วัคซีนทางเลือก รัฐจำยอมเลี่ยงฉุกเฉิน
วัคซีนทางเลือก รัฐจำยอมเลี่ยงฉุกเฉิน
รัฐบาลไทยมักผลิตเสียงเน้นปลุกขวัญราวกับกำลังทำสงครามโควิด โดยหวังว่า เสียงขู่ด้วยมาตรการฉุกเฉินจะเอาชนะโควิดได้ แต่โควิดกลับระบาดหนักขึ้นจากคลัสเตอร์สนามมวยลุมพีนี บ่อนการพนันและแรงงานลักลอบเข้าประเทศ กระทั่งล่าสุดเป็นผับบาร์ย่านบันเทิงยามราตรีทองหล่อ แหล่งคนรวย พร้อมมีนักการเมืองซ่อนตัวซุกกายไปเที่ยวพูดคุยกัน เบียดสัมผัสโอ้โลมด้วยอารมณ์หื่นดิบ
ในบรรดาคลัสเตอร์แพร่เชื้อโควิดเหล่านั้น ประชาชนไม่ได้เป็นต้นเหตุ “การ์ดตก” แต่หน่วยงานรัฐ นักการเมืองกลับหย่อนยานเสียเอง แล้วเสียงเรียกร้องให้ประชาชนร่วมมือต่อสู้ฝ่าฟันการระบาดไวรัสโควิดดังกระหึ่มขึ้นอีก และเป็นเสียงย้ำโฆษณาด้วยมาตรการเดิมๆ คือ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือถี่ๆด้วยเจลแอลกอฮอล์ แล้วพัฒนาสู่การกักกัน เฝ้าระวัง ตรวจเชิงรุก และฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในพื้นที่เสี่ยง
ส่วนเครื่องมือที่จะป้องกันโควิด ดูเหมือนเน้นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี่สื่อสาร ทั้งสร้างแอฟหมอชนะ ไทยชนะ และอีกหลายหลากที่ลงท้ายว่า “ชนะ” ถึงที่สุดโควิดยังระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า จนเข้าขั้นระลอกสาม เป็นการระบาดของสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งวงการแพทย์เชื่อว่า มีความรุนแรงและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์แรกเริ่มจากเมืองอู่ฮั่นของจีน
กระทั่งเกิดปฎิกิริยาเงียบจากโรงพยาบาลเอกชน ก่อหวอดไม่รับตรวจเชื้อโควิด โดยอ้างน้ำยาตรวจเชื้อไม่มี เตียงโรงพยาบาลไม่พอ ซึ่งเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ผลลงท้ายทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศบค.ต้องเรียกร้องตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนเมื่อ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา จนนำไปสู่ปฏิบัติการรอมชอมเปิดประตูให้มี“วัคซีนทางเลือก” มาช่วยผ่อนคลายวัคซีนฉุกเฉินที่ยึดเป็นแนวทางมาตลอด
สิ่งที่แน่ชัดในเบื้องต้น “วัคซีนทางเลือกคงไม่ใช่วัคซีนฉุกเฉิน” เพราะในสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดในปัจจุบัน ไทยเลือกใช้วัคซีนฉุกเฉินเพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้น คือ แอสตร้าเซนเนก้า ส่วนซิโนแวคจากจีนที่สั่งซื้อมา 2 ล้านโดสเปรียบเป็นวัคซีนทางเลือกของรัฐบาลไทยเพื่อนำมาใช้ผ่อนคลายในสถานการณ์การระบาดฉุกเฉิน
บัดนี้ วัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดสมาถึงไทยครบถ้วนตามออร์เดอร์ซื้อ พร้อมๆกับวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ถูกตัดยอดจากจำนวนสั่งซื้อครั้งแรก 26 ล้านโดสให้ส่งมาก่อนประมาณ 1.17 แสนโดส ดังนั้น วัคซีนอยู่ในไทยขณะนี้มีปริมาณ 2.1 ล้านโดส สามารถฉีดให้ประชาชนได้ประมาณ 1 ล้านคนเศษ เพราะคนหนึ่งต้องฉีดวัคซีน 2 โดสในระยะเวลาห่างกันประมาณ 14-28 วัน แล้วแต่ข้อกำหนดของวัคซีนแต่ละชนิด
