เที่ยวอุทยานแห่งชาติภูลังกา ตามรอยพญานาค“ถ้ำนาคา-นาคี”
เที่ยวอุทยานแห่งชาติภูลังกา ตามรอยพญานาค“ถ้ำนาคา-นาคี”
อุทยานแห่งชาติภูลังกา ได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ปี 2563 มีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายเรียงซ้อนกันตามแนวแม่น้ำโขง ทอดยาวตามแนวทิศเหนือกับทิศใต้ ส่วนลักษณะดินเป็นดินทรายมีการพังทลายปานกลาง
พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา มีประมาณ 31,250 ไร่ หรือประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอ.บ้านแพง จ.นครพนม และ อ.เซกา, อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ สถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างความฮือฮาเพิ่งค้นพบใหม่ คือ ถ้ำนาคาในฝั่ง จ.บึงกาฬ กับถ้ำนาคีอยู่ฝั่ง จ.นครนพม นอกจากนี้ยังมีแหล่งเที่ยวประเภทน้ำตกที่น่าสนใจ ประกอบด้วย น้ำตกตาดขาม (อ.บ้านแพง,นครพนม), น้ำตกตาดโพธิ์ (อ.บ้านแพง,นครพนม), น้ำตกตาดวิมานทิพย์ (อ.บึงโขงหลง,บึงกาฬ), น้ำตกกินนรี (อ.บึงโขงหลง,บึงกาฬ)
จากการสำรวจถ้ำนาคา พบว่า ภายในถ้ำมีก้อนหินใหญ่คล้ายพญานาคหรือหัวงู ส่วนผนังถ้ำเป็นเกล็ดงูใหญ่ขดรายล้อมเป็นวง ยิ่งชวนให้จินตภาพถึงลำตัวพญานาคตามตำนานเรื่องเล่าของคนอีสานเรียบริมน้ำโขง โดยเฉพาะในถ้ำนาคี ยังมีก้อนหินใหญ่ดูคล้ายเศียรพญานาครวม 9 เศียร สร้างความอัศจรรย์ใจกับผู้ศรัทธาหลั่งไหลไปกราบไหว้ แล้วกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดร้อนแรงในปัจจุบัน
ขณะที่ในมุมของวิทยาศาสตร์แล้ว ได้อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ทำให้หินบริเวณถ้ำนาคา-ถ้ำนาคีเป็นเกล็ดงู หรือเกล็ดปลา ว่า บริเวณดังกล่าวเป็นหินทรายขนาดใหญ่ หินที่มีลักษณะคล้ายเกล็ดงูนั้น ทางธรณีวิทยา เรียกกันว่า “ซันแครก” (Sun Crack) เกิดจากการแตกผิวหน้าของหิน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดการขยายตัวและหดตัวสลับไปมา จนแตกเป็นลายเหลี่ยม ต่อมามีการผุผังและกัดเซาะโดยน้ำและอากาศในแนวดิ่ง ทำให้เกิดลักษณะเป็นชั้นๆ
แม้ด้วยความเชื่อทางสิ่งเร้นลับและศรัทธาพญานาคก็ตาม หรือเป็นปรากฎการณ์ถูกอธิบายด้วยธรรมชาติตามลักษณ์ภูมิสภาพของภูเขาชั้นหินทรายก็ดี แต่ปัจจุบันถ้ำนาคา-ถ้ำนาคี ได้นำทั้งความเชื่อศรัทธามาผนวกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดบึงกาฬและนครพนม ตามเส้นทาง “นาคีรูท” กันแล้ว
ยิ่งนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้ไปสำรวจถ้ำนาคาเมื่อ 13 ธ.ค. 2563 เพื่อส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามเส้นทางตามรอยพญานาคของกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน หรือกลุ่มจังหวัดสบายดี ประกอบด้วย อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย และบึงกาฬ
เส้นทางตามรอยพญานาคนั้น ได้เชื่อมโยงเอาเรื่องเล่าในตำนาน ผสานกับความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องราวพญานาค ซึ่งผูกกับวิถีชีวิตของชาวอีสานจังหวัดริมน้ำโขงมานานโข แล้วนำเอามนต์เสน่ห์ความเชื่อศรัทธาและธรรมชาติกับวิถีชีวิตประชาชนมาสร้างมูลค่าเพิ่มกับการท่องเที่ยว และการเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ย. 2564 การท่องเที่ยวในถ้ำนาคคา-นาคี กลายเป็นสิ่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด ภายใต้มาตรการควบคุมโควิดที่ต้องเผชิญมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ถ้ำนาคา ตำนานและความเชื่อเรื่อง“พญานาค“
ตำนานของ “ถ้ำนาคา” มีเรื่องเล่าต่อๆ กัน 7 ตำนาน ไม่ว่าจะเป็น ตำนานพญานาคที่ถูกสาปเป็นหิน, “เมืองหลวงของชาวบังบด” หรือเมืองลับแล, ตำนานดินแดนแห่งเมืองพญานาคราช (เมืองบาดาล), ตำนานดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์, ตำนานดินแดนสนามรบกิเลส (พระธุดงค์กรรมฐาน), ตำนานดินแดนอาถรรพณ์ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และ “ดินแดนสมุนไพร” ตำนานรามเกียรติ์ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์
หนึ่งในตำนานที่เกิดความศรัทธาและคนทั่วไปเชื่อมากคือ “พญานาคถูกสาปเป็นหิน” ซึ่งข้องเกี่ยวกับภูลังกาและบึงโขงหลง โดยเรื่องเล่านี้ผูกโยงความรักของธิดาพญานาคราชกับคน แล้วเติมด้วยความผิดหวังและความโกรธแค้นจนพญานาคราชทำลายเมืองรัตพานครที่เจริญรุ่งเรืองจนล่มสลาย พร้อมกับสาปพระอือลือราชา เจ้าเมืองให้กลายร่างเป็นนาคเฝ้าอยู่ในภูลังกา หรือบึงโขงหลงชั่วนิรันดร์ จนกว่าจะมีเมืองเกิดใหม่ในดินแดนแห่งนี้ จึงจะล้างคำสาปของพญานาคราชได้
ดังนั้น ก้อนหินทรายที่ถูกน้ำกัดเซาะเกิดเกล็ดดูคล้ายนาคในถ้ำนาคา ฝั่งบึงกาฬ ตามความเชื่อจากเรื่องเล่าในตำนานแล้วก็คือ พระอือลือราชา ถูกสาปนั่นเอง
ส่วน”ถ้ำนาคี” แม้ไม่ปรากฎเรื่องเล่ามาเติมความเชื่อ แต่ในถ้ำที่เป็นหินทรายแห่งนี้ ยังมีลักษณะคล้ายกับถ้ำนาคา คือ ปรากฎการณ์คล้ายเกล็ดพญานาคหลายจุด อีกทั้งมีหินขนาดใหญ่ คล้ายเศียรพญานาค รวม 9 เศียร ที่มีความสวยงาม ลงตัวตามธรรมชาติ และเศียรที่ 9 ที่พบล่าสุดนั้น ก็มีลักษณะคล้ายเศียรพญานาคมาก เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยวที่มีความศรัทธาใน “พญานาค”
ถ้ำนาคี ห่างจากที่ตั้งอุทยานแห่งชาติภูลังกาประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางแนวผจญภัย ปีนเขา แต่สามารถเดินไปได้ มีจุดชมวิวหลายจุด อาทิ ผานาคี ที่มองเห็นความงดงามของแม่น้ำโขง น้ำตกนาคี ซึ่งซ่อนตัวอยู่กลางธรรมชาติ มีความสวยงามไม่น้อย
เที่ยวถ้ำนาคา–นาคี ทำอย่างไร
การท่องเที่ยวในยุดโควิคระบาดนั้น สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกาทั้งน้ำตกตาดวิมานทิพย์ น้ำตกตาดโพธิ์ น้ำตกตาดขาม และถ้ำนาคา นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมต้องจองคิวผ่านระบบ แอปพลิเคชัน “QueQ” ของกรมอุทยานฯ ก่อนและต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งเป็นวิธีบริหารการท่องเที่ยวแบบ New Normal ได้แก่ การคัดกรองวัดอุณหภูมิ, การเว้นระยะห่างทางสังคม, การรักษาความสะอาดของพื้นที่ โดยทางอุทยานฯ รับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 168 คน/วัน จากในสถานการณ์ปกติ 360 คน/วัน
สำหรับมาตรการควบคุมโควิด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 กำหนดให้บุคคลที่จะมาเที่ยวชมถ้ำนาคา กรณีที่ 1 บุคคลที่มาจากพื้นที่สีแดงเข้มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำเป็นจะต้องมีหลักฐานและปฏิบัติ ดังนี้
- ต้องทำการลงทะเบียนก่อนเข้าจังหวัดบึงกาฬ ที่ลิงก์ของจังหวัด ก่อนเข้ารายงานตัวที่ด่านชุมชนในพื้นที่
- แสดงผลตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR หรือ ATK ภายใน 72 ชั่วโมง
- ใบรับรองการฉีดวัคซีน (Sinovac/Sinopharm/Astrazeneca/Pfizer) ครบ 2 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือ Johnson&Johnson 1 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน
- รายชื่อที่จองผ่านแอปฯ QueQ
หากหลักฐานไม่ครบทั้ง 4 อย่าง ไม่สามารถขึ้นถ้ำนาคาได้
ส่วนกรณีที่ 2 บุคคลที่มาจากพื้นที่สีแดงและสีส้ม จำเป็นจะต้องมีหลักฐานและปฏิบัติ ดังนี้
- ใบรับรองการฉีดวัคซีน (Sinovac/Sinopharm/Astrazeneca/Pfizer) ครบ 2 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือ Johnson&Johnson 1 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน
- รายชื่อที่จองผ่านแอปฯ QueQ
หากหลักฐานไม่ครบทั้ง 2 อย่าง ไม่สามารถขึ้นถ้ำนาคาได้ โดยนำหลักฐานแสดงต่อ “เจ้าหน้าที่อุทยานฯ” ที่ให้บริการนักท่องเที่ยว ณ จุดลงทะเบียน
ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวทุกคนที่จะเข้าพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด การจองคิว จองได้ไม่เกิน 15 วัน ผ่าน “แอปพลิเคชัน QueQ” จะต้องกรอกชื่อ-สกุลจริงให้ตรงกับผู้ที่จะขึ้นไปที่ถ้ำ โดยไม่สามารถมาแทนกันได้
นักท่องเที่ยวจะไปถ้ำนาคา ต้องไปยังจุดหมาย ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ แล้วเตรียมพร้อมที่ “สำนักสงฆ์ฐิติสาราราม” (วัดตาดวิมานทิพย์) เพื่อขึ้นเขา โดยแต่ละกลุ่มมีระยะห่างกันกลุ่มละ 30 นาที ตามมาตรการเว้นระยะห่างการคุ้มเข้มโควิดระบาด
จุดเริ่มเดินทางผ่านน้ำตกตาดวิมานทิพย์ จุดนี้ระหว่างทางจะพบประตูเต่า หินหัวเรือ หัวนาคาหัวที่ 3 และเมื่อขึ้นถึงบนเขาจะมีทางไปพบหัวนาคาหัวที่ 1 ซึ่งเส้นทางเดินนั้น จะเป็นทางเดินป่าขึ้นเขา 2 กิโลเมตร เป็นทางดินสลับกับบันได และมีบางช่วงจะต้องดึงเชือก เส้นทางเดินป่าชัดเจนมีป้ายบอกทาง และมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดต่างๆ เพื่อแนะนำและรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
ช่วงเวลาที่เหมาะกับการเดิขึ้นเขา คือ ตั้งแต่เวลา 7.00-12.00 น. เพื่อจะได้มีเวลาไปเที่ยวชมในจุดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ประตูเต่า (อยู่ระหว่างทางขึ้น), หินหัวเรือ (อยู่ระหว่างทางขึ้น), หัวนาคา หัวที่ 3 (อยู่ระหว่างทางขึ้น), น้ำตกตาดวิมานทิพย์, หัวนาคาหัวที่ 1, ถ้ำหลวงปู่วัง, เจดีย์หลวงปู่วัง, ถ้ำนาคา, เจดีย์หลวงปู่เสาร์ และ ผาใจขาด ระยะเวลาในการเที่ยวชมทุกจุดนั้น ใช้เวลาราว 5 ชม. ซึ่งทางอุทยานฯ กำหนดให้ลงจากเขาถึงพื้นล่าง ก่อนเวลา 17.00 น. โดยไม่มีการอนุญาตให้ทำการค้างคืน หรือกางเต็นท์บริเวณถ้ำนาคาโดยเด็ดขาด
เส้นทางที่จะเดินไปยังถ้ำนาคานั้น มีทั้งทางดินและทางบันได อีกทั้งบางจุดต้องดึงเชือกผ่านจุดลาดชัน ดังนั้น การแต่งกาย ต้องพร้อมสำหรับเดินป่า นอกจากนี้ ควรเตรียมน้ำดื่มใส่กระเป๋า ยาดม หรือของใช้ส่วนตัวให้พร้อม โดยห้ามนำกระดาษทิชชู หลอดดูดน้ำ ถุงพลาสติก กล่องโฟม ดอกไม้ธูปเทียนเครื่องเซ่นไหว้ ขึ้นเขาโดยเด็ดขาด
ผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง โดยเฉพาะความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคไขข้อ ไม่แนะนำให้ขึ้น รวมถึง หญิงตั้งครรภ์ และนักท่องเที่ยวที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม ส่วนเด็กนั้น แนะนำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ไม่ควรขึ้น
ค่าธรรมเนียมในการเที่ยวชมถ้ำนาคาและน้ำตกตาดวิมานทิพย์ ผู้ใหญ่ 30 บาทต่อคน (ค่าธรรมเนียม 20 บาท และค่าประกันชีวิต 10 บาท) ส่วนเด็ก 20 บาทต่อคน (ค่าธรรมเนียม 10 บาท และค่าประกันชีวิต 10 บาท) ค่ามัดจำขยะ 100 บาท/กลุ่ม
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเครื่องบินนั้น สามารถไปลงที่สนามบินนครพนม ซึ่งจะห่างจากถ้ำนาคาประมาณ 140 กิโลเมตร ส่วนสนามบินจังหวัดอุดรธานี จะห่างจากถ้ำนาคาประมาณ 180 กิโลเมตร แต่หากใช้บริการรถโดยสาร แนะนำลงที่ อ.บึงโขงหลง และค้นหาที่พักใน อ.บึงโขงหลง เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากทางขึ้นถ้ำนาคา เพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