ้นทั้งปุ๋ย อาหารสัตว์ที่ไทยต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ จนส่งผลในเรื่องที่สามคือ ค่าครองชีพ เรื่องที่สี่เศรษฐกิจฝืดและเงินเฟ้อกำลังตามมา จะเป็นปัญหากับขีดความสามารถของผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ในด้านต่างๆ เรื่องที่ห้าคือหนี้เพิ่ม ซึ่งปัญหาหนี้เสีย หนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถอยู่ในระบบได้ และเกิดหนี้เสียตามมา และเรื่องสุดท้ายคือ คนว่างงานเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนมีรายได้เป็นศูนย์หรือไม่มีรายได้

 

SME แบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ ภาคการค้า ภาคบริการ สองประเภทนี้มีอยู่ประมาณ 80% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศไทย นอกจากนี้เป็นภาคการผลิตประมาณ 17% และที่เหลือเป็นภาคธุรกิจเกษตรประมาณ 3% แต่ปัญหาที่เผชิญคือ หนึ่งมีรายได้ลดลง สองต้นทุนปัจจัยการผลิตอุตสาหกรรมอาหารต้องพึ่งพาการเกษตร ส่วนการแก้ปัญหาต้องดูที่ต้นน้ำจึงจะถูกต้อง โดยพัฒนาแหล่งวัตถุดิบทางเลือก ส่งเสริมวัตถุดิบในประเทศ และลดพึ่งพาปัจจัยการผลิตต่างประเทศ

 

“เรายังขาดการส่งเสริมการผลิตปัจจัยการผลิตอย่างจริงจัง รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับประเทศคู่ค้าทั้งเก่าและใหม่ในเรื่องโควตาต่างๆที่จะมาชดเชยเพื่อสามารถพยุงราคาสินค้าที่แพงขึ้น อีกทั้งการเชื่อมผ่านข้อมูลยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ วันนี้เรายังขาดเรื่องนี้กันอยู่ แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้คือ ราคาน้ำมันแพง ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 20% ก่อผลกระทบกับ SME เนื่องจากสินค้าทุกตัวขึ้นราคา จึงเป็นต้นทุนต้องแบกรับ แล้วจะอยู่ได้อย่างไร”

 

อีกอย่างสินเชื่อหรือการเข้าถึงแหล่งทุน โดย SME มีพอร์ตสินเชื่ออยู่ในธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท แต่ที่น่าตกใจคือ มียอดเอ็นพีแอลรวมกันเกือบ 7 แสนล้านบาท คิดเป็น 20% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด นี่คือระเบิดเวลาที่สมาพันธุ์เอสเอ็มอีไทยเคยชี้ให้เห็นมาแล้ว

 

 

ยิ่งเครติดบูโร (บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ) ระบุตัวเลขสินเชื่อประมาณถึง 4 ล้านล้านบาท เฉพาะของ SME 11.5% แตกต่างจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุประมาณ 9% สิ่งที่เตือนภัยคือ สินเชื่อรถ บ้าน ส่วนบุคคล และอุตสาหกรรมการผลิต ต้องเฝ้าระวัง เพราะติดเอ็นพีแอลอยู่รวมประมาณ 5.3 แสนล้านบาท

 

ส่วนปัญหาคนว่างงาน ไทยมีแรงงานอยู่ประมาณ 37.5 ล้านคน คิดเป็น 56% ของประชากร ที่น่าตกใจคือ แรงงานวัยการศึกษาประถมและต่ำกว่ามีถึง 5.6 ล้านคน จึงเป็นโจทย์จะทำอย่างไรต่อการยกระดับแรงงานเหล่านี้ให้เพิ่มสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพคู่ไปกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

 

สิ่งที่เป็นความเหลื่อมล้ำคือ ควรยกระดับแฟรนไชส์ไปต่างประเทศให้มากขึ้น โดยมี SME ส่งออกประมาณ 2.5 หมื่นรายคิดเป็น 12% ซึ่งน้อยมาก ส่วนที่เหลือเป็นผู้ประกอบการใหญ่ ดังนั้น ต้องขยับให้ผู้ประกอบการใหญ่ขึ้นไปเป็นการส่งออก แล้วขยับรายเล็กขึ้นเป็นรายใหญ่