อีกทั้งในอนาคต รัฐบาลย้ำมาตลอดว่า ไทยมีวัคซีนเพียงพอฉีดให้ประชาชนฟรีๆ เนื่องจากได้สั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าฯไว้ถึง 2 ครั้งรวมจำนวน 63 ล้านโดส ฉีดครอบคลุมคนไทยได้ประมาณ 31 ล้านคน เพียงพอต่อการสร้างระบบ“ภูมิคุ้มกันหมู่” เพื่อป้องกันโควิดในสังคม
นับแต่เริ่มฉีดวัคซีนเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนโควิดของกระทรวงสาธารณสุข ระบุเมื่อ 7 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนแล้ว 323,989 โดส แบ่งเป็นวัคซีนเข็มแรก 274,354 คน และมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 49,635 คน ในจำนวนนี้มีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง 4 คน
สำหรับการฉีดวัคซีนทั่วโลก และข้อมูลเมื่อ 7 เม.ย.ที่ผ่านมาเช่นกัน พบว่า ทำการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 678 ล้านโดส โดยมีประเทศอิสราเอล สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้นำการฉีดวัคซีนโควิดในสัดส่วนต่อประชากรที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ โดยประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่มีผู้ได้รับวัคซีนโควิดครบ 2 โดส เกินครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศแล้ว
ขณะที่การฉีดวัคซีนในอาเซียนนั้น The New York Times และ Our world in data ได้ระบุว่า สิงคโปร์ เป็นชาติที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรนำหน้าประเทศอื่นๆ ไปไกลแล้ว คิดเป็น 27% ฉีดเข็มแรก 19% ฉีดเข็มที่สอง 8.3% ส่วนไทยฉีดเข็มแรก 0.4% เข็มสอง 0.1% อยู่อันดับที่ 8 จากทั้งหมด 10 ประเทศในอาเซียน ที่รั้งท้ายมานั้นคือ บรูไน และเวียดนาม ส่วนในอันดับโลกนั้นไทยอยู่อันดับที่ 82 ของโลก
ด้วยข้อมูลเช่นนี้ ยืนยันได้ว่า ไทยฉีดวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปด้วยความล่าช้า การกระจายวัคซีนที่มีอยู่กว่า 2 ล้านโดสเป็นไปอย่างอืดอาดชนิดสวนทางกับการแพร่เชื้อโควิดอย่างรุนแรงไปทั่วประเทศ
ดังนั้น การเรียกร้องให้เปิดโอกาสมีวัคซีนทางเลือก จากวัคซีนฉุกเฉินที่รัฐบาลล็อคเฉพาะแอสตร้าฯ ซึ่งมีรองรับมากมายในอนาคตโดยตามตารางเวลากำหนดจะเริ่มฉีดได้ในเดือนมิถุนายนนี้ คงเหตุนี้วัคซีนทางเลือกจึงเป็นวัคซีนของภาครัฐและเอกชนสามารถสั่งหานำเข้าวัคซีนชนิดอื่นที่ไม่ใช้แอสตร้าฯ นั่นเอง
วัคซีนทางเลือก
หลังจากโรงพยาบาลเอกชนก่อหวอดไม่รับตรวจหาเชื้อโควิด ล่าสุดข้อสรุปจากการหารือร่วมระหว่างรัฐและเอกชน เป็นที่ตกลงร่วมกันว่า รัฐบาลจะไฟเขียวเปิดทางให้มี “วัคซีนทางเลือก” ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับโรงพยาบาลเอกชนที่จะได้กระจายวัคซีนโควิดให้กับประชาชนที่มีกำลังซื้อและต้องการเลือกวัคซีนให้กับตัวเอง พร้อมเชื่อว่า จะสามารถเพิ่มการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้
ดังนั้น วัคซีนทางเลือก จึงเกิดขึ้นบนสมมุติฐานการสร้าง“ระบบภูมิคุ้มกันหมู่” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิดให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 40 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของประชากรไทยให้ได้รับการฉีดวัคซีน
