เร่งสัปดาห์ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส
เร่งสัปดาห์ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมออนไลน์กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศกว่า 500 คน โดยมอบภารกิจสำคัญด้านหนึ่งคือ ให้ทุกจังหวัดกระตุ้น เร่งฉีดวัคซีนโควิดให้ครบ 100 ล้านโดสภายในปี 2564 ตามคำมั่นสัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้กับสาธารณะ
การเร่งและกระตุ้นฉีดวัคซีนนั้น มุ่งเป้าไปที่ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และขยายการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มแรงงานต่างด้าว อีกทั้งให้จัดกิจกรรมรณรงค์สัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีนโควิดระหว่างวันที่ 27 พ.ย.- 5 ธ.ค. 2564 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 100 ล้านโดส เพื่อเพิ่มให้ครอบคลุม 70% ของประชากร ซึ่งจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาด และสามารถเดินหน้าเปิดประเทศได้อย่างปลอดภัย
ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดย พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.เรียกร้อง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนเพื่อสกัดการติดเชื้อโควิดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้กลุ่ม 10 จังหวัดและกลุ่ม 608 คือ สตรีตั้งครรภ์ ยังฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งในอัตราส่วนน้อยมากควรให้ความร่วมมือเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทยฉีดแล้วรวมกว่า 89.3 ล้านโดส แยกเป็นเข็มหนึ่ง 46.8 ล้านโดส เข็มสอง 39.4 ล้านโดส และเข็มสาม 3.0 ล้านโดส โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานข้อมูลถึงวันที่ 22 พ.ย. 2564ว่า กำหนดเป้าหมายไว้ 5 แสนรายสามารถฉีดได้เพียง 1.6 แสนโดส หรือคิดเป็น 0.19% อีกทั้งกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปฉีดแล้วกว่า 14 ล้านโดส คิดเป็น 16.0% ซึ่งจัดว่ายังน้อยมาก
นอกจากนี้ยังมี 10 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งค่อนข้างต่ำ ประกอบด้วย นครพนม หนองบัวลำภู สกลนคร กาฬสินธุ์ บึงกาฬ ยะโสธร แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และสมุทรสงคราม โดยภาพรวมแล้วจังหวัดเหล่านี้ฉีดวัคซีนครอบคลุมได้เพียงประมาณ 40% เท่านั้น ส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีอัตราฉีดวัคซีนต่ำสูง 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นครนายก ราชบุรี สุพรรณบุรี ปัตตานี ขอนแก่น กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี และอ่างทอง ดังนั้น ศบค. ระบุเป้าหมายให้เร่งเครื่องฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อหลีกหนีความเสี่ยงการติดเชื้อขั้นรุนแรงในอนาคต
ส่วนพื้นที่ 17 จังหวัดเปิดประเทศนำร่องท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัวนั้น ข้อมูล อว.รายงานถึง 22 พ.ย.ว่า ภาพรวมมีการฉีดวัคซีนเข็มสองแล้วกว่า 73.5% ซึ่งครอบคลุมเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% แต่จังหวัดส่วนใหญ่ยังฉีดเข็มสองได้ในอัตรา 40-60% เท่านั้น เช่น ระยอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ตราด บุรีรัมย์ เลย อุดรธานี และหนองคาย
