เดิมพันความเสี่ยง เปิดประเทศฝ่าวิกฤตโควิด
เดิมพันความเสี่ยง
เปิดประเทศฝ่าวิกฤตโควิด
เมื่อย่ำค่ำวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงว่า ตั้งเป้าเปิดประเทศใน 120 วันเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่พังพาบมาตั้งแต่เกิดโควิดระบาดมาตั้งแต่ปี 2563 แต่ยังหวั่นความเสี่ยงโควิดจะมีมากขึ้น ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของประชาชนจึงถึงเวลายอมรับความเสี่ยงร่วมกัน
ปัญหาคือ “ความเสี่ยงร่วมกัน” มีขอบเขตกว้างขวางแค่ไหน เพราะตลอดช่วงโควิดระบาดเกือบ 2 ปีนั้น ใครทำให้เกิดความเสี่ยง ใครไม่ได้รับความเสี่ยงอดอยาก และใครเผชิญกับความเสี่ยงติดเชื้อ แล้วมาตรการรัฐได้ป้องกันความเสี่ยงไว้กี่มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งมาตรการตามที่พูดจะพิสูจน์ด้วยการกระทำได้หรือไม่
“นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสเรียบร้อยแล้ว ควรเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องมีเงื่อนไขข้อห้ามที่สร้างความยากลำบาก…หากความเสี่ยงนั้น เราได้ประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่า อยู่ในระดับที่พอจะรับได้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญภายใน สำหรับประเทศไทยของเรา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ครับ” พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศมาตรการเปิดประเทศเบื้องต้น
ยก“เปิดเมือง”สู่เปิดประเทศ
คำประกาศเมื่อ 16 มิ.ย. ของ พล.อ.ประยุทธ์ มีขึ้นท่ามกลางความเละเทะ ทะเลาะโต้แย้ง โยนความรับผิดชอบออกจากตัวเองของ 2 หน่วยงานคือ กทม. กับกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแอสตร้าเซเนกาไม่มาตามนัด จนเกิดการชะลอหน่วงรั้งความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนอย่างไม่ควรเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งเป้าเปิดประเทศใน 120 วัน ล้วนเชื่อมโยงกับโครงการเปิดเมืองภูเก็ตนำร่องตามโมเดล “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”จะเริ่มขึ้นใน ก.ค.-ก.ย. และถ้าสำเร็จอีก 9 จังหวัดท่องเที่ยวจะเปิดเมืองตามมาใน ต.ค.-ธ.ค.
สัญญาณ “120 วันเปิดประเทศ” ถอดรหัสได้อย่างน้อย 3 ประการ คือ หนึ่ง ต้นแบบเปิดเมืองภูเก็ตนำร่องการท่องเที่ยวจะสำเร็จหรือไม่อย่างไรก็ตาม แต่เวลา 90 วันที่ใช้ศึกษากับภูเก็ตจึงเป็นช่วงเวลาผสมส่วนต่อการเปิดประเทศใน 120 วันแน่นอนด้วย ดังนั้นการเปิดประเทศจึงคาดเริ่มใน พ.ย.นี้ ส่วนรหัสที่สอง ลดทอนมาตรการฉีดวัคซีนครบสองเข็มในจำนวน 100 ล้านโดสในสิ้นปี 2564 มาเหลือฉีดแค่เข็มแรกครบ 50 ล้านโดสในสิ้น ต.ค. และสามเลิกแนวทาง 10 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวไทยมาเป็นเปิดทุกพื้นที่ทั่วไทย
แต่หลักการเปิดเมืองภูเก็ตอยู่ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจำนวน 70% ของประชาชกร 547,584 คน หรือเท่ากับ 383,308 คน จึงมีภูมิคุ้มกันลดทอนความเสี่ยงการระบาดโควิดสู่ประชาชนได้ แต่เมื่อ 17 มิ.ย. ภูเก็ตฉีดเข็มแรกแล้ว 343,895 โดส ส่วนเข็มสอง 174,769 โดส จึงต้องเร่งฉีดอีก 208,539 โดสในเวลาที่เหลือ 13 วัน หรือฉีดวันละ 16,041 โดสจึงได้เป้าหมายเปิดเมืองนำร่อง
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เร่งเดินไปข้างหน้า โดยไม่รอผลการศึกษานำร่องเปิดเมืองภูเก็ตก่อน ซึ่งทดลอง แต่กลับสรุปเองอย่างทันทีจะเปิดประเทศใน 120 วัน นับแต่วันที่ 16 มิ.ย. แต่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ มาแก้ต่างแทนเป็นเริ่ม 1 ก.ค. ซึ่งเป็นวันเปิดเมืองภูเก็ตนำร่องอีกตามเดิม