 

SME ขาดดุลการค้ามาตลอด แต่มีความสามารถค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมาตรการส่งเสริมของบีโอไอในงบประมาณปี 2564 ส่งเสริมผู้ประกอบการไปทั้งหมด 40 ราย รวมเงินลงทุน 1.79 พันล้านบาท ในแต่ละปีจึงควรกระตุ้นให้ SME เข้าถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้มากขึ้นกว่านี้

 

หลุดพ้น: ปรับตัว คิดใหม่ เปลี่ยนแปร

นายมงคล เสนอวิธีหลุดพ้นจากวิกฤติว่า เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นทันทีทันใด ทำให้รายได้หด เกิดหนี้ท่วม สิ่งหนึ่งอยากให้คนกลับมาตั้งสติแบบ “วิมังสา” (ข้อคิดตามพุทธศาสนา) คือ การสังเกตุ ไตร่ตรองตลอดเพราะโลกมีความผันผวน เปลี่ยนแปร ซับซ้อน และไม่แน่นอน เปรียบเหมือนเราอยู่ในห้องมืดจึงต้องตั้งสติก่อนว่า เราอยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร

 

อีกอย่างควรยึดเป็นคาถาที่สองในเรื่องการเปลี่ยนแปลง โดยวันนี้เราทำและคิดเหมือนเดิมไม่ได้ หากต้องการหาโอกาสควรเปลี่ยนแปลงใหม่ หาอาชีพใหม่ทำ โดยมุ่งไปข้างหน้าหาทางออกให้ได้ ดังนั้นความทุกข์วันนี้อยู่ที่ต้องเปลี่ยนแปลง เปรียบเป็นการทำให้น้ำหนักเราลดลง แล้วตัวจะเบาขึ้น

 

“คือภาษาง่ายๆเลยในการค้า ใครมีทรัพย์สินขายให้หมด ถ้าตราบใดยังมีเวลาขายได้และได้ราคา ขายให้หมด ทำให้ตัวเบา แข็งแรง แล้วต้องยืดหยุ่น เห็นอะไรที่มีรายได้ทำไปก่อน พูดง่ายๆอย่าเลือกงาน อย่าเกี่ยงงาน ให้ทำอะไรได้ทำ อย่างนี้จะไปได้ดี อย่าทุรนทุรายในเรื่องอดีต และอย่าโทษใครที่เป็นต้นเหตุเรื่องนี้”

 

สิ่งสำคัญในการขอสินเชื่อ ควรขอสินเชื่อด้านการค้า ไม่ควรขอสินเชื่อจากแบงก์ เพราะมักมีการร้องเรียนว่าขอ 100 อนุมัติ 30 หรือ 10 แล้วมีเงื่อนไขโหด ดังนั้นจึงควรขอสินเชื่อด้านการค้า เช่น เห็นสินค้าอะไรดีก็ขอเอาไปขาย เข้าไปร่วม บางครั้งตกงานควรเปลี่ยนมาขายตรง หรือขายประกันชีวิต สิ่งเหล่านี้จะไม่อดตายถ้ามีความขยัน

 

อีกทั้งต้องระมัดระวังให้มากเกี่ยวกับสินเชื่อคงคลัง ซึ่งเมื่อก่อนเป็นกำไรที่เก็บไว้ ควรรื้อนำออกมาตัดสินใจเปลี่ยนเป็นเงินให้หมด เพื่อเป็นการยืนยันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ แล้วยังต้องท่องคาถาอีกว่า โลกนี้เป็นอนิจจัง ดังนั้นจึงต้องอยู่เพื่อชีวิต ไม่ใช่การอยู่เพื่อเงิน ดังนั้นควรทำตัวให้แข็งแรงไว้ เพราะสุขภาพแข็งแรงในช่วงโควิดจะทำให้มีชั่วโมงทำงานได้ยาวนานขึ้นและมีโอกาสได้เปรียบทางธุรกิจ

