skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เป้าหมายสัมมาชีพประชาชนกับยุทธศาสตร์ชาติ
Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

เป้าหมายสัมมาชีพประชาชนกับยุทธศาสตร์ชาติ

เป้าหมายสัมมาชีพประชาชนกับยุทธศาสตร์ชาติ

 

    รัฐบาลเน้นย้ำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีเป้าหมายนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืนภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งยึดแกนกลางอยู่ที่ก่อประโยชน์ให้ประเทศมั่นคงและประชาชนมีความสุข

 

     ยุทธศาสตร์ชาติมี 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านความมั่นคง  2.ด้านความสามารถในการแข่งขัน  3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  5. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ  และการพัฒนาทุกด้านนั้น ต้องมีประชาชนเป็นส่วนร่วมจึงจะสมบูรณ์

 

     ในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมาตรา 65 ระบุว่าให้รัฐจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนตามกฎหมายบัญัญติ และ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 มาตรา 8  ได้กำหนดไว้พร้อมสรรพ

 

     ดังนั้น ตั้งกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จึงต้องรับฟังความเห็นและขับเคลื่อนจากประชาชน หากขาดความร่วมมือแล้วยุทธศาสตร์ชาติไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ แต่อาจทำให้กลายเป็นยุทธศาสตร์แบบล่องลอยที่ถูกรัฐและข้าราชการครีเอทขึ้นในยุคสมัยหนึ่งๆเท่านั้น

 

กรอบพัฒนาลดทอนผลกระทบต่อประชาชน

     กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติเกิดขึ้นจากฝ่ายข้าราชการมีความกังวลในการพัฒนาประเทศแบบสะเปะสะปะของรัฐบาลเลือกตั้ง เนื่องจากขาดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ชาติคอยกำหนดกรอบทางเดินนำพาไปสู่ความเจริญมั่งคั่งเพื่อประชาชนเป็นสุขยั่งยืน

 

    ความกังวลดังกล่าวนั้น สั่งสมจากการดำเนินนโยบายสาธารณะของฝ่ายการเมือง หรือรัฐบาลแต่ละชุดแตกต่างกัน ซึ่งไม่ประสานให้เกิดความต่อเนื่องในทิศทางการพัฒนาของประเทศ เพราะส่วนสำคัญพรรคการเมืองมักยึดมั่นกับนโยบายตนเองได้หาเสียงไว้กับประชาชนเป็นหลัก เมื่อได้เป็นรัฐบาลกลับมุ่งตอบโจทย์นโยบายเฉพาะหน้าให้เกิดผลระยะสั้นเพื่อรักษาฐานคะแนนเสียงไว้ และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จึงไม่สนใจสานต่อนโยบายที่ได้ดําเนินไปแล้วจากผู้บริหารชุดก่อน 

 

    ฝ่ายที่ไม่ได้มาจากการเมืองมองว่า การเอาแต่ตอบสนองผลักดันนโยบายสาธารณะในระยะสั้น ได้สร้างผลกระทบระยะยาวต่อประชาชน จึงต้องกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศและวางกรอบยุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวไว้ โดยรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศจะต้องเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และกรอบยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

 

    ดังนั้น หลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติเรื่อยมาตามลำดับ กระทั่งมีกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ 2560 และกำหนดแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 แผนมาบังคับใช้ในระยะ 20 ปี ตั้งแต่ 2561-2580

 

“เอ็นนู”ประธานยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคม

     “เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” มีประวัติประสบการณ์ด้านการบริหารมาโชกโชนและยาวเหยียดถึง 17 แห่งที่เข้าไปร่วมดำเนินงานและผลักดันองค์กรทั้งรัฐและเอกชน ที่สำคัญคือ เคยเป็นกรรมการแบงก์ชาติ เป็นผู้บริหาร ธกส. ประธานกรรมการบริหารและกรรมการอำนวยการ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย (บชท.) ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (สสวช.) อีกทั้งเป็นกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ เป็นต้น

 

    ปัจจุบัน เอ็นนู เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ซึ่งต้องทำงานยุทธศาสต์ควบคู่กันไปด้วย