ทั้งหมดทั้งปวงนั้น การเปิดประเทศเท่ากับตีปิ๊บและตีกินครั้งสำคัญ ไม่ใช่การส่งสัญญาณ แต่เป็นการรับประกันโครงการ“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”ว่าเรียบร้อย เกิดความสำเร็จ แล้วต้องเปิดต่อในอีก 9 จังหวัดท่องเที่ยวนำร่องตามเป้าหมายใน ต.ค.- ธ.ค. พร้อมๆกับขยับเปิดประเทศทั่วพื้นที่นั่นเอง
ผนึกความกล้าเผชิญหน้าปัจจัยเสี่ยง
ทำไมพล.อ.ประยุทธ์ จึงเร่งรีบประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน พร้อมส่งรหัสเผชิญกับ “ความเสี่ยงร่วมกัน” แล้วอะไรคือความเสี่ยงที่ต้องผจญ
สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ความเสี่ยงแรกคือ การระบาดโควิด ที่รัฐบาลและ ศบค.ยังไม่มีมาตรการควบคุมให้เกิดความมั่นใจได้ ขณะที่การตรวจเชิงรุกยิ่งเพิ่ม “คลัสเตอร์”แพร่เชื้อโควิดผุดลุกลามทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดขึ้นแทบทุกวัน ส่วนยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังคงรักษาระดับ 2-3 พันคน แล้วเสียชีวิต 20-30 คนต่อวัน โดย ศบค.รายงานเมื่อ 19 มิ.ย.มีผู้ติดเชื้อใหม่ 3,667 ราย เสียชีวิต 32 ราย
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเปิดประเทศ 120 วัน เริ่ม ต.ค.นี้ เท่ากับส่งสัญญาณบอกกันกลายๆว่า มาตรการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ครบ 50 ล้านโดสต้องครบถ้วนในสิ้น ต.ค.ด้วยเช่นกัน จึงจะเปิดประเทศได้
มาพิจารณาตัวเลขการฉีดวัคซีน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ข้อมูลการฉีดวัคซีนล่าสุดของประเทศไทย ณ วันที่ 18 มิ.ย. 2564 (เผยแพร่เมื่อ 19 มิ.ย.) จัดสรรวัคซีนแล้วทั้งหมด 8,500,000 โดส จำนวนการฉีดวัคซีนสะสม 7,219,668 คน ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น เข็มแรก 5,252,531 โดส (7.9% ของประชากร) เข็มสอง 1,967,137 โดส (3.0% ของประชากร) ดังนั้นการตั้งเป้าฉีดเข็มที่หนึ่ง 50 ล้านโดสในสิ้น ต.ค.นั้น ยังห่างไกลถึง 45 ล้านโดส หากจะดันไปให้ถึงแล้วต้องเร่งฉีดถึงวันละ 335,820 โดส หรือเดือนละกว่า 11 ล้านโดส แต่สิ่งสำคัญมีวัคซีนกระจายฉีดได้ทั่วประเทศเพียงพอหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อมั่นว่า นับแต่ ก.ค.เป็นต้นไป จะฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส โดยตัวเลขเช่นนี้ ยังเป็นความหวังเดิมๆจากการคาดการณ์ได้รับแอสตร้าฯนับแต่ ก.ค.-ธ.ค. เดือนละ 10 ล้านโดส ทั้งๆที่แอสตร้าฯส่งมอบใน มิ.ย. 6 ล้านโดสยังสร้างปัญหาไม่หยุดหย่อน ทำให้หลายโรงพยาบาลทยอยเลื่อนฉีดวัคซีนกันจ้าละหวันมาแล้ว ดังนั้น เป้าหมาย 50 ล้านโดสในสิ้น ต.ค.จึงได้แต่ลุ้น เพราะสิ่งที่พูดยังไม่เป็นจริงในสิ่งที่กระทำแล้วและจะกระทำต่อไปใน 120 วัน
อีกอย่าง ปัจจัยความเสี่ยงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อ้างในการแถลงคือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่องเที่ยว โดยร่วม 2 ปีที่เกิดโควิดมา รายได้จากท่องเที่ยวทั่งประเทศในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ที่ไม่เกิดโควิดระบาด สูญหายไปอย่างน่าตกใจ กองเศรษฐกิจท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวบรวมข้อมูลว่า ในปี 2563 ไทยมีรายได้ท่องเที่ยว 792,534 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีถึง 2,727,905 ล้านบาท เท่ากับสูญหายไป 1,935,371 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70.95%
รวมทั้ง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ประเมินภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะไม่กลับสู่สภาวะปกติได้จนกว่าจะถึงปี 2569 หรือใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปี พร้อมวิตกกังวลว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ การฟื้นตัวที่ล่าช้าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะส่งผลกระทบถึงแรงงานมากกว่า 7 ล้านคน ทำให้บางส่วนจะต้องหลุดออกจากตำแหน่งงานและหางานใหม่ในสายอาชีพอื่นๆ นอกภาคการท่องเที่ยว
แน่ละ ยังมีปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้แถลง เมื่อประเมินศักยภาพการบริหารประเทศของรัฐบาลอยู่ในอาการหลังพิงฝากับภาวะกู้หนี้ยืมสินมากมาย แล้วยังกู้มาเยียวยาโควิดถึง 2 ครั้งใน 2 ปีซ้อนรวม 1.5 ล้านล้านบาท และจวนเจียนทะลุเพดานการก่อหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ 60% ของจีดีพี
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 หรือ ณ สิ้น ก.ย.2564 จะอยู่ที่ราว 58.7-59.6% ต่อจีดีพี แม้ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะยังไม่ถึง 60% แต่การกู้เงินเพิ่มเติมเป็นการเร่งระดับหนี้สาธารณะให้เข้าใกล้เพดานหนี้ที่ 60% ต่อจีดีพี เร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมขยายเพดานหนี้สาธารณะในระยะเวลาอันใกล้
กล่าวโดยรวมแล้ว นับแต่ ต.ค. 2564 เป็นต้นไป หากไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวมาชดเชยแล้ว การก่อหนี้จะเป็นปัญหาครั้งใหญ่ นั่นคือความเสี่ยงต่อวิกฤตการเป็นหนี้ทะลุเพดานสาธารณะ และเป็นอีกอาการต้องรีบแถลงเปิดประเทศใน 120 วันของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเริ่ม ต.ค. ซึ่งเป็นเดือนเริ่มงบประมาณปี 2565 พร้อมๆกับเป็นเดือนขยับเปิดเมืองท่องเที่ยวอีก 9 จังหวัดนำร่องให้กลายสภาพเป็น “เปิดประเทศ”ทุกพื้นที่ ไม่มีกักตัว ปล่อยนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปได้ทุกพื้นที่ไทย เพื่อเร่งนำรายได้เข้าประเทศ หรืออย่างน้อยชะลอการกู้หนี้ยืมสินอีก
ธุรกิจเชียร์-“ไม่เปิดท่องเที่ยวพัง”
ความกล้าของ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเปิดประเทศ ดูเหมือนภาคธุรกิจขานรับด้วยความยินดีเล็กๆ เพราะส่วนใหญ่เชื่อเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่อีกส่วนหนึ่งปลุกปลอบให้กำลังใจ ขอให้ทำสำเร็จสามารถฝ่าฟันอุปสรรคความเสี่ยงได้อย่างราบรื่น แม้เป็นเพียงจิตวิทยาเชิงบวกก็ตาม
นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า หากสามารถเปิดประเทศภายใน 120 วันเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนหลังจากมีการเลื่อนฉีดวัคซีนทำให้ประชาชนรู้สึกหวั่นไหวกันพอสมควร จากการคำนวณตัวเลขที่นายกฯ ระบุ ถ้าผู้ผลิตวัคซันไม่เลื่อนส่งมอบประเทศไทยก็จะได้รับวัคซีนเพิ่ม 50 ล้านโดส ฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่ฉีดได้ครบ
“แต่ว่า 50 ล้านโดสก็ยังไม่อาจปลอดภัยพอที่ต่างชาติจะวางใจเดินทางเข้ามาเพราะฉีดได้คนละ 1 โดส ดังนั้นจึงเสนอให้เลือกฉีดเป็นโซนไม่ใช่กระจายทั่วไปหมด เพราะจำนวนวัคซีนมีจำนวนจำกัด จึงต้องทำงานแบบโฟกัสฉีดเป็นโซนๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยเป็นโซนไปในระดับที่ต่างชาติในทำเลที่เขาจะเดินทางมาพักผ่อน ท่องเที่ยวหรือติดต่อทำธุรกิจก่อน พร้อมๆ กับการเปิดประเทศ”
ส่วนนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว เชื่อว่า ชายชาติทหาร น่าจะทำได้ ไม่งั้นไม่ประกาศเช่นนั้น แต่เสนอแนะให้ความสำคัญกับโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และวิเคราะห์ผลการกระทบจากการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเปิดประเทศ
ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ เคซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ชี้การประกาศเรื่องนี้จะเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อหุ้นที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและการเปิดเมือง แต่นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ และเสียชีวิตก็มีโอกาสจะสูงขึ้น ดังนั้นแผนการบริหารจัดการและฉีดวัคซีนให้คนในประเทศจะต้องทำได้อย่างมีประสิทธิผล
ขณะที่ นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย บอกกับบีบีซีไทยเมื่อ 22 มี.ค.ที่ผานมา โดยเชื่อว่า เราจะสามารถฉีดวัคซีนให้คนไทยได้เร็วที่สุดได้เมื่อไหร่ในวงกว้าง เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ และวิธีเดียวที่จะฟื้นท่องเที่ยวได้ คือต้องเอานักท่องเที่ยวกลับมาให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องกักตัว
อีกทั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เชียร์เต็มที่ โดยหวังว่า เดิมพันเปิดประเทศภายใน 120 วัน จะเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจ เป็นการเดินหน้าระหว่างระบบสาธารณสุขไทยกับทิศทางเศรษฐกิจที่เดินหน้าไปพร้อมกันเป็นครั้งแรกและมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น
เดิมพันฝ่าวิกฤตโควิด
แม้มีเสียงขานรับกับการเปิดประเทศ แต่ท่ามกลางวิกฤตโควิดระบาดต่อเนื่องคงที่ในระดับมีผู้ติดเชื้อใหม่ 2-3 พันรายต่อวัน และมีเสียชีวิต 20-30 คนต่อวัน อาจเป็นตัวเลขบ่งบอกยังไม่มีความรุนมากนักหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศมีเพียงเป้าหมายปลุกนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย แต่ปัจจัยเช่นนี้ยังสัมพันธ์กับการหวั่นวิตกในการติดเชื้อโควิดด้วยเช่นกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อยับยั้งการระบาดแพร่เชื้อโควิดจึงเป็นมาตรการสำคัญในการปกป้องชีวิตคนไทยและคนต่างชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่องเที่ยวกลับมีพุ่งกระฉูดเหมือนปี 2562 ที่ไม่มีปัญหาโควิด
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไม่คล้อยตามกับเผชิญหน้าความเสี่ยงร่วมกัน โดยเฉพาะการกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียเป็น “เดลตา”ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้เฝ้าระวัง
“ถ้าไทยคิดจะเปิดประเทศในอีก 120 วัน ต้องให้ประชากรอย่างน้อย 50-60 ล้านคนฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ละเข็มต้องห่างกันแค่ 2 เดือน ไม่ใช่ 4 เดือน…มันต้องทำตรงนี้ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาประเมินสถานการณ์” นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำ
ยังไร้เสียงจาก ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะกำหนดมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยงต่างชาติ พร้อมกับมีแนวทางควบคุมการระบาดของโควิด และรักษาชีวิตประชาชนอย่างไร อีกทั้งมาตรการโหมประชาสัมพันธ์ เร่งตีเกราะบอกต่างชาติให้เตรียมพร้อมเดินทางมาไทยแล้วปลอดภัยโควิดอย่างไร
สิ่งสำคัญต้องเน้นคือ การควบคุมพื้นที่เป็นมาตรการจำกัดโควิดแพร่ระบาด การฉีดวัคซีนคือการรักษาชีวิตประชาชน ส่วนเปิดประเทศเพื่อเติมรายได้แก้ปัญหาปากท้องและฟื้นเศรษฐกิจ มาตรการทั้ง 3 ส่วนนี้ควรมาดำเนินการควบคู่กันจึงจะทำให้การเปิดประเทศได้ผล และต่างชาติมั่นใจเข้ามาท่องเที่ยว
ดังนั้น เดิมพันเปิดประเทศ จึงเป็นเดิมพัน 120 วันฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และยังเป็นเดิมพันการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการของ 70%ประชาชนทั้งประเทศ คือประมาณ 50 ล้านคน ถึงที่สุดจึงเป็นเดิมพันการรักษาชีวิตประชาชนจากโควิดระบาด เพื่อรอต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและกอบรับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัวในอนาคต
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv