มอหินขาว (2) : ป่าชุมชนวิถีเศรษฐกิจยังชีพ
กว่า 10 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2551-2564 ชาวบ้านโดยเฉพาะหมู่บ้านหนองฉนวน บ้านวังน้ำเขียว บ้านวังคำแดน รวมกว่า 900 ครัวเรือน ที่ตั้งอยู่ห่างมอหินขาว 5 กิโลเมตรมีความขัดแย้งกับอุทยานแห่งชาติภูแลนคา
แม้ที่ผ่านมา ในเวลาบางช่วงมีฝ่ายรัฐราชการพยายามผลักดันให้ทำ MOU เพื่อยุติความขัดแย้ง แต่ชาวบ้านยืนกรานไม่ยอมลงนาม เพราะประสบการณ์ทำให้เชื่อว่า “MOU ไม่เคยเป็นจริง” ยังเป็นความรู้สึกปักคาใจอยู่จนถึงปัจจุบัน
MOU ไม่เคยเป็นจริง
นับแต่ปี 2507 ชาวบ้านอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา ทำมาหากินในพื้นที่ 3,500 ไร่โดยรอบมอหินขาวมานานกว่า 20 ปี กระทั่งฝ่ายรัฐให้ย้ายลงมาอยู่พื้นราบเนื่องจากต้องการให้พื้นที่ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านเริ่มพาครอบครัวทยอยย้ายลงจากมอหินขาวตั้งแต่ปี 2522 แล้วเสร็จสิ้นในปี 2542
อย่างไรก็ตาม แม้พื้นที่โดยรอบมอหินขาวปลอดการอยู่อาศัย แต่ชาวบ้านยังสร้างกระท่อมเถียงนาไว้พักเมื่อขึ้นไปทำไร่ ไถนา หาเห็ด หาหนอไม้ เก็บดอกหญ้ามาทำไม้กวาด และเก็บสมุนไพรมาเป็นยารักษาการป่วยไข้ ซึ่งสะท้อนว่า มอหินขาวกับพื้นที่ใกล้เคียงรวม 3,500 ไร่เป็นแหล่งชีวิตของชาวบ้านมาเนินนานกว่า 40 ปี
แล้วในปี 2544 ฝ่ายรัฐยื่นเสนอกันพื้นที่มอหินขาวกับบริเวณใกล้เคียงรวม 3,500 ไร่ ห้ามอยู่อาศัย แต่ชาวบ้านเรียกร้องให้เป็นพื้นที่ชุมชน และทำข้อตกลงร่วมกันกับฝ่ายรัฐ (MOU) เพื่อกันบริเวณมอหินขาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวและการค้าขาย ซึ่งฝ่ายรัฐราชการยินยอมตามความต้องการชาวบ้าน
หลังการทำ MOU ชีวิตชาวบ้านยังดำเนินมาเป็นปกติสุข สามารถเก็บเห็ด หาหนอไม้ได้ แต่แล้วในปี 2550 เกิดอุทยานแห่งชาติภูแลนคาขึ้นมาครอบทับแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน เบื้องแรกผนวกเอาพื้นที่บริเวณผาหัวนาค จากนั้นในปี 2557 พยายามขยายไปผนวกเอาพื้นที่มอหินขาวและบริเวณที่เหลือรวม 3,500 ไร่ไปเป็นเขตอุทยาน ซี่งหมายถึงการใช้ชีวิตกับผืนป่าภูแลนคาอย่างปกติเมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ส่อแววสูญสิ้นไป
ดังนั้น ชาวบ้านจึงคาใจ MOU กับฝ่ายรัฐฉบับปี 2544 ที่ยอมรับให้กันพื้นที่มอหินขาวและบริเวณโดยรอบรวม 3,500 ไร่เป็นพื้นที่ชุมชน แต่แล้วในปี 2551 เมื่อเกิดอุทยานขึ้นแล้วผนวกเอาผาหัวนาคเป็นเขตอุทยาน จึงแสดงถึงสิ่งไม่เป็นจริงของ MOU ได้ชัดเจน นั่นสะท้อนถึงฝ่ายรัฐราชการไม่ยึดปฎิบัติให้เป็นจริง
ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2557 อุทยานต้องการผนวกพื้นที่มอหินขาวกับบริเวณที่เหลืออีก และห้ามชาวบ้านขึ้นไปหาแหล่งอาหารตามชีวิตปกติที่เคยทำไม่ได้ แต่ถูกชาวบ้านคัดค้าน จนนำไปสู่อุทยานเรียกร้องทำ MOU ในปี 2561 เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ แต่ชาวบ้านปฎิเสธ โดยไม่ยอมผนวกเป็นพื้นที่กับอุทยาน เพราะมีบทเรียนมาแล้วว่า MOU ไม่เคยเป็นจริง
ทุกวันนี้ ปัญหาอุทยานผนวกมอหินขาวกับบริเวณที่เหลือ ยังถูกคัดค้านจากชาวบ้าน และชาวบ้านไม่สามารถใช้พื้นเป็นแหล่งการทำมาหากินและสร้างท่องเที่ยวชุมชนตามความมุ่งหวังขึ้นมาได้
ป่าชุมชนและเศรษฐกิจยังชีพ
ชาวบ้านมีความชัดเจนว่า ไม่ผนวกมอหินขาวกับบริเวณที่เหลือโดยรอบไปเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานภูแลนคา เพราะการยินยอมเช่นนั้น หมายถึงการตัดขาดแหล่งทำมาหากินถึง 1,500 ไร่ (แหล่งเก็บอาหาร) ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิตและอาชีพ จากการเก็บหน่อไม้ เก็บเห็ด เก็บต้นไม้กวาด เก็บหวาย ไผ่ ต้องสูญสลายไปทันที
ดังนั้น การคัดค้านของชาวบ้านจึงมุ่งไปสู่การกันพื้นที่มอหินขาวกับบริเวณโดยรอบไว้เป็นป่าชุมชนและการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจยังชีพของชาวบ้านโดยรอบมอหินขาวที่ได้ประโยชน์จากผืนป่าแห่งนี้มาเนินนานกว่า 50 ปีก่อนที่อุทยานภูแลนคาจะเข้ามาครอบทับ แล้วพยายามยึดครอบครองอย่างเบ็ดเสร็จ
ความต้องการของชาวบ้าน คือการสงวนพื้นที่เพื่อปลูกป่าไม้และป่าชุมชุน โดยป่าชุมชนประมาณ 80-90 ไร่ ลักษณะเป็นป่าเต็งรัง ในบริเวณวัดป่าพรหมราชศรัทธาธรรม ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากการหาเห็ดในฤดูฝน และหายารักษาโรค แต่ปัจจุบันยาบางชนิดใกล้สูญพันธุ์
การปลูกป่าและป่าชุมชนนั้น ยังทำให้ชุมชนที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม และบรรยากาศดี และมี “มอหินขาว” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของหมู่บ้าน ในเชิงหลักการถือได้ว่าเป็นสมบัติร่วมของชุมชน จึงเป็นเหตุผลให้ชุมชนมีสิทธิและโอกาสในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวได้เอง
ดังนั้น การที่ชุมชนเป็นเจ้าของและมีอำนาจในการจัดการท่องเที่ยวได้เอง จะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพชุมชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่ม การบริหารจัดการ ความภาคภูมิใจ สำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยว
ไม่เพียงเท่านั้น หากจำแนกความต้องการของชาวบ้านแล้ว สิ่งที่จะตามมากับการกันพื้นที่เป็นป่าชุมชุนและการท่องเที่ยวชุมชนนั้น ยังสร้างเศรษฐกิจถึง 6 อาชีพเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้าน โดยเกิดกลุ่มอาชีพเก็บเห็ด กลุ่มอาชีพทำไม้กวาดดอกหญ้า กลุ่มหน่อไม้ปี๊บ กลุ่มอาชีพเก็บกลอย การเลี้ยงสัตว์ควาย-วัว และที่สำคัญคือ เกิดการค้าขายกับการท่องเที่ยวมาสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้าน
หากจำแนกแต่ละกลุ่มอาชีพแล้ว พบว่าในแต่ละอาชีพสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านได้มากกว่า 46 ล้านบาทต่อปี โดยกลุ่มเก็บเห็ด แบ่งเป็นเห็ดยูคากับเห็ดระโงก ซึ่งมีกว่า 208 ครอบครัวยึดเป็นอาชีพเสริมเก็บได้ประมาณ 167,669 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นรายได้กว่า 6.7 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มอาชีพทำไม้กวาดดอกหญ้า ประกอบอาชีพ 167 ครอบครัวