เศรษฐกิจฐานรากสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนได้ยั่งยืน
เศรษฐกิจฐานรากสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนได้ยั่งยืน
การประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง ปัจจัย กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และการสร้างสรรค์นวัตกรรมสังคมของระบบเศรษฐกิจและสังคมของไทย ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อ 22 ส.ค. 2565 มีนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรองประธานกรรมการ มูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวเปิดงานถึง การถอดบทเรียนวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพทั้ง 16 แห่ง
นายเอ็นนู กล่าวว่า เราไม่คิดมาถอดบทเรียนเพื่อมารับรู้เฉยๆ แต่ต้องการขยายแสวงหาผู้ร่วมเป็นเครือข่ายวิสาหกิจท้องถิ่นให้มากขึ้น อีกทั้ง ยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เน้นการพัฒนาจากข้างล่างให้ยั่งยืนแล้วขยับไปสู่ข้างบนในระดับประเทศ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ได้บทเรียนจากแนวทางพัฒนาที่เน้นจากข้างบนลงมาข้างล่างหรือชุมชนท้องถิ่น ตามแบบแผนของต่างประเทศ แต่ไม่สำเร็จในสังคมไทย จึงเน้นยุทธศาสตร์ใหม่แบบย้อนสวนทางจากที่เคยทำมาตลอดแผนพัฒนาฯทั้ง 12 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม การจะลดความเหลื่อมล้ำได้มากขึ้น โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันมีมากกว่า 80-90% รัฐบาลจึงต้องกู้เงินมาสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้อยู่ได้ และนำเสนอสิ่งดีๆ จากคนข้างล่างที่ประสบความสำเร็จมาให้สังคมรับรู้ จึงเป็นเรื่องที่น่าบสนใจอย่างยิ่ง
ตนคาดหวังว่า เมื่อนำวิสาหกิจชุมชนต้นแบบทั้ง 16 แห่งของสัมมาชีพเป็นกรณีศึกษาแล้ว ทั้งวิสาหกิจทั้งท่องเที่ยว กลุ่มการเกษตร การแปรรูปผลผลิต และกลุ่มออมทรัพย์ และมีกองทุนหมู่บ้านอีกประมาณ 34 แห่งเข้ามาร่วมประชุมทางออนไลน์ด้วย จึงทำให้การแสวงหาประสบการณ์และบทเรียนของผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ขยายมากขึ้น นอกจากนี้ สัมมาชีพยังได้ดึงกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่เก่งด้านการจัดการมามีส่วนร่วมด้วย จึงหวังจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนฐานราก
นายเอ็นนู กล่าวว่า ไทยเกิดผลกระทบจากความขัดแย้งจากสิ่งต่างๆ ทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องช่วง 2-3 ปี รวมถึงการแพร่ระบาดโควิด และสงคราม ดังนั้นการศึกษาวิจัยควรสนใจภูมิคุ้มกัน ที่ต้องเน้นให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เรื่องเลวร้ายเข้ามาสร้างผลกระทบกับสังคมอีก
อีกอย่างถ้าการแก้ปัญหาคอรัปชั่น ด้วยการหนุนให้คนทำดีเป็นคนดัง รวมถึงการสร้างนักการเมืองต้นแบบขึ้นมาเป็นแบบอย่างคนทำดีแล้ว ดังนั้น ทุกเรื่องเมื่อเอาความดีนำ เอาการแบ่งปันนำ จึงจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ในช่วง 5 ปีระหว่างปี 2566-2570 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นั้น ตนมั่นใจว่า เป็นช่วงที่ประเทศไทยจะพัฒนาเดินหน้าไปได้ ยิ่งการสะท้อนถึงท่องเที่ยวชุมชนที่ทั่วโลกให้ความสนใจไทยด้านสถานบริการเพื่อสุขภาพจนขึ้นอันดับ 1 ของโลก แล้วยังจะยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทยสู่มาตรฐานสากลด้วย ดังนั้น ต้องเน้นให้สื่อสารสู่สังคมให้มาก โดยให้ข้างล่างนำในการสื่อสาร ซึ่งคาดว่าจะเหมาะสมในการกระจายในเรื่องดีๆให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างขึ้นไปอีก
นายเอ็นนู ย้ำว่า เมื่อสังคมทำดีหมด ก็จะเปลี่ยนอีโก้ของคนให้หันมาทำดีได้ ราวกับเป็นแสงสว่างในความมืดเพื่อนำทางสังคม ดังนั้น การทำวิจัย เจาะลึกจึงรอให้ฝ่ายนักวิชาการลงไปชี้นำเสนอออกมาด้วย ซึ่งจะเป็นคุณูประการกับท้องถิ่นและประเทศอย่างสูง
ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods
https://www.instagram.com/sammachiv/