เที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่ แจวเรือชิมส้มโอแดงภูคิ้ง
เที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่
แจวเรือชิมส้มโอแดงภูคิ้ง
บ้านบุ่งสิบสี่ ตำบลโนนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นชุมชนขนาดกลาง กว่า 100 หลังคาเรือน อยู่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และมีลำน้ำพรมไหลตามซอกหลืบภูคิ้งลงลำน้ำเซิน ไปสู่เขื่อนน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
“ภูคิ้ง” มีความสูง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล สูงที่สุดในเทือกเขาภูเขียว มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้า ช่วงกลางคืนอากาศหนาวเย็นทั้งปี ทิศเหนือเป็นลานหินกว้างมีหน้าผาสูงชันเหมาะชมวิวทิวทัศน์ เมื่อส่ายสายตาทอดไกลเห็นเขื่อนห้วยกุ่ม ภูกระดึง ภูผักขะ ภูนกแซว ยามก้มลงล่างได้มองทุ่งนา ไร่สวน อ่างเก็บน้ำ หมู่บ้าน ถนนหนทาง ผสมกลมกลืนลำน้ำพรมใสคดเคี้ยวผ่านชุมชน
บนภูคิ้ง มีน้ำตกห้วยใหญ่ ธารน้ำธรรมชาติยาว 500 เมตรทอดลำน้ำผ่านโขดหิน และยังมี “แหลหินเงิบ” ซึ่งเป็นแท่งหินขนาดมหึมาซ้อนทับกันคล้ายหินเพิงแหงนเป็นสถานที่เที่ยวสำคัญ ส่วนประกอบของภูมิทัศน์เช่นนี้ได้ปั้นแต่งให้บ้านบุ่งสิบสี่ เป็นราว “สวรรค์บนดิน” แม้วิกฤตโรคห่าโควิดระบาดหนักช่วงปี 2563-2564 แต่เอาตัวรอดด้วยพืชผักปลอดสารพิษปลูกแซมสวนส้มโอป่า หาจับปลาลำน้ำมาอยู่กินเพื่อประคองตัวรอผู้คนต่างถิ่นมาเยื่อนได้สัมผัสเสน่ห์ชุมชนเกษตรธรรมชาติ
ภาพจำ“ส้มโอแลกข้าว”
ในอดีต บ้านบุ่งสิบสี่สัมพันธ์กับส้มโอพันธุ์เก่าแก่กว่า 100 ปี “นันทวิทย์ ดวงมณี” ผู้ใหญ่บ้านบุ่งสิบสี่ เล่าว่า ส้มโอที่นี่เป็นผลไม้พื้นบ้านมีทั้งแดงและขาว รวมทั้งมะไฟ ลำไย เกิดก่อนคนและเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ แล้วคนจึงมาตั้งรกราก สร้างบ้านเรือนอาศัยในสวนส้มโอป่า ซึ่งมีมากกว่า 18 สายพันธุ์ โดยเรียกกันรวมๆ ว่า “ส้มโอแดงภูคิ้ง”
แม้ธรรมชาติเป็นราวสวรรค์บนดิน แต่ชีวิตชาวบ้านบุ่งสิบสี่ในภาพจำยังมีห้วงยามชีวิตแร้นแค้นเมื่อครั้งส้มโอป่าภูคิ้งไม่โด่งดัง อีกทั้งการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวชุมชนยังไม่ก่อรูปขึ้น ชาวบ้านหาบส้มโอป่าไปเร่ขายชนิดไม่มีราคาค่างวดอะไร ขายได้แค่ลูกละบาทสองบาท ต้องนำไปแลกข้าวสารกินประทังชีวิต จนมีคำเปรียบเปรยว่า เป็น “ส้มโอแลกข้าว”
เมื่อการท่องเที่ยวเป็นการพัฒนา แปรสภาพหมู่บ้านเกษตรกรรมท้องถิ่นให้กลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม ชาวบ้านบุ่งสิบสี่เริ่มมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากขายส้มโอได้ราคาลูกละกว่า 100 บาท มาช่วย “ยกระดับคุณภาพชีวิต” ของชุมชนให้ดีขึ้น ดังนั้น ส้มโอป่าภูคิ้งจึงเป็นแหล่งชีวิตใหม่ที่ฟื้นคืนความมีอยู่มีกิน ปรุงแต่งชีวิตเป็นสุขแก่ชุมชน หนำซ้ำคำเปรียบเปรย “ส้มโอแลกข้าว” ค่อยๆ รางเลือนแทบลบหายไปจากภาพจำในอดีตสิ้นเชิง
แจวเรือล่องลำน้ำพรม
เอกลักษณ์ประจำถิ่นบ้านบุ่งสิบสี่ คือ ทุกคนเข้าสวนและร่วมมือกันทำวิถีท่องเที่ยว โดยทุกครัวเรือนมีเรือแจวล่องลำน้ำพรมรวมกันกว่า 100 ลำ เอาไว้ใช้ขนส่งผลไม้ พืชผักของตนเอง อีกทั้งใช้บริการนักท่องเที่ยวนั่งแจวเรือล่องตามลำน้ำพรมชมทัศนียภาพที่งดงาม มีฉากทัศน์ขุนเขาเขียวขจีของภูคิ้งตั้งทะมึนอยู่ไม่ไกล
