แนะเติมความรู้ เทคโนโลยี ดัน ศก.ชุมชนเข้มแข็งค้ำ ปท.มั่นคง
แนะเติมความรู้ เทคโนโลยีดัน ศก.ชุมชนเข้มแข็งค้ำ ปท.มั่นคง
“อุตตม” แนะไทยควรปรับตัว ปรับความคิดรับสังคมหลังโควิด ชี้เทคโนโลยีมาแทนกำลังคนในการผลิตอุตสาหกรรม เชื่อมุ่งทำชุมชนฐานรากให้เข้มแข็ง เน้นวิถี ศก.-พัฒนาคน-ท่องเที่ยวชุมชน มั่นใจพาประเทศมั่นคงขึ้น
เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2563 ดร.อุตตม สาวนายน อดีต รมว.การคลัง กล่าวถึงนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ในงานผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ว่า คำถามหลักคือ เศรษฐกิจฐานรากของไทยจะไปทางไหน เมื่อโควิด-19 ลุกลามไปกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ความหวังการรักษาอยู่ที่วัคซีนแต่กว่าจะได้ใช้คงเป็นปี ดังนั้น คนไทยควรมีสติตั้งมั่น โดยเฉพาะรัฐที่ถูกสังคมคาดหวังจะได้รับการดูแล ซึ่งเป็นความท้าทายทั้งทางเศราฐกิจ สังคม และชุมชนฐานราก
ขณะนี้ ถกกันในประเด็นว่า จะเปิดประเทศหรือไม่ และเปิดแค่ไหน มีเงินหรืองบประมาณพัฒนาประเทศเหลือแค่ไหนเมื่อภาคท่องเที่ยวรายได้หายไปมาก เหตุนี้โควิด-19 จึงนำความท้าทายมาให้ว่า จะเปิดประเทศแค่ไหนจึงจะพอดี
“โควิด-19 เป็นความท้าทายจากภายนอกและถือเป็นตัวเร่ง ขณะเดียวกันไทยยังมีความท้าทายภายในด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในด้านความเชื่อมั่นของรัฐบาลว่า จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้หรือไม่ สิ่งที่คนไทยต้องช่วยกันคือ การปรับความคิดและทบทวนเพื่อให้สังคมเกิดตั้งตัวกันใหม่ ดังนั้น ที่สำคัญขณะนี้ต้องปรับตัวจากฐานราก ซึ่งไม่เหมือนกับการปรับตัวในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อนำพาประเทศเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม วันนี้การปรับตัวเร่งด่วนควรเน้นด้านข้อมูลต้องรวดเร็ว มีเทคโนโลยีการบริหารจัดการเก็บและส่งผ่านข้อมูล เมื่อโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ประเทศเกิดการปรับตัว ทั้งที่ต่างประเทศได้ปรับตัวกันมากแล้ว โดยจีนหันกลับมาเน้นเศรษฐกิจภายในให้ฟื้นตัวขึ้นมา ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น หลายประเทศมี คำถามถึงแหล่งผลิตที่ปลอดภัย แต่สิงคโปร์ เน้นด้านบริการทั้งการขนส่ง และแหล่งบริการเงินทุน
อีกอย่าง เรามีคำถามว่า โควิด-19 นำอะไรเข้ามา จนเราต้องกำหนดการก้าวต่อไป สิ่งแรกคือ ทำให้พฤติกรรมส่วนบุคคลที่ต้องเปลี่ยนด้านการดำรงชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจจะปรับรูปโฉมใหม่ เกิดความต้องการทักษะใหม่มากขึ้น และทักษะเดิมที่ใช้มาต่อเนื่องล้าสมัยไป
