เปิดความห่วงใยสถานการณ์ “นอก-ใน”รุมไทย “สมคิด”แนะงัด“เข้มแข็งภายใน”กู้วิกฤตท้องถิ่น
เปิดความห่วงใยสถานการณ์ “นอก-ใน”รุมไทย
“สมคิด”แนะงัด“เข้มแข็งภายใน”กู้วิกฤตท้องถิ่น
การอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 12 ปิดฉากลงแล้วเมื่อ 15 พ.ค. 2565 โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี กับ ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาปาฐกถาการขับเคลื่อนสัมมาชีพ เพื่อลดความขัดแย้ง แตกแยกในสังคมไทย พร้อมห่วงใยสถานการณ์โควิดและสงครามก่อวิกฤต นำพาโลกไปเสี่ยงภัย ก่อผลกระทบให้สินค้าอาหารแพงและราคาพลังงานที่พุ่งทะยานสูงขึ้น
นพ.ประเวศ ปาฐกถาผ่านวีทีอาร์ ถึงบทบาทมูลนิธิสัมมาชีพในการสร้างแผ่นดินศานติสุข สรุปได้ว่า มูลนิธิฯ มีแนวทางสายกลางเป็นหลักในการทำงาน โดยจุดยืนของแนวทางนี้ยึดทางสายกลางตามหลักศาสนาพุทธ ไม่มีการแบ่งข้าง แยกขั้ว ไม่มุ่งให้เกิดความแตกแยกในสังคม เพราะแนวทางสายนี้เป็นทางสายแห่งปัญญา เพื่อต้องการให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้และมาร่วมกันทำงานสร้างบุญกุศลเพื่อประชาชน
ดังนั้น มูลนิธิ ฯไม่ได้เป็นศัตรูกับฝ่ายใด ไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐ เอกชน และพรรคการเมืองใด จึงเป็นตัวเชื่อมโยงพลังสังคมจากทุกฝ่ายทั้งหมดมาร่วมกันพัฒนา สิ่งสำคัญการนำอาสาสมัครมูลนิธิฯ ลงพื้นที่ชนบทและชุมชนจึงเป็นการผลักดันการเรียนรู้ร่วมกันในการทำงานพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
ดร.สมคิด ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สัมมาชีพกับประเทศไทย หัวใจในการขับเคลื่อนประเทศ” สรุปสาระสำคัญว่า นับแต่ออกจากรัฐบาลเมื่อ ก.ค. 2563 มาได้ร่วม 2 ปี ตลอดเวลาดังกล่าวไม่เคยบรรยาย หรือแสดงความเห็นที่ไหน แต่ไม่เคยละทิ้งความหวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง และยังอุทิศสิ่งดีๆให้คนไทยมาตลอด
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ออกจากรัฐบาลนั้น ถึงปัจจุบันมีหลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไป จนมีพัฒนาไปสู่ความน่าห่วงใย ซึ่งตนมีความห่วงใยอย่างน้อย 6 ประการ คือ หนึ่ง โลกมีความเสี่ยงสูงขึ้น และมีความไม่แน่นอนมากขึ้น จึงควรเตรียมตัวให้พร้อม ต้องไม่ประมาททั้งในสถานการณ์โควิดและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีวี่แววจะยุติอย่างสมบูรณ์
โดยเฉพาะการระบาดเชื้อโควิดนั้น คงคาดถึงการจบลงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องอยู่ร่วมกับมัน ส่วนประเทศใหญ่ต้องการให้เป็น “โรคประจำถิ่น” จึงเป็นการประกาศแบบตัวใครตัวมัน เพราะประเทศใดแข็งแรงก็อยู่รอด ส่วนประเทศอ่อนแอก็พัง
สำหรับสงครามในยูเครน คงไม่มีวันยุติลงอย่างง่ายๆได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นสงครามที่มีเป้าประสงค์ของทั้งสองฝ่าย รวมถึงสงครามส่อแนวโน้มถึงการเดินหมากของบางประเทศก่อสงคราม ขณะที่กระทบถึงฟินแลนด์และสวีเดน แสดงตัวจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ ผู้นำรัสเซียรีบประกาศทันทีว่า คือความผิดพลาดและถือว่าเป็นศัตรูอันร้ายกาจ
ดังนั้น จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งโลก ราคาอาหารจะพุ่งทะยานขึ้น พร้อมกับเกิดวิกฤตราคาด้านพลังงาน โดยผลกระทบนี้จะมีมหาศาลต่อสังคม การเมือง และคนยากจนย่อมได้รับผลกระทบมากที่สุด แล้วลามไปสู่การเมือง ซึ่งศรีลังกา และอาเจนตินา กำลังตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้ความห่วงใยของตนเห็นว่า ถ้าสงครามไม่ยุติแล้ว การบริหารจัดการก็ไม่ควรประมาท การจัดการต้องคิดเตรียมการนำหน้าไปหนึ่งก้าวเอาไว้ก่อน