อีกทั้ง การระบาดของเชื้อโควิดในไทยยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ในอัตราสูงคงตัวต่อเนื่อง เมื่อ 24 พ.ย. พบผู้ติดเชื้อใหม่ 5,857 คน (ยังไม่ร่วมผลตรวจ ATK ซึ่งเข้าข่ายอีก 1,860 คน) มีผู้รักษาตัวในโรงพยาบาล 41,351 คน ป่วยหนัก 1,529 คน และอยู่ในอาการใช้ท่อหายใจ 358 คน ดังนั้นหากเปรียบสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดในอาเซียนแล้ว พบว่าไทยยังมีผู้ป่วยรายวันเพิ่มขึ้นขั้นสูงในอันดับสองรองจากเวียดนามที่ป่วยเพิ่มมากถึง 11,132 คน
อย่างไรก็ตาม ช่วงเปิดประเทศให้กลุ่ม 63 ประเทศเสี่ยงต่ำเข้ามาท่องเที่ยวในไทยไม่ต้องกักตัวนั้น ข้อมูลตั้งแต่ 1-23 พ.ย.มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว 94,756 คน และตรวจพบเชื้อโควิดจำนวน 126 คน คิดเป็น 0.13% เมื่อพิจารณาในช่วง 7 วันตั้งแต่ 17-23 พ.ย. พบว่าแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยลดน้อยลง โดยในช่วงดังกล่าวนี้วันที่ 20 พ.ย. มีเข้ามาไทยมากที่สุดตั้งแต่เปิดประเทศคือ 5,616 คน ถัดมาลดลงเป็น 5,591 คนในวันที่ 21 พ.ย. แล้ววันที่ 22 พ.ย. เข้ามา 5,129 คน และวันที่ 23 พ.ย.เหลือเข้ามาใหม่จำนวน 4,019 คน
สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศต้นทางที่เดินทางเข้ามามากที่สุดถึง 22 พ.ย. ใน 10 อันดับแรกนั้น ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา จำนวน 11,032 คน, เยอรมนี 9,469 คน, เนเธอร์แลนด์ 7,824 คน, สหราชอาณาจักร 4,354 คน, ญี่ปุ่น 3,984 คน, รัสเซีย 3,677 คน, ฝรั่งเศส 3,350 คน, เกาหลีใต้ 3,255 คน, UAE 2,413 คน และ อิสราเอล 2,317 คน ส่วนใหญ่มาจาก สหรัฐและยุโรป ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดโควิดระลอกอย่างน่างกังวลในปัจจุบัน
กล่าวถึงที่สุดแล้ว สถานการณ์โควิดของไทย การระบาดรายวันยังมีผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงระดับกว่า 5 พันคนต่อวัน การฉีดวัคซีนเข็มสองที่มีศักยภาพต่อการป้องกันความเสี่ยงติดเชื้อไม่ให้รุนแรงอยู่ในระดับแค่ 55% ยังไม่ครอบคลุมเป้าหมาย 70% ของประชากรประมาณ 70 ล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่ฉีดเข็มหนึ่งได้เพียง 40% แต่พื้นที่ระบาดสูงติดเชื้อมากกว่า 10 ขึ้นต่อวันยังเป็นจังหวัดในเปิดประเทศให้ท่องเที่ยว
โดยเฉพาะความท้าทายครั้งสำคัญคือ สหรัฐและยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายของไทยเกิดการติดเชื้อระลอกใหม่ในอัตราที่น่ากลัว และองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับหวั่นไหวว่าจะเป็นศูนย์กลางแพร่เชื้อครั้งใหม่ด้วย ดังนั้นไทยต้องเน้นมาตรการป้องกันอย่างรัดกุม การมุ่งจะเปิดประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายฟื้นเศรษฐกิจนั้นยังไม่ก่อรูปธรรมได้ชัดเจน โดยรายงานของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพลสำรวจในช่วง 2 สัปดาห์การเปิดประเทศของไทยโดยประชาชนส่วนใหญ่ถึง 48.11% ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจยังเหมือนเดิม รวมทั้ง 43.11% ค่อนข้างกังวลกับการแพร่เชื้อโควิดรุนแรงขึ้นในอนาคต
ทั้งหมดทั้งปวงนั้น สิ่งป้องกันได้ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีนให้ครบสองเข็มครอบคลุม 70% ของประชากร รวมทั้งเสริมด้วยคำแนะนำจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กินผักผลไม้ให้เพียงพอในปริมาณ 400 กรัมต่อวันจะเสริมความแข็งแรงของร่างกายสร้างภูมิต้านทานโควิดได้เป็นเบื้องต้น
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv