skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เลาะทางชีวิต “ธนากร จีนกลาง” ถอดบทเรียนบังเอิญ ยางพาราไร้กลิ่น

เลาะทางชีวิต “ธนากร จีนกลาง” ถอดบทเรียนบังเอิญ ยางพาราไร้กลิ่น

 

เลาะทางชีวิต “ธนากร จีนกลาง” ถอดบทเรียนบังเอิญ ยางพาราไร้กลิ่น

เส้นทางชีวิตของ “ธนากร จีนกลาง” เกี่ยวข้องกับยางพาราเริ่มขึ้นช่วงหลังวัย 22 ปีเรื่อยมาถึงทุกวันนี้ ในฐานะประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา จ.บุรีรัมย์ ที่บุกเบิกก่อตั้งขึ้นเติบโตโด่งดังในปัจจุบัน กระทั่งได้รับรางวัลมากมาย ทั้งวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพปี 2562, คว้ารางวัลตู้อบไฮเทคจาก ธ.ก.ส. 2 ปี, ยืนหนึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนดีเด่นของจังหวัดบุรีรัมย์ 3 ปีซ้อน

 

ความสำเร็จทั้งมวล เขาอธิบายว่าเกิดจาก “3 ความบังเอิญ” เท่านั้น คือ บังเอิญได้อบรมเรียนรู้การปลูกยางพาราที่ภาคใต้ บังเอิญทำยางแผ่นแล้วได้ยางรมควันสวยงามมีคุณภาพดี และบังเอิญสุดท้ายคือ ทำยางก้อนเป็นยางเครปแผ่นบางไร้กลิ่น

 

ล่าสุดวิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้ยังได้พัฒนาน้ำยางสดมาทำยางเครปขาว เพื่อป้อนตลาดประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต้องการมากถึงเดือนละ 60 ตัน

 

ในความบังเอิญเหล่านั้น เบื้องหลังมาจากความตั้งใจให้หันเหชีวิต จากทำนาปลูกข้าวและไร่มันสำปะหลัง ไปปลูกยางพาราคนแรกของหมู่บ้าน กระทั่งเป็นที่ยอมรับในฐานะเกษตรกรยางพารารมควันต้นแบบของ จ.บุรีรัมย์และอีสาน

 

ชีวิตและความมุ่งมั่น

จุดเริ่มต้นการปลูกยางพาราของ “ธนากร” ก่อรูปขึ้นจากการได้รับความรู้เมื่อเข้าอบรมโครงการอีสานเขียวปี 2532 ซึ่งคัดเลือกเกษตรกรทั่วภาคอีสานประมาณ 20 คนเข้าอบรม แต่ จ.บุรีรัมย์มีส่วนแบ่งเกือบครึ่ง เฉพาะ อ.โนนสุวรรณ ที่เขาพำนักอยู่ ได้รับโควตา 5 คน และเขาบังเอิญเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปเข้าอบบรม

 

“ธนากร” เรียนจบชั้น ม. 3 เป็นลูกคนที่ 7 จาก 8 คน ครอบครัวทำนาและมันสำปะหลังบนพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ แต่มีความเป็นอยู่ยากจน เนื่องจาก ต.ดงอีจาน ที่เขาอยู่ขาดน้ำทำนา แห้งแล้ง ชาวบ้านมักปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด และรับจ้างทำงานอย่างอื่นพอมีรายได้เสริม

 

แม้พื้นดินบ้านเกิด ต.ดงอีจาน อ.โนนสุวรรณ เป็นดินภูเขาไฟมาก่อน จัดว่าเป็นดินดี อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่บำรุงปลูกพืชได้ แต่ก็มีพายุพัดผ่านรุนแรง เขาเล่าว่า ครั้งหนึ่งลมรุนแรงยกหลังคาบ้านเขาปลิวลอยไปทั้งแผง และทุกปีมักมีฟ้าผ่าเกษตรกรเสียชีวิตเป็นประจำ

 

