skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เศรษฐกิจฐานรากรอหวังเข็มแข็ง ชุมชนคอยเม็ดเงินอัดฉีดจ้างงาน

เศรษฐกิจฐานรากรอหวังเข็มแข็ง ชุมชนคอยเม็ดเงินอัดฉีดจ้างงาน

 

เศรษฐกิจฐานรากรอหวังเข็มแข็ง
ชุมชนคอยเม็ดเงินอัดฉีดจ้างงาน

 

       มีแค่ขยับเพิ่มเล็กๆกับการอนุมัติแผนงานใหม่อีก 3 โครงการ ส่วนการใช้งบประมาณเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่ออัดฉีดฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังแน่นิ่งอยู่ที่ตัวเลขเบิกจ่ายเป็น “ศูนย์”

 

       การไม่ขยับเบิกเม็ดเงินไปใช้จ่ายอะไรเลยนั้น แปลความว่า หลังจากรัฐบาลออก พรก.กู้เงินเมื่อ 19 เมษายน 2563 เงินกู้จำนวน 4 แสนล้านบาท ยังนิ่งๆอยู่ ถ้านับถึงเดือนสิงหาคมนี้เงินกู้ถูกแช่แข็งไว้นานถึง 5 เดือน นั่นหมายถึง เงินสักบาทยังไม่ลงสู่พื้นที่เศรษฐกิจฐานรากเพื่อไปจ้างงาน เพิ่มรายได้ให้ชุมชนตามวัตถุประสงค์หลักในการกู้เงิน

 

     อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกว่าๆ นับแต่กรกฏาคมเรื่อยมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนงานในกรอบรอบที่ 1 ไปแล้ว 10 โครงการ ประกอบด้วย เมื่อ 8 กรกฎาคม 2563  อนุมัติ 5 โครงการจำนวนเงินรวม 15,520 ล้านบาท และก่อนหน้านี้เมื่อ 30 มิถุนายน 2563 ได้อนุมัติแผนงานกระตุ้นอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวจำนวน 2 โครงการ งบ 22,400 ล้านบาท

 

     ถัดมาเมื่อ 21 กรกฎาคม 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มอีก 3 โครงการ คือ โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง งบ 1,080 ล้านบาท โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ งบ 2,701 ล้านบาทบาท และโครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ชุมชน งบ 246 ล้านบาท รวมเม็ดเงินกว่า 4,027 ล้านบาท ซึ่งมุ่งหวังจะเกิดการจ้างงาน 39,195 คน

 

     รวมความแล้วทั้ง 10 โครงการนั้น เป็นการเสนอจาก 4 กระทรวงหลักคือ กระทรวงมหาดไทย เกษตรและสหกรณ์, ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมงบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท ส่วนหน่วยงานปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ทั้งในรูปแบบ อบจ. อบต. และภาคประชาชนยังไม่ปรากฎแผนงานผ่านการอนุมัติ

 

     หากตรวจสอบเงินกู้ 4 แสนล้านบาทจาก http://thaime.nesdc.go.th/ (เมื่อ 16 ส.ค.2563)  ระบุว่า มีการอนุมัติแล้ว 41,949 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.48 แต่ที่น่าสนใจคือ รายการเบิกจ่ายแจ้งสถานะเป็น “ศูนย์” หมายถึงเงินที่อนุมัติแล้วทั้ง 10 โครงการยังไม่ได้เร่งขอเบิกจ่ายเพื่อนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนและกระตุ้นชีวิตชาวบ้านตามจุดมุ่งหมายรีบด่วนแต่อย่างใดทั้งสิ้น

 

     คงต้องทบทวนอีกครั้งว่า พรก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม มีจุดประสงค์การกู้มาใช้จ่ายเพื่อเป้าหมายสำคัญ 3 ประการคือ 1.สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ท่องเที่ยวชุมชน กองทุนหมู่บ้าน และโลจิสติกส์ โดยในรอบที่ 1 มีโครงการเสนอขออนุมัติ 101 โครงการวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว 8 โครงการ เหลืออีก 93 โครงการวงเงินเหลือ 30,453 ล้านบาท