 

อีกอย่างหนึ่งอยากให้คนเข้ามาทำอาชีพอิสระได้เข้าระบบ เพราะเมื่อเข้าระบบมาตรา 40 แสดงตนต่อประกันสังคมกว่า 10 ล้านคน สะท้อนถึงคนไม่ได้อยู่ในระบบมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน และออกมาอยู่ในมาตรา 39 อีกประมาณ 3 ล้านคน

 

นอกจากนี้ สสว.มีกฎหมายแสดงชัดว่า ถ้าผู้ประกอบการเป็นตัวจริงทำจริงแล้ว ควรไปขึ้นทะเบียนได้เลย จะได้สิทธิ์ทั้งจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาทในการคัดเลือก ปรากฎว่าที่ผ่านมามีการคัดเลือกจัดซื้อจัดจ้างวัสดุต่างๆรวมประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้น เรื่องนี้เราต้องแสดงตน ไม่มีอะไรเสียหาย และยังจะขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐในระบบอิเล็คโทรนิค ซึ่งเป็นความหวังที่จะเกิดขึ้นของ สสว. ซึ่งตั้งใจมีฐานลูกค้าประมาณ 1 ล้านราย

 

สิ่งสำคัญ การส่งเสริมในกิจการ BCG คือ Bioeconomy, Circular Economy และ Green Economy หรือ สินค้าเศรษฐกิจชีวภาพ การหมุนเวียนใช้ใหม่ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น SME ต้องควรรู้กติกาของโลกเพื่อปรับตัว แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่

 

ผู้ประกอบการควรมีความรู้ ทำบัญชีระบุตัวตน

นายอภิชิต เน้นผู้ประกอบการ SME ต้องมีความรู้ ว่า ในสภาอุตสาหกรรมมีผู้ประกอบการ SME เป็นสมาชิกกว่า 1.4 หมื่นราย คิดเป็นกว่า 80% ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านการผลิตจริง ส่วนผลกระทบจากวิกฤติท้าทายจึงต้องดิ้นรนเอาตัวรอด หนีจากวิกฤติผันผวนและความวุ่นวายที่ผ่านมา โดย 45 กลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม วันนี้ในกลุ่มนี้จึงต้องพยายามปรับตัวหนีให้ได้

 

จากการศึกษาปัญหาSupply Chain(ห่วงโซ่อุปทาน) ในกลุ่ม SME พบปัญหาหลายด้าน อาทิเช่น หนึ่งด้านการตลาด สองการเงินที่กู้ไม่ได้ สามความรู้ในการประกอบธุรกิจไม่มี สี่มีปัญหาด้านขาดเทคโนโลยี ห้าด้านกฎหมายแรงงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคของ SME จึงไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

 

หากเริ่มต้นด้วยเรื่องความรู้การประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกมองข้าม ถ้าสังเกตุว่า ทำไม SME กู้เงินขอสินเชื่อไม่ได้ โดยทั่วประเทศมี SME ประมาณ 3.2 ล้านราย แต่ข้อมูลใน สสว.มีประมาณแสนรายที่อาจเป็นการแสดงบัญชีตัวตนออกมาชัดเจน ส่วนอีกนับล้านรายไม่มีตัวตนเพราะไม่เคยทำบัญชี จึงไม่มีใครรู้จัก ยิ่งสิ่งมีชีวิตประเภทนายธนาคารมีคุณสมบัติพิเศษว่า ไม่เคยไว้ใจอะไร ใครสักคน ระแวงไปหมด ดังนั้น เมื่อเดินไปหานายธนาคารเพื่อขอกู้เงินจึงยากมาก ยิ่งไม่มีสมุดบัญชีไปโชว์ว่าทำอะไรมาบ้าง แค่คิดจะผลิตสินค้าเท่านั้น จึงไม่ปรากฎยอดการซื้อ-ขายแสดงผ่านการทำบัญชี