แต่วัคซีนที่ไทยเตรียมไว้ในอนาคตมีเพียง 63 ล้านโดส ครอบคลุมคนเพียง 30-35 ล้านคน จึงมีช่องว่างอีก 5 ล้านคน จึงต้องใช้วัคซีนจำนวน 10 ล้านโดส โดยจำนวนนี้จึงเป็นโอกาสอำนวยให้นำวัคซีนชนิดอื่นเข้ามาบริการคนที่มีทางเลือกหลากหลายได้
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าวัคซีนทางเลือกนั้น ต้องให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนขออนุญาตนำเข้า แต่การซื้อขายกับผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศจำเป็นต้องมี “Letter of Intent (LOI) หรือ หนังสือแสดงเจตจำนง” ที่ออกให้โดยรัฐ ซึ่งทำได้ยากเพราะบริษัทผู้ผลิตไม่ต้องการขายให้เอกชน เช่น จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จะขายให้รัฐ แล้วรัฐก็กระจายขายให้โรงพยาบาลเอกชนอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนี้ วัคซีนทางเลือกที่จะจัดหานั้น การหารือมีข้อสรุปว่า บริษัทเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนจะจัดหามาภายใต้การประกาศใช้ในภาวะฉุกเฉิน ส่วนความกังวลเรื่องผลกระทบแทรกซ้อน ได้ข้อสรุปว่า เมื่อโรงพยาบาลเอกชนซื้อวัคซีนมาฉีดจะมีการทำประกันภัย กรณีที่ฉีดแล้วเกิดอาการข้างเคียง เป็นผื่นแพ้ ท้องเสีย ต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตจะมีเบื้ยประกันให้ 1 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกแบบประกันภัยมาให้แล้ว
สิ่งสำคัญคือ กระบวนการจัดการวัคซีนทางเลือกยังต้องซื้อผ่านรัฐและรัฐต้องรับผิดชอบ ถ้าเอกชนซื้อเองก็อาจเกิดการฟ้องร้องเอกชนได้ ดังนั้น รัฐบาลเหมือนมายืนข้างหน้าพร้อมรับความเสี่ยงจากผลข้ามเคียง ไม่ว่าจะฉีดโดยรัฐบาลหรือเอกชน ซึ่งเอกชนไม่สามารถแบกรับความรับผิดชอบที่อาจเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงวัคซีนได้
กระทั่ง ผลการหารือบรรลุความต้องการของเอกชน โดยพล.อ.ประยุทธ์ ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 9 เมษายน ตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยคณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วยกรรมการ 18 คน มาจากทั้งโรงพยาบาลเอกชน องค์การเภสัชกรรม อย. กระทรวงสาธารณสุข และ มีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข
ดังนั้น ในคำสั่งนี้ คงเป็นรูปธรรมทำให้รัฐและเอกชนเกิดความรู้สึกที่ดีมากขึ้น เพราะสิ่งหนึ่งคือ รัฐบาลรับปากจะปรับนโยบายให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ และเชื่ออีกไม่นานจะได้วัคซีนทางเลือกที่ไม่ใช้แอสตร้าฯ มาใช้บริการคนมีกำลังซื้อผ่านโรงพยาบาลเอกชน
จากนั้น ความสุขจึงบังเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ข้ออ้างการก่อหวอดของโรงพยาบาลเอกชนก็แปรเปลี่ยนไป น้ำยาตรวจเชื้อโควิดมีปริมาณเพียงพอความต้องการ และโรงพยาบาลมีเตียงพร้อมรองรับการแอ็ดมิท
ภาวะจำเป็นของวัคซีนทางเลือก
เมื่อวัคซีนโควิดในอนาคตของไทยถูกล็อตไว้เฉพาะแอสตร้าฯ ที่จะผลิตในไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ตามสัญญาสั่งซื้อจำนวน 63 ล้านโดส นั่นเท่ากับไม่มีทางเลือกอื่นให้ประชาชนสามารถเลือกใช้วัคซีนที่ตัวเองเชื่อว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและคุ้มครองชีวิตได้