“ธุรกิจปรับตัวจากโควิด หลายแห่งใช้คนทำงานน้อยลง ไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น จะมีการจ้างงาน ทักษะใหม่ที่เกี่ยวข้องกกับการใช้เทคโนโลยี่ รวมทั้งจะเกิดผลกระทบด้านสังคม และครอบครัว เหตุนี้การปรับตัว เปลี่ยนทักษะ ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้นำให้เป็นที่ต้องการโลกสมัย ถึงที่สุดแล้ว ประเทศจะดีต้องดีด้วยกันตั้งแต่ฐานรากขึ้นมา เศรษฐกิจฐานรากต้องปรับตัวไปเป็นฐานของการผลิตด้านอุตสาหกรรมให้อยู่ได้กับโครงสร้างประชากรซึ่งเปลี่ยนไปด้วย”
อีกทั้ง เมื่อโควิด-19 ทำให้เกิดการปรับตัว ปรับเปลี่ยนความคิด และนำไปสู่ความกังวลว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี สังคมจะเดือดร้อน ดังนั้น เศรษฐกิจจึงต้องไปสู่ทิศทางโลกหลังโควิดต้องการ หากจำเป็นต้องก้าวกระโดด ต้องกระโดดให้ไปถึงการผลิตด้วยคุณภาพ ออกกำลังแรงงานให้น้อย แต่ได้รับมูลค่าหรือมีรายได้ให้มาก เพื่อให้เกิดการสะสมทุนในครอบครัว ชุใชน แล้วประเทศจะมีทุนสะสมด้วย
รวมทั้ง เศรษฐกิจไทยต้องก้าวไปสู่การสร้างมูลค่าให้มากทั้งในประเทศและต่างประเทศ แล้วยังต้องแก้ปัญหาที่สะสมมาด้วย เพราะถ้าไม่แก้ไขจะไม่มีกำลังก้าวไปทำสิ่งใหม่ โดยเฉพาะปัญหาที่ประเทศสะสมมาเกิดจากความเหลื่มล้ำต่างๆที่มี จึงต้องแก้ไขเพราะเป็นปัญหาส่วนใหญ่ของสังคม
ดร.อุตตม กล่าวว่า มีงานวิจัยจากต่างประเทศมองไทย ว่า เป็นประเทศมีศักยภาพสูง แต่สิ่งต้องเร่งแก้ไขคือ ความไม่เท่าเทียม ถ้าแก้ไม่ได้ก็ก้าวสู่สังคมข้างหน้าได้ยาก เพราะความไม่เท่าเทียมเมื่อวัดจากโครงสร้างประชากรในเมืองกับนอกเมืองอยู่ในอัตราถึง 10 ต่อ 1 แต่ประเทศที่พัฒนาก้าวหน้าประสบความสำเร็จมีอัตราส่วนแค่ 3 ต่อ 1 เท่านั้น
นอกจากนี้ ในด้านสังคมสูงวัยจะเป็นปัญหาของไทยมากขึ้น เพราะทำให้โครงสร้างกำลังพลทำงานเปลี่ยนไป สัดส่วนวันทำงานน้อยลง กระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายก็น้อยลงตามมา ดังนั้น เราต้องแก้ไขอย่าให้เกิดสังคมแบบแก่ก่อนรวย
“การดูแลผู้สูงวัยในระดับชุมชน เป็นกุญแจสำคัญทำให้ผู้สูงวัยมีพลังสร้างสรรค์ได้ แต่การดูแลต้องมีคุณภาพด้วยต้นทุนที่มี และสุดท้ายเกิดความยั่งยืน”
ดร.อุตตม กล่าวว่า ด้านเศรษฐิจต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างส่งออกกับเศรษฐกิจภายใน โดยเฉพาะต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชุมชุนฐานราก เมื่อโควิด-19 มาเปลี่ยนสังคมทำให้เศรษฐกิจค้าขายนอกประเทศไม่ได้จึงเป็นปัญหา และความเหลื่อมล้ำแก้ไม่ได้ ก็จะเกิดการกระจุกตัว เหตุนี้ปัญหาคือ จะพึ่งพาภาคส่งออกอย่างเดียวไม่ได้
ส่วนการปรับตัวด้านเศรษฐกิจภายในนั้น ต้องเริ่มจากชุมชนเป็นฐานแข็งแรงให้ได้ เพื่อเป็นฐานต้านทานผลกระทบจากโควิด สังคมจึงอยู่ได้ ดังนั้น ปรับเปลี่ยนให้สมดุลขึ้น ด้วยการเน้นการสร้างพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ทั้งด้านผลิต บริการ และโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน คือ ด้านสาธารณสุข และสถาบันการเงินของชุมชน
