เผยกลยุทธ์ “กาแฟวาวี”….พลิกโฉมตลาดกาแฟ
“ไกรสิทธิ์ ฟูสุวรรณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟวาวี จำกัด บรรยายหัวข้อ “รางวัล SME –สัมมาชีพกับ
การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน” ในหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นที่ 9 จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ สาระน่าสนใจดังนี้
ตอนเริ่มธุรกิจกาแฟวาวีไม่รู้อะไรเลย ปี 40 เจอฟองสบู่แตกล้มลุกคลุกคลานจึงเริ่มศึกษาทำกาแฟ ประมาณ 18 ปี วาวีทำตั้งแต่ต้นน้ำ มีแพล้นท์ ช่วงกลางน้ำมีโรงคั่ว ปลายน้ำมีร้านกาแฟอยู่เชียงใหม่
ตอนเริ่มทำใหม่ๆ ไม่ได้คาดหวัง เริ่มต้นจากติดลบคิดว่าทำอะไรก็ได้ให้ชีวิตรอดก่อน ทำไปทำมาอยู่กับเกษตรกรก็ได้เห็นเกษตรกรที่ปลูกกาแฟว่า เขาทำยังไง แปรรูปอย่างไร คั่วอย่างไร ตอนนั้นเราก็เลยเป็นตัวเชื่อม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และเราปลายน้ำขายของได้ เราได้เห็นข้อเสียของชุมชนที่ไม่ได้มีการพัฒนา
ตั้งแต่เรื่องการเก็บผลผลิตซึ่งเกษตรกรที่ปลูกกาแฟละเลยมาก ปัญหาที่เราเจอก็ ไปสอนเขา เกษตรกรปลูกกาแฟแล้วก็เก็บแบบตามมีตามเกิดไม่ได้สนใจว่าคุณภาพเป็นอย่างไร ยิ่งพอให้ราคาสูงก็ละเลย คุณภาพลดลงเรื่อยๆ เราไปสอนเขาเก็บให้ถูกต้อง ไปสอนเขาให้เก็บผลสุกจริงๆ กาแฟจึงมีรสชาติดี สุดท้ายเขาก็เข้าใจหากทำถูกต้องเราก็ให้ราคามากกว่าเดิมกี่เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ไปสอนเขาเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมี แต่ก่อนกาแฟที่ปลุกรสชาติดีมาก ราชการเพิ่มผลผลิตแต่ไม่เพิ่มคุณภาพ เราพยายามบอกว่า หากยังใช้ปุ๋ยเคมีดินดีๆ ที่เคยมีอยู่ก็จะหายไป เราสอนให้ทุกคนร่วมกันลดการใช้ปุ๋ยเคมี ตั้งศูนย์แปรรูปทำฟาร์มออร์แกนิกซึ่งได้มาตรฐานของสหรัฐอเมริกา และยุโรป เราเอาของเสียมาแปรรูปเป็นปุ๋ยเพื่อนำมาใช้แทนปุ๋ยเคมี ทำ 3 ปี คาแรคเตอร์เดิมกลับมา มีเอกลักษณ์ขึ้นมาลูกค้าก็ชมว่ากาแฟรสชาดดีกว่าที่อื่น
ตอนนั้นทางมูลนิธิสัมมาชีพ ไปเยี่ยมชม คณะกรรมกการตรวจสอบแล้วเห็นว่าสิ่งที่เราทำลดภาระต้นทุนของเกษตรกร และลดของเสียที่เคยปล่อยลงน้ำ การกระทำดังกล่าวเป็นการลดภาระคนที่อยู่ปลายน้ำที่แต่ก่อนต้องรับของเสียจากพวกเรา
