skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ศึกหมอ 2 ฝ่าย ระทึกฉีดวัคซีนเปิดเทอม

ศึกหมอ 2 ฝ่าย ระทึกฉีดวัคซีนเปิดเทอม

 

ศึกหมอ 2 ฝ่าย ระทึกฉีดวัคซีนเปิดเทอม

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตีปี๊บอีกครั้ง เมื่อตื่นเต้นกับการฉีดวัคซีนเมื่อ 24 ก.ย.ที่ผ่านมาสามารถฉีดได้มากถึงระดับ 1.4 ล้านเข็มเป็นครั้งแรก จนดันให้ยอดฉีดสะสมทุกเข็มพุ่งทะลุเกิน 50 ล้านโดส โดยข้อมูลจาก The Researcher Covid Tracker เผยแพร่เมื่อ 26 ก.ย.ว่า การฉีดวัคซีนสะสมได้มากถึง 50,433,050 โดส แบ่งเป็นเข็มหนึ่ง 31,490,241 โดส เข็มสอง 17,833,808 โดส และเข็มสาม 1,109,001 โดส

 

วัคซีนมามากก็ได้ถูไถไป 100 ล้านโดส

จากข้อมูลตีปี๊บฉีดวัคซีนทะลุ 50 ล้านโดส นั่นแปลความว่า ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเมื่อ 28 ก.ย.จนถึงจบสิ้น ก.ย.นี้ รวมเวลาประมาณ 7 เดือน การฉีดวัคซีนของไทยเดินมาไกลกว่าครึ่งทางเป้าหมาย 100 ล้านโดสในสิ้นปี 2564 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เมื่อผนวกกับความหวังจะมีวัคซีนเข้าไทยมากขึ้นใน ต.ค.-ธ.ค. รวม 71 ล้านโดสแล้ว ผนวกกับข้อมูลของกรมควบคุมโรค สธ. เผยแพร่เมื่อ 25 ก.ย. ซึ่งคาดการณ์จะฉีดเข็มหนึ่งได้ครอบคลุม 60 ล้านโดสหรือ 85% ของประชากร ส่วนเข็มสองจะมียอดสะสมที่ 52 ล้านโดสหรือ 74% ของประชากร และฉีดเข็มสามเป็นการกระตุ้นได้อีก 7 ล้านโดส

ดังนั้น ยอดสะสมการฉีดจนถึงสิ้นปี 2564 ก็คงยังไม่พอถูไถนำตีปี๊บอวดอ้างการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสอีกตามเคย เพราะยอดสะสมการฉีดเข็มสองอยู่ที่การคาดการณ์ 52 ล้านโดส หรือ 74% ของประชากร แม้เกินการสร้างภูมิคุ้นกันหมู่ 70% แล้ว แต่ท่ามกลางการระบาดของโควิดเดลตาที่มีอนุภาพรุนแรงภูมิคุ้มกันหมู่คงเอาไม่อยู่ ดังนั้น การฉีดวัคซีนจึงไม่ใช่เป้าหมาย 70% แต่ต้องเป็น 100% ของประชาชกรจึงพอจะต่อสู้โควิดเดลตาได้บ้าง

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเร่งด่วนเฉพาะหน้า ทั้งการเปิดเมืองท่องเที่ยว 5 จังหวัดที่เลื่อนเป็น 1 พ.ย. ประจวบเหมาะกับเปิดเทอมใหม่ของนักเรียน ซึ่งจำเป็นให้ไปเรียนหนังสือกันตามปกติใน พ.ย.แล้ว การฉีดวัคซีนครบโดสของนักเรียนจึงมาผสมผสานกับการเปิดเมืองที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่จึงน่าหวั่นระทึกอย่างยิ่ง

 

แตกตื่นศึกหมอ 2 ฝ่าย

เฉพาะการฉีดวัคซีนให้นักเรียนนั้น มีข้อเสนอที่แตกต่างกันของหมอในกรณีฉีดวัคซีนเชื้อตายหรือเชื้อ mRNA จึงจะทำให้เด็กไม่เสี่ยงกับผลข้างเคียงกัน โดยความเห็นแตกต่างนี้เกิดขึ้นในการฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก 12-18 ปีของ กทม.จำนวน 2,000 คนแล้ว แต่ยังไม่ปรากฎผลข้างเคียงขึ้น ส่วนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็เดินหน้าฉีดเชื้อตายซิโนฟาร์มให้เด็กเป็นการวิจัย ซึ่งหลีกข้อกล่าวหาว่า องค์การอาหารและยา (อย.) ยังไม่อนุมัติให้ฉีดกับเด็กได้

   ในความแตกต่างเช่นนั้น ประกาศทางการของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะฉีดวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์เท่านั้น เนื่องจากกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปีกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังสามารถฉีดได้ ขณะที่กลุ่ม 16-18 ปี ยิ่งไฟเขียวให้ฉีดได้ทุกคน เพราะร่างกายเริ่มใกล้เคียงผู้ใหญ่ สิ่งสำคัญวัคซีนยี่ห้อนี้ได้รับการรับรองจากองคทการอนามัยโลกแล้ว

 

ส่วน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมีความเห็นแตกต่างกัน โดยเตือนว่า เด็กฉีดวัคซีนไฟเซอร์ มีข้อควรระวังเรื่องหัวใจอักเสบเป็นพิเศษ พร้อมแนะฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่า

 

สำหรับนักทฤษฎีฉีดวัคซีนไขว้ อย่าง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้ฉีดแบบสลับเชื้อตายซิโนแวคเข็มแรกเป็นตัวรองพื้นก่อน แล้วต่อด้วยฉีดไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA เข็มสองจะเป็นทางออกลดอาการข้างเคียง

ถึงที่สุดแล้ว ความเห็นของหมอที่ก่อศึกความแตกต่างนั้น ได้เกิดความหวั่นให้กลุ่มผู้ปกครองตามมา จนเกิดดรามางัดข้อระหว่างวัคซีนเชื้อตายกับเชื้อ mRNA แต่รัฐบาลเคาะก่อนหน้าแล้วว่า เด็กนักเรียนต้องฉีดไฟเซอร์ ซึ่งจะเริ่มปักแขนใน ต.ค.นี้ พร้อมสำหรับการเปิดเทอมใหม่ สามารถไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ปกติ ได้เจอเพื่อน สนุกเล่น และเครียดกับการเรียนตามประสาวัยเด็ก

ต.ค.ต้องเตรียมการฉีดวัคซีนเด็ก

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพื่อให้เด็กได้ไปโรงเรียนใน พ.ย.นี้ โดยแลกเปลี่ยนความกังขาว่า “เราจะเปิดเทอมเดือนพฤศจิกายนได้จริงไหม” เพราะการเปิดเทอมเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ เป็นธงแห่งความหวังของนักเรียน และเป็นบทพิสูจน์ความสามารถในการจัดการของรัฐบาลและสังคม

ในความเห็นที่ตรงกันของแพทย์ชนบทขมวดอยู่ที่ปมว่า ต้องจัดวัคซีนให้กับนักเรียน 12-18 ปีสำหรับทุกคน รวมทั้ง ครูและบุคลากร แม่ค้า ภารโรง ในโรงเรียนทุกคนด้วย และตุลาคมคือเดือนแห่งการเตรียมการ

 

“ในความเป็นจริง เด็กนักเรียนติดโควิดนั้นไม่น่าห่วงมาก เพราะเกือบทั้งหมดจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ นักเรียนกลุ่มนี้จะรับเชื้อไปติดญาติหรือคนในครอบครัวที่ไม่ฉีดวัคซีน แล้วจะเกิดการแพร่ระบาดในชุมชน”

 

ดังนั้นหากนักเรียนทุกคนได้รับวัคซีน เมื่อได้รับเชื้อแล้วอัตราการเกิดโรคจะลดลง การแพร่กระจายเชื้อต่อก็จะน้อยลงไป การฉีดวัคซีนนักเรียนจึงไม่ใช่เพื่อลดการติดเชื้อของเด็กเท่านั้น แต่ลดการแพร่ระบาดของเชื้อในชุมชนและครอบครัวด้วย ซึ่งสำคัญมาก

 

“การติดเชื้อโควิดในกลุ่มเด็กนั้น ก็สามารถทำให้เกิดอาการป่วยที่เรียกว่า MIS-C ย่อมาจาก Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หรือ ‘กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก แม้จะพบได้น้อยมากๆ แต่ก็พบได้ เป็นภาวะป่วยที่เกิดกับใครก็จะน่าเศร้ามาก”

 

ดังนั้น คำถามต่อมาคือ วัคซีนอะไรที่เหมาะสมในกลุ่มเด็กมัธยมขึ้นไปหรือ 12-18 ปี เราเห็นว่า “ไฟเซอร์คือคำตอบที่ดีที่สุด เพราะนอกจากเด็กจะได้ภูมิแล้ว ยังสามารถป้องกันเดลตาได้ดีกว่าซิโนฟาร์ม ซึ่งจะทำให้ลดการแพร่ระบาดเชื้อในชุมชนจากการเปิดโรงเรียนได้

แต่หากใครกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากไฟเซอร์ ก็ไปฉีดซิโนฟาร์มที่ประสิทธิผลการเกิดภูมิต่ำกว่าก็ไม่ว่ากัน เพราะดีกว่าไม่ฉีด  อย่างไรก็ตาม รัฐควรต้องจัดวัคซีนฟรีให้กับเด็กกลุ่มนี้ทุกคนเดือนตุลาคมนี้ไม่ว่าไฟเซอร์หรือซิโนฟาร์ม  ส่วนผู้ปกครองคนไหนที่กลัววัคซีนมาก ไม่ประสงค์ให้ลูกฉีด ก็ให้เรียนออนไลน์ที่บ้านต่อไปได้ แต่เด็กเขาก็ควรมีสิทธิกำหนดอนาคตตนเองด้วยนะ

 

“นี่คือความเห็นสั้นๆของผมและเพื่อนว่าด้วยการเปิดเทอมเดือนพฤศจิกายน ที่ถึงเวลาบริหารจัดการให้เด็กนักเรียนมัธยม อาชีวะ และมหาวิทยาลัยได้ไปโรงเรียนกันเสียที ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดที่จะอยู่กับเราอีกนาน”


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee</a

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top