skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
รำลึก-อาลัย นพ.มงคล ณ สงขลา จดจำคำสอน“ผู้นำอย่าท้อแท้”

รำลึก-อาลัย นพ.มงคล ณ สงขลา จดจำคำสอน“ผู้นำอย่าท้อแท้”

รำลึก-อาลัย นพ.มงคล ณ สงขลา จดจำคำสอน“ผู้นำอย่าท้อแท้”

     นายแพทย์มงคล ณ สงขลา เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไต เมื่อ 11 ธันวาคม 2563 ด้วยวัย 79 ปี โดยคำสั่งเสียให้จัดงานศพอย่างเรียบง่าย สวดวันเดียวแล้วเผา รบกวนผู้อื่นน้อยที่สุด แสดงถึงรูปแบบสัมมาชีพพอเพียงจนห้วงยามชีวิตสุดท้าย

 

     เฟซบุ๊ค “กรรณิการ์ กิจติเวชกุล Kannikar Kijtiwatchakul” เขียนรำลึกถึงนายแพทย์มงคล ไว้อย่างน่าสนใจว่า มาจากครอบครัวยากจน และอยู่ในพวกไม่ลืม“กำพืด”ตัวเอง ขณะเรียนแพทย์ที่ศิริราช เป็นนักศึกษาแพทย์จำนวนน้อยมากที่เลือก“รับทุนกรมอนามัย” ซึ่งให้ทุนเล่าเรียนเดือนละ 500 บาท เพื่อผูกพันให้ต้องไปเป็น“หมออนามัย”ในชนบท โดยแพทย์จบใหม่สมัยนั้นส่วนใหญ่เข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุขจะเลือกไปทำงานในโรงพยาบาลจังหวัด

 

     ขณะที่“หมออนามัย” แทบร้อยละร้อยต้องไปเป็นหมอคนเดียวอยู่ใน “สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง” มีงบประมาณค่ายาเพียงปีละ 1 หมื่นบาทเท่านั้น และต้องไปเป็นผู้บริหารตั้งแต่รับราชการวันแรกด้วย จึงมีน้อยคนที่จะเลือกไปเป็นหมออนามัย

 

     พร้อมเล่าถึงชีวิตรับราชการว่า นายแพทย์มงคล มุ่งมั่น ทุ่มเททำงานอย่าง“กล้าหาญ”มาตลอด จนได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีครั้งแรก คือ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และต่อมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แล้วสร้างระบบเร่งรัดที่“ล่อแหลม”ในการพิจารณาตำรับยาและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เชื่องช้าให้รวดเร็วขึ้น จนถูก“ร้องเรียน”ถูกสอบสวนโดย ป.ป.ป. ทำให้เป็น“ชนัก” ติดหลังอยู่ยาวนาน

     จากนั้น นายแพทย์มงคล ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยนายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นแต่งตั้ง ทั้งๆ ที่ยังมีชนักติดหลังอยู่ ทำให้นายแพทย์มงคลได้ร่วมทำเรื่องบัตรทองหรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคช่วงเริ่มต้นปี 2544 จนลงหลักปักฐานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั่วประเทศ

 

     มากระทั่ง นายแพทย์มงคล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ช่วงเวลาค่อนข้างสั้น เพียง 1 ปีเศษ (9 ตุลาคม 2549 – 6 กุมภาพันธ์ 2551) ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 แต่สร้างผลงานโดดเด่นไว้มากมาย โดยเฉพาะร่วมผลักดันยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคให้พัฒนาเป็น “รักษาฟรีทุกโรค” รวมทั้งต่อสู้เรื่องสิทธิบัตรยาหรือซีแอล

 

     ไม่เพียงเท่านั้น นายแพทย์มงคล ได้ร่วมแรงกับนายแพทย์ประเวศ วะสี และนักวิชาการ ภาคประชาชนส่วนหนึ่งก่อตั้งมูลนิธิสัมมาชีพในปี 2552 รับหน้าที่เป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษา แล้วเป็นประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพในเวลาต่อมา

 

     ในโครงการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ที่นายแพทย์มงคล ร่วมบุกเบิกมาตั้งแต่การอบรมรุ่นที่ 1 (ขณะนี้ถึงรุ่นที่ 11) นั้น ทั้งประสบการณ์เรียบง่าย เน้นยึดชุมนุมให้คุณค่าชาวบ้านเป็นหลัก ตอกย้ำ สอนให้ผู้นำอย่าเอาแต่นั่งภาวนาแบบพุทธหินยาน หรือเสาะหาปัญญามาเพิ่มเติมความรู้ แต่ควรยึดหลักคำสั่งสอนตามแนวพุทธมหายาน ที่เน้นลงมือทำให้คนอื่นพ้นทุกข์จึงจะเกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรม และนั่นคือตัวเองจะมีความสุขด้วย

 

     ครั้งหนึ่ง ในการอบรมผู้นำ นายแพทย์มงคล ถามเชิงกระตุ้นในคิดว่า เมื่อผ่านการอบรมแล้วจะทำอะไร จะปฏิรูปประเทศให้มีความสุขความสงบได้อย่างไร และย้ำความมุ่งมั่นว่า เราไม่เพียงมาคุยกันเฉยๆ แต่ต้องการให้ผู้เข้าอบรมได้ไปเปลี่ยนใจและจิตของตัวเองว่า ต้องทำอะไรให้เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่

     พร้อมเสนอกระบวนการว่า การทำงานของคนนั้นใช้จิตสำนึกตัวเองเพียง 10% เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องปลุกจิตสำนึกอีก 90 % ที่ซ้อนอยู่ในตัวออก…อย่าไปท้อแท้ ถ้าเราจะนำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ตรงไหน มันไม่มีความยากที่จะเกิดการขับเคลื่อน ควรใจเย็นๆ เราสามารถขับเคลื่อนได้ เพียงแต่ในบางพื้นที่จะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น เพราะบางแห่งไปได้ช้าและบางแห่งไปได้เร็วแตกต่างกัน

 

     “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงอย่าไปท้อแท้ว่า พื้นที่นี้ความเข้มแข็งไม่มี ชุมชนแตกแยก หรือผู้นำอ่อนแอ เราควรลืมไปเลย อย่าไปกังวลสิ่งเหล่านี้ ขอให้ยึดมั่นแต่พื้นฐานว่า จะช่วยให้เกิดการกินดีมีสุขได้อย่างไร”

 

     เมื่อ“ชีวิตชุมชนกินดี มีสุข”เป็นเป้าหมายหลักในกระบวนการสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สิ่งสำคัญเช่นนี้ชุมชนจึงเป็นฐานตั้งมั่นให้ยึดกุมอย่างไมหวั่นไหวกับอุปสรรครอบข้างที่ค่อยเบียดแทรกปัญหา นายแพทย์มงคล มักเตือนผู้นำเสมอว่า หากยึดโยงกับศูนย์กลางมากๆ จะเกิดความหลง ดังนั้น อะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ อย่าไปยึดโยงมัน

 

     รวมทั้งแนะนำว่า อยากให้นึกถึงความเป็นธรรมชาติ อย่ามุ่งแต่นึกถึงการพึ่งพิงภายนอกในการทำงาน และจงถามตัวเองก่อนเสมอว่าใจไปอยู่กับชุมชนหรือยัง ถ้าไปแล้ว คิดว่าสิ่งไหนทำได้โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อใจมาแล้ว ต้องลงมือทำทันที มุ่งไปสู่จุดหมาย แล้วข้างทางจะมีส่วนที่มาเสริมตลอดเวลา เพียงขอให้เดินไปบนเส้นทางเดินไปร่วมกัน

 

     “ขอฝากไว้ว่า อย่าคิดพึ่งพาภายนอกจนเกินไป ถ้าใครอยากมาร่วมก็ให้ร่วมอย่างที่ยอมรับวิถีของชุมชน และไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดความสำเร็จแบบวิลิศมาหรา ขอให้ยืนอยู่บนขาตัวเองให้ได้ และให้มีความมั่นคง ความยั่งยืนก็เพียงพอแล้ว ในส่วนตัวคิดว่าความพอเพียงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่จำเป็นต้องเลิศเลออะไร เพราะชีวิตไม่มีใครต้องการมากไปกว่านั้น”

 

     นายแพทย์มงคล เชื่อว่า ปัจจุบันพื้นที่ชุมชนไม่ธรรมดา ราวกับมีเพชรเม็ดงามซุกซ่อนอยู่ข้างล่าง ดังนั้น คนข้างบนต้องเรียนรู้จากข้างล่าง หากใครคิดว่าตัวเองเป็นผู้มีบุญ มีศักดิ์ หรือเป็นผู้รู้แต่ผู้เดียว ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ตกนรกทั้งเป็น สิ่งสำคัญผู้นำจะไปเอาปัญญาเพชรเม็ดนั้นขึ้นมาประดับได้อย่างไร

     “ตอนนี้ชุมชนเป็นสิ่งที่นำพาประเทศ ไม่ใช่ห่วง(คล้องคอ)ไว้ ไม่ใช่คนมียศบรรดาศักดิ์มานำพา เพราะคนเหล่านี้ต่างหากที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนา ดังนั้น ขอให้พวกเราไปช่วยกันทำให้เต็มพื้นที่ แล้วข้างบนที่ยังมีปัญหาจะค่อยๆลดลง ค่อยๆนิ่มนวลลง แล้วมีความลึกซึ้งในสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตจริงๆยิ่งขึ้น”

 

     ด้วยความเรียบง่าย ใช้กระบวนการคิดยึดโยงกับพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก และย้ำให้ลงมือปฏิบัติอย่างทุ่มเท จนนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งเป็นทั้งลูกศิษย์ เขียนรำลึกการเสียชีวิตของนายแพทย์มงคล ว่า ถ้าปี 2544 ปลัดกระทรวงไม่ได้ชื่อ”นายแพทย์มงคล ณ สงขลา” การขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคย่อมยากเย็นแสนเข็ญ เหนื่อยจนเลือดตาแทบกระเด็น และอาจไม่สามารถปักหลักมั่นคงจนเป็น “ความทะเยอทะยานครั้งสำคัญของมนุษย์” อย่างที่ชื่นชมกันไว้

 

     อีกทั้งนายแพทย์สุรพงษ์ เชิดชูยกย่องว่า “ประวัติศาสตร์ของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย จึงไม่ได้เป็นผลงานของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพียงเท่านั้น แต่สมควรจารึกไว้ว่า นายแพทย์มงคล ณ สงขลา มีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน”

 

     วันนี้แล้วสินะ (16 ธ.ค.) รูปตัวแทนสมมุติเป็นศพนายแพทย์มงคล ณ สงขลา จะถูกเผาเป็นขี้เถ้าลอยล่องสู่ภพภูมิที่ดีตามคติความเชื่อแบบพุทธ คงเหลือแต่ภาพความทรงจำและเก็บรับซึมซับไว้ย้อนทวนถึงช่วงยามแห่งมิตรภาพ

 

     ยามเจ็บป่วยต้องรักษาตัวจากโรคมะเร็งไตที่โรงพยาบาลศิริราช แม้ลมหายใจแผ่วลง แต่ห้วงคิดของนายแพทย์มงคล ยังยึดมั่นความพอเพียง เรียบง่าย ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและตัวเอง ในเดือนพฤศจิกายน นายแพทย์มงคล โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัวตัว “Mongkol Na Songkhla” ว่า

 

     “แม้แต่ในวันตาย ผมจะเอาศพส่งไปบริจาคที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นบ้านเก่าของผม เพราะผมเคยเรียน เคยนอนอยู่ที่นั่น ศพของผมจะได้ใช้ประโยชน์ให้กับนักศึกษาแพทย์ ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์น้อย เพราะโดนตัดไตไปแล้ว และร่างกายส่วนอื่นๆ ก็ไม่ค่อยสมบูรณ์ แต่ก็ไม่เป็นไร ยังเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง”

 

     “เสร็จแล้วไม่ต้องไปทำพิธีศพ ไม่ว่าสวดหรือเผา หลังจากเอาร่างกายไปมอบให้ศิริราชแล้ว ญาติ พี่น้อง เพื่อน จะเอาแค่รูป กลับมาที่วัดปริวาส พระราม 3 เอารูปไปวางเอาไว้ แล้วสวดหนึ่งคืน สวดรูป ไม่ได้สวดศพ ให้สมมุติว่ารูปคือศพ โดยสวดเพียง 1 คืนที่วัด จากนั้นวันรุ่งขึ้นให้ทำบุญ เลี้ยงพระ เสร็จแล้วก็เอารูปที่สวดไปเผา ไม่ต้องเผาในเตา ให้แกะกรอบรูปออกมาแล้วเผารูปริมแม่น้ำ ปล่อยให้ขี้เถ้าลอยไปกับน้ำ แล้วญาติพี่น้องทุกคนก็กลับจบสิ้น”

 

     นับจากวันนี้ (16 ธ.ค.) แล้วสินะ ขี้เถ้าจากรูปภาพที่สมมุติเป็นศพคงลอยไปกับน้ำ แต่คุณงามความดีเป็นสิ่งที่เหลืออยู่ และมีคำสอนไว้ให้รำลึกถึง จดจำคอยปลอบประโลมใจยามผู้นำท้อแท้ ด้วยเสียงน้ำเสียงนิ่มๆเต็มไปด้วยความจริงใจกระตุ้นเร่งให้ลงมือปฏิบัติสัมมาชีพเต็มพื้นที่ พร้อมคำเตือนให้ยึดมั่นพื้นที่ชุมชนเป็นฐาน

 

     ไม่เพียงเท่านั้น เรายังเหลือร่างนายแพทย์มงคล อันไร้ลมหายใจนอนเป็น “อาจารย์ใหญ่”ให้นักศึกษาแพทย์ศิริราชศึกษาเติมเต็มความรู้ไปรักษาโรคตามวิถีชุมชนใหม่

Back To Top