วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลเสริมฐานรากพัฒนาเข้มแข็ง
วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลเสริมฐานรากพัฒนาเข้มแข็ง
มูลนิธิสัมมาชีพดำเนินการรางวัล”วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ”มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 โดยเว้นว่างในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรง แล้วกลับมาดำเนินการต่อเป็นปีที่ 4 ในปี 2564
รางวัล”วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ”เป็นรางวัลมุ่งค้นหาต้นแบบกิจการชุมชน สังคม เพื่อเชื่อมโยงการทำงาน พร้อมให้กำลังใจแก่กลุ่ม องค์กร ที่ก้มหน้าก้มตาทำงานขับเคลื่อนกิจการของชุมชนให้เกิดความก้าวหน้า ทันสมัยในการประกอบการต่างๆ อันจะเป็นรากฐานให้เกิดการพัฒนาสังคมอย่างก้าวหน้า เข้มแข็ง มั่นคงตามแนวทางพึ่งตนเองของสัมมาชีพ
ในปี 2560 มูลนิธิสัมมาชีพเริ่มจัดรางวัลเชิดชูเกียรติ “วิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ” เป็นปีแรก โดยแบ่งกิจการเป็น 3 ประเภทในด้านการเงิน ด้านการผลิตและการแปรรูป ด้านบริการและการจัดสวัสดิการชุมชน แล้วมาขยายเป็น 5 ประเภทกิจการในปี 2564
น.ส.อารีย์ คงแจ่ม ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการ มูลนิธิสัมมาชีพ บอกว่า รางวัลทั้ง 5 ประเภท ประกอบด้วย ด้านการเกษตรโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มพื้นฐานในการทำการเกษตร ด้านแปรรูปอาหาร ด้านแปรรูปที่ไม่ใช่อาหาร เช่น งานหัตถกรรม สมุนไพร การผลิตสิ่งของเครื่องใช้ นอกจากนี้ยังมีด้านการบริการและการท่องเที่ยวโดยชุมชน และด้านสุดท้าย การเงินและสวัสดิการชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน หรือสถาบันการเงินชุมชน เป็นต้น
“รางวัลนี้ต้องการส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้สามารถพัฒนาท้องถิ่นได้ และเป็นต้นแบบให้วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ นำกระบวนการต่างๆไปพัฒนากลุ่มตัวเองด้วย ในปี 2564 กิจการประเภทด้านแปรรูปอาหารส่งเข้ามาประกวดมากถึง 30 วิสาหกิจ”
ในปี 2564 มูลนิธิฯ ปิดรับสมัครเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา มีวิสาหกิจชุมชนตอบรับส่งเข้าประกวดมากถึง 130 วิสาหกิจ ซึ่งต้องคัดกรองเหลือประมาณ 60 วิสาหกิจ เนื่องจากรางวัลนี้เป็นส่งเสริมและยกย่องวิสาหกิจที่มีกระบวนการพัฒนาช่วยเหลือสมาชิกชุมชน สังคม จึงเน้นหลักพื้นฐานให้ความสำคัญกับแนวทางสัมมาชีพ มาเป็นหลักเกณฑ์คัดกรองเบื้องต้น
นอกจากนี้ น.ส.อารีย์ ระบุว่า มูลนิธิฯ ยังมีหลัก 6 ประการสำคัญมาประกอบการพิจารณาคัดสรรหาประกอบด้วยหลักการทางศีลธรรมของสัมมาชีพ ซึ่งมูลนิธิฯถือเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งเน้นหลักการองค์กรมีความเข้มแข็ง ยั่งยืนในการทำกิจการ หลักการจัดการกิจกรรมของกลุ่ม การใช้นวัตกรรม มีผลลัพธ์ต่อสมาชิก ชุมชน รวมทั้ง หลักการปรับตัวต่อสถานการณ์โควิด จนทำให้กิจการสามารถดำเนินการได้
การคัดกรองวิสาหกิจชุมชนต้นแบบเริ่มจากกระบวนการพิจารณาจาก 2 คณะกรรมการ คือ คณะกรรมสรรหา มีนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ เป็นประธาน อีกทั้งภาคีและหน่วยงานต่างๆ ประมาณ 20 คนร่วมเป็นกรรมการสรรหา จากนั้นส่งผลการคัดสรรให้คณะกรรมการตัดสิน ซึ่งมีนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ เป็นประธาน ทั้งนี้ วิสาหกิจใดได้รับรางวัลจะได้ถ้วยเกียรติยศ พร้อมเงินอีก 1 แสนบาทให้กลุ่มนำไปพัฒนา สร้างสรรเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง
ในกระบวนการสรรหานั้น ตามปกติแล้ว จะเริ่มด้วยการพิจารณาจากเอกสารเป็นเบื้องต้น จากนั้นลงพื้นที่เยี่ยมเยียนวิสาหกิจชุมชนที่ส่งเข้าประกวด แต่ในปี 2564 สถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้นจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการประชุมออนไลน์ผ่านระบบซูม เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนนำเสนอข้อมูลต่อกรรมการสรรหา
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เข้าประกวดไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม มูลนิธิฯและภาคีเครือข่ายก็ไม่ทอดทิ้ง แต่จะร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มต่างๆที่ส่งเข้าประกวด โดยสนับสนุนตามศักยภาพที่มูลนิธิฯ สามารถช่วยเหลือได้
“ขอขอบคุณทุกวิสาหกิจที่เข้าประกวดรางวัลกับเรา มูลนิธิสัมมาชีพมีความสุขที่ได้มอบรางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบให้ เพราะเราเชื่อว่าทุกวิสาหกิจมีความสามารถ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับรางวัลก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีความสามารถ”น.ส.อารีย์ ระบุทิ้งท้าย
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