ตอนเริ่มทำรวมกลุ่มใหม่ๆ มีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งหมด 50 คน แต่เมื่อทำจริงๆ ในที่สุดเหลือเกษตรกรแค่ 3 คนเท่านั้น พวกที่ออกไปเขาบอกว่าทำแบบนี้เหนื่อย แต่เขาใช้ปุ๋ยเคมีนั้นง่ายมาก ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ใช้มากกว่า 15 เท่า ต้องแบกขึ้นดอย เราบอกเขาไปว่า เมื่อเหลือแค่ 3 ราย เราให้เพิ่มจากราคากระสอบละ 100 บาท เป็น 150 บาท เขาถึงเริ่มทำตอนหลังเขาเห็นการเจ็บป่วยน้อยลง ไม่ต้องจ่ายค่าปุ๋ยเคมี สุดท้ายได้คาแรคเตอร์กลับมา ลูกค้าก็กลับมาหาเรา เป็นการพลิกการตลาด ต่างชาติก็มาดูงาน อนาคตต้องขยายเครือข่าย สำหรับการรับซื้อกาแฟออร์แกนิค เราให้ราคาสูงกว่าปกติ 20-30%
ตอนนั้นทำที่เชียงรายแสดงให้เห็นว่า คนที่เคยทำปุ๋ยเคมีมาก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์นั้นยากมากเพราะเป็นความเคยชิน ส่วนคนที่ไม่เคยใช้ปุ๋ยเคมีมาก่อนปรากฏว่า ทำงานง่าย และทำงานร่วมกันกับคนกลุ่มนี้สนุกมาก และคนรุ่นใหม่จะพูดง่ายกว่าคนรุ่นเก่า
ตอนนี้เราทำสำเร็จเราได้มาตรฐานทั้งจากอเมริกาและยุโรป ต่อไปเราตั้งเป้าไปคุยกับยุโรป เพราะคนยุโรปกินกาแฟเยอะ แต่กินกาแฟนิดเดียว กินนมกับน้ำตาล เราพยายามหาข้อมูลกาแฟสมัยใหม่ตลอดเวลา
ส่วนในเรื่องผลผลิตนั้น ในบ้านเราขยายผลผลิตยาก ติดปัญหาเรื่องป่าไม่สามารถขยายการปลูกได้ แต่เพื่อนบ้านเราอย่างลาว ผลผลิต 2-3 หมื่นตันต่อปี เราแค่ 9 พันตันเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราแข่งขันยาก เราก็จะแก้วิธีการกินกาแฟ เราต้องยกระดับโดยกินกาแฟที่ดีมีเอกลักษณ์
สำหรับในตลาดโลก ตลาดกาแฟค่อนข้างลงตัวอาจจะต้องเพิ่มมูลค่ากาแฟโดยผลิตกาแฟกลิ่นผลไม้ กลิ่นเสาวรส กาแฟกลิ่นไวน์ กาแฟกลิ่นช็อกโกแลต ซึ่งในตลาดโลกโตพอสมควร
นอกจากนี้จะต้องโยงธุรกิจกาแฟกับธุรกิจท่องเที่ยว ต่อไปคนดื่มกาแฟ ไปเที่ยวไร่กาแฟไปดูกระบวนการทำกาแฟ ก็จะพักในไร่กาแฟ เราก็จะได้รายได้จากโฮมสเตย์ แต่เราต้องเข้าถึงเกษตรกร เราพยายามขยายเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีก 100 รายในจังหวัดเชียงราย 56 รายในช่วงหน้าฝน จะขายที่พักให้คนมาเรียนรู้การทำกาแฟ
องค์กรของเราอาจไม่ใช่องค์กรใหญ่ แต่เรามีความสุข ที่เราเห็นรอยยิ้มเป็นความสุขเปิดเผย ซึ่งมากกว่ามูลค่าเงิน ทำให้เราเห็นว่าในโลกใบนี้ยังมีอะไรสวยงามอีกเยอะแยะ ชุมชนในระยะยาวเมื่อเขามีลูกมีหลาน เราก็หันไปพึ่งเขาได้
ส่วนเรื่องความช่วยเหลือนั้น ก็อยากให้รัฐเข้ามาช่วยก็คงเป็นเรื่องการเข้าหาเงินทุนให้ง่ายขึ้น ดอกเบี้ยต่ำ เราสามารถมีต้นทุนลดลง อยากให้รัฐบาลส่งเสริมตลาด ที่ผ่านมาส่งเสริมให้เรียนรู้แต่ขายของไม่ได้หนี้สูญเหมือนเดิม