สิ่งนี้จะทำได้จากการยกระดับภาคเกษตร เพียงแต่มีคำถามปรับตัวยกระดับให้เข้มแข็งได้อย่างไร เราต้องมีความจำเป็นด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วย พร้อมกับยกระกับการผลิตวิถีเศรษฐกิจชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้ 3 องค์ประกอบนี้เชื่อมโยงเป็นรากสร้างสังคมให้เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้มูลค่าของสังคมเพิ่มมากขึ้น
“ในส่วนประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว เมื่อครั้งมีตำแหน่งทางการเมือง ผมเน้นให้หน่วยงาน ธกส.และ ออมสิน ยึดการทำงาน คือทำแล้วให้รู้ว่าทำ และต้องแบ่งปั่นความรู้ให้แก่ชุมชุน อย่าคิดว่าเป็นสถาบันการเงิน แต่เป็นฝ่ายพัฒนาชุมชน ดังนั้น จะเกิด 3 ฐาน วิถีเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาคน ท่องเที่ยวชุมชน สิ่งเหล่านี้ต้องร้อยเรียงกันและรัฐบาลต้องสนับสนุน”
ดร.อุตตม กล่าวว่า ถึงที่สุดแล้วชุมชนต้องหนีไม่พ้นเทคโนโลยี ต้องเข้าถึงให้ได้ เพื่อไม่ให้ไปอยู่ชายขอบของสังคม และรัฐต้องส่งเสริมให้ชุมชนได้เข้าถึงและต่อยอดพัฒนา นอกจากนี้เราจำเป็นต้องลงทุนในประเทศครั้งใหญ่ให้เพียงพอ โดยเฉพาะสังคมหลังโควิดต้องลงทุนอย่างมีเป้าหมายยุทศาสตร์ โดยสร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจฐานราก และปรับยกระดับอุตสาหกรรมฐานรากให้เพิ่มมูลค่า ยกระดับวิสาหกิจชุมชน แล้วนำมาร้อยเรียงมาสู่ความยั่งยืนของชุมชนสังคม
อีกทั้ง ต้องลงทุนเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะลงทุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัย โดยไทยต้องทำอีกมาก ควรเปลี่ยนระบบการศึกษาจากทักษะมาสู่การกล้าเริ่มผลิตในสิ่งใหม่ ดังนั้น การลงทุนต้องร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน อย่าคาดหวังว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะงบประมาณไม่พอ แล้วการร่วมมือกันในรูปแบบที่ได้ประโยชน์ร่วมกันและยังยืน
สิ่งสำคัญภาครัฐต้องปรับตัวอย่างมาก ให้ใช้เทคโนโลยีมาใช้ให้มาก โดยเฉพาะการปรับตัวด้านข้อมูลสังคม ยิ่งขณะนี้เเรามีข้อมูลบุคคลถึง 50-60 ล้านคนที่เก็บไว้ทั้งหน้าที่ อายุ เพราะต่อไปจะนำมาออกแบบพัฒนาสังคมได้
“(ยุคหลังโควิด) คนไทยต้องอยู่ด้วยความเป็นจริง ตั้งสติให้มั่น ต้องตื่นตัว และช่วยกันจะไปทางไหน ต้องปรับตัว ปรับความคิดใหม่จะไปทางใด สิ่งเหล่านี้ไทยไม่ด้อย แต่อ่อนในภาคปฏิบัติ ดังนั้น การขับเคลื่อนฐานรากแบบสัมมาชีพจึงหนีไม่พ้นเพื่อเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า”
กลับสู่หน้าหลัก โครงการผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลง คลิก
ติดตามข้อมูลข่าวสานของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv