วัคซีนโควิดฉีดคนไทย จำเป็น เร่งด่วน และประสิทธิผล (ตอน 2)
วัคซีนโควิดฉีดคนไทย จำเป็น เร่งด่วน และประสิทธิผล (ตอน 2)
แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ อีกทั้งองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ยังไม่รับรองวัคซีนของซิโนแวคของจีน แต่สำนักงานอาหารและยาของอินโดนีเซียได้ตรวจสอบและพบว่า มีประสิทธิผลอยู่ที่ 65.3%
นอกจากนี้ ศูนย์การทดลอง “สถาบันบูตันตัน” ศูนย์วิจัยทางชีววิทยาและผู้ผลิตวัคซีน ประเทศบราซิลยืนยันว่า วัคซีนซิโนแวคของจีนมีประสิทธิผลระหว่าง 50-90% ส่วนนักวิจัยตุรกีระบุว่าวัคซีนมีประสิทธิผล 91.25% ทั้งนี้ยังสูงกว่าเกณฑ์การอนุมัติที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดความมีประสิทธิผลไว้ที่ 50%
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากจีนที่อนุมัติการใช้วัคซีนซิโนแวคป้องกันไวรัสโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉินแล้ว อีกทั้ง นายดิมาส โควาส ผู้อำนวยการสถาบันบูตันตัน ของบราซิล เปิดเผยว่า สถาบันบูตันตันกำลังวางแผนที่จะขออนุมัติการใช้งานวัคซีนกรณีฉุกเฉินจาก Anvisa ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพของบราซิลในวันศุกร์นี้ หรือประมาณวันที่ 15 ม.ค.นี้ และกระบวนการอนุมัติจะรู้ผลภายใน ม.ค.เช่นกัน
คงด้วยความมีประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค และที่สำคัญจากการตรวจสอบของประเทศอินโดนีเซียระบุถึงวัคซีนชนิดนี้แทบไม่ส่งผลข้างเคียงต่อมนุษย์ ดังนั้น อินโดนีเซียและตุรกีสั่งซื้อมากสุดที่ประเทศละ 50 ล้านโดส บราซิล 46 ล้านโดส และ ฟิลิปปินส์สั่งซื้อ 25 ล้านโดส ตลอดจนไทยสั่งซื้ออีก 2 ล้านโดส
ขณะนี้อินโดนีเซียมีกำหนดการที่จะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 ม.ค.นี้ โดยประธานาธิบดีโจโค วิโดโด จะเข้ารับการฉีดเป็นคนแรกของประเทศ ก่อนที่จะทำการแจกจ่ายวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนในวัยทำงาน ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนในครั้งนี้ต่อไป
รวมทั้งมีรายงานจากรัฐบาลลาวเช่นกันว่า ท่านพูทอน เมืองปาก รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ลาวจะฉีดวัคซีนที่ได้รับการช่วยเหลือจากจีน ซึ่งฉีดมาแล้วได้ผลดี และจะเริ่มฉีดให้กลุ่มเสี่ยงอีกในกลางเดือน ม.ค. 2564
ไทยตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนก่อนกลุ่มแรก
ปัจจุบันไทยสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนการวม 61 ล้านโดส อีกทั้งยังสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคของจีน 2 ล้านโดส ซึ่งวัคซีนของจีนจะทยอยส่งมาล็อตแรก 2 แสนโดสช่วงปลายกุมภาพันธ์นี้เพื่อฉีดให้คนไทย โดยมีเป้าหมายคือการลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และปกป้องระบบสุขภาพประเทศ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข มั่นใจว่า วัคซีนที่จัดหามานั้น ได้มาตรฐาน คุณภาพ และได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย. เรียบร้อย อีกอย่างคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบ 4 กลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรก คือ
- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน
- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
และ 4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ ที่จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด เริ่มในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยจะฉีดคนละ 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน
ส่วน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้กำหนดการรณรงค์ให้บริการวัคซีน ตั้งแต่เดือน ก.พ.–พ.ย. 2564 โดยจะเร่งสื่อสารประชาชน ให้มีความรู้ทั้งผลดีและข้อความระวัง และประสานโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัดและโรงพยาบาลเอกชนร่วมให้บริการ
ภาพข้อมูลจาก thestandard.co
ข้อดี-ข้อเสีย และผลข้างเคียง
นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณยศ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 6 มกราคม ที่ผ่านมา ถึงข้อดี ข้อเสียของวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดที่ผ่านการทดลองอนุญาตให้ใช้ในมนุษย์ ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ วัคซีน mRNA วัคซีน Vector และวัคซีนเชื้อตาย
กลุ่มแรก วัคซีน mRNA เช่น วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และ โมเดอร์นา (Moderna) ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ทำได้ง่ายและรวดเร็วเพราะทำในโรงงาน กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง ส่วนข้อเสียอยู่ที่ว่า RNA สลายตัวได้ง่าย เก็บที่อุณหภูมิต่ำมากๆ และวัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดแรกที่ใช้ในมนุษย์ อาการข้างเคียงหลังฉีดพบได้บ่อยกว่าวัคซีนที่ทำโดยชนิดเก่า เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย และผลระยะยาวคงต้องรอการศึกษาต่อไป เช่นติดตามเป็นปีหรือหลายปี
ในวัคซีนกลุ่มแวกเตอร์ (Vector) เช่น วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZineca) ของอังกฤษ และสปุตนิก-วี (Spuknic V) จากรัสเซีย ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้คือ ผลิตได้ง่ายจำนวนมาก เพราะทำจากโรงงานเป็น DNA จะมีความคงทนกว่า จึงสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศา ราคาจะถูก ผลเสียคือ เป็นวัคซีนชนิดใหม่ ต้องรอดูผลระยะยาว
ส่วนวัคซีนกลุ่มเชื้อตายของจีน เช่น ซิโนแวค (Sinovac) และซิโนฟาร์ม (Sinopharm) จะใช้เชื้อโควิด-19 เพาะเลี้ยงบน Vero cell เมื่อเพาะได้จำนวนไวรัสจำนวนมากจะเอามาทำลายฤทธิ์หรือฆ่าเชื้อให้ตายแล้วนำมา Formulation ใส่สารกระตุ้นภูมิต้านทาน ข้อดีของวัคซีนชนิดนี้ คือ มีความปลอดภัย เป็นเชื้อตายสามารถใช้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ ภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อไม่ไปเพิ่มจำนวน การกระตุ้นภูมิต้านทานจะได้ระดับต่ำกว่าวัคซีนที่กล่าวมาจากข้างต้น
ข้อเสีย คือ การผลิตจำนวนมากทำได้ยาก เพราะไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสก่อโรคจะต้องเพาะเลี้ยงในห้องชีวนิรภัยระดับสูง ต้นทุนในการผลิตจะมีต้นทุนสูง การผลิตจำนวนมากจะมีขีดจำกัด
ประสิทธิผลเชิงเปรียบเทียบ
ปัจจุบันวัคซีนจากแอสตราเซเนกา (Oxford-Astrazeneca) จากอังกฤษ, ไฟเซอร์ (Pfizer) จากสหรัฐ, ไบออนเทค (BioNTech)จากเยอรมัน, สปุตนิก (Sputnik)จากรัสเซีย และ โมเดอร์นา (Moderna) จากสหรัฐ ต่างมีรายงานผลเบื้องต้นในการทดลองขั้นที่ 3 กับมนุษย์ ส่วนวัคซีนจีนยังไม่ปรากฎการรายงานผลทดลอง แม้จีนรายงานต่อบราซิลว่า มีประสิทธิผล 78 % แต่ปราศจากข้อมูลรายละเอียด เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสมากกว่านี้
ผลรายงานของนักวิจัย ระบุว่า แอสตราเซเนกา ป้องกันการติดโรคโควิด-19 ได้ผล 70% นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการในระดับที่ต่ำลงในกลุ่มที่รับวัคซีนโดสแรกต่ำและโดสหลังสูงอีกด้วย จุดเด่นสามารถเก็บในอุณหภูมิในตู้เย็นปกติ ด้านไฟเซอร์และไบออนเทค บ่งชี้ว่า วัคซีนชนิดนี้ดูเหมือนจะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ให้กลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไปได้ถึง 94% ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิลบ 70 องศาเซลเซียส
ส่วนวัคซีนของโมเดอร์นา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพและเวชภัณฑ์จากสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า วัคซีนชนิดใหม่ของบริษัทมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้เกือบ 95% เก็บรักษาในอุณหภูมิลบ 20 องศาเซลเซียสใน 6 เดือน สำหรับวัคซีนของบริษัทกามาเลยา (สปุตนิก) พบว่า มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 92% สิ่งสำคัญกระตุ้นให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ไม่ว่าผู้รับวัคซีนจะมีอายุมากเท่าใดก็ตาม เก็บรักษาในอุณหภูมิในตู้เย็นปกติ
แม้ผลการทดลองวัคซีนขั้นที่ 3 ของแอสตราเซเนกา อ็อกซ์ฟอร์ด จะได้ผลน้อยกว่าของไฟเซอร์-ไบออนเทคและโมเดอร์นา แต่ในระยะยาว มีโอกาสวัคซีนตัวนี้อาจจะถูกนำไปใช้ได้ง่ายกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิเย็นจัด โดยสามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิของตู้เย็นปกติ เช่นเดียวกับวัคซีนของบริษัทกามาเลยา (สปุตนิก 5) ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์-ไบแอนเทค และวัคซีนโมเดอร์นา ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมากๆ
กล่าวเฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ไทยสั่งซื้อนั้น พัฒนาจากการใช้ไวรัสไข้หวัดทั่วไปที่อ่อนแอ โดยได้นำเชื้อนี้มาจากลิงชิมแปนซีไปดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อที่เชื้อไวรัสนี้จะไม่สามารถขยายตัวในมนุษย์ได้ จากนั้นจะนำยีนที่ได้มาจากปุ่มโปรตีนของเชื้อไวรัสโคโรนาไปใส่ในไวรัสไข้หวัดที่อ่อนแอและไม่เป็นอันตรายต่อคน
วัคซีนที่ได้จะถูกนำไปฉีดให้กับคนไข้ เซลล์ในร่างกายมนุษย์จะสร้างปุ่มโปรตีนไวรัสโคโรนาขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันขึ้น และกระตุ้นให้ที-เซลล์ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ
เร่งรัดและข้อห้ามผู้รับวัคซีน
กล่าวถึงที่สุดแล้ว เป็นธรรมดาวัคซีนแต่ละชนิดย่อมมีผลดีและผลเสียแตกต่างกัน ทั้งการเก็บรักษา ประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 และมีอันตรายที่จะมีผลข้างเคียงกับมนุษย์ โดยวัคซีนของไฟเซอร์ที่มีรายงานระบุว่า ผู้รับการฉีดวัคซีนเกิดอาการภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันจนทำให้ถึงแก่ชีวิตมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม การผลิตวัคซีนป้องกันระบาดโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาพัฒนาและผลิตประมาณ 2-5 ปี แต่การผลิตวัคซีนโควิด-19 ในครั้งนี้ กลับเร่งให้พัฒนาแข่งกับเวลา จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่มีหยุด
รวมทั้งเดิมพันด้วยเศรษฐกิจของโลกที่หยุดชะงักไป จึงถูกบีบจนไม่มีทางเลือกนอกจากเร่งพัฒนาและทดสอบให้ออกมาได้เร็วที่สุด โดยเวลาทดสอบที่สั้นมากเพียง 10 เดือน จึงย่อมประเมินได้ว่ามีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงสูง
สิ่งสำคัญ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าวัคซีนที่ได้มานั้นใช้ได้ผล ปลอดภัย และป้องกันเชื้อไวรัสโควิดได้ครอบคลุมที่สุดแล้ว รัฐบาลควรเน้นประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน หรือกำหนดข้อห้ามของผู้รับฉีดวัคซีนโควิดต้องพึ่งตระหนักกับโรคประจำตัว
ข้อห้ามการฉีดวัคซีนโควิดนั้น อังกฟาได้คำนึงถึงความสำคัญไว้โดยออกเอกสารกำกับการฉีดไว้อย่างเข้มงวด เช่น ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีสภาวะภูมิแพ้ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรวมถึงบุคคลที่ได้รับการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน อาจมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนลดลง รวมทั้งผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้ม
ไม่เพียงเท่านั้น บุคคลที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือผู้ที่มีโรคเลือดออกซึ่งจะห้ามการฉีดเข้ากล้ามไม่ควรได้รับวัคซีน วัคซีนไม่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแม่และทารกในครรภ์ วัคซีนไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ภายในไม่กี่เดือนหลังจากได้รับวัคซีน ผู้ได้รับวัคซีนจะไม่สามารถให้นมบุตรได้ เป็นต้น
ดังนั้น เอกสารกำกับการฉีดวัคซีนโควิดเช่นนี้ ไทยควรต้องเน้นและเอาอังกฤษเป็นแบบอย่าง เพื่อป้องปรามผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้รับวัคซีน