 

     2.กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคด้วยการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพ (Nec, NeEC, CWEC, SEC) เพื่อรองรับการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต เน้นเกษตรสมัยใหม่ เศรษฐกิจชีวภาพ ท่องเที่ยวคุณภาพ หรือเรียกรวมๆว่า เกษตรกรรมแปลงใหญ่และแผนงาน BCG ปัจจุบันมีเสนอขออนุมัติ 83 โครงการวงเงิน 20,000 ล้านบาท แต่คณะรัฐมนตรียังไม่ได้พิจารณาสักโครงการ

 

     3.กระตุ้นอุปสงค์ และการท่องเที่ยวในประเทศ งบประมาณ 22,400 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มี 2 โครงการสำคัญ คือ “เราเที่ยวด้วยกัน” งบ 20,000 ล้านบาท กับ “กำลังใจ” งบ 2,400 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้วเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยสถานะโครงการทั้ง 2 นี้ ปัจจุบันปรากฎเพียงการโหมประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ แต่การเบิกเงินไปใช้แจ้งว่า เป็น “ศูนย์” คือ ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินสักแดงเดียว

 

      ดังนั้น เมื่อพิจารณาอย่างแคบแบบเห็นภาพการเร่งอัดฉีดเงินกู้ลงพื้นที่แล้ว พบว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ได้เสนอแผนงานรอบที่ 1 ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติถึง 186 โครงการภายใต้กรอบงบประมาณ 92,400 ล้านบาท แต่ผ่านมาเดือนครึ่ง นับแต่ กรกฎาคม-กลางสิงหาคม อนุมัติไปแค่ 10 โครงการ ดังนั้นจึงเหลืออีกถึง 176 โครงการในส่วนสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากกับสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน รวมเม็ดเงิน 50,451 ล้านบาท จากวงเงินเสนอขออนุมัติในรอบที่ 1 รวม 70,000 ล้านบาท

 

       เอาเป็นว่า พิจารณาเฉพาะ 10 โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการแล้วเพื่อให้เห็นภาพวิถีแบบ “นิวนอร์มอล” ถ้ารัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินลงพื้นที่ โดยเริ่มจาก 8 โครงการในกรอบสร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง คือ

  • โครงการ 1 ตําบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ งบประมาณ 9,805 ล้านบาท จากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งหวังว่า จะเกิดพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้น 192,432 ไร่ เกิดเกษตรกรได้รับการพัฒนาใหม่ให้มีความมั่นคงในอาชีพ 64,144 คน ได้เพิ่มแปลงพื้นที่ต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ 64,144 แห่ง และที่สำคัญเกิดการจ้างงาน สร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ 4,009 ตําบล จํานวนรวม 32,072 คน มีมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนกว่า 3,463 ล้านบาท
  • โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบกว่า 4,787 ล้านบาท ของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เชื่อว่า จะเกิดแกนนําการพัฒนาเป็นครูกระบวนการ ครูกสิกรรม ครูประจําฐานเรียนรู้การพึ่งพาตนเอง และครูพาทํา จํานวน 34,367 คน อีกทั้งเกิดพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบระดับตําบล จํานวน 337 ตําบล ครอบคลุม 24,842 ครัวเรือน และเกิดการจ้างงานสร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ 3,246 ตําบล จํานวนรวม 9,188 คน มูลค่า 992 ล้านบาท
  • โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) งบประมาณเกือบ 170 ล้านบาท ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งเป้าหมายว่า เกษตรกร 107,000 รายจาก 394 อําเภอ 63 จังหวัด สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลงร้อยละ 20 มูลค่า 253 ล้านบาท ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี 18,000 ตัน ในพื้นที่ 6 ล้านไร่ จากพืชเกษตรประเภท ข้าว ข้าวโพด อ้อย พืชผัก มันสําปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ผล รวมทั้งจะเกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10
  • โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสําหรับนักท่องเที่ยว (Safety Zone) งบประมาณ 15 ล้านบาท โดยกรมการท่องเที่ยวมุ่งหวังพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบจํานวน 5 แห่ง ด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น พื้นที่ชุมชน พื้นที่เขตเมือง และย่านการค้า อีกทั้งเชื่อจะมีผู้ประกอบการได้รับการอบรมให้มีความรู้บริหารจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวให้ปลอดภัยไม่น้อยกว่า 500 คน
  • โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า 125 แห่ง จาก 50 จังหวัด งบประมาณ 741 ล้านบาท กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องการเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นมัคคุเทศก์นําดูนกระดับท้องถิ่น 1,250 คน
  • โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 1,080 ล้านบาท เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 12 เดือน เป็นอาชีพใหม่ของคนท้องถิ่นจำนวน 15,548 คน คาดเพิ่มรายได้จำนวน 932 ล้านบาท
  • โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 2,701 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการจ้างงานในตำบลละ 2 คนทั่วประเทศ จำนวน 14,510 คน ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2,701 ล้านบาทกระจายในพื้นที่
  • นอกจากนี้มี โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟ สร้างรายได้ชุมชน ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วงเงิน 246 ล้านบาท จ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ จำนวน 9,137 คน อัตรา 300 บาทต่อวัน

 

      ยังมีอีก 2 โครงการของการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” รวมงบประมาณ 22,400 ล้านบาท ฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศที่ซบเซาจากผลกระทบโควิด-19  โดยหวังว่า จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบจะมีรายได้รวม 50,000 ล้านบาท ลูกจ้าง 921,930 คน และผู้ประกอบการ 61,462 ราย จะได้ประโยชน์ ซึ่งเริ่มโครงการเมื่อ กรกฎาคม ไปสิ้นสุด ธันวาคม 2563

 

     สิ่งสำคัญ ถ้าทั้ง 10 โครงการมีการขยับอัดฉีดเม็ดเงินกระจายลงพื้นที่แล้ว คนในชุมชนท้องถิ่นกว่า 1,143,207 คนจะได้ประโยชน์ เกิดการจ้างงานเพิ่มรายได้ อีกทั้งยังหนุนเสริมให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ช่วยแบ่งเบาปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เพิ่มชีวิตแข็งแกร่งต้านทานผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดได้ในระดับที่น่าพอใจอย่างเป็นสุขยิ่ง

 

     แต่ถึงวันนี้และปัจจุบันอยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 พร้อมๆกับจะเริ่มปีงบประมาณใหม่ 2564 ในตุลาคมนี้ สิ่งที่ปรากฎเชิงประจักษ์ คือ งบประมาณจากทั้ง 10 โครงการจำนวน 41,949 ล้านบาท ยังนิ่ง ไม่มีการขยับเคลื่อนตัว เม็ดเงินยังไม่ไหลกระจายไปสู่ชุมชน เนื่องจากเครื่องชี้วัดบ่งบอกถึงการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแจ้งสถานะเป็น “ศูนย์”

 

ดังนั้น คนท้องถิ่นกว่าล้านคน ในพื้นที่ชุมชนไม่น้อยกว่า 8,539 แห่งทั่วประเทศยังรอการฟื้นฟูชีวิตใหม่ รอการจ้างงานมาเพิ่มรายได้เลี้ยงครอบครัวตามแบบวิถี “นิวนอร์มอล”

นั่นหมายความว่า วันนี้…ชาวบ้านยังรอหน่วยงานรัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณที่ผ่านการอนุมัติรอบที่ 1 กว่า 4 หมื่นล้านบาทจากวงเงินกู้ 4 แสนล้านตาม พรก.เมื่อ 19 เมษายน 2563 อยู่ทุกห้วงคำนึงและลมหายใจแห่งความหวังสู่การฟื้นฟูกลับให้เข้มแข็ง

Back To Top