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในวงการแพทย์มีการพูดคุยกันถึงจะเลือกใช้วัคซีนประเภทใดหรือตัวใด เพราะพื้นฐานในทางการแพทย์วัคซีนที่ฉีดไปแล้วนั้นต้องพิจารณาสรรพคุณใน 3 ด้าน ดังนี้
สรรพคุณข้อแรก ต้องสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งหมายถึงว่าเมื่อฉีดแล้ว และไปพบคนติดเชื้อ แต่จะไม่ติดเชื้อ ปัจจุบันวัคซีนโควิดที่มีสรรพคุณที่ได้รับการพิสูจน์ว่าป้องกันการติดเชื้อได้มี 3 ตัว คือ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสัน & จอห์นสัน ซึ่งจะมีสรรพคุณป้องกันการติดเชื้อ 70%
ส่วนวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ไทยใช้หนึ่งในสองตัวนั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อได้แค่ 2% ส่วนซิโนแวคของจีนไม่มีข้อมูลปรากฏว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ รวมความแล้ว ทั้ง 2 ชนิดดูท่าทางจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
สรรพคุณข้อที่สอง คือ วัคซีนที่ฉีดไปแล้ว หากติดเชื้อขึ้นมาสามารถป้องกันการป่วยได้ นั่นหมายถึงว่า หากติดเชื้อมาแล้วไม่เกิดอาการ ซึ่งการป้องกันการป่วยนั้นวัคซีนโควิดจะมีสรรพคุณแตกต่างกันไป อย่างไฟเซอร์ โมเดอร์นา พวกนี้สามารถป้องกันได้เกิน 90 % ขึ้นไป ถึง 95 % ขณะที่ แอสตร้าฯ ที่ใช้อยู่ป้องกันได้ประมาณ 62 % จึงไม่ได้เป็นการการันตีว่า ฉีดไปแล้วจะไม่ป่วย เพราะสรรพคุณป้องกันได้ 62% ก็แปลว่า มี 38 คนจากร้อยคน จะมีโอกาสป่วย
ส่วนวัคซีนซิโนแวค ในเรื่องของการป้องกันการป่วยยังมีข้อมูลไม่ชัดเจน บางประเทศบอกป้องกันการป่วยได้ประมาณ 50% นิดๆ แต่บางประเทศบอก 90% ที่สำคัญวัคซีนซิโนแวค ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลวิจัยในวารสารทางการแพทย์อย่างชัดเจน ดังนั้นคนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคก็เปรียบเหมือนการโยนหัวก้อย คือ มีโอกาส 50 ต่อ 50
ดังนั้น สรรพคุณของวัคซีน 2 ตัวนี้ เมื่อฉีดไปแล้ว ยังมีโอกาสติดเชื้อและป่วยได้ รัฐต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตไม่ประมาท เพราะคิดว่าได้วัคซีนไปแล้วก็เลือกที่จะใช้ชีวิตเสรีไปตามปกติ ไม่รู้จักป้องกัน
ส่วนสรรพคุณข้อที่สาม คือ เมื่อมีการฉีดวัคซีนไปแล้วจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ ซึ่งวัคซีนส่วนใหญ่จะได้ผลทางด้านนี้ โดยสรรพคุณที่ออกมาได้ผลเกือบ 100 % อย่างไรก็ตาม เมื่อวัคซีนโควิดของไทยทั้ง 2 ชนิด ฉีดไปแล้วไม่ป้องกันการติดเชื้อ จึงสามารถติดเชื้อได้ และเอาเชื้อไปแพร่คนอื่นได้ แต่ทำให้โอกาสตายน้อยลง เพราะป้องกันได้ จึงเป็นสรรพคุณที่จำกัด
สิ่งสำคัญ วัคซีนที่เป็นที่พึงปรารถนาของทั่วโลก คือ วัคซีนดี ป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งปัจจุบันมีไม่กี่ตัว คือ ไฟเซอร์ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และโมเดอร์นา (Moderna) แต่เมืองไทยไม่เอาเข้ามา
คงเป็นด้วยประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อจึงทำให้เอกชนเปิดจังหวะรุกในช่วงผับบาร์ทองหล่อแหล่งบันเทิงของคนรวยติดเชื้อโควิดกว้างขวาง จนเปิดทางให้เกิดวัคซีนทางเลือกสำเร็จ
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