“ธนากร” ไม่ทิ้งบ้านออกไปทำงานต่างถิ่น แต่เป็นเกษตรกรอยู่ทำนา ทำไร่ ปลูกพืชผักปีแล้วปีเล่า จนเติบใหญ่ได้เป็นทหารเกณฑ์ พออายุ 22 ปีพ้นทหารแล้ว ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการอีสานเขียว และได้ไปอบรมการปลูกยางพาราที่ ม.สงขลานรินทร์ ภาคใต้ นาน 1 เดือน ทั้งที่เขาไม่เคยเชื่อว่า ยางพาราจะปลูกในพื้นที่แห้งแล้งของอีสานได้

 

“ผมเถียง ค้านอาจารย์ที่สอนเสมอ เพราะคิดว่า ยางพาราต้องปลูกที่ภาคใต้อย่างเดียว เพราะมีน้ำฝนพอเหมาะ จะมาปลูกอีสานที่แห้งแล้งไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมเถียง มันเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะจริงๆ แล้วยางพาราเติบโตที่ภาคใต้ได้ แต่ก็เป็นพืชทนความแห้งแล้งได้มาก จึงปลูกที่อีสานได้เช่นกัน

ตอนนั้นอาจารย์ก็ใจดีอดทนให้ความรู้ หากรณีศึกษามาอธิบาย เพื่อให้ผมเปลี่ยนความเชื่อเก่าที่ฝังใจว่า อีสานปลูกยางพาราไม่ได้ แล้วอาจารย์ก็ทำสำเร็จ ผมเชื่อในสิ่งใหม่ว่า อีสานก็ปลูกยางได้”

 

เมื่อความเชื่อใหม่ตกผลึกในสมองเขา ความคิดถูกต่อยอดหวังไกลถึงขั้น ปลูกยางพาราเป็นรายได้หลักและก่อรูปไปสู่การสร้างสวัสดิการให้เกษตรกร โดยมียางพาราเป็นจุดเริ่ม เพราะเมื่อลงมือปลูก ดูแล 7 ปี จะกรีดน้ำยางขายเป็นรายได้ทุกวัน และต้นยาง 30 ปียังตัดต้นขายได้อีก จึงนำไปสู่ความมุ่งมั่นปลูกยางพารา โดยมีวิถีชีวิตชาวสวนยางภาคใต้เป็นต้นแบบ

 

หลังจบอบบรมโครงการอีสานเขียว “ธนากร” กลับบ้านเกิด ต.ดงอีจาน อ.โนนสุวรรณ ซึ่งในจำนวน 5 คนที่เข้าอบรม มีเขาคนเดียวที่เริ่มขยายผลการปลูกยางพารา ประสานรับพันธุ์ยางจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สาขาบุรีรัมย์ มาเพาะชำ และแนะนำครอบครัว เครือญาติ โดยอาสาดูแลจัดการให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะใส่ปุ๋ย บำรุงรักษา ขอเพียงแต่หันมาปลูกยางเท่านั้น

 

“ผมดูแลสวนยางเริ่มต้นประมาณ 200 กว่าไร่ จากครอบครัวและชาวบ้านที่ร่วมปลูก ใครไม่มาดูแล เราก็ทำให้หมด เพราะเราเชื่อว่ายางพาราเป็นทางเดียวที่จะแก้ปัญหาความยากจนได้ เกษตรกรสามารถสร้างสวัสดิการในชีวิตได้เหมือนข้าราชการ ผมคิดแบบนี้”

 

“ธนากร” เล่าว่า เขาไม่ได้มีที่ดินเพาะปลูกมากมาย การบุกเบิกปลูกยางพารา จึงต้องทุ่มเทแรงเพื่อสานความเชื่อใหม่ให้ได้ ทั้งดูแลรักษา และกรีดยาง ทำแผ่นยางให้ด้วย ถึงเวลาขายก็โอนเงินให้ชาวบ้านที่มาร่วมปลูก

 

