วิถีสัมมาชีพกับCPTPP
วิถีสัมมาชีพกับCPTPP
รัฐบาลคงมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่า จะเข้า“ร่วมหรือไม่ร่วม”เป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสําหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) แต่การโยนให้ฝ่ายนิติบัญญัติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมฯ นั้น สะท้อนถึงอาการยึกยักทางการเมืองเพื่อรอเวลาให้เสียงคัดค้านอ่อนแรงลง แล้วค่อยตัดสินใจตามความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าการลงทุนของประเทศ
การโยนปัญหา CPTPP จึงดูประหนึ่งเป็นการดึงคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มาสนับสนุนเหตุผลเพื่อนำไปอ้างอุดข้อกล่าวหา“รัฐรีบเร่ง”ว่า กระบวนการตัดสินใจเต็มไปด้วยความรอบคอบและศึกษาผลกระทบอย่างทั่วถ้วน ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งในเดือนสิงหาคมนี้
กล่าวอย่างรวบรัดแล้ว CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ การเปิดตลาด การค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ นโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งบรรจุประเด็นการค้า 30 ข้อบทที่ประเทศภาคีต้องเจรจากัน
ปัจจุบัน CPTPP มีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก เปรู และเวียดนาม โดยประเทศส่วนใหญ่ไทยมีข้อตกการค้าเสรี (FTA) ยกเว้นแคนาดากับเม็กซิโก ซึ่งจะเป็นตลาดใหม่ของกลุ่มสินค้าเนื้อไก่สด-แช่แข็ง อาหารทะเลปรุงแต่ง ข้าว ข้าวสาลี ยางรถยนต์ รถยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และผลไม้สด-แห้ง
นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่หน่วยงานรัฐและกลุ่มธุรกิจเอกชนพยายามผลักดันให้เปิดตลาดการค้ากับแคนาดาและเม็กซิโก แต่เหนืออื่นใดแล้ว ญี่ปุ่นเป็นแรงกระทุ้งหนุนหลังสำคัญยิ่งยวดให้รัฐบาลเร่งรีบเข้าร่วม CPTPP เพื่อรักษากลุ่มทุนญี่ปุ่นไม่ให้ย้ายหนีไทยไปลงทุนที่ประเทศอื่น โดยเฉพาะเวียดนาม
แรงหนุนจากรัฐ-กลุ่มทุนเอกชน
เหตุผลหลักเพื่อผลักดันไทยเข้าร่วม CPTPP คือเปิดตลาดการค้าเสรีและขยายการลงทุน โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อ้างถึงศักยภาพการค้าขายในสมาชิก 11 ประเทศว่า มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน หรือ 6.7% ของประชากรโลก และมี GDP กว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 13% ของ GDP โลก โดยปี 2562 ไทยมีการค้ากับประเทศสมาชิก CPTPP มีมูลค่า 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 31.5% ของการค้ารวมของไทย
ด้วยเหตุนี้จึงประเมินว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้ GDP ไทยขยายตัว 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท และการลงทุนจะเติบโต 5.14% คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท รวมถึงช่วยให้ตลาดส่งออกของไทยเปิดกว้างไปถึงแคนาดากับเม็กซิโก ที่ไม่มีข้อตกลง FTA ด้วยกัน
วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ตลาดแคนาดาและเม็กซิโก จะเพิ่มโอกาสการส่งออกให้ธุรกิจ SMEs ส่วน สุพันธุ์ มงคลสธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอว่า หากไทยพลาดเข้าสู่ข้อตกลง CPTPP ถ้ากลุ่มลงทุนย้ายฐานการผลิต จะทำให้คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงใหม่ๆ ย้ายตามไปด้วย แล้วโอกาสการค้าขายของไทยจะลดต่ำลงเรื่อยๆ
นอกจากนี้ กลุ่มทุนยังเตือนถึงผลเสียหากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP โดยยกผลการศึกษาว่า GDP ไทยจะลดลง 0.25% หรือเป็นมูลค่า 26,629 ล้านบาท การลงทุนจะลดลง 0.49% หรือเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท และการส่งออกไทยจะลดลง 0.19% หรือ 14,560 ล้านบาท ซึ่งกระทบไปถึงการจ้างงานและผลตอบแทนที่แรงงานจะได้รับลดลง 8,440 ล้านบาท
ดังนั้น การสนับสนุนให้เข้าร่วม CPTPP จึงวางน้ำหนักเพียงด้านการค้า การลงทุน และการแข่งขันเศรษฐกิจเชิงได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างประเทศมากกว่าการคำนึงถึงผลกระทบในวงกว้างทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นลุ่มเปราะบาง อ่อนด้อยเทคโนโลยี คนยากจนรากหญ้าต้องเดือดร้อนกับข้อตกลงที่ถูกจำกัดกับการเป็นประเทศสมาชิก CPTPP
ผลกระทบห่วงโซ่การผลิตกลุ่มเปราะบาง
เสียงคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากหน่วยงานของรัฐและภาคประชาชน ล่าสุดหน่วยงานรัฐ 4 แห่งได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO มีความเห็นร่วมกันว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมและยังไม่ควรเข้าร่วม CPTPP
ทั้ง 4 หน่วยงานรัฐดังกล่าวสัมพันธ์กับวิถีชีวิตภาคเกษตรกรรมและใกล้ชิดกับเกษตรกร ดังนั้นเสียงคัดค้านจึงพุ่งเป้าไปถึงข้อตกลงในภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 ที่บังคับให้ประเทศสมาชิก CPTPP ต้องปฏิบัติตาม โดยกรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร กังวลว่าเชื้อพันธุกรรมข้าวของไทยกว่า 20,000 ตัวอย่างจะถูกภาคีสมาชิกที่มีเทคโนโลยีสูงนำไปพัฒนาต่อยอด ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรต้องมีต้นทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สูงขึ้นตามมา ส่วนกรมปศุสัตว์ หวั่นเกรงว่า การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของพืชอาหารสัตว์อาจทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น ตลอดจน BEDO มีความเห็นว่า ทรัพยากรชีวภาพหลากหลายของไทยจะได้รับผลกระทบต่อการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น
ไม่เพียงเท่านั้น เสียงคัดค้านจากภาคประชาชนยังลุกลามผนึกแน่นขึ้นทั้งกลุ่ม FTA Watch องค์กร BIOTHAI นักวิชาการ สื่อมวลชน และพรรคการเมือง รวมความแล้ว ทุกภาคส่วนเกิดความกังวลว่า CPTPP จะส่งผลกระทบทำให้เมล็ดแพงขึ้น 200-600% เพราะการขยายสิทธิบรรษัทและการการขยายระยะเวลาการผูกขาด แล้วยังลดสิทธิเกษตรกรในการเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ อีกทั้งเป็นห่วงอาหารจะแพงขึ้น เนื่องจากต้นการผลิตแพงขึ้น ประกอบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ยังผูกขาดเมล็ดพันธุ์ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยเข้าถึงสายพันธุ์ได้ยากขึ้น
สำหรับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ถึงกับปักป้ายในเว็บไซด์คัดค้าน CPTPP และประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ส่งหนังสือแสดงความกังวลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยย้ำถึงว่า เกษตรกรจะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ผูกขาดด้านพันธุ์พืช
เสียงคัดค้าน CPTPP ยังส่งผลถึงการคุ้มครองนักลงทุนไทยหรือนักประดิษฐ์ไทยไม่สามารถกระทำได้ อาหาร ยา อุปโภคบริโภคต่างๆ แต่ถ้าเข้าร่วมก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาแข่งกับนักลงทุนชาวไทยได้ การออกนโยบายสาธารณะจะไม่อาจเป็นอิสระอีกต่อไป
CPTPP ไม่ใช่วิถีสัมมาชีพ
เมื่อนำ CPTPP ผ่านเครื่องตรวจสอบชื่อ “สัมมาชีพ” ซึ่งยึดการประกอบอาชีพที่ลดการเบียดเบียนตนเอง ลดการเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ เพื่อเป้าสู่การประสานจุดแข็งของภาคชุมชนกับภาคธุรกิจให้เกิดพลังฐานรากของสังคมให้เข้มแข็งและก่อเกิดสังคมแห่งการเอื้ออาทรต่อกัน
ความจริงแล้ว CPTPP ยึดกรอบปฎิบัติตามหลักการค้าเสรี แต่การสร้างข้อตกลงแบบมือใครสาวได้สาวเอาย่อมไม่ใช่วิถีการดำเนินกิจการอย่างชอบธรรม เพราะแฝงไว้ด้วยความไม่สุจริตใจที่มุ่งหาประโยชน์ให้กับบางฝ่ายบางพวก แล้วเบียดเบียนผู้อื่นอย่างชัดเจน เนื่องจากเป้าหมายข้อตกลง CPTPP สนองตอบต่ออุตสาหกรรมและบริการ โดยมีภาคเกษตรกรรม เกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรยากจน มีแนวโน้มต้องเสียสละ ดังนั้น จึงส่อเกิดความเหลื่อมล้ําและความไม่เป็นธรรมอย่างกว้างขวาง สิ่งเหล่านี้ย่อมย้อนแย้งกับแนวทางสัมมาชีพ
อีกอย่าง ข้อตกลง CPTPP กําหนดให้ต้องเข้าเป็นภาคีสมาชิก“สนธิสัญญาบูดาเปสต์” อาจจะนําไปสู่สถานการณ์ของการผูกขาดด้านจุลชีพ จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในฐานทรัพยากรชีวภาพของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งหลายกรณีได้เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกร เช่น การนําไปทําน้ำหมักเพื่อใช้ปรับปรุงบํารุงดิน ไล่แมลงศัตรูพืช หรือใช้ในกระบวนการหมักดองอาหาร เกษตรกรอาจจะไม่สามารถดําเนินการดังกล่าวได้อีกต่อไป
สภาเกษตรกรแห่งชาติ เสนอว่า ภาคีต่างประเทศมีโอกาสที่จะส่งออก เนื้อสุกร ชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์จากสุกร เข้ามาจําหน่ายและยึดครองตลาดในไทย เมื่อเกษตรกรไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนและราคาจําหน่ายได้ ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการล่มสลายของผู้เลี้ยงสุกรในไทย ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 180,000 ครัวเรือน
นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ถึงเกษตรกรผู้ผลิตพืช วัตถุดิบอาหารสัตว์ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง อีกเป็นจํานวนมาก อาทิ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 3.5 ล้านครัวเรือน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่า 250,000 ครัวเรือน ตลอดจนผู้ประกอบการ แปรรูปข้าวเปลือก ซึ่งจะเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบรําข้าว ปลายข้าว ต่ออุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์ เป็นต้น
หากพิจารณาจากมุมของผู้สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วม CPTPP ที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน แต่ความเติบโตเช่นนี้ ต้องแลกความล่มสลายของชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นรัฐต้องพิจารณาหามาตรการสร้างเสริมศักยภาพความพร้อมของเกษตรกร ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ประชาชน ประเทศชาติ และเกษตรกรเปราะบางได้รับผลกระทบเชิงลบ