สอง ไทยเผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่ปกติ มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการจัดการ การบริหารต้องไม่ปกติไปด้วย และต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ต่อไป แล้วประเทศก็จะอยู่ได้
สิ่งสำคัญ หน่วยงานด้านงบประมาณและการคลังของประเทศ ควรจัดการบริหารทรัพยากรเรียงตามความสำคัญของสถานการณ์ก่อนหรือหลัง พร้อมต้องกล้าคิดว่าจะนำประเทศไปทางไหน เพราะต้องประสบกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานตกต่ำ ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น ความน่าห่วงใยกับการอยู่รอดในสถานการณ์ไม่ปกติ จึงควรเป็นการอยู่รอดด้วยตัวเอง
สาม ปรับเปลี่ยนการบริหาร โดยขจัดอุปสรรคที่เปลี่ยนแปลงยาก ด้วยการระเบิดจากภายใน หรือสร้างความเข้มแข็งจากภายในจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการเน้นกระจายอำนาจและการคลัง อย่าไปกระจุกที่กระทรวงใดเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการลงทุนทางเศรษฐกิจควรเน้นให้ภายในประเทศแข็งแรง การท่องเที่ยวต้องเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในประเทศ ชุมชน จึงจะเกิดรายได้ โดยท้องถิ่นต้องเป็นตัวตั้ง จึงจะเกิดความแข็งแรง และที่สำคัญไม่ควรเน้นพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียงด้านเดียว แต่ต้องทำทั้งภายในและต่างประเทสสมดุลกัน
สี่ ควรให้ความสำคัญกับด้านอุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันได้ ต้องอธิบายความสำคัญของเขตเศรษฐกิจ อีอีซี ให้ต่างประเทศได้รับรู้ถึงแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรม อีกอย่างด้านรถยนต์ต้องเตรียมความพร้อมเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า
ห้า ต้องนำพาประเทศให้มีความสำคัญกับเวทีโลก ซึ่งไม่ยึดว่าเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ แต่ต้องสร้างให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค พร้อมๆกับการสร้างความสมดุลกับประเทศใหญ่ด้วย จึงจะมีนัยยะสำคัญทางเศรษฐกิจ แล้วทั่วโลกจะรู้จักไทยมากขึ้น
หก สลายขั้วความขัดแย้ง แตกแยกในสังคม โดยเฉพาะในทางการเมืองต้องยุติบิดเบือนข้อมูล การให้ร้ายแบบมุ่งหวังผลที่กำหนดไว้ ซึ่งเท่ากับเป็นการบั่นทอนประเทศ สิ่งนี้ควรเบาบางลงให้ได้ ดังนั้นการเมืองจึงเป็นศูนย์กลางในการต้องรีบแก้ไข คือ ให้เป็นการเมืองดี ไม่มีแตกแยก และไม่แย่งชิงอำนาจกัน เพราะไม่เกิดประโยชน์กับประเทศ
อีกอย่าง ต้องรับฟังเสียงเยาวชน โดยต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อไม่ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันต้องปรับแก้ระบบธรรมาภิบาลใน 3 ด้านคือในด้านความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ และความเชื่อใจ ถ้าทั้ง 3 ด้านนี้อ่อนแอลงย่อมทำให้การทำงานยากลำบากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ต้องเปลี่ยนทัศนคติด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยไม่ควรเน้นการบริหารแบบมุ่งปกครอง แต่ปรับมาเน้นการพัฒนาท้องถิ่น แล้วเชื่อมโยงการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods