skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เข้าโหมดโควิด “โรคประจำถิ่น”  ดึง นทท.จ้องโกยเงินล้านล้านบาท

เข้าโหมดโควิด “โรคประจำถิ่น” ดึง นทท.จ้องโกยเงินล้านล้านบาท

เข้าโหมดโควิด “โรคประจำถิ่น”

ดึง นทท.จ้องโกยเงินล้านล้านบาท

 

นับแต่ 1 ก.ค. 2565 เรื่อยไป ไทยได้มาถึงหมุดหมายคำประกาศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ “โควิดเป็นโรคประถิ่น” ซึ่งคำอธิบายอย่างง่ายกระชับคือ เชื้อโควิดยังระบาดอยู่ แต่คนไทยฉีดวัคซีนครบโดส 2 เข็มมากขึ้นจึงมีภูมิคุ้มกันและปรับตัวอยู่ร่วมกับเชื้อโรคได้อย่างระมัดระวังในพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง

 

ส่วนเกณฑ์พิจารณาโควิดเป็นโรคประจำถิ่นฉบับทางการ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ระบุเงื่อนไขว่า ต้องมีผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน มีอัตราป่วยตายน้อยกว่าร้อยละ 0.1 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าร้อยละ 10 และกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดสมากกว่าร้อยละ 80

 

ส่วนเกณฑ์ทางการที่ซ่อนไว้ในวันเริ่มโรคประจำถิ่นคือยกเลิกการรักษาแบบ Home Isolation , Hospitel และกรณีสิทธิ์ UCEP Plus ซึ่งเดิมให้ผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลืองและสีแดงเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาสถานพยาบาลรัฐและเอกชนใดก็ได้ ก็จะปรับให้ผู้ป่วยอาการสีเหลืองกลับมารักษาฟรีตามสิทธิ์ แต่การรักษาแบบ “เจอ แจก จบ” ยังเหมือนเดิม สรุป ติดโควิดรักษาตามสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ดูแลตัวกันเอาเอง

 

หากพิจารณาข้อมูลการระบาดโควิดเมื่อ 30 มิ.ย.นี้ ยิ่งยืนยันการระบาดลดลงได้เป็นรูปธรรม เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียง 2,695 ราย (ต่างประเทศติดเชื้อเข้าไทย 5 ราย) ในจำนวนนี้มีแค่กรุงเทพเท่านั้นติดเชื้อใหม่ระดับพันรายคือ จำนวน 1,587 ราย และอีก 2 จังหวัดติดระดับร้อยรายคือ สมุทรปราการ 115 ราย กับชลบุรี 133 ราย แต่จังหวัดที่เหลือติดเชื้อใหม่ระดับตัวเลขหลักสิบรายเท่านั้น ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตมี 14 ศพ คิดเป็นร้อยละ 0.5 ยอดการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 โดสมีครอบคลุมกว่าร้อยละ 76 โดยเกณฑ์เหล่านี้ บ่งบอกว่า ไทยเข้าข่ายและเริ่มเห็นแววผ่านไปสู่โรคประจำถิ่นได้สบายๆ

 

 

อีกทั้ง ยังสะท้อนถึงแนวโน้มมีเกณฑ์ดี กระทั่งดีเกินคาดอีกเมื่อ เมื่อ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศบค.ประกาศให้ทุกจังหวัดเป็นพื้นที่ “สีเขียว” ซึ่งคือสัญญาณให้ถอดหน้ากากอนามัยในสถานที่โล่งได้ ผับบาร์ แหล่งเที่ยวยามราตรีเปิดตามปกติ อีกทั้งไม่ต้องคัดกรองอุณหภูมิในอาคาร ด้วยสถานการณ์เยี่ยงนี้ ส่อมีความเชื่อมั่นว่า ประชาชนคลายกังวล เพราะการระบาดของโรคแผ่วเบาลง จนค่อนข้างมั่นใจจะใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

มั่นใจ Move on จากโควิด

ก่อนจะถึง 1 ก.ค. รองนายกรัฐมนตรี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.สธ.และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศอย่างมั่นใจว่า การระบาดของโควิดครั้งใหญ่ผ่านพ้นไปแล้ว และปลุกให้เจ้าหน้าที่ สธ.ทั่วประเทศร่วมมือเตรียมความพร้อมทางสาธารณสุข ในการดูแลรักษาพยาบาล เตียงดูแลรักษา การจัดหาเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ และวัคซีนให้เพียงพอเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมเมื่อได้เข้าสู่สถานการณ์โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

 

อีกทั้งขอให้ทุกจังหวัดเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อม และเชิญชวนให้ประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเกณฑ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยในช่วงหลังการระบาดของโรคโควิดครั้งใหญ่

 

 

“อนุทิน ชาญวีรกูล” มีความเห็นว่า “โรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงลดลง แต่เป็นโรคที่จะต้องอยู่กับเรา และเราต้องอยู่กับมัน แต่การเป็นโรคประจำถิ่นจะทำให้เรามีความคุ้นชินและเข้าใจในการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย เลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อ”

 

สำหรับการถอดหน้ากากอนามัย “อนุทิน ชาญวีรกูล” ย้ำว่า ให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงและเลือกสวม-ถอดหน้ากากกันเองด้วยความเข้าใจในสถานการณ์ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา 2 ปี จะใส่ก็ใส่ จะถอดก็ถอด “แต่หากไม่ลำบากจนเกินไป การสวมหน้ากากตลอดเวลา สธ.ก็ยังแนะนำอยู่ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ความเสี่ยงน้อยที่สุด”

 

เสียงเตือนโอมิครอนพันธุ์ใหม่

แม้“อนุทิน ชาญวีรกูล” มั่นใจการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มลดลง แต่ 1 ก.ค.วันเริ่มหมุดหมายประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ไทยกลับตรวจพบเชื้อโอมิครอนตัวใหม่สายพันธุ์  BA.4-BA.5 ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ระบาดเร็วกว่าและเชื้อเกาะติดปอดได้แน่นหนึบกว่าโอมิครอนสายพันธุ์เก่า นี่เป็นสถานการณ์ใหม่ต้องเฝ้าระวังในช่วงยามประชาชนถอดกน้ากากอนามัย

 

มีการระบุว่า โอมิครอนสายพันธุ์ BA.4-BA.5 เข้ามาไทยตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุพบแล้วประมาณ 200 ราย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าไทยติดเชื้อสายพันธุ์นี้ถึงร้อยละ 72.7 อีกร้อยละ 27.3 เป็นการติดเชื้อในประเทศ และคาดว่า ต้น ก.ค.จะมีเชื้อพันธุ์ใหม่พุ่งพรวดขึ้นมาอีกร้อยละ 50 ดังนั้นสถานการณ์ระบาดแบบพุ่งพรวดจึงอยู่ในห่วงเริ่มประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น สิ่งนี้คือ ภาวะใหม่อันน่าระทึกในห้วงยามคนเริ่มผ่อนคลายมาตรการถอดหน้ากากอนามัย

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระบาดได้เร็วขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าติดตามความรุนแรงของโรค และยังไม่มีหลักฐานการป่วยจนเข้าโรงพยาบาลหรือมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตที่ชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่ต้องย้ำ คือเรื่องวัคซีนให้ฉีด 4 เข็มในกลุ่มคนทั่วไป และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าเป็นเข็ม 5 เพราะถ้าฉีด 4 เข็มก็จะเพิ่มภูมิคุ้มกันสูงถึง 70-75%

 

อย่างไรก็ตาม ควรรับฟังเสียงเตือนจาก นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ที่แนะรัฐบาลให้ทบทวนเรื่องโควิดเป็นโรคประจำถิ่น เพราะเริ่มมีคนไข้ติดโควิดเพิ่มขึ้น

 

“ถ้าจะเลื่อนวันประกาศไปอีกสักพักจนสถานการณ์คลี่คลายกว่านี้ก็น่าจะดี ทุกโรงพยาบาลใน กทม.ขณะนี้รับคนไข้โรคโควิดเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลวิชัยยุทธต้องกลับมาเปิดหอผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีก 1 วอร์ด หลังจากที่เคยปิดไปแล้ว ผู้ป่วยที่รับมาการรักษาส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้”

 

เมื่อโหมดโควิดเป็นโรคประจำถิ่นมาถึง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในช่วงราคาแพงขาขึ้นทุกหมวดสินค้า มาตรการแก้ปัญหาจากรัฐบาลยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน คงหวังแต่มาตรการดึงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาไทยให้มาก เพื่ออาจเป็นเครื่องมือประคับประคองความนิยมของรัฐบาลไม่ให้ตกต่ำ ย่ำแย่ไปกว่านี้

 

หวังโกยรายได้ล้านล้านบาท

เวิลด์แบงก์ ประมาณการเศรษฐกิจไทย ว่า ปี 2565 อาจขยายตัวร้อยละ 2.9 ลดลงจากคาดการณ์เมื่อสิ้นปี 2564 เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในปีหน้าคาดปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.3 และร้อยละ 3.9 ในปีถัดไป

 

สาเหตุหลักทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างล่าช้า เวิลด์แบงก์ ระบุคือการท่องเที่ยว ซึ่งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่สถานการณ์โควิดในไทย แนวโน้มอาจมีการกลับมาแพร่ระบาดมากอีกครั้ง ดังนั้นการฉีดวัคซีนยังเป็นสิ่งจำเป็น

 

ท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอดย่ำแย่นี้ การท่องเที่ยวแม้จะอยู่ในภาวะค่อยๆฟื้นตัวก็ตาม แต่เป็นเครื่องมือเดียวที่หารายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยกเลิก Thailand Pass และการกรอกเอกสารเข้า-ออกไทย (บัตร ตม.6) ในวันที่ 1 ก.ค. เพื่อส่งสัญญาณให้รับรู้ว่า ประเทศไทยได้ผ่านพ้นการระบาดของโควิด ดังนั้น จึงเป็นการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ร้านอาหารและสถานบันเทิงเปิดให้บริการ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว มาสร้างรายรับและกระจายสู่เมืองต่าง ๆ ทั่วไทย

 

BANGKOK, THAILAND – 2020/03/12: Passengers wear face masks as a protective measure against the corona virus at Suvarnabhumi airport.
Ministry of Public Health of Thailand (MoPH) announced eleven new cases of laboratory-confirmed COVID-19 bringing the total number of cases in Thailand to 70. (Photo by Adisorn Chabsungnoen/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

 

ดังนั้น 1 ก.ค. วันเริ่มโหมด “โรคประจำถิ่น” จึงเป็นความหวังของรัฐบาลที่จะประคองเศรษฐกิจในยามข้าวยากหมากแพง อาหารการกินพุ่งขึ้นราคาสูง บ่งบอกไทยอยู่ท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อก่อตัวขยับเพิ่มมากขึ้น และส่อแนวโน้วถึงมาตรการดอกเบี้ยจะทยอยปรับให้สูงขึ้นเพื่อมาผ่อนคลายเงินเฟ้อไม่ให้ถีบตัวขึ้นไปอีก

 

ในช่วงนี้ มีแต่เสียงปลอบใจจากรัฐบาล “ธนกร วังบุญคงชนะ” หวังว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะมาช่วยได้ทันในยามผจญวิกฤตหนักหน่วง เพราะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ประมาณการนักท่องเที่ยวช่วงเวลา 3 เดือนตามคำประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น คือ ก.ค.-ก.ย. 2565 จะมีนักท่องเที่ยว 2.7 ล้านคน และสามเดือนสุดท้ายของปี คือ ต.ค.-ธ.ค. 2565 คาดมีนักท่องเที่ยว 4.5 ล้านคน อีกทั้งประมาณการยอดรวมนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 มีจำนวนกว่า 9.3 ล้านคน และประมาณการรายได้จากนักท่องเที่ยวตลอดปี 2565 ไว้ที่ 1.27 ล้านล้านบาท

 

การประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าไทยดังกล่าวนั้น ถ้าแยกให้ชัดขึ้น คือ ตั้งแต่ ก.ค. เดือนเริ่มเปิดประเทศเป็นทางการตามคำประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นจนถึงสิ้นปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวมาถึง 7.2 ล้านคน รวมทั้งประมาณการว่า ตลอปีมีนักท่องเที่ยว 9.3 ล้านคน ดังนั้น ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. จึงมีนักท่องเที่ยวประมาณ 2.1 ล้านคนเข้ามาไทยแล้ว

 

การประมาณการนักท่องเที่ยวเข้าไทยมีความใกล้เคียงกับข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ระบุว่า ในปี 2565 ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยแล้วกว่า 1.3 ล้านคน โดย 5 อันดับแรกที่มาเที่ยวไทยคือ อินเดียกว่า 1.2 แสนคน อังกฤษกว่า 9.4 หมื่นคน เยอรมนีกว่า 7.7 หมื่นคน มาเลเซียกว่า 7.6 หมื่นคน และสหรัฐ 7.1 หมื่นคน โดยไทยมีรายได้แล้วกว่า 9.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเทียบไม่ติดกับปี 2562 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเดียวกันถึง 7.7 แสนล้านบาท

 

 

แต่ยังดี นับจากเปิดประเทศไทยเป็นทางการในรหัส “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” เริ่ม 1 ก.ค. ไปจนถึงสิ้นปี 2565 ประมาณจะมีรายได้ 1.27 ล้านล้านบาท หากลบ (-) ด้วย 9.9 หมื่นล้านบาท ก็เหลือยอดประมาณการกว่า 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลต้องตีฆ้องร้องป่าวประกาศเชิญนักท่องเที่ยวตามตัวเลขประมาณการ 7.2 ล้านคนให้มาใช้จ่ายเงินในไทยถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหนักเอาการ

 

ส่วนคำปลอบประโลมของรัฐบาลย่อมเป็นการผลิตคำพูดรายได้อนาคตให้ฟังได้สวยหรู แม้มีความจริงว่า ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. มีรายได้ 9.9 หมื่นล้านบาทจากนักท่องเที่ยว 1.3 ล้านคน แต่หวังว่า ก.ค.-ธ.ค. คาดจะมีรายได้มากถึง 1 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยว 7.2 ล้านคนในช่วงเวลา 6 เดือนของประเทศไทยในสถานการณ์โควิดเป็นโรคประจำถิ่น แล้วยังมีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ที่ต้องหวังไว้สูงเช่นนั้น


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top