skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
สำรวจท่องเที่ยว 5 จังหวัดระยะ 2 ชีวิตอยู่ร่วมโควิดระบาด

สำรวจท่องเที่ยว 5 จังหวัดระยะ 2 ชีวิตอยู่ร่วมโควิดระบาด

สำรวจท่องเที่ยว 5 จังหวัดระยะ 2

ชีวิตอยู่ร่วมโควิดระบาด

ทั้ง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและการกีฬา กับ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม.เข้าใจตรงกันกับการเปิด 5 จังหวัดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเมืองระยะ 2 อยู่ที่แต่ละจังหวัดต้องฉีดวัคซีนครบโดสคือ 2 เข็มในจำนวน 70% ของประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ นั่นเท่ากับปัดข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ลดเหลือแค่ฉีดเข็มเดียวครบ 50 ล้านคนทิ้งไป

          

 

การเปิด 5 จังหวัดระยะ 2 ประกอบด้วย กทม. เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี และเชียงใหม่ กำหนดเริ่มในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ส่วน กทม.มีการต่อรองขยับไปเปิดประมาณ 15 ต.ค. เนื่องจากผู้ว่า กทม.คาดว่าสามารถฉีดวัคซีนครบ 2 โดสครบ 70% แล้ว

มีข้อกังขาว่า อีก 4 จังหวัดยกเว้น กทม.นั้น มีความพร้อมรับมือนักท่องเที่ยวต่างชาติมากน้อยเพียงไร และสิ่งสำคัญการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มจำนวน 70% แล้วหรือไม่ จึงกล้าเปิดจังหวัดให้นักท่องเที่ยวมาใช้ชีวิตร่วมกับโควิดแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ดังนั้นจึงควรสำรวจเงื่อนไขเหล่านี้ให้กระจ่าง หวังไม่ให้ชีวิตคนพื้นที่และต่างประเทศมีความสุ่มเสี่ยงอันตรายต่อการติดเชื้อโควิดซ้ำซ้อนและแตกตื่นไปกันใหญ่โต

 

บทเรียนจาก “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เป็นโครงการนำร่องต้นแบบการเปิดจังหวัดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเขาประเทศ หวังสร้างรายได้ให้ฟื้นเศรษฐกิจซบเซา แต่โครงการนี้เริ่มเมื่อ 1 ก.ค.มีระยะเวลาทดลอง 3 เดือนถึงสิ้น ก.ย. โดยรัฐบาลและการท่องเที่ยวตั้งเป้าว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 1.2 แสนคน เกิดรายได้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

เอาเข้าจริง ในเชิงตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวและคาดการณ์รายได้ยากจะไปให้ถึงเป้าหมายความต้องการ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.รายงานข้อมูลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อ 15 ก.ย.ว่า ตั้งแต่ 1  ก.ค.-14 ก.ย. รวม 76 วัน มีจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว 32,005 คน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้บ่งชี้สำคัญว่า เวลาที่เหลืออีกกว่า 14 วันจนถึงสิ้น ก.ย.ความหวังให้นักท่องเที่ยวระดับแสนคนเข้ามาเที่ยวภูเก็ตนั้น เป็นไปได้ยากเต็มทน

อีกอย่างคงไม่ไปคิดถึงข้อมูลรายได้ที่จะเกิดขึ้นกับโครงการนำร่อง ซึ่งหวังสูงถึงหมื่นล้านบาท เพราะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขให้ชัดเจน แม้มีเพียงสื่อประโคมข่าวในช่วงสองเดือนแรกอยู่ในระดับ 1,634 ล้านบาท ที่สะพัดในกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต แล้วจากนั้นก็เงียบหายไปราวกับไม่ภูมิใจนักท่องเที่ยวต่างชาตินำเม็ดเงินมาฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่การรายงานกลับเน้นยอดจองห้องพักช่วง ก.ค.-ก.ย.มีมากถึงกว่า 5 แสนคืน ซึ่งตัวเลขนี้ดูเหมือนจะสร้างความตื่นเต้นและประหนึ่งเป็นความสำเร็จจึงต้องขยายโครงการไปต่อในการเปิดจังหวัดในระยะที่ 2 อีก 5 จังหวัดนำร่องเริ่ม ต.ค.นี้

สิ่งน่าหวั่นวิตกคือ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดช่วงภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นั้น นพ.ทวีศิลป์ บอกว่า พบนักท่องเที่ยวติดเชื้อเพียง 91 คนเท่านั้น แต่ข้ามไปไม่บอกข้อมูลการติดเชื้อเพิ่มขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ภูเก็ตที่รุนแรงขึ้น หากนับแต่เปิดฉากโครงการนำร่องมานั้น ภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อเดือน ก.ค.แค่วันละสิบกว่าคนหรือสูงสุดประมาณ 50 คน และข้อมูลเมื่อ 30 ก.ค.มีผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 1,066 คน

ส่วนล่าสุดข้อมูลเมิ่อ 19 ก.ย.มีผู้ติดเชื้อสะสมจำนวน 8,404 คน นั่นหมายความว่า ช่วง ส.ค.-19 ก.ย.มีผู้ติดเชื้อเพิ่มถึง 7,338 คน เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มกว่าวันละสองร้อยคนจากที่เคยมีแค่ระดับสิบคน โดยตัวเลขใน 7 วันล่าสุดของ ก.ย. คือ 13 ก.ย ติดเชื้อ 245 คน, 14 ก.ย. ติดอีก 249 คน, 15 ก.ย. ติด 229 คน, 16 ก.ย. ติดเพิ่มเป็น 244 คน, 17 ก.ย. ติดลดลงเป็น 236 คน, 18 ก.ย. ติดอีก 235 คน และ 19 ก.ย. ติด 230  คน

ดังนั้น บทเรียนจากโครงการนำร่องต้นแบบ”ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”จึงบ่งบอกถึงความไม่น่าภิรมย์กับคนพื้นที่ อีกทั้งยังไม่เป็นตามเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่ ส่วนคนรายเล็กๆ อยู่หางแถวกลับระทึกกับเชื้อโควิดระบาด ทั้งที่เป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มมากกว่า 72% แต่การติดเชื้อยังพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวยังเดินหน้าขยายโครงการเปิดจังหวัดระยะ 2 ใน 5 จังหวัดให้นักท่องเที่ยวมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับการระบาดของโควิด ซึ่งนับเป็นการสุ่มเสี่ยงในชีวิตของความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง

 

        

 

สำรวจนักท่องเที่ยว 5 จังหวัดระยะ 2

ตามเป้าหมายการเปิดประเทศระยะ 2 ใน 5 จังหวัดนั้น ดูเหมือน กทม.เป็นพื้นที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุด กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานข้อมูลเมื่อ ม.ค.-ก.ค. ปี 2564 มีนักท่องเที่ยวเพียง 287,068 คน สร้างรายได้แค่ 5,732 ล้านบาท นับว่าน้อยเต็มทนเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ในปี 2562 ที่มีกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือในปี 2563 ที่เจอมรสุมโควิดระบาดยังมีรายได้มากถึง 254,740 ล้านบาท

ส่วนอีก 4 จังหวัดนั้น ตั้งแต่โควิดระบาดเมื่อปี 2563 ทั้งนักท่องเที่ยวและรายได้วูบหายไปแทบไม่เหลือชื่อเสียงเมืองท่องเที่ยวเอาเสียเลย ข้อมูลในรอบ 7 เดือนของปี 2564 ก็มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยนิด ไม่ได้มากมายเป็นกอบเป็นกำ โดยเพชรบุรี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 1,503 คน ทำรายได้แค่ 8 ล้านบาทเศษ สำหรับประจวบคีรีขันธ์ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 692 คน ทำรายได้ประมาณ 9 ล้านบาทเศษ อีกทั้ง ชลบุรี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7,293 คน มีรายได้ประมาณ 99 ล้านบาท และเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยว 16,982 คน แต่มีรายได้เพียง 133 ล้านบาท

อีกอย่าง ข้อมูลการฉีดวัคซีนครบโดส 2 เข็มจำนวน 70% ตามเงื่อนไขการเปิดประเทศนั้น ทั้ง 5 จังหวัดยังไม่เข้าข่ายและขาดอีกจำนวนมาก ซึ่งในเวลาเริ่มโครงการ 1 ต.ค.นี้คงยากจะทำได้ครบ 2 โดสเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทั้งนี้ข้อมูลเมื่อ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา พื้นที่ กทม.ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสมีเพียง 41.3% ของจำนวนประชากร ชลบุรีฉีดได้แค่ 27.8% เชียงใหม่ ไปกันใหญ่ฉีดน้อยมากแค่ 19.5% เพชรบุรี ฉีดแล้ว 25.9% และประจวบคีรีขันธ์ ฉีดได้ 25.6%

ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. เวลาเหลืออีก 11 วัน เชื่อว่า การฉีดวัคซีนครบ 2 โดสคงไม่มีจังหวัดใดในโครงการเปิดจังหวัดระยะ 2 รับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะสามารถเร่งฉีดวัคซีนวัคซีนให้ครบ 70% ของประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ทัน ด้วยเหตุนี้ ภาวะสุ่มเสี่ยงทั้งติดเชื้อและแพร่ระบาดโควิดยิ่งส่อแนวโน้มขยับวงกว้างยิ่งขึ้นไปอีก เพราะภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้สะท้อนบทเรียนเช่นนี้ไว้แล้ว

 

สำรวจนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 จังหวัดระยะ 2 ปี 2564
กทม. เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เชียงใหม่
เดือน นทท. รายได้ นทท. รายได้ นทท. รายได้ นทท. รายได้ นทท. รายได้
ม.ค. 49,154 1,092 262 1.70 66 0.74 1,361 21.94 2,628 21.77
ก.พ. 50,497 1,152 291 2.18 146 2.22 1,469 23.40 2,744 22.89
มี.ค. 58,326 1,297 250 1.87 130 1.93 1,394 22.19 3,518 30.74
เม.ย. 51,757 1,137 226 1.69 122 1.67 1,042 16.80 4,037 35.50
พ.ค. 29,494 423 191 1.04 87 1.17 707 5.02 2,073 11.48
มิ.ย. 25,873 351 194 1.22 73 0.80 722 5.20 993 5.30
ก.ค. 21,967 280 89 0.55 68 0.73 598 4.27 989 5.22
รวม 287,068 5,732 1,503 8 692 9 7,293 99 16,982 133
ที่มา: รวบรวมจาก กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

หมายเหตุ: รายได้หน่วย “ล้านบาท”

 

จับตา!! เปิดเที่ยวระยะ 2 คุ้มหรือเสี่ยง?

เมื่อประมวลจากบทเรียนโครงการนำร่อง”ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ซึ่งเป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสกว่า 70% แต่ช่วง 3 เดือนคือ ก.ค.-ก.ย. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มิหนำซ่ำการแพร่ระบาดของโควิดยิ่งพุ่งทยานสูงขึ้นมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกกว่า 7,000 คน ดังที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อนำโครงการมาขยายนำร่องเปิดท่องเที่ยวในระยะ 2 ในสถานการณ์ที่ 5 จังหวัดไม่มีความพร้อมตามเงื่อนไขฉีดวัคซีนครบ 2 โดส 70% ยิ่งทำให้ใจเต้นตูมๆตามๆกับความหวังดีของรัฐบาลจะกลายเป็นหวังร้ายไปซ้ำเติมให้เกิดการระบาดโควิดรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งมีเสียงเตือนระยะการระบาดระลอก 5

 

 

แนวคิดนำนักท่องเที่ยวมาอยู่ร่วมกับโควิดในไทยนั้น โครงการ”ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”บ่งชี้ได้ชัดเจนว่า แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือไม่ได้นำเชื้อมาแพร่ให้คนไทย ตามการกล่าวอ้างของโฆษก ศบค.ว่า มีจำนวนน้อยนิดแค่ 91 คน แต่คนพื้นที่กลับได้รับดอกผลการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจจนติดเชื้อพุ่งทยานจำนวนหลายพันคนไปตามๆกันทั่วทั้งเกาะ

เมื่อนำข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ในช่วง ม.ค.-ก.ค. ปี 2564 มาจัดอันดับ 10 ประเทศนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยแล้ว พบว่ามีจำนวนไม่มากจนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำขึ้นได้เท่าที่ควร โดย 5 อันดับแรกมีสหรัฐมาอันดับหนึ่ง ตามด้วยอังกฤษ เยอรมัน จีนและฝรั่งเศล ซึ่งเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แล้ว แตกต่างกันหลายสิบเท่าตัว

 

10 อันดับ นทท.ต่างชาติมาไทย (ช่วง ม.ค.-ก.ค.)
ปี 64 ปี 63 % เปลี่ยนแปลง
1. สหรัฐอเมริกา 7,838 210,482 -96.28
2. อังกษฤ 5,461 220,635 -97.52
3. เยอรมันนี 4,516 229,332 -98.03
4. จีน 4,023 1,247,564 -99.68
5. ฝรั่งเศล 3,091 236,245 -98.69
6. เกาหลีใต้ 2,270 259,808 -99.13
7. ญี่ปุ่น 2,028 320,098 -99.37
8. รัสเซีย 1,889 586,990 -99.68
9. อิสราเอล 1,746 29,281 -94.04
10 เมียนมา 1,718 54,705 -96.86
ที่มา: รวบรวมจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

 

ดังนั้น การเร่งเปิดจังหวัดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่ม 1 ต.ค.นี้ เมื่อพิจารณาจากรายได้ที่จะตามมาแล้ว มีคำถามว่า การเน้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศจะสมน้ำสมเนื้อมากกว่าหรือไม่ สิ่งสำคัญอื่นใดรัฐบาลต้องรีบจัดหาแล้วฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดสโดยเร็วเพื่อให้โรงเรียนได้รับนักเรียนเข้าห้องเรียนปกติ ให้เด็กได้พบเพื่อน พูดคุย เล่น เรียนได้สนุกตามวัยของพวกเขา เพราะนั่นเป็นชีวิตจริงที่ถูกจับขังให้เรียนออนไลน์เกือบครบปี

ประกอบกับ ชีวิตปกติของร้านค้าทั่วไปจะได้เปิดค้าขาย เกิดการหมุนเวียนรายได้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจปากท้อง หาเลี้ยงครอบครัว นั่นคือผลจากการฉีดวัคซีนให้เร็ว เมื่อคนเชื่อมั่นก็เปิดประเทศ นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็เชื่อมั่น แล้วนักเที่ยว นักเดินทางย่อมหลั่งไหลมาเพิ่มเติมชีวิตปกติของคนไทยให้กลับคืนมาดังเดิม

 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee</a

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

 

Back To Top