ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ชูพัฒนารากฐานชุมชน
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ชูพัฒนารากฐานชุมชน
“เอ็นนู” ชี้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เปลี่ยนแปลงได้ทุก 5 ปี มุ่งเน้นชุมชนเป็นรากฐานพัฒนาประเทศ ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงปรับใช้ทำงาน ยันความสำเร็จทุกอย่างทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องมีทีมงานเป็นทีมเวิร์คที่ดี ย้ำฏิรูปเกษตรเริ่มจากสร้างคนให้เข้ากับวิถีพอเพียงก่อน
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม วิทยากรอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 11 หัวข้อบทบาทของประชาชนในการร่วมสร้างแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
นายเอ็นนู กล่าวตอนหนึ่งว่า ยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดจากที่ผ่านมานักการเมืองไม่ใส่ใจต่อการพัฒนาชาติตามแผนสภาพัฒน์ฯ กำหนดไว้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงต้องบัญญัติให้ทำช่วง 20 ปี แต่สามารถเปลี่ยนได้ทุก 5 ปี โดยทุกประเทศ เช่น มาเลเซีย ยังมีแผนระยะยาวในการพัฒนาประเทศ กระทั่งสามารถนำหน้าไทยได้
แนวคิดหลักยุทธศาสตร์ชาติมี 6 ด้าน คือ 1.แนวทางให้ประเทศเกิดความมั่นคง มุ่งหวังให้สังคมดี 2. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้เกิดความทัดเทียมประเทศอื่น โดยเน้นการเกษตรเป็นแกนนำ เพราะเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ แล้วต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรม ซึ่งคนคิดแนวทางพัฒนาแบบชุมชนควรศึกษาและใส่ใจ 3.การพัฒนาคนให้เก่ง ดี และปรับตัวได้ด้วย
นอกจากนี้ยังเน้น 4.ในด้านสังคมให้เกิดความเสมอภาค ซึ่งสามารถทำได้ โดยเชื่อว่า ผู้นำอบรมนำการเปลี่ยนแปลงสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 5.อีกทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาได้เพียงเศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน และสุดท้าย 6. ด้านพัฒนารัฐราชการ หวังทำให้เล็กลง เลิกบังคับประชาชน ต้องกระจายอำนาจ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนำประเทศ
กล่าวโดยรวมแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติจะเน้นที่ชุมชนเป็นฐานการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการท่องเที่ยวชุมชนเป็นเจ้าของ สร้างโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมสามารถติดต่อเชื่อมกันเป็น “ฮับ” อีกทั้งส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้ประกอบการ คำนึงถึงศักยภาพมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ยกระดับการศึกษา ได้ทำงานในสิ่งต้องการทำ
สำหรับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสฯ ซึ่งตนเป็นประธานนั้น เน้นที่ความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เช่น การศึกษา มีผลการวิจัยว่า ระหว่างลูกคนรวยกับลูกคนจนได้รับการศึกษาถึงชั้นปริญญาตรีแตกต่างกันถึง 19 เท่า
รวมทั้ง ตนตั้งใจกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยโมเดลการพัฒนาแบบ EEC ควรกระจายไปถึงทุกภาค เพื่อสนองการทำงานของชุมชน ทำให้สังคมครอบครัวผูกพันกัน โดยข้อมูลการวิจัยพบว่า ไทยเป็นสังคมแหว่งกลาง คือ มีแต่คนรุ่นปู่ย่าและรุ่นหลานในชุมชน เนื่องคนรุ่นกลาง ซึ่งเป็นพ่อแม่ไปทำงานในสังคมเมืองหมด
“ผมจึงบังคับไว้ในยุทธศาสตร์ว่า ใน 20 ปีนี้ต้องมีเมืองหลัก เมืองรอง โดยทุก 5 ปีควรมีจังหวัดในภูมิภาคต้องได้รับการพัฒนาให้เจริญขึ้นใกล้เคียงกับ กทม. โดยได้ระบุชื่อจังหวัดต้องเจริญไว้ด้วย แล้วหวังว่าครบ 20 ปี มีจังหวัดเจริญขึ้นถึง 30 แห่ง นั่นเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสในสังคม”
นอกจากนี้ ยังเน้นในด้านวัฒนธรรม เพื่อดึงพลังสังคมให้ประชาชนร่วมแก้ไขปัญหากันเองได้ อีกอย่างภูมิภาคต้องได้รับการพัฒนา สิ่งแวดล้อมต้องยั่งยืนส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนข้าราชการต้องเป็นของประชาชน แล้วช่วยประชาชน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถของท้องถิ่น โดยเฉพาะในด้านงบประมาณที่ส่วนกลางควรสนับสนุน
ส่วนประชาชนได้อะไรจากยุทธศาสตร์ชาตินั้น นายเอ็นนู กล่าวว่า ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายต้องได้รับการดูแลทั้งชีวิตทุกช่วงวัย และทุกด้านการพัฒนา ในวัยทำงานได้เลือกงานที่เลือกทำได้ วัยชราไม่เป็นภาระของบ้านเมืองสามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ลดการเป็นภาระของลูกหลานได้
สิ่งสำคัญ ประชาชนจะมีบทบาทอย่างไรในยุทธศาสตร์ชาตินั้น นายเอ็นนู เน้นว่า ประชาชนต้องช่วยกันผลักดันในทุกด้านของ 6 ยุทธศาสตร์ชาติ เพราะจะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง พึ่งรัฐได้ ราชการให้บริการว่องไว ประชาชนได้รับความยุติธรรม ส่งเสริมองค์กรท้องถิ่น และอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งต้องมีส่วนร่วมในแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้านด้วย
นายเอ็นนู กล่าวถึงการของบประมาณสนับสนุนโครงการจากพื้นที่ว่า หากโครงการทำดีสามารถของบจาก ปตท.ได้ แต่เงินกองทุนที่กระทรวงการคลังดูแลมีจำนวนมากถึง 38 กองทุน รวมงบเกือบแสนล้านบาท และเงินเหล่านี้ไม่ค่อยได้ใช้หรือใช้ไปน้อยมาก เนื่องจากราชการไม่ได้ประชุมกัน อ้างไม่มีเรื่องเสนอมา
“ที่จริงกองทุนต้องประชุมกันทุกปี ต้องมีการอนุมัติเงิน เอาไปดองไว้ทำไม เขาเอาไปดองฝากแบงก์ ฝากทำไมเงินมีไว้ให้ใช้ จึงต้องมาชวน (ให้ไปของงบสนับสนุน)” พร้อมย้ำว่า สิ่งเหล่านี้ควรมีทัศนะคติที่ดี เติบโต และต่อเนื่องจึงนำไปสู่ความสำเร็จได้
นายเอ็นนู กล่าวว่า ความสำเร็จทุกอย่างไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องมีทีมงานที่ร่วมกันได้ดี ถ้าไปทำงานไม่มีทีมเวิร์คเลย ก็ไปไม่รอด ประเทศไทยควรพัฒนาการทำงานเป็นทีม ซึ่งแต่ก่อนต่างชาติมักนินทาไทยว่าดีแต่เก่งแบบคนเดียว
อีกอย่าง ถ้าประเทศไทยรู้จักนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระองค์ท่านทรงสอนอะไรไว้มาก ถ้านำมาปรับกับการทำงานจะทำให้พัฒนาได้อีกมาก เมื่อตนอยู่ ธกส.ได้นำไปสอนเกษตรกรแล้วได้ผลดี จากเป็นหนี้เอ็นพีแอลก็สามารถฟื้นตัวได้ เพราะทำตามเศรษฐกิจพอเพียง
รวมทั้งในขณะนี้ ประเทศเกิดปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีภัยแล้ง น้ำท่วม ปัญหาเยอะไปหมด แม้รัฐบาลพยายามแจกเงิน 5,000 บาท แต่เป็นเพียงการลดปัญหาระยะหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้น จึงมีเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยจำนวนนี้ 4 แสนล้านบาทนำไปฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ให้ประชาชนมีรายได้ ซึ่งได้อนุมัติไปแล้วกว่า 9.24 หมื่นล้าน เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีโครงการอนุมัตแล้วคือ โคก หนอง นาโมเดล อีกทั้งโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งทฤษฎีใหม่ มีเรื่องการบูรณาการบิ๊กดาต้า การดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งยกระดับเกษตรสมัยใหม่แปลงใหญ่สู่ภูมิภาค เป็นต้น
ส่วนเมื่อเกิดโควิด-19 ขึ้นนั้น กระทบต่ออะไรบ้างและสามารถทำอะไรได้บ้าง องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เสนอว่า ต้องทบทวนแนวคิดพัฒนาประเทสหลังโควิด สิ่งแรกให้ปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจที่เป็นอิสระมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งต่างประเทศ 70% พึ่งตัวเองแค่ 30% ดังนั้นทิศทางประเทศจึงต้องปรับสมดุลระหว่างการบริโภคในประเทศกับต่างประเทศใหม่ โดยหันมาบริโภคภายในมากกว่าต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยูเอ็นเสนอว่า ต้องเร่งสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นด้านเกษตรกรรมและธุรกิจการเกษตร อาหาร ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แล้วปรับไปสู่เกษตรสีเขียวให้มุ่งสู่ความหลากหลายชีวภาพ เช่น ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และทุกเรื่องที่เสนอนั้น สามารถนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ได้หมด
นายเอ็นนู เชื่อมั่นว่า ขณะนี้ประเทศผจญกับวิกฤต สิ่งสำคัญเมื่อล้มแล้วต้องพร้อมจะลุกให้ไว โดยเน้นยึด 3 แนวทาง คือ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้ และเปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโต โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสภาพัฒน์ฯหยิบเรื่องนี้มาแล้วนำเสนอ กำลังอยู่ระหว่างเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเดือนหน้านี้
“การปฏิรูปด้านการเกษตรต้องเริ่มจากการเสริมสร้างคนให้เข้ากับวิถีพอเพียงให้ได้ก่อน คือให้สัมมาทิฏฐิก่อน อย่าโลภมาก อย่าทำเกินตัว ทำอะไรต้องมีเหตุผล ต้องมีภูมิคุ้มกัน ถ้าเข้าใจและทำได้ ก็จะทำอย่างมีข้อมูล รู้จักวิเคราะห์ ห้ามคิดแบบมั้งศาสตร์ แล้วพร้อมใช้เครื่องมือที่เหมาะสมมาทำงานและสุดท้ายคิดค้นนววัตรกรรมเพื่อการพัฒนา”
กลับสู่หน้าหลัก โครงการผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลง คลิก
ติดตามข้อมูลข่าวสานของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv