skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง  เพื่อความมั่นคงอาหารของชุมชน

เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง เพื่อความมั่นคงอาหารของชุมชน

ภาพ การทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ เครดิตภาพ: มูลนิธิปิดทองหลังพระ

 

เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง

เพื่อความมั่นคงอาหารของชุมชน

โดย ปัทมา วิไลเลิศ

 

ด้วยความเชื่อที่ว่า หากไม่มีเมล็ดพันธุ์ ก็ไม่มีความหวังในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร กิจกรรม เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง‘  ในประเทศไทยจึงมีขึ้นที่ชุมชนแก่นมะกรูด เมื่อ 21-22 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนชุมชนให้พึ่งตนเองในการทำเกษตร มีความมั่นคงทางอาหาร และลดการพึ่งพิงบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรกรรมไปในตัว

 

ชุมชนแก่นมะกรูด ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี คนส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ วัฒนธรรมและประเพณีของพวกเขาผูกพันอย่างแยกกันไม่ออกจากเมล็ดพันธุ์

 

“อาหารของพวกเรามาจากเมล็ดพันธุ์ พิธีกรรมต่างๆ ของชุมชน เมล็ดพันธุ์จะถูกนำมาใช้เป็นอาหารต้อนรับแขกผู้ใหญ่และผู้เข้าร่วมงาน ในงานแต่ง เราจะเสริฟ์ หมี่สิ อาหารพื้นเมืองที่ทำจากข้าวเหนียวตำผสมกับถั่วและงา และเรายังมีพิธีกรรมอีกอย่างที่สำคัญก็คือ การทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ชาวบ้านมีเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายไปปลูก” วันนบ ขอสุข ปราชญ์ชาวบ้านเล่า

 

การทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ในชุมชนแก่นมะกรูดเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมา เพื่อคงไว้ซึ่งความผูกพันของชุมชนและเมล็ดพันธุ์ โดยหลังจากพระสงฆ์สวดและทำพิธีให้กับกองผ้าป่าเมล็ดพันธุ์แล้ว พระสงฆ์จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นกลับคืนไปยังชาวบ้าน

 

วันนบบอกว่า เขามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า เทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่อาจจะทำให้เมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชนสูญพันธุ์ได้

 

ข้อมูลจากศูนย์เมล็ดพันธุ์พันพรรณระบุว่า ใน 1 วัน มีเมล็ดพันธุ์พืชหายไปจากโลกเราไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด เราเคยมีข้าวเกือบ 20,000 ชนิด แต่วันนี้เรามีพันธุ์ข้าวไม่เกิน 200 ชนิดเท่านั้น การหายไปของเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น หมายถึงการสูญเสียความมั่นคงทางอาหารของทั้งมนุษย์และสัตว์

 

“ผมทราบว่า มีกลุ่มบริษัทไม่กี่แห่งพยายามครอบครองอาหารของโลกด้วยการพัฒนาพันธุ์ที่ผิดธรรมชาติ เช่น จีเอ็มโอ เมื่อชาวบ้านซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเหล่านั้น พวกเขาจึงไม่มีโอกาสปลูกพืชสายพันธุ์แท้ได้อีก และเมื่อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเหล่านี้ให้ผลิตผลที่โตเร็ว สมบูรณ์ และสวยงาม จะเปลี่ยนให้เกษตรกรกลายเป็นผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง พืชพันธุ์ที่แท้จริงจะเริ่มหายไปอย่างรวดเร็ว

 

ผมเคยซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทแห่งหนึ่ง และปลูกมันสำปะหลังอย่างเดียว ต่อมาในปี 2559 ที่ดินของผมเริ่มแห้งแล้ง ปลูกพืชอะไรไม่ได้เลย ผมจึงเริ่มคิดว่า จะเลี้ยงครอบครัวให้ยั่งยืนได้อย่างไร

 

บังเอิญผมเล่าถึงความตั้งใจและความยากลำบากของผมให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิปิดทองหลังพระที่อยู่ในชุมชนฟัง เขาเข้าใจสถานการณ์ของผม และพร้อมผลักดันความต้องการของผมให้เป็นจริง”

 

หทัยรัตน์ พ่วงเชย ผู้จัดการฝ่ายความรู้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เล่าว่า ทางมูลนิธิฯไม่ลังเลที่จะช่วยเหลือวันนบ เพื่อทำให้เป้าหมายของเขาเป็นจริง มูลนิธิปิดทองหลังพระ นำวันนบและชาวบ้านหลายคนไปอบรมที่มูลนิธิ “กสิกรรมธรรมชาติ”

 

หลังอบรม วันนบเริ่มทำการเกษตรยั่งยืนทันที สิ่งแรกที่เขาทำคือ ขุดคลองใส้ไก่ในพื้นที่ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายของมูลนิธิในช่วงโควิด แนวทางนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นประโยชน์ในช่วงวิกฤติ เพราะผลผลิตทางการเกษตรสามารถเลี้ยงคนในท้องถิ่นได้ถึง 80%

 

“ช่วงล็อคดาวน์ ผมมีส้มโอในสวนมาก เลยประกาศให้คนทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านมารับส้มโอไปฟรีๆ และมอบส้มโอให้พยาบาลที่รักษาผู้ป่วยโควิด แทนคำขอบคุณในการทำงานหนักของพวกเขา” วันนบเล่า

 

ขณะที่หทัยรัตน์อธิบายถึงพันธกิจของมูลนิธิปิดทองหลังพระว่า คือการเร่งรัดและขยายการพัฒนาชนบทโดยบูรณาการแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทำงานร่วมกับชุมชน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ มูลนิธิมีการทำงาน 3 ขั้นตอนเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ ขั้นตอนแรก คือ ให้ชุมชนสร้างผลผลิตทางการเกษตรให้เพียงพอต่อครัวเรือน ขั้นตอนที่สองคือ ชุมชนมีความสามัคคี ดูแลความเป็นอยู่ของกันและกัน และขั้นตอนสุดท้าย คือ ชุมชนสร้างเครือข่ายกับองค์กรภายนอกเพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชน

 

ขณะนี้ แก่นมะกรูด อยู่ในขั้นตอนที่ 3 แล้ว โดยชาวบ้านได้จัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร้อยพันธุ์รักษ์” ขึ้นในปี พ.ศ. 2562

 

“สมาชิกในชุมชนกระตือรือร้นเกี่ยวกับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์มาก เราจึงนำพวกเขาไปอบรมกับคุณโจน จันได ที่เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060 หลังจากนั้น พวกเขาก็กลับมาปรับปรุงวิธีเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ สำรวจหาพืชพันธุ์ใหม่ๆ และสามารถค้นพบเมล็ดพันธุ์ต่างๆ กว่า 100 ชนิดในแก่นมะกรูด” หทัยรัตน์กล่าว

 

อาจารย์ดิเรก ศรีสุวรรณ ประธาน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร้อยพันธุ์รักษ์” ได้เพิ่มเติมถึงวิธีการที่ชุมชนแก่นมะกรูด เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารว่า เขาเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนกะเหรี่ยงแห่งหนึ่งในแก่นมะกรูด และพบเห็นชาวบ้านซื้อเมล็ดพันธุ์พืชและผลไม้มาปลูก จึงมองว่าในระยะยาว ชาวบ้านเหล่านี้ต้องพึ่งพาพ่อค้าแม่ค้าไปตลอด

“ผมจึงเริ่มสอนให้นักเรียนปลูกพืชผักท้องถิ่นในที่ดินของโรงเรียน ปลูกฝังแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและความรู้ในการทำเกษตรแบบยั่งยืน หลังจากนั้น ชาวบ้านจึงร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน และขยายกลุ่มเป็นเครือข่ายกับหมู่บ้านในต่างจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการเก็บเมล็ดพันธุ์และการปลูกพืช”

 

ภาพ : ซ้าย อ. ดิเรก ศรีสุวรรณ ประธาน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร้อยพันธุ์รักษ์”และขวา คุณวันนบ ขอสุข ปราชญ์ชาวบ้าน

 

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร้อยพันธุ์รักษ์” ยังได้ติดต่อกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (BEDO) เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินในการสำรวจพืชพันธุ์ใหม่ๆ เพราะทางกลุ่มไม่เพียงแต่ต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนและเครือข่าย แต่ยังต้องการเผยแพร่ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นระหว่างเกษตรกร กับชุมชนอื่นๆ และหน่วยงานภายนอกอีกด้วย

 

งาน “เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง” หรือ ‘Seeds of Hope’ ที่ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร้อยพันธุ์รักษ์” และเครือข่ายได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 200 คน “ยุรา” หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานจากนครสวรรค์ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มางานรูปแบบนี้ รู้สึกประทับใจกับการจัดงานและรับรู้ได้ว่า คนในชุมชนร่วมมือกันเป็นอย่างดี

 

“วิธีที่พวกเขารักษาผืนดินและเมล็ดพันธุ์นั้นมีความหลากหลายมาก ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน ชุมชนนี้มีขนาดเล็ก แต่พวกเขาจัดงาน ‘เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง’ ได้ดี มีความสามัคคีกันสูง สิ่งที่เห็นในงานนี้เกินความคาดหมายมาก เมื่อกลับถึงนครสวรรค์จะถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้จากที่นี่ให้คนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงที่จังหวัดนครสวรรค์”

 

“มะเหมี่ยว” ผู้ร่วมงานอีกคนก็เสริมว่า “ไม่คิดว่างาน ‘Seeds of Hope’ จะมีคนมาร่วมงานเยอะ น่าจะเป็นเพราะความสามัคคีของชุมชนแก่นมะกรูด จึงช่วยให้งานนี้สำเร็จได้ อยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรม และคุณค่าที่ใกล้ตัวเหล่านี้ไว้ เพราะจะช่วยให้พวกเขาพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว”

 

หทัยรัตน์ มองว่างานของชุมชนแก่นมะกรูด เป็น “ห้องทดลองทางสังคม” เธอตระหนักถึงกระแสโลกที่แปรเปลี่ยนซึ่งส่งผลต่อการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม

 

“วิถีเกษตรกรรมดั้งเดิมของพวกเขาอาจเปลี่ยนไปได้ (แต่) เราต้องหาวิธีไม่ให้เมล็ดพันธุ์กลายพันธุ์ และให้ผลผลิตมากขึ้นโดยไม่ใช้ GMOs  เรามีแผนที่จะใช้พื้นที่แห่งความสำเร็จเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้อื่น เราจึงเรียกว่า ‘ห้องทดลองทางสังคม’

 

ที่มา: https://www.indepthnews.net/index.php/sustainability/food-security-nutrition-sustainable-agriculture/5914-thailand-seeds-of-hope-aims-to-ensure-community-food-security

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top