แรกๆ ไม่มีใครสนใจนัก กระทั่งยางพาราเริ่มมีราคาในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผู้คนจึงให้ความสนใจมาปลูกมากขึ้นรวมกันประมาณ 500 ไร่ จนอีสานย่านนั้นเขียวได้จริง และชาวบ้านมีเงินส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยได้

 

เขาเล่าว่า ช่วงชวนชาวบ้านมาปลูกยางพารา มักเจอคำถามเสมอๆ ว่า จะอยู่กินอะไรกว่ายางจะเติบโตจนกรีดได้ เมื่อชาวบ้านต้องการปลูกมันสำปะหลังแทรกไปในสวนยางด้วยเพื่อเป็นรายได้เสริม “แม้มีผลกระทบต่อกัน แต่ไม่ถึงกับเสียหายมากมาย ดังนั้นช่วงแรกเราก็ต้องให้ปลูกมันสำปะหลังไปก่อนได้ด้วย”

บังเอิญยางแผ่นเป็นยางรมควันคุณภาพ

เมื่อชวนเครือญาติมาปลูก แล้วขยายไปสู่เพื่อนบ้านอีก 10 จากพื้นที่เริ่มต้นเพียง 100 ไร่ เพิ่มเป็น 200 ไร่ ขยายไปถึง 500 ไร่ ผลผลิตน้ำยางนำไปขายไกลถึง จ.ระยอง แต่เขาบอกว่า รายได้ไม่คุ้มค่านัก ในปี 2537 จึงตั้งกลุ่มยางธรรมชาติขึ้น นำน้ำยางจากพื้นที่ปลูกประมาณ 100 ไร่มารวมตัวกันไปขายในจังหวัด จึงได้ราคาดีขึ้น จากนั้นยกระดับเป็นสหกรณ์ยางพาราในปี 2541 โดยกยท.ส่งเสริมสนับสนุนอุปกรณ์ให้ทั้งหมด ทั้งโรงงาน โรงเรือน สิ่งที่เหลือคือ หาคนมาทำเป็นยางแผ่น

 

“ตอนนั้น ไม่มีใครเข้าไปทำงาน ผมจึงอาสาไปทำยางแผ่น เมื่อชาวบ้านเห็น ก็มาร่วมกันเป็น 5 คน ทำกันคนละห้อง ใส่ฟืนไฟ แต่โรงเรือนที่การยางสร้างให้เป็นโรงอบแห้ง ซึ่งด้วยความบังเอิญ เมื่อเราทำเสร็จก็ปิดปล่อง ควันไฟไม่มีทางระบายออก จึงกลายเป็นโรงอบแห้ง เป็นยางแผ่นรมควันขึ้นที่อีสานครั้งแรก เมื่อนำไปให้บริษัทดู เขาบอกใช้ได้ จึงเป็นยางแผ่นรมควันที่สวยงามมาเท่าทุกวันนี้”

 

เขาบอกว่า เมื่อทำยางแผ่นได้ น้ำยางสดจากชาวบ้านก็ไหลมาที่โรงงาน ขณะที่พวกตนก็ต้องลองผิดลองถูกทำกัน ประมาณ 10 ปี จึงเป็นสหกรณ์ที่เติบใหญ่มีสมาชิกกว่า 1,000 คน แต่ละวันมีน้ำยางเข้ามามาก ถึงขั้นล้นเกิน และยากต่อการบริหารจัดการ เมื่อมีคนเข้ามาบริหารงานสหกรณ์มากขึ้น เขาจึงออกมาตั้งกลุ่มใหม่

 

ก่อร่างวิสาหกิจชุมชนฯ

ในปี 2551 “ธนากร” นำสมาชิก 30 คนออกจากสหกรณ์ มาตั้งวิสาหกิจชุมชนฯ เพื่อทำยางแผ่นรมควันกันเอง โดยรวมกลุ่มกู้เงิน ธ.ก.ส. มาสร้างโรงเรือน โรงอบ ทำได้ประมาณ 10 ปี มีสมาชิกเข้ามาเพิ่มเป็น 220 คน มีน้ำยางสดประมาณ 15-18 ตันต่อวัน