 

“รุ่นพ่อ-แม่สอนว่า เสียภาษีไม่ดีเลยเป็นเรื่องจริง แต่วันนี้ควรปรับ Mindset (ความคิด จิตใจ-ความเชื่อ)ใหม่ว่า เสียภาษีมาก คุณยิ่งมีกำไรมากขึ้นเท่านั้น เท่ากับทำบัญชีเดียว มีระบบเดียว และบัญชีนี้เป็นตัวเบิกทางให้คุณ เดินเข้าธนาคารแล้วบอกว่า เรามียอดขายแบบนี้ ในมูลค่าทรัพย์สินหรือมูลค่ากิจการก็อยู่ในบัญชีนี้ อันนี้ทำให้มีตัวตนและสามารถเดินเข้าไปได้สง่าผ่าเผย”

 

อีกอย่างหลายคนไม่เข้าใจการจดทะเบียนนิติบุคคลว่า ถ้ามียอดขายไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีไม่ต้องไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะได้ไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อเดือน แต่สิ่งที่ถูกต้องควรต้องจดทะเบียน ทำรายได้ให้ตรงไปตรงมา เพราะทำให้เห็นตัวตนของตัวเอง สิ่งนี้เป็นความรู้ประกอบธุรกิจที่จำเป็นต้องมี

 

รวมทั้งสิ่งน่าสนใจคือ ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมตั้งสถาบันเอสเอ็มไอ (สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อุตสาหกรรมการผลิต) ที่ดูแลอยู่ เราจะเชิญชวนสมาชิกทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ให้อย่างน้อยทุกกลุ่มสามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ SME อยู่รอดในอนาคตได้ ดังนั้น ความรู้ในการประกอบธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญของ SME

 

ส่วนเรื่อง BCG สภาอุตสาหกรรมเตรียมความพร้อมเผชิญกับความผันผวนมาตลอด รวมทั้งได้เชื่อมประสานงานกับ สสว.และกรมบัญชีกลาง ในด้านการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจากภาครัฐโดยได้แต้มต่อ 10% เป็นการช่วยกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีตัวตน

 

นอกจากนี้ต้องมีการหาตลาดใหม่ๆ เนื่องจากในเทรนด์ต่อไปจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย แล้วจะเจอกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนนำมาสู่วาระแห่งชาติในเรื่องเศรษฐกิจ BCG โดยเศรษฐกิจไบโอ (Bioeconomy) ซึ่งเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เป็นโอกาสของทุกคน เพราะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสามารถนำไปทำเป็นไบโอได้หมด สามารถนำกาก เส้นใยไปแปรรูปเป็นสินค้าอย่างอื่น เช่น พลาสติก เสื้อผ้า และสิ่งทอต่างๆได้

 

“โดยเฉพาะไบโอพลาสติก รองนายกรัฐมนตรีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ บอกเรา (ไทย) จะเป็นประเทศทำไบโอพลาสติกใหญ่ที่สุดในโลก เช่น เอาขวดพลาสติกมาทำโซฟา เสื้อผ้า และกำลังพัฒนาทำจีวรพระ”

 

อีกทั้งสภาอุตสาหกรรมยังมีโครงการ SMART AGRICULTURE INDUSTRY หรือเรียกย่อว่า ไชส์ (SAI) คือ ทำในสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการก็ให้ทำอย่างนั้น แล้วแปรรูปสินค้า ซึ่งทางออกหนึ่งของโมเดลธุรกิจในกลุ่ม 45 อุตสาหกรรมที่เราให้การสนับสนุน และเร่งทำตัวอย่างโชว์ให้ทันในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) โดยทำในพื้นที่กรุงเทพก่อน ซึ่งกำลังหาพื้นที่อยู่ เพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งไปจนถึงจุดขาย และยังเป็นโมเดลให้คนที่มองหาธุรกิจใหม่มาดูเป็นการเรียนรู้

 


 

ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedeehttps:

//www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top