หลากชีวิต หลายประสบการณ์ สู่สูตรสำเร็จโมเดลแฟรนไชส์
หลากชีวิต หลายประสบการณ์
สู่สูตรสำเร็จโมเดลแฟรนไชส์
การเสวนา “สูตรสำเร็จ Step By Step ด้วยโมเดลแฟรนไชส์”ในงานธุรกิจแฟรนไชส์แห่งปี Smart SME EXPO 2022 เมื่อ 8 ก.ค. 2565 ที่ฮอลล์ 7-8 อิมแพ็คเมืองทองธานี มี ดร.วิชัย เจริญธรรมานนท์ ผู้อำนวยการผลิตหลักสูตร Chain store Management and Franchaise system (CMF) เป็นวิทยากร พร้อมกับ 3 แฟรนไชส์ประสบความสำเร็จมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์สู่ผู้สนใจลงทุนใหม่ โดย “ชานนท์ มหาสิงห์” ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีและธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
กุญไขสู่ความสำคัญ
ดร.วิชัย นำเสนอความรู้ธุรกิจแฟรนไชส์ว่า เกิดในไทยปี 1978 (พ.ศ. 2521) เป็นระบบเช่าแบรนด์ทำธุรกิจ โดยซื้อความสำเร็จจากบริษัทแม่ต่างประเทศมาขยายกิจการ แต่นั่นไม่ได้หมายถึงคนซื้อจะสำเร็จตามไปด้วย เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการบริหาร การบริการ รวมทั้งชื่อเสียงของแบรนด์ที่ผู้สนใจร่วมลงทุนด้วย
แบรนด์แฟรนไชส์แรกเข้ามาไทยในยุคเริ่มต้นคือ มิสเตอร์โดนัลล์ ตามด้วยเคเอฟซี แล้วแมคโดนัลด์ ผู้ลงทุนธุรกิจเหล่านี้เป็นทุนใหญ่ของไทย ไม่ใช่ทุนรายย่อย ถัดมาประมาณ 20 ปี จึงเกิดแบรนด์ของคนไทยขึ้น แต่ด้วยรูปแบบการบริหารร้านของแฟรนไชส์ซี (ผู้ซื้อแฟรนไชส์) ที่ขาดประสบการณ์ หลายสาขาจึงเติบโตลำบาก
ความสำเร็จของการขายแฟรนไชส์ในไทยมีค่อนข้างสูงเพราะเข้ากับระบบจัดการของคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาว แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ความถนัดในกิจการ ระบบและการบริหารจัดการ ซึ่งต้องเรียนรู้ มีการศึกษาว่า ในไทยผู้ต้องการเป็นผู้ประกอบการรายย่อยมีถึง 16.7% ของคนที่เรียนจบใหม่อยากมีธุรกิจและต้องการเป็นนายของตัวเอง
ส่วนคนขายแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอ) ในไทยมีหลายร้อยแบรนด์ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ซี จึงอยู่ที่การตัดสินใจเลือกกิจการมดำเนินการ แต่มีคำแนะนำให้เลือกธุรกิจที่ใช้คนทำน้อยคน หรือเน้นให้ผู้ซื้อทำเองมีลูกมือเพิ่มอีก 1-2 คนจึงเป็นธุรกิจน่าสนใจ
“ดังนั้น แฟรนไชส์ที่ดีที่สุดคือ แฟรนไชส์ที่ใช้คนน้อยที่สุด อย่ามุ่งทำกิจการที่ใช้คนเยอะจะลำบาก และเกิดผิดเพี้ยนกับการผลิต การปรุงรสชาติของผู้ขาย ถ้าให้ดีควรใช้เครื่องจักรทำงาน เพื่อลดความผิดพลาดของมนุษย์ลงได้
อีกทั้งการบริหารแฟรนไชส์ซอ เริ่มด้วยพิจารณาคอนเซ็ปต์ (Concept) ของสินค้าว่า มีภาพรวมอย่างไร ทั้งการตกแต่งร้าน ผู้ซื้อลงทุน และทำเลขาย รวมถึงการบริหารจัดส่งให้แฟรนไชส์ซีไปปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้มาตรฐานลดลง พร้อมจัดระเบียบสินค้า สร้างระบบควบคุม และสุดท้ายมาสู่การเตรียมความพร้อม
“สิ่งหนึ่งที่คนไม่เข้าใจคือ วัฒนธรรมองค์กรที่ต้องปรับเปลี่ยนไปเมื่อมีเจ้าของกิจการมาร่วมธุรกิจเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้แต่ละแบรนด์จึงอาจมีหลายเจ้าของในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้วัฒนธรรมองค์กรถูกเปลี่ยนแปลงไปได้”
จุดเริ่มของผู้ขายแฟรนไชส์ ดร.วิชัย บอกความจำเป็น 9 อย่างว่า ควรหาความรู้ ต้องประเมินตัวเองว่าพร้อมหรือไม่ สามารถพัฒนาได้หรือไม่ เพราะเป็นธุรกิจที่เริ่มด้วยการขายทรพย์สินทางปัญญาให้เป็นเงิน เพื่อเป็นมรดกเก็บกินชั่วลูกหลาน ดังนั้น จึงต้องเน้นพัฒนาองค์กรให้พร้อมกับสาขาที่เปิด ต่อมาคือ การจัดทำ manual ซึ่งไม่ใช่สูตรอาหารอย่างเดียว แต่เป็นไม้เด็ดจำเป็น เป็นเส้นทางเดินของกิจการจากผู้ขายไปสู่แฟรนไชส์ซีนำไปขยายธุรกิจ จึงเป็นสิ่งล้ำค่าอย่างยิ่ง
“manual เป็นไม้เด็ด เป็นการจัดการส่งมอบสูตรให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์นำไปปฎิบัติ รวมถึงการบริการแฟรนไชส์ด้วย โดยเฉพาะแฟรนไชส์ร้านอาหารมีความซับซ้อนขึ้น เหตุนี้จึงมีการเก็บค่าบริการด้วย”
จากนั้น ต้องหาที่ปรึกษาทางด้านการเงิน การควบคุมสินค้า และการสร้างผลกำไร รวมทั้งการปรึกษาด้านบริหาร เพื่อนำสิ่งเหล่านี้ไปถ่ายทอดสู่แฟรนไชส์ซีอีกครั้งเป็นทอดๆกันไป อีกทั้งต้องกำหนดราคาแพ็คเกจบวกค่าความรู้ในช่วงแรกเข้าซื้อของแฟรนไชส์ซี เช่น ชานมไข่มุกราคา 2 ล้านกว่าบาท หรือบางแบรนด์ราคา 3-5-6 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งแฟรนไชส์ซีควรพิจารณาจุดการทำเงินด้วย เพราะศักยภาพคือสิ่งสำคัญ ทำให้การลงทุนไม่ต้องเสี่ยงในอนาคต จากนั้นไปถึงการขยายสาขาแฟรนไซส์ซอ และการพัฒนาต่อเนื่องกันด้วย
“เมื่อขายแฟรนไชส์แล้ว หยุดอยู่กับที่ไม่ได้ ถ้าอยู่กับที่คือถอยหลัง แล้วอาจมีแฟรนไชส์อื่นมาตั้งร้านเป็นคู่แข่ง ดังนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่จะหนีแฟรนไชส์อื่นได้อย่างไรด้วย เพราะไทยมีแฟรนไชส์มากมายพร้อมเข้ามาแข่งขัน รวมความแล้ว แฟรนไชส์เป็นธุรกิจมีอนาคตแน่นอน เพียงแต่ธุรกิจเด่นและเข้าตาคนลงทุน เข้าปากลูกหรือไม่ ส่วน SME จะทำแฟรนไชส์ต้องเข้มงวดพัฒนาระบบให้แข็งแรงก่อน โดยต่างประเทศพัฒนาเครื่องจักรหรือนำนวัตกรรมมาแทนการทำงานของคน แล้วเกิดมาตรฐานสินค้าเป็นต้นแบบเดียวกัน เช่น เคเอฟซี”
ประสบการณ์แบรนด์แฟรนไชส์ซอดีเด่น
เริ่มที่ “ณปภัช วรปัญญาสถิตย์” เธอมาจากธุรกิจท่องเที่ยวแล้วมาทำแบรนด์อาหารหลายแบรนด์ ขยายสาขาจนสำเร็จ เล่าว่า โควิดทำให้ธุรกิจทัวร์ที่ทำมากว่า 10 ปีหยุดชะงัก ไม่มีรายได้เข้ามาเลี้ยงลูกน้อง จึงเริ่มกิจการชานมไข่มุกเล็กๆ ในกัมพูชาชื่อ MT แล้วปั้นจนขยายสาขาเพิ่มเป็น 2-3 สาขา จึงมองหาตัวตนเพื่อปรับเปลี่ยนมาขยายสาขาในไทยได้ถึง 90 สาขา
“จุดเริ่มคือเพื่อความอยู่รอด และเมื่อคนมาถึงจุดสิ้นสุด จึงต้องหาทางใหม่ แม้ริบหรี่ แต่ต้องลองกับมัน ปั้นมันขึ้นมา เพื่อความอยู่รอด”
ผู้ขายแฟรนไชส์อีกคนชื่อ “เอมอร โพธิ์สีทอง” เธอทำแบรนด์ธุรกิจค้าปลีกเป็นแฟรนไชส์ HA-NA ขยายสาขากว่า 30 สาขาในเวลา 1 ปี เล่าว่า ต้องการเพิ่มเส้นทางใหม่หลังทำธุรกิจโมเดิร์นเทรดมานาน 20 ปี หันมาจับ HA-NA ทำคอนเซ็ปต์สินค้า ออกศึกษาตลาดกับผู้สนใจโดยไปดูทำเล ร่วมออกแบบร้าน ชั้นโชว์ ผลิตภัณฑ์ จนถึงวางระบบหน้า-หลังบ้านด้วย “ระบบ POS (Point of Sale System)” (เครื่องคิดเงินบริเวณแคชเชียร์ต่อพวงกับเครื่องสแกนบาร์โค้ดและโปรแกรม) เพื่อสนับสนุนสินค้าให้ผู้ลงทุนครบทั้งร้านประมาณ 20 หมวดหมู่ ด้วยราคาที่แข่งขันได้จากงบลงทุนประมาณ 1 ล้านบาทมีสินค้าครบทุกอย่าง ทำสัญญา 5 ปี สามารถคืนทุนในช่วง 1-2 ปี ด้วยกำไร 30%
“ปัจจัยหลักในการคืนทุนเร็วหรือช้าอยู่ที่ทำเล พนักงานขาย การผลักดันยอดขาย จัดโปรโมชั่นในการขายให้แฟรนไชส์ซีทั่วประเทศด้วย ส่วนการเลือกแฟรนไชส์ซีนั้น ต้องเจรจาลงทุนธุรกิจก่อน แล้วลงไปดูพื้นที่ให้ด้วย”
“ชยานิษฐ์ จิรธรบุญญาสิทธิ์” เธอมีประสบการณ์ทำธุรกิจบริการความงาม นวดสปา มายาวนาน 10 ปี แล้วข้ามมาทำธุรกิจเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ แฟรนไชส์ชื่อ “ปัญจะรส” เล่าว่า เริ่มจากซื้อแฟรนไชส์คนอื่นก่อน แล้วมาสร้างแบรนด์ใหม่ของตัวเอง ตั้งชื่อ “ปัญจะรส” ที่มีความกลมกล่อมทั้ง 5 รส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด จนกลายเป็นแฟรนไชส์ซอขายให้คนอื่นได้อย่างรวดเร็วเติบโต 30 สาขาในเวลา 1 ปี
“ปัญจะรส เติบโตจากปัญหาที่เจอในเรื่องรสชาติไม่คงที่ และระบบบริหารจัดการไม่สามารถควบคุมได้ จึงเริ่มพัฒนาตัวเอง คิดสูตรตัวเองขึ้นมา มีน้ำปรุงรสทำให้รสชาติคงที่ เนื่องจากบางที่พนักงานเปลี่ยน การปรุงรสชาติก็เปลี่ยนตามไปด้วย ไม่คงที่ ลูกค้าก็หายไปเรื่อย”
อีกทั้งการควบคุมจุดรั่วไหลซึ่งมีมากในร้านอาหาร จึงหาสิ่งมาช่วยในด้านบริหารจัดการให้ควบคุม ตรวจสอบได้ นำระบบ POS มาช่วยในการเก็บเงินหน้าร้าน บริหารสต็อกสินค้าที่ขาด กระทั่งมาออกแบบระบบบัญชีหลังบ้านสามารถรวบรวม แยกหมวดหมู่ค่าใช่้จ่ายในร้านได้ แล้วให้สัมพันธ์กับระบบ POS ที่รวบรวมไว้ เมื่อครบเดือนนำยอดขายมาเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย จึงมองเห็นภาพรวมธุรกิจได้
“การจัดการสาขาแรกประสบความสำเร็จ จึงเริ่มขยายเป็นสาขาสองก็สำเร็จมียอดขายวันละ 25,000 บาท ซึ่งแปลกใจมาก เพราะไม่คิดว่าจะขายก๋วยเตี๋ยวได้เดือนละเกือบล้านบาท เป็นอะไรที่ไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อลูกค้าติดมากขึ้น เริ่มมีคนถามหาแฟรนไชส์ จึงต่อยอดเป็นธุรกิจแฟรนไชส์”
เธอ เล่าว่า ช่วงโควิดหลายธุรกิจล้มลงไป แต่ปัญจะรสกลับเติบโตทวนกระแส สามารถขายแฟรนไชส์ได้ 10 สาขาในช่วงคนกำลังเปลี่ยนธุรกิจเดิม จึงกลายเป็นโอกาสขยายกิจการแฟรนไชส์ซอปัญจะรส ที่มีทั้งการบริหาร จัดหาร้าน จัดหาพนักงานให้ เพื่อส่งต่อให้ผู้มาลงทุนด้วย แล้วธุรกิจจึงสำเร็จ
ทั้งสามแบรนด์แฟรนไชส์ซอที่ประสบความสำเร็จ ถูกถ่ายทอด ส่งต่อผู้สนใจรายใหม่ที่เลือกจะเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ซี ได้เลือกตัดสินใจทำธุรกิจบนเส้นทางใหม่ เพราะเส้นทางสายนี้ ดร.วิชัย ย้ำว่า คือการสะสมปัญญาเป็นทรัพย์สินเพื่อส่งต่อเป็นมรดกสู่ลูก-หลานได้สืบสาน ขยายกิจการต่อเนื่อง เท่ากับเพิ่มความสำเร็จทอดยาวเป็นไปรุ่นต่อรุ่น
ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedeehttps:
//www.youtube.com/user/RightLivelihoods