skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ส่องความสำเร็จ 3 ปี “กองทุนหมู่บ้านประชารัฐ” ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้

ส่องความสำเร็จ 3 ปี “กองทุนหมู่บ้านประชารัฐ” ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้

     หลายปีที่ผ่านมาได้เกิดชุมชนต้นแบบกันอย่างมากมาย ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจของปรากฏการณ์นี้ มาจาก “โครงการกองทุนหมู่บ้าน” ที่รัฐบาลสนับสนุนมาหลายสิบปี 

     เมื่อเร็วๆ นี้ในงาน “มหกรรมการแสดงผลการดำเนินงานโครงการตามแนวทางประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมมอบรางวัลชนะเลิศในการประกวดกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองดีเด่น

     “พล.อ.ประยุทธ์ ”  ได้กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับกองทุนหมู่บ้านเป็นกลไกแก้ไขปัญหาความยากจน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการจัดงบประมาณสนับสนุนกองทุนทั้ง 79,595 กองทุน 3 รอบ งบประมาณที่ลงไปส่งผลให้มีโครงการตามแนวทางประชารัฐ 2 แสนกว่าโครงการ เช่น โครงการร้านค้าชุมชน โครงการน้ำดื่มชุมชน ส่งเสริมการเกษตร สร้างรายได้ให้กับกองทุนหมู่บ้าน 3.9 หมื่นล้านบาท เป็นผลกำไรกว่า 8,500 ล้านบาท และมีการฟื้นฟูกองทุนหมู่บ้านให้กลับมาเข้มแข็งได้ 5,000 กองทุน

 

  

     ขณะเดียวกันทุกกองทุนจะต้องพัฒนาตนเอง เพิ่มศักยภาพให้สามารถหารายได้มากขึ้น ต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสนับสนุน ดึงสถาบันการศึกษาและเอกชนมาช่วย

     ต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่ มองหาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อขนส่งผลผลิตในชุมชน ลดต้นทุนหรือการทำเกษตรจะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาไปเป็นเกษตรจีเอพีให้ได้ก่อนจะไปถึงเกษตรอินทรีย์

     สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ได้คือ การท่องเที่ยวชุมชนให้ได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวปีละกว่า 40 ล้านคน ให้ชุมชนมีส่วนแบ่งจากรายได้ ปัจจุบันนี้ภาคท่องเที่ยวมีมูลค่าถึง 22% ของจีดีพี

 

 

     “ปัจจุบันมีผู้มีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่รัฐบาลต้องดูแล 14.5 ล้านคน ดังนั้นกองทุนหมู่บ้านจะต้องทำให้คนมีรายได้เพิ่ม” นายกฯ กล่าว

     “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ บรรยายพิเศษหัวข้อ “บทบาทของอาสาพัฒนากองทุนหมู่บ้านฯ” ตอนหนึ่งว่า “กองทุนหมู่บ้านคือ สิ่งที่เราจะใช้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน ที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติเงินในครั้งแรก 35,000 ล้านบาท เฉลี่ยหมู่บ้านละ 500,000 บาท ครั้งที่สองให้หมู่บ้านละ 200,000 บาท เป็นเงิน 15,000 ล้านบาท รวม 2 ปีแรก ใช้ไปแล้ว 50,000 ล้านบาท ส่วนปีที่ 3 นี้ ก็ให้อีกกองทุนละ 300,000 บาท รวมใช้เงินไปทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท 

     ชาวกองทุนหมู่บ้านฯ ได้ช่วยกันคิดทำโครงการมากมาย เช่น โครงการน้ำดื่มชุมชน โครงการจัดการขยะ ประมาณ 22% โครงการเกษตร โครงการสินค้าชุมชน ประมาณ 35% ส่วนอีก 12% เป็นโครงการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีโอกาสอีกมาก

     “3 ปีที่ผ่านมาคือหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของกองทุนหมู่บ้านฯ มีโครงการที่เกิดขึ้นมีถึง 200,000 โครงการ ทำให้มีรายได้รวม 3 ปี กว่า 40,000 ล้านบาท มีกำไรมากกว่า 8,500 ล้านบาท ดังนั้นสมาชิกของกองทุนหมู่บ้านคือ ฐานพีระมิดที่สำคัญของสังคมไทย ในการเชื่อมโยงชุมชนและช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากไปสู่ความกินดีอยู่ดีอย่างแท้จริง” นายสนธิรัตน์ กล่าว

     ด้าน “นายนที ขลิบทอง” ผู้อำนวยการสำนักงาน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เราได้เชิญตัวแทนตำบลทั่วประเทศ จำนวน 6 รุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ ลงไปช่วยกันทำแผนแม่บท คาดว่าประมาณเดือนกุมภาฯ จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมยื่นให้กับรัฐบาลได้ เพื่อเป็นการยืนยันว่ากองทุนหมู่บ้าน จะคงอยู่และเดินหน้าต่อไป

     ขณะ “นางสุภาวดี ลาทัพ” ตัวแทนจากโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในชุมชน บ้านท่าข้ามควาย จังหวัดสตูล เล่าความรู้สึกว่า นโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ต่อยอดมาถึงนโยบายกองทุนหมู่บ้านประชารัฐ เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มของผู้สูงอายุที่ต้องทำงานอยู่กับบ้าน อาทิ ผลิตภัณฑ์จากผ้าบาติก กะปิ น้ำมันเหลือง ไข่เค็มอินทรีย์และลูกประคบสมุนไพร สำหรับในอนาคตอยากจะเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อให้รองรับนักท่องเที่ยวให้ได้มากขึ้น

 

     “ยืนยันว่าเงินจากกองทุนหมู่บ้านประชารัฐ ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น รู้สึกดีใจที่ได้เงินงบประมาณมาต่อยอดเผื่อลูกหลานวันข้างหน้า ส่วนรางวัลที่ได้รับในวันนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชน” นางสุภาวดี กล่าว

     สอดคล้องกับ “นางยุวดี จำเริญสุข” ตัวแทนจากโครงการศูนย์สาธิตการตลาดร้านค้าประชารัฐ กองทุนหมู่บ้านโนนสาทร จ.ชัยภูมิ บอกว่า เรานำเงินงบประมาณที่ได้รับไปทำเป็นร้านค้า โดยเลือกจำหน่ายของใช้ทั่วไปในราคาถูก และยังรับซื้อผลิตภัณฑ์ในชุมชน เช่น ข้าวกล้องหอมนิล ไข่ไก่ พืชผักสวนครัว หรือให้เข้ามาวางขายได้ฟรี ขณะเดียวกันยังสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มารูดซื้อของได้อีกด้วย

     “ที่ผ่านมาผลตอบรับจากชาวบ้านถือว่าดีมาก โครงการกองทุนหมู่บ้านประชารัฐช่วยสร้างอาชีพ ลดรายจ่ายสร้างรายได้ แถมยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี” นางยุวดี กล่าว

     เช่นเดียวกันกับ “นายอภิจิต ชวรัตน์เจริญกิจ” นายก อบต.อำเภอเอกราช จ.อ่างทอง เล่าว่า ชุมชนเอกราช เป็นหมู่บ้านทำกลองที่มีชื่อเสียงหนึ่งเดียวของประเทศไทย ซึ่งเป็นมรดกสืบทอดที่สั่งสมความรู้มาแต่บรรพบุรุษกว่า 90 ปีจนถึงปัจจุบัน

 

     “นโยบายกองทุนหมู่บ้านประชารัฐ ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ซึ่งตอนนี้มีทำกลองทั้งหมด 34 ครัวเรือน เกิดการจ้างงานในพื้นที่ มีมูลค่ารวมกว่าปีละ 30 ล้านบาท และที่ผ่านมาชุมชนเอกราช ยังพัฒนาต่อยอดจนได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากกระทรวงพาณิชย์ และรางวัลหมู่บ้านต้นแบบทางวัฒนธรรม จากกระทรวงวัฒนธรรมมาแล้ว” นายอภิจิต กล่าวด้วยรอยยิ้ม

 

     นี่คือบทบาทและผลงานในห้วงเวลา 3ปีของกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ก่อเกิดเป็นอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ พลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้เข้มแข็ง สมดังเจตนารมณ์ของรัฐบาลอย่างแท้จริง

 

Back To Top