เชื่อมั่น-อุ่นใจไปฉีดวัคซีนแห่งชาติ
เชื่อมั่น-อุ่นใจ ไปฉีดวัคซีนแห่งชาติ
ท่ามกลางสถานการณ์ฉีดวัคซีนวาระแห่งชาติจะเริ่มในวันที่ 7 มิ.ย. นี้ มีปัจจัยแทรกขึ้นอย่างน่าสนใจอย่างน้อย 3 กรณี คือ หนึ่งสวนดุสิตโพลเผยแพร่ผลสำรวจสภาพจิตใจของคนไทย โดยระบุว่าเกิดความเครียดวิตกกังวลกับการฉีดวัคซีนมากถึง 51%
ปัจจัยที่สอง ประทุขึ้นในทางการเมืองและภาคสังคมหนักหน่วงเกี่ยวกับความไม่มั่นใจต่อรัฐบาลจะจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่จองคิวไว้ โดยเฉพาะพุ่งเป้าไปที่วัคซีนแอสตร้าเซเนกาจำนวน 6 ล้านโดสจะมาทันตามสัญญาที่รัฐบาลสั่งซื้อหรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น ความไม่เชื่อมั่นนี้ ลากทะลวงไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาลด้วย เมื่อกระทรวงสาธารณสุขงัดใช้แผนสองสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค 3 ล้านโดสมาสำรองฉีดแก้ขัดความต้องการของประชาชนในช่วง มิ.ย. พร้อมซื้อด่วนวัคซีนแอสตร้าเซเนกาจากเกาหลีใต้จำนวน 5 แสนโดสมาเป็นตัวเลือก ดังนั้น เมื่อรวมวัคซีนในสถานการณ์วาระแห่งชาติภายใน มิ.ย.แล้วจะมีรวมกันประมาณ 3.5 ล้านโดส ซึ่งอาจพอ”ทู่ซี้” ฉีดรอจนกว่าแอสตร้าเซเนกาล็อตใหญ่จะทยอยส่งให้ตามสัญญาซื้อ 61 ล้านโดสได้อยู่บ้าง
ส่วนปัจจัยที่สาม เกิดข่าวหญิงสาววัย 32 ปีจากหาดใญ่ สงขลา เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 สัปดาห์ โดยมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง แล้วเสียชีวิตลงในเช้าวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แพทย์ประเมินอาการมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด พร้อมกับโยงไปถึงการใช้ยาคุมกำเนิดก่อนไปฉีดวัคซิโนแวค การเสียชีวิตนี้เป็นรายที่ 10 ทำให้ความวิตกกังวลของประชาชนหวาดหวั่นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนอยู่ไม่น้อย แต่การฉีดวัคซีนวาระแห่งชาติยังดำเนินต่อเพราะเป็นทางรอดให้ชีวิตปกติได้กลับคืนมา แม้จะหวั่นวิตกกับผลข้างเคียงและเลยเถิดถึงขั้นเสียชีวิตก็ตาม
ถึงที่สุดแล้ว การเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน ไม่ได้มีแค่รายล่าสุดจากหญิงวัย 32 ปีที่หาดใหญ่ สงขลาเท่านั้น ก่อนหน้านี้ ยังมีอีก 9 รายเคยปรากฎเป็นข่าวมาแล้ว โดยเริ่มต้นจากชายอายุ 41 ปีในจังหวัดสมุทรปราการเสียชีวิต หลังฉีดวัคซีน 10 วันเมื่อ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการสันนิษฐานว่าเกิดจากโรคประจำตัว เส้นเลือดในช่องท้องอุดตัน
ถัดมา 1 เม.ย. พระในกรุงเทพวัย 71 ปีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตำรวจ 1 วันหลังฉีดวัคซีน แพทย์สันนิษฐานตามเคยว่า เกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเกิดภาวะหัวใจโต ส่วนรายที่สามเกิดขึ้นเมื่อ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นหญิงวัย 57 ปี มีอาชีพพยาบาลในจังหวัดตาก เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 1 สัปดาห์ ด้วยเหตุเส้นเลือดหัวใจตีบ กล้้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ในรายที่ 4 เสียชีวิตเมื่อ 23 เม.ย. เป็นหญิงวัย 24 ปีชาวอ่างทอง มีการระบุว่า อาจเกิดจากอาหารเสริม ซึ่งเป็นอาการร่วมโดยบังเอิญ
รายที่ 5 เมื่อ 3 พ.ค. เป็นชายอายุ 51 ปี ชาวปทุมธานีอาชีพขับรถเอกซเรย์ หลังฉีดวัคซีน 3 วันเสียชีวิต สันนิษฐานอาจเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และรายที่ 6 เมื่อ 7 พ.ค. เป็นชายวัย 39 ปีชาวกรุงเทพ อาชีพตำรวจ ระบุสาเหตุทำงานหนักและเครียด ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ประกอบกับรายที่ 7 ชายอายุ 51 ปีคนนครราชสีมา เป็นตำรวจ ไม่ระบุการเสียชีวิตหลังการฉีดกี่วัน แต่อ้างสาเหตุจากภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
มาถึงรายที่ 8 เมื่อ 18 พ.ค. ชายวัย 46 ปีจังหวัดแพร่ เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 28 ชั่วโมง มีภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดอุดตัน และรายที่ 9 เป็นชายวัย 43 ปี ชาวพังงาอาชีพ รปภ. เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 2 วันสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันรุนแรง
อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนทั้ง 10 รายนั้น เกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.ซึ่งเร่งฉีดวัคซีนทดสอบระบบวาระแห่งชาติครั้งใหญ่ โดยมีมากที่สุดถึง 6 ราย ส่วนใหญ่มีอายุวัยกลางคนตั้งแต่ 40 ปีถึง 50 ปี วัยหนุ่มสาวอายุ 24-32 ปี และสูงวัยอายุ 71 ปี 1 ราย แม้สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสาเหตุหลอดเลือดอุดตัน แต่ทุกรายแพทย์สันนิษฐานอาจไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น ดังนั้น คำถามจึงมีว่า ภาวะเช่นไร และผลข้างเคียงแบบไหนจึจะเป็นการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน และสิ่งสำคัญการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันนั้น ล้วนสัมพันธุ์กับภาวะหลอดเลือด แล้วการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนที่มีเหตุจากเลือดในกรณีศึกษาทั้ง 10 รายดังกล่าว เกิดจากสาเหตุในเส้นเลือดทั้งนั้น ด้วยความคลุมเครือเช่นนี้จึงทำให้อาการหวั่นวิตกกังวล เครียด จนประชาชนขาดความเชื่อมั่นกับการฉีดวัคซีน
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนวาระแห่งชาตินี้ จะเริ่มฉีดให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ทั้งคนสูงวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเสี่ยง และกระจายวัคซีนไปในพื้นที่เสี่ยงโควิดระบาดรุนแรง หลังจากบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าได้รับไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.
สำหรับความเครียดวิตกกังวลกับผลข้างเคียง พร้อมถมทับด้วยการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนที่มีต่อเนื่องและถี่ขึ้นใน พ.ค.นั้น แพทย์แนะนำให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก งดยาประจำตัว กาแฟ สิ่งเหล่านี้ช่วยผ่อนคลายอาการแพ้ ผลข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์ได้อย่างสำคัญ
นอกจากนี้ คงมีแรงจูงใจเล็กๆให้ไปฉีดวัคซีน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับคนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ในอัตราไม่เกิน 240,000 บาท
ส่วนบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการได้รับวัคซีน โดยมีความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจรักษาประกอบด้วย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เงินช่วยเหลือที่คุ้มครองความเสียหายนี้ สปสช. จะวางขั้นตอนเพื่อให้สามารถจ่ายได้ภายใน 5 วัน หลังจากคณะกรรมการได้รับเรื่อง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่เป็นความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมคนไทยทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคมหรือสวัสดิการข้าราชการ โดยเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือนั้น วัคซีนที่ฉีดต้องเป็นไปตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี ครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยจากการรับวัคซีนที่ฉีดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจากรัฐ และไม่รวมวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย รวมทั้ง ตามประกาศของ สปสช. เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่โรงพยาบาลที่ไปรับการฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือ สำนักงาน สปสช. ประจำเขต
โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการเขต เมื่ออนุกรรมการระดับเขตได้รับเรื่องก็จะรีบพิจารณา เพื่อดำเนินการจ่ายค่าชดเชยภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่อนุกรรมการฯ ได้รับเรื่อง
อีกทั้ง ในส่วนของเอกชนยังการเสนอขาย “ประกันภัย” ที่ครอบคลุมความเสี่ยงในการแพ้วัคซีนโควิด หรือบางเจ้าใช้วิธีเพิ่มความคุ้มครองเข้าไปใน “ประกันโควิด-19” ที่ลูกค้าถืออยู่เดิม เพื่อเป็นหลักประกันให้อุ่นใจว่า จะมีผู้ดูแลเมื่อเหตุไม่คาดฝันมาถึง โดยส่วนใหญ่ให้ความคุ้มครองวงเงินค่ารักษากรณีแพ้วัคซีนที่ 50,000 บาทและครอบคลุมการรักษากรณีแพ้วัคซีนสูงสุด 1,000,000 บาท ทั้งนี้ แผนประกันส่วนใหญ่จะมีระยะเวลารอคอย 14 วัน นับจากวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรก
ถึงที่สุด การสำรวจความเสี่ยงจากผลข้างเคียงและเหตุร้ายแรงอันไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนนั้น มุ่งหวังให้ผู้รับการฉีดได้ตระหนักเบื้องต้นและคำนึงถึงความสำคัญในการดูแล ปฎิบัติตัวเตรียมพร้อมต่อการรับวัคซีนวาระแห่งชาติเข็มแรกที่เริ่มใน 7 มิ.ย.นี้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเป้าหมายฉีดวันละ 5 แสนโดสเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไว้ต่อสู้ต้านทานโควิดแพร่ระบาด ส่วนเหตุไม่พึงประสงค์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นเล็กน้อยมาก ผู้รับการฉีดวัคซีนจึงต้องรับรู้สิทธิประโยชน์จำด้รับด้วยเช่นกัน
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv