skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
รัฐควรโดดเข้าอุ้มเอสเอ็มอี ก่อนเศรษฐกิจพังพาบทั้งระบบ

รัฐควรโดดเข้าอุ้มเอสเอ็มอี ก่อนเศรษฐกิจพังพาบทั้งระบบ

รัฐควรโดดเข้าอุ้มเอสเอ็มอี

ก่อนเศรษฐกิจพังพาบทั้งระบบ

 

เริ่มแต่ปักเข็มแรกวัคซีนเมื่อ 28 ก.พ. 2564 เป็นเวลารวม 4 เดือนเศษ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานข้อมูลถึง 5 ก.ค. ว่า ไทยฉีดวัคซีนสะสมใน 77 จังหวัดแล้ว 10,777,748 คน/โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 7,804,654 โดส (11.8% ของประชากร) และเข็มสอง 2,973,094 โดส (4.5% ของประชากร)

หากแยกตามยี่ห้อวัคซีนแล้ว แบ่งได้ว่า ฉีดชิโนฟาร์มเข็มแรก 113,790 โดส เข็มสอง 97 โดส แอสตร้าฯ เข็มที่แรก 4,062,520 โดส เข็มสอง 61,677 โดส และวัคซีนชิโนแวคเข็มแรก 3,628,344 โดส เข็มสอง 2,911,320 โดส ส่วนความหวังจะมีวัคซีนโมเดอร์นา กับไฟเซอร์มาฉีดให้คนไทยนั้น คงสุดที่จะประเมินได้ เพราะข้อมูลถึงวันที่ 6 ก.ค. ยังไม่ได้เซ็นสัญญาสั่งซื้อ มีแต่คำย้ำจากรัฐบาลว่า จะมาถึงไทยประมาณ พ.ย.นี้ ประชาชนจึงได้แต่รอคอยท่ามกลางโควิดสายพันธุ์เดลตาจ่อระบาดทลวงปอดเร็วขึ้นทุกวัน

วัคซีนกับเร่ง ศก.ท่องเที่ยว
แนวทางชัดขึ้นแล้วว่า การฉีดวัคซีน พร้อมควบคุมการระบาดในวงจำกัด จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนให้กลับมาเป็นปกติเร็วขึ้น แต่ช่วง 4 เดือนเศษตามข้อมูลเมื่อ 5 ก.ค. รัฐบาลกลับฉีดวัคซีนเข็มแรกได้แค่ 11.8% ของประชากร และฉีดเข็มสองได้ 4.5% ของประชากร ดังนั้นจึงได้แต่หวังลมๆแล้งๆว่า จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในการฉีดวัคซีนครบ 70% ของประชากร หรือ 50 ล้านคนในสิ้นปี 2564

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยฉีดวัคซีนได้น้อย แต่อีกด้านกลับมีภารกิจเร่งรีบเปิดประเทศสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยสอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ฉีดไปในระดับสร้างภูมิคุ้มหมู่ได้เป็นที่ชัดเจน คือ ภูเก็ต ฉีดวัคซีนเข็มแรก 70.99% เข็มสอง 57.28% เกาะสมุย เข็มแรก 62.07% เข็มสอง 42.19% เกาะเต่า เข็มแรก 71.99% เข็มสอง 11.84% และเกาะพะงัน เข็มแรก 30.18% เข็มสอง 6.17% ซึ่งพื้นที่ท่องเที่ยวดังกล่าว สะท้อนแนวทางรัฐบาลได้อย่างน่าสนใจว่า มุ่งแยกพื้นที่สร้างเศรษฐกิจของประเทศเป็น 2 ระดับ คือ พื้นที่เกาะกับพื้นที่แผ่นดินในส่วนที่เหลือ ดังนั้น การฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นๆต้องรออีกนานเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่

 

วิกฤตเอสเอ็มอี

เมื่อนำข้อมูลการฉีดวัคซีนล่าสุดถึงวันที่ 5 ก.ค.มากางพิจารณาแล้ว ด้านหนึ่งเห็นระดับการเร่งให้เกิดภูมิคุ้มกันในพื้นที่ที่เกาะแหล่งท่องเที่ยวที่รัฐบาลโหมประกาศโครงการ “แซนบ็อกซ์” มีภูเก็ตนำร่องแล้วตามด้วยขยายอีก 3 เกาะคือ สมุย,เต่า และพังงา โดยอ้างย้ำถึงพื้นที่เกาะทำแนวทาง “Bubble and seal” สกัดโควิดระบาดได้ง่าย

ส่วนพื้นที่ไม่ใช่เกาะแล้ว ถ้าพิจารณากรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วย สมุทรสาคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และนครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้มข้น ฉีดวัคซีนไปแล้ว เข็มแรก 25.43% ของประชากร เข็มสอง 8.51% ของประชากร รวมทั้งภาพรวมประเทศฉีดวัคซีนไปแล้ว เข็มแรก 6.18% เข็มสอง 2.37% ซึ่งจัดว่าน้อยมากแทบไม่น่าเชื่อ

ในพื้นที่ไม่ใช่เกาะดังกล่าวนี้ สะท้อนถึงแนวทางการฟื้นเศรษฐกิจผสมระหว่างท่องเที่ยวกับเอสเอ็มอีที่กำลังเปราะบางและย่ำแย่อย่างหนัก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลง 2.5%

สำหรับสาขาธุรกิจเอสเอ็มอีที่มี GDP ลดลง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจบริการ ที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลง 35.0% ธุรกิจบริการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าลดลง 18.6% และธุรกิจบริการด้านศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ ลดลง 3.1%

ส่วนการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจเอสเอ็มอีในปี 2564 สสว.ระบุว่า จากผลกระทบของโควิดระบาดระลอก 3 ดังกล่าว เอสเอ็มอีมีแนวโน้มเติบโตได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 คาด GDP เติบโตได้เพียง 2.4% – 3.2% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 4.1% –4.8% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ดังนั้น เมื่อเชื่อมโยงการฉีดวัคซีนกับภาวะธุรกิจเอสเอ็มอีแล้ว ย่อมเห็นได้ชัดว่า ทั้งประเทศการฉีดวัคซีนทำได้เพียงฉีดเข็มแรก 6.18%ของประชากร ซึ่งน้อยนิดกว่าพื้นที่เกาะภูเก็ตที่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เปิดเมืองให้ต่างชาติเข้ามาเที่ยว ด้วยเหตุนี้เอสเอ็มอีไทยจึงอยู่ในอาการตายแหล่มิตายแหล่

กระทุ้งรัฐรีบตื่นช่วยเอสเอ็มอี

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ย้อนทวนกระแสเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ในขั้นลำบากมาก สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อกิจการอย่างหนัก โดยเฉพาะกิจการร้านอาหาร การบริการ การท่องเที่ยว แม้ก่อนหน้านี้รัฐมีนโยบายให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แต่อาจต้องกลับมาทบทวนความช่วยเหลือทางการเงินกันใหม่ โดยเฉพาะมาตรการการช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่เคยมีมา

“คนไม่เคยโดนดอกเบี้ยร้อยละ 7 ร้อยละ 10 แต่เงินไม่มีเข้ามา ไม่รู้หรอกครับว่า มันลำบากแค่ไหน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตอนนี้ลำบากมากนะครับ รัฐต้องเข้ามาจัดการให้ความช่วยเหลือทางเงินและมั่นใจว่า มาตราต่างๆนั้นจะเข้าถึง และสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กได้จริง”

 

 

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)  และอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวในงาน“สหกรุ๊ปแฟร์ ออนไลน์” โดยเสนอให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครือข่ายกิจการเอสเอ็มอีที่สำคัญควรมุ่งถึงการปรับตัว เจาะนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น ดูแลด้านสาธารณสุข ความปลอดภัยจากไวรัส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักเดินทางมากขึ้นเมื่อมาเยือนประเทศไทย นำไปสู่การช่วยให้ธุรกิจพลิกทำกำไรได้ด้วย

“ธุรกิจท่องเที่ยวต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง ยกระดับการท่องเที่ยว เพิ่มคุณภาพการบริการ เลือกเป้าหมายนักเดินทางที่จะมาไทย เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ให้คนไทยในอนาคต” 

ต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง สร้างการเติบโตและชนะคู่แข่ง จาก 2 ปัจจัย 1.บริษัทต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง พัฒนาสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ 2.การสร้างความแตกต่างให้ลูกค้าต้องมีต้นทุนต่ำสุด ประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การจัดการคลังสินค้า ระบบโลจิสติกส์ ไปจนถึงป้อนสินค้าถึงมือผู้บริโภค โดยหาแนวร่วมทั้งผนึกพันธมิตรเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง จะเอื้อให้ธุรกิจประสบชัยชนะได้

อีกด้านหนึ่ง นายวิบูลย์ วิทยสิงห์ นายกสมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการช่วยเลือจากรัฐน้อยมาก แทบไม่ได้รับเยียวยาจากเงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพราะธนาคารมีเงื่อนไขหรืออุปสรรคปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ เช่น ไม่เคยเป็นเอ็นพีแอลตั้งแต่มกราคม 2563 ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีน้อยมากเข้าเงื่อนไขนี้

อีกทั้งหากยังไม่เคยกู้ธนาคารมาก่อน ยังถูกพิจารณาผลประกอบการในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาด ซึ่งผู้ประกอบการล้วนย่ำแย่ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ดังนั้นสินเชื่อเอสเอ็มอีจึงเป็นเรื่องไกลตัวของผู้ประกอบการ

“สิ่งสำคัญในขณะนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหลือความหวังเดียว คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วและครอบคลุมที่สุดจึงจะพาธุรกิจให้พลิกฟื้นเดินหน้าต่อไปได้”

 

จี้พยุงจ้างงานเอสเอ็มอี 3 ล้านคน

เมื่อ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานการประชุมระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเมื่อ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการเสนอแนวทางให้รับช่วยเอสเอ็มอีโดยช่วยจ่ายค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท คลุม 3 เดือนเพื่อรักษาระดับการจ้างงานไว้

โดยมีการระบุถึงจำนวนเงิน 60,000 ล้านบาท จากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิดวงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้สำหรับมาตรการโคเพย์ ทั้งนี้ เบื้องต้นได้กำหนดเงื่อนไขเอสเอ็มอีที่จะได้รับความช่วยเหลือ จะเป็นเอสเอ็มอีในระบบประกันสังคม และยื่นภาษีเงินได้ หรือเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่อยู่ในระบบตั้งแต่ ก.ย.นี้

นอกจากนี้ มีข้อเสนอมาตรการคนละครึ่ง–ภาคเอสเอ็มอี โดยให้ภาครัฐช่วยค่าใช้จ่ายเอสเอ็มอี เช่น ลดค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 50% ให้ภาคเอกชนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.5% และภาครัฐรับภาระ 50%  โดยภาครัฐไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณและหักลบยอด ค่าใช้จ่ายได้เลย และมาตรการนี้จะผลักดันเอสเอ็มอีเข้าระบบเพิ่มเติมได้เพิ่มมากขึ้น

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกประเภท ซึ่งแรงงานเอสเอ็มอีในระบบมีประมาณ 6 ล้านคน โดยถ้ารัฐบาลตั้งวงเงินช่วยเหลือไว้ 60,000 ล้านบาท จะได้เงิน เพียงคนละ 5,000 บาท ได้ประมาณ 2 เดือน แต่จะไม่เหลือวงเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีนอกระบบเลย ซึ่งเอสเอ็มอีกลุ่มนี้มีความเดือดร้อนมากและควรเข้าไปช่วยเหลือ โดยอาจจะเฉลี่ยการจ่ายเงินเหลือรายละ 2,000 บาท จะช่วยเอสเอ็มอีได้ทั้งในและนอกระบบ แต่การช่วยเหลืออาจจะไม่เพียงพอ

ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม คือ ช่วยเหลือการพักเงินต้นและดอกเบี้ยให้เอสเอ็มอี โดยต้องให้พักดอกจริงไม่ต้องจ่าย ตอนนี้มีเพียงออมสินรายเดียวที่พักต้นพักดอกจริง และควรพักหนี้ให้กับลูกจ้างของเอสเอ็มอีด้วยเพราะรายจ่ายผ่อนบ้านหรือรถสูง


          

 

ฉีดวัคซีนเพิ่มเยียวยาประคองชีวิต

บัดนี้ พื้นที่เกาะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนต่างชาติ เริ่มทยอยเข้ามาภูเก็ตแซนบ็อกซ์เพิ่มขึ้นทีละน้อย นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมการกงศุล กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร หรือ COE ให้ผู้เดินทางเข้าภูเก็ต ในวันที่ 3-5 ก.ค.2564 จำนวน 1,035 คน

ขณะที่เพจลุงตู๋ตูน ซึ่งเชียร์พล.อ.ประยุทธ์ ระบุยอดจองห้องพักโรงแรมในภูเก็ตตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. แล้ว 90,861 ห้อง หากเฉลี่ยต่อเดือนตกประมาณ 30,000 กว่าห้อง และถ้าคิดเป็นวันยิ่งน้อยลงไปกันใหญ่ นั่นสะท้อนถึงโครงการจะบรรลุการฟื้นท่องเที่ยวในระดับหมื่นล้านบาทได้หรือไม่

แต่ดูเหมือนโครงการภูเก็ตแซนบ็อกซ์และส่วนขยายเพิ่มอีก 3 เกาะในอนาคตนั้น แลกมาด้วยการสนับสนุนวัคซีนฉีดให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน 70% ในขณะที่พื้นที่อื่นทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดอื่นมีปริมาณการฉีดวัคซีนเข็มแรกประมาณ 11.8% ของประชากร เหตุนี้ อนาคตเศรษฐกิจจึงอยู่ห่างไกลการฟื้นตัวอย่างยิ่ง

ดังนั้นเมื่อรัฐยังอืดอาดจัดหาวัคซีนมาสนองประชาชนได้ไม่พอความต้องการแล้ว มาตรการเยียวยาธุรกิจในพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้มกับการระบาดโควิดในระดับมีผู้ติดเชื้อใหม่ 4-5 พันรายและเสียชีวิตกว่า 50 รายแทบทุกวัน เพราะขืนรอให้ฉีดวัคซีนได้ครบภูมิคุ้มกันหมู่เหมือนมาตรการเปิดเมืองท่องเที่ยวแล้ว แนวโน้มย่อมเกิดความล่มจมใกล้มาถึงเต็มที

 


 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top