 

      กล่าวเฉพาะบทบาทประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมแล้ว เอ็นดู คลุกคลีตั้งแต่การวางกรอบหลักและกำหนดแผนแม่บท โดยกรอบผลักดันด้านสังคมนั้น กำหนดไว้ 4 ประเด็นหลัก คือ

  • การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ  เช่น  การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก  การปฏิรูประบบภาษีและการคุ้มครองผู้บริโภค  กระจายการถือครองที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากร  ฯลฯ 
  • การกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม  และเทคโนโลยี  เช่น  การพัฒนาศูนย์กลางความเจริญในด้านต่างๆ ไปสู่ภูมิภาค  กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละกลุ่มจังหวัดในมิติต่างๆ  จัดระบบเมืองที่เอื้อต่อการสร้างชีวิตและสังคมที่มีคุณภาพและปลอดภัย  เพื่อตอบสนองต่อสังคมสูงวัยและการขยายตัวของเมืองในอนาคต  ฯลฯ
  • การเสริมสร้างพลังทางสังคม เช่น  สร้างสังคมที่เข้มแข็ง  แบ่งปัน  ไม่ทอดทิ้งกัน  และมีคุณธรรม  การรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ  ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและบทบาทของสตรีในการสร้างสรรค์สังคม  ฯลฯ 
  • เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาตนเองและการจัดการตนเอง เช่น  ส่งเสริมการปรับพฤติกรรมในระดับครัวเรือน  ให้มีขีดความสามารถในการวางแผนชีวิต  สุขภาพ  ครอบครัว  การเงิน  และอาชีพ  สร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างประชาธิปไตยชุมชน

 

     โดยกรอบหลัก 4 ประเด็นพุ่งเน้นไปสู่ 9 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1. ความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรร้อยละ 10 ที่รวยที่สุดต่อประชากรร้อยละ 10 ที่จนที่สุดไม่เกิน 15 เท่า 2. ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index – HAI) ทุกจังหวัดต้องไม่ต่ำกว่า 0.60  3.  พัฒนาจังหวัดศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยกว่า 15 จังหวัด 4.  สัดส่วนแรงงานที่ได้รับสวัสดิการต่อกำลังแรงงานทั้งหมด รวมแรงงานในระบบและนอกระบบ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

 

  1. ยกระดับการประกอบการในภาคการเกษตร โดยทำให้ทุกตำบลมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการเกษตรอย่างน้อยตำบลละ 5 กลุ่ม 6. สัดส่วนสตรีในทางการเมืองไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และสัดส่วนสตรีในตำแหน่งบริหารในหน่วยงานและในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 7. ครัวเรือนที่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 8.  ดัชนีคุณภาพภาวะประชากรสูงอายุ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และ 9. ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการพึ่งตนเองและจัดการตนเองเพิ่มขึ้น

 

แผนแม่บทเศรษฐกิจฐานราก

     กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจฐานราก เป็นแผนแม่บทสำคัญอันดับต้นๆที่จะพัฒนาชุมชนให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีชีวิตยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากมีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเอง ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่น ๆ ในพื้นที่ เกิดการสร้างอาชีพ สร้างและกระจายรายได้ และลดปัญหาความ
เหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคจากระดับชุมชน

 

    ในแผนแม่บทนี้ ประกอบด้วยแผนย่อย 2 แผนคือ ยกระดับศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ โดยการเพิ่มพูนองค์ความรู้และทักษะในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจของเกษตรกร แรงงานทั่วไป และกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อยและไม่มั่นคงให้เป็นผู้ประกอบการ ผ่านการสนับสนุนการช่วยเหลือทางวิชาการต่าง ๆ โดยหวังให้มีศักยภาพและขีดความสามารถของเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้น ในปี 2560 -2565 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ในปี 2566-2570 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ในปี 2571-2575 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และในปี 2576-2580 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี

 

    อีกทั้ง ยังเน้นสร้างสภาพแวดล้อมและกลไกที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เน้นส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบที่มีโครงสร้างกระจายรายได้ ทั้งวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และวิสาหกิจเพื่อสังคม การพัฒนาช่องทางการตลาดและเครือข่าย โดยเฉพาะมุ่งให้เกิดอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากของมูลค่าสินค้า OTOP เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2580 อย่างน้อยร้อยละ 30-50 เป็นต้น

 

   ดังนั้น แผนแม่บทบางส่วนดังกล่าวนี้จึงสะท้อนไปสู่ประชาชนได้ตรงเป้าทั้งด้านบทบาทเชิงเศรษฐกิจและการมีชีวิตของชุมชน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการดำเนินการผลักดันให้มุ่งไปตามยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมที่เน้นชุมชนรากฐานเพื่อคาดหวังให้ประชาชนมีความสุขยั่งยืน

 

เอ็นนูยุทธศาสตร์ชาติกับประชาชนสัมมาชีพ

   บทบาทของ “เอ็นนู”ในยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมนั้น ทั้งในด้านประเด็นหลักขับเคลื่อนผลักดันโดยเฉพาะประเด็นการเสริมสร้างพลังทางสังคมให้เข้มแข็ง แบ่งปัน ไม่ทอดทิ้งกัน รวมทั้งประเด็นเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาตนเองและการจัดการตนเอง ตลอดจนแผนแม่บทสร้างเศรษฐกิจฐานรากนั้น กล่าวได้ว่า เป็นการสอดประสานอย่างลงตัวกับแนวทางสัมมาชีพ ซึ่งยึดกุมหลักความพอดี ไม่เบียดเบียนตัวเองและคนอื่น มุ่งเก็บออม ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้

 

    เมื่อยุทธศาสตร์ชาติเน้นการส้รางประเทศให้มั่นคงและให้ประชาชนเข็มแข็งแล้ว แนวทางสัมมาชีพจึงมีส่วนผสมส่วนเข้าตามแผนการพัฒนาชาติตลอด 20 ปีได้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างดียิ่ง แต่ประชาชนทุกภาคส่วนจะแยกแยะเก็บรับอย่างไร แบบไหน จึงควรผ่านการแลกเปลี่ยนกลั่นกรองโดยผู้มีบทบาทโดยตรงเป็นสำคัญ

 

    “เอ็นนู” ในด้านองค์กรสัมมาชีพ แม้เป็นกรรมการมูลนิธิ แต่อีกด้านในแนวทางพัฒนาชุมชนตามยุทธศาสตร์ชาติ เขาถูกรับเชิญมาเป็นวิทยากรให้ความรู้การอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 11 เพื่อถ่ายเทประสบการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมองการนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืนทั้งผู้เข้ารับอบรรม คนชุมชนแบบสัมมาชีพ และประชาชนทุกภาคส่วน

 

    การอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 11 จะมีขึ้นทุกวันเสาร์–วันอาทิตย์ เริ่มวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2563–วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆคือ  สร้างผู้นำ- นำการเปลี่ยนแปลง ที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อความจำเป็นของ“งานพัฒนา”

 

     รวมทั้ง ยังมุ่งพัฒนาความสามารถของ “นักขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน” ให้สามารถทำโครงการเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชนให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC) ให้เป็น “สถาบัน” ที่ทำหน้าที่ “พัฒนา” สายพานเศรษฐกิจและสังคมฐานราก และเชื่อมโยงระหว่างฐานรากกับเศรษฐกิจกระแสหลัก ตลอดจนเพื่อสร้างธุรกิจและเศรษฐกิจขึ้นใหม่ในระดับชุมชนและท้องถิ่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

 

    เมื่อ “เอ็นนู” เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ในมุมมองยุทธศาสตร์ชาติ นำการเสวนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ จึงชัดเจนว่า จะเกิดประโยชน์กับผู้เข้าอบรมเป็นด้านสำคัญ ตลอดจนจะได้รับรู้ว่า ประชาชนจะมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการเข้าไปมีส่วร่วมกับยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร และการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงรุ่น 11 กำลังรับสมัครผู้เข้าอบรมอยู่ในขณะนี้

Back To Top