 

“ตอนแรกออกจากสหกรณ์ ทางกลุ่มไม่มีเงินเลย เราจึงใช้ยุ้งข้าวเก่าๆ เป็นโรงเรือนอบแห้ง โดยก่อไฟข้างล่าง ใช้ถังขนาด 200 ลิตรทำเป็นท่อให้ควันขึ้นข้างบน จนทำให้ยางแห้ง และพัฒนามาสร้างโรงเรือนอบแห้ง โรงงานทำยางแผ่นขึ้น”

 

การขยายตัวโดยที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้น มีเตาอบถึง 20 ตู้ มาจากส่วนสำคัญคือ พฤติกรรมการทำงานที่ทำให้ชาวบ้านเห็นว่า ไม่เอาเปรียบใคร ไม่โกงสมาชิก ทำงานรวมกลุ่มด้วยจิตใจบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งพ่อ-แม่ อบรมปลูกฝังมา “สิ่งเหล่านี้ยากมากต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำให้ชาวบ้านเห็นและรับรู้”

 

เมื่อผลผลิตยางแผ่นรมควันมีคุณภาพดี ผ่านมาตรฐานยาง GMP ทำให้ “ธนากร” กล่าวอย่างมั่นใจว่า วิสาหกิจฯ แห่งนี้ ขายยางพาราได้ราคา “ดีที่สุด” ในประเทศไทย โดยปัจจุบันยางแผ่นรมควันของวิสาหกิจฯ ขายได้ราคา 47.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนคนอื่นๆ ขายได้ 46.50 บาทต่อกิโลกรัม

 

การขายยางได้ราคาดีนั้น “ธนากร” บอกว่า มาจากคุณภาพยางของวิสาหกิจฯ ที่เกิดจากประสบการณ์ในกระบวนการผลิตยางแผ่นที่มีสูตรลงตัว เนื่องจากยางมีความเข้มข้นต่างกัน ดังนั้นการผสมน้ำกรด 94% กับน้ำและการหาค่ากลางของแผ่นยาง จะทำให้ยางแผ่นไม่มีความเสียหาย และยังลดการอบแห้งจาก 5 คืน เหลือ 3 คืน ถือเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้มาก และลดมลพิษได้ด้วย

 

“ผมดีใจมากยางแผ่นรมควันของเราไม่มีคัทติ้ง (Cutting ไม่มีส่วนเสียหายถูกตัดทิ้ง) แห้งแข็งใน 45 นาที ไม่ใช่ 2-3 ชั่วโมง เราส่งขายบริษัท นอร์ทอีสต์ ที่บุรีรัมย์ แล้วบริษัทบริดจสโตนมาซื้อต่ออีกที เขาพอใจคุณภาพยางของวิสาหกิจมาก สั่งซื้อเดือนละ 3,000 ตัน แต่เราทำได้แค่เดือนละ 100 ตัน” เมื่อยางเป็นที่ต้องการของตลาด วิสาหกิจฯ ขายได้ราคาดี หักลบกลบหนี้ เขาจึงเหลือกำไรประมาณเดือนละ 1 ล้านบาท จ่ายปันผลให้สมาชิก 10% เฉลี่ยคืนให้อีก 1 บาทต่อกิโลกรัม

 

 

 

คุณภาพยางไร้กลิ่นจากความบังเอิญ

วิสาหกิจชุมชนฯ รับซื้อยาง 2 รูปแบบคือ น้ำยางสด และยางก้อนถ้วย เพื่อนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันและยางเครปแผ่นบางตามลำดับ ส่งขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ “ธนากร” บอกว่า ยางของวิสาหกิจฯ มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งหมด

 

“ธนากร” ยังมุ่งมั่นคิดค้นพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์แบบมิเคยหยุดนิ่ง โดยยางแผ่นรมควันถือเป็นสิ่งที่สร้างมลพิษเพราะมีควันจากฟืน ขณะที่ฟืนก็หายากขึ้น เขาจึงใช้พาราโบลาโดมหรือโรงอบยางพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณซื้อฟืนได้ประมาณ 7-8 แสนบาทต่อปี ขณะเดียวกัน โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ยังแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นของยางก้อน มลพิษจากควันฟืน และการใช้ไม้ฟืนอีกด้วย

 

“ที่ผ่านมาไม่เคยรู้เลยว่า ยางพาราตากแดดไม่ได้ เพราะแสงยูวีจะทำลายเซลล์ยาง ทำให้ยางไม่มีคุณภาพ เนื้อยางส่วนที่พาดไม้ตากแดดยังมีน้ำยางเยิ้ม ไม่แห้ง จึงเสื่อมคุณภาพ เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร แนะนำให้สร้างพาราโบลาโดมคลุมด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต ทำให้เราประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาคุณภาพยางแผ่นรมควัน จากการอบด้วยแสงอาทิตย์ผ่านพาราโบลาโดม”

 

นอกจากนี้ วิสาหกิจฯ ยังทำยางเครปแผ่นบางจากยางก้อนถ้วย และด้วยความบังเอิญจากการอบในโรงพาราโบลาโดม เมื่อนำไปขายให้บริษัทบางกอกพัฒนามอเตอร์ รวมทั้งบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นก็พบว่ายางมีกลิ่นหอม ทำให้บริษัทญี่ปุ่นถึงกับบินมาดู และขอให้ส่งตัวอย่างไปให้เพื่อจะตัดสินใจซื้อขายกันในอนาคต

 

“ผมมั่นใจว่า อย่างไรเราก็ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เพราะการตากแห้งโดยธรรมชาติจะแตกต่างจากยางแท่งที่อบด้วยอุณหภูมิสูง  ต้องขอบคุณ ดร.ชโย (ดร.ชโย ตรังอดิศัยกุล กรรมการผู้จัดการ บ.บางกอกพัฒนามอเตอร์) มากที่ท่านให้โอกาสกลุ่มวิสาหกิจเล็กๆ อย่างเรา”

พัฒนาสู่ยางขาว

สำหรับยางแผ่นรมควันของวิสาหกิจฯ นั้นได้มาตรฐาน สีสวยงาม มีคุณภาพ 100% ทั้งแผ่น มีบริษัท บริดจสโตนเป็นตลาดรับซื้อ ส่วนยางเครปแผ่นบาง บริษัท บางกอกพัฒนามอเตอร์ รับซื้อไปผลิตยางในรถจักรยาน รวมทั้งบริษัทสุมิโตโมก็ยอมรับถึงคุณภาพ

 

“ธนากร” ยังบอกว่า ล่าสุดวิสาหกิจฯ กำลังพัฒนาการแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางเครปขาว เพื่อทำสติ๊กเกอร์ปิดผลไม้และผัก ซึ่งที่จริงแล้ว ยางเครปขาวนี้ ญี่ปุ่นต้องการคุณภาพความขาว 2% เพื่อนำไปทำเสื้อชั้นใน กางเกงชั้นใน สตั๊ด (รองเท้าฟุตบอล) แต่วิสาหกิจยังทำความขาวได้แค่ 3% สามารถนำไปทำเป็นสติ๊กเกอร์ปิดผัก ผลไม้ได้เท่านั้น

 

“ถ้าเราทำได้มาตรฐานความขาวได้ตรงกับที่ญี่ปุ่นต้องการ เขาจะสั่งซื้อถึงเดือนละ 60 ตัน”

 

ดังนั้น “ธนากร” บอกว่า วิสาหกิจฯ ยังต้องมุ่งมั่น ใฝ่หาความรู้ สร้างประสบการณ์ ค้นหาและพัฒนาการแปรรูปยางแครปขาวแผ่นบางจากน้ำยางสดให้ได้คุณภาพตามที่ญี่ปุ่นต้องการ เพื่อหวังเปิดตลาดสินค้ายางพาราอีสานให้กว้างขึ้นไปอีกในอนาคต


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top