skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เปิดใจ“พิชามญชุ์ แซ่จึง” LFC 8 พลิกชีวิตชาวสวนมัลเบอร์รี่ ดึงเครือข่าย LFC แปรรูปเพิ่มมูลค่า

เปิดใจ“พิชามญชุ์ แซ่จึง” LFC 8 พลิกชีวิตชาวสวนมัลเบอร์รี่ ดึงเครือข่าย LFC แปรรูปเพิ่มมูลค่า

          วันนี้เราจะพาไปรู้จักและ “สัมภาษณ์พิเศษ” ศิษย์เก่า LFC8 “คุณพิชามญชุ์ แซ่จึง”  หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกร จังหวัดศรีสะเกษ มีบทบาทในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน หรือ “มัลเบอร์รี่” ในพื้นที่อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

          คุณพิชามญช์ เล่าว่า ภายหลังจากที่เรียนจบหลักสูตร LFC ได้นำความรู้เรื่องการจัดการเศรษฐกิจระดับชุมชนฐานราก และกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ไปปรับใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะการช่วยแก้ไขปัญหาของชาวสวนหม่อน ซึ่งประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด เนื่องจากเกษตรกรให้ความสนใจปลูกกันเยอะ เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่ายโตเร็ว และเก็บผลผลิตได้ตลอดปี

          จึงพยายามคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา โดยเข้าไปสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่ม ในนามของ “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หม่อนขวัญภูเขาไฟเพื่อทำการขายผลผลิตเอง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะเดียวกันยังช่วยประสานจัดหาเครื่องจักรช่วยแปรรูปผลผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า

 

 

          “ดินที่นี่เป็นดินแร่ธาตุภูเขาไฟ ถ้าปลูกผลไม้ก็จะได้ผลโต รสชาติดี แต่เราจะทำอย่างไรให้ผลผลิตมีคุณภาพ ดังนั้น ทางสภาเกษตรกร จังหวัดศรีสะเกษ จึงร่วมมือกับตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมถึงสวนเกษตรกร เพื่อควบคุมผลผลิตให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ PGS โดยจะตรวจประเมินแปลง ซึ่งแปลงไหนที่ตรวจผ่านแล้ว เราจะขึ้นทะเบียนรับซื้อ แต่หากยังไม่ได้มาตรฐาน ก็จะให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปรับปรุง” คุณพิชามญช์ กล่าวและว่า

 

 

          “ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ น้ำมัลเบอร์รี่สกัดเข้มข้น, น้ำมัลเบอร์รี่พร้อมดื่ม, แยมมัลเบอร์รี่, มัลเบอร์รี่อบแห้ง เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษา และป้องกันปัญหาการล้นตลาดของผลสด”

          “คุณพิชามญชุ์” เล่าถึงกลยุทธ์การหาตลาดว่า การหาตลาดรับซื้อถือเป็นปัญหาใหญ่ของทางกลุ่มวิสาหกิจฯ มาโดยตลอด ปัจจุบันมีไปวางจำหน่ายตามร้านค้าชุมชน และห้างสรรพสินค้าของจังหวัด รวมถึงการได้รับความเมตตาจาก “หลวงพ่อพุฒ วายาโม” เจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ที่ช่วยหาตลาดให้อีกทางหนึ่ง

 

          ส่วนการเชื่อมโยงกับทางเครือข่ายผู้เรียน LFC นั้น ก็มีการปรึกษาหารือกันอยู่เรื่อยๆ เช่น การช่วยแปรรูป เพราะบางครั้งกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ มีวัตถุดิบที่ยังไม่แปรรูป แต่เกษตรกรอีกพื้นที่หนึ่งสามารถช่วยแปรรูปได้ เราก็จะประสานผ่านเครือข่าย LFC ส่งผลผลิตไปให้ นอกจากนี้ยังมีเพื่อนในรุ่น LFC 8 มาช่วยพัฒนากลุ่มข้าวอินทรีย์อีกด้วย

 

          ขณะที่การสร้างเมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากหลักสูตร LFC โดย “คุณพิชามญชุ์” ได้ตระหนักถึงปัญหาแรงงานและผู้สืบทอดอาชีพทางการเกษตร จึงคิดทำโครงการ “เสริมสร้างยุวเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่” เรียนรู้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือระบบการปลูกผักไร้ดิน ด้วยกระบอกไม้ไผ่ เพื่อให้นักเรียน ได้มีความรู้ด้านการเกษตร สามารถช่วยงานในครอบครัว หรือยึดถือเป็นอาชีพในอนาคต

 

 

          “การได้ไปเรียนหลักสูตร LFC เหมือนได้เปิดโลกกว้างขึ้น เพราะก่อนหน้าที่จะไปเรียนไม่ค่อยมีเพื่อน แต่พอไปเรียนเราได้รู้จักเพื่อนหลากหลายกลุ่ม บางคนมีตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงาน มีทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน มีอะไรขาดเหลือก็ประสานช่วยเหลือกัน ขณะนี้ทราบว่ากำลังจะเปิดอบรม LFC 10 จึงขอเชิญชวนให้ลองไปสมัครเรียน เชื่อว่าจะได้ความรู้ดีๆ นำกลับไปพัฒนาตัวเองและชุมชนที่อาศัยอยู่” คุณพิชามญชุ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

Back To Top