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมี“รถอีแต๊ก” ไว้บริการพาชมบรรยากาศและวิถีชุมชนภายในหมู่บ้าน ดังนั้น ทุกบ้านจึงใช้วัตถุอุปกรณ์การเกษตร ทำไร่ ไถนา มาดัดแปลงไว้ใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ไม่ต้องลงทุนสร้างใหม่ แล้วยังขายผลผลิตการเกษตรด้วยมือของพวกเขาเอง โดยไม่จ้างแรงงานจากภายนอก
นอกจากนี้นักท่องเที่ยว ยังได้ลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นประเภทปลาลำน้ำพรม เมนูแกงตาว (คล้ายยอดมะพร้าวมีลำต้นคล้ายต้นมะพร้าว แต่ต้นเล็กและมีแฉก) เมนูไก่บ้านเนื้อแน่นที่เลี้ยงไว้แทบทุกครัวเรือนนำมาแกงไก่สมุนไพร ใส่เครื่องเทศ พร้อมพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษให้เด็ดกินและปรุงประกอบอาหาร ส่วนของหวานแบบบ้านๆ เป็นเมนูขนมข้าวต้มแป้ง (นำแป้งข้าวเหนียวไปต้มคล้ายข้าวต้มมัด) ขนมกล้วย แล้วตบท้ายน้ำส้มโอแดงปั่นรสหวานนำเปรี้ยว
ด้วยวิถีการกินอยู่เช่นนี้ ชาวบ้านบุ่งสิบสี่แทบไม่ต้องซื้อหาอาหารการกินนอกพื้นที่ นับเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ผู้คนต่างถิ่น โดยเฉพาะคนเมืองและชาวต่างชาติอยากสัมผัส ต้องการได้ย้อนไปซึมซับอดีตที่โหยหาชีวิตแบบไทยๆ
ชิมส้มโอแดงภูคิ้ง
ส้มโอภูคิ้งจะสุกและเก็บผลผลิตได้ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี ดังนั้น จึงเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวควรได้ไปสัมผัส แล้วลงมือสอยผลส้มโอลูกกลมๆ ห้อยอยู่บนต้นกันเอง ถ้าชอบลูกไหนก็ชี้เอา แล้วเจ้าของสวนจะสอนวิธีสอยและเทคนิครับผลส้มโอให้ด้วย อีกอย่างเมื่ออยู่ในสวน ยังได้ชิมเนื้อส้มโอสีแดงได้เต็มอิ่มอย่างไม่อั้น ซึ่งเจ้าของสวนแกะวางเรียงไว้ให้บริการ
ในยุคส่งเสริมการท่องเที่ยว ชาวบ้านค้นพบว่า ส้มโอแดงภูคิ้งผลไม้พื้นบ้าน เกิดและเติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งไม่เหมือนที่อื่น และมีอยู่ชุมชนเดียว จึงเป็นแกนสร้างชื่อเพื่อชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาชิมรสหวานนำเปรี้ยว เมื่อทำเป็นน้ำส้มโอปั่นยิ่งหวานชื่นใจ ไม่ติดรสขมเหมือนส้มโอพันธุ์อื่น ๆ จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้หมู่บ้าน
กิจกรรมท่องเที่ยวถูกจัดวางไว้แบบง่ายๆ ไม่เวอร์ชนิดเอาแต่เรียกร้องความสนใจ โดยเมื่อนักท่องเที่ยวมาสัมผัสบ้านบุ่งสิบสี่ เจ้าของสวนจะพาชมสวนส้มโอ แล้วสัมผัสมิตรไมตรี รอยยิ้ม และความเป็นอยู่พอเพียงของชาวบ้าน
ปัจจุบัน เมื่อเป็นชุมชนท่องเที่ยว ภาพจำในอดีตของบ้านบุ่งสิบสี่เปลี่ยนไป ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ชีวิตชาวบ้าน “อยู่ดีกินแซ่บ” แทบไม่เดือดร้อนถึงขั้นแร้นแค้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้น มาจากเสน่ห์ส้มโอโบราณพันธุ์พื้นบ้านกว่า 100 ปีเป็นจุดขายและสร้างชื่อเสียงให้โด่งดังกระฉ่อน จนดึงผู้คนเข้าไปชมเกษตรกรรมสวนส้ม ได้แจวเรือตามธารน้ำพรมใสไหลผ่าน แล้วลุยเท้าเดินป่า ขึ้นภูคิ้ง ฝ่าทุ่งหญ้า จึงเป็นการท่องเที่ยวชุมชนแบบธรรมชาติบริสุทธิ์ครบเครื่อง จนน่าไปสัมผัส
ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods
https://www.instagram.com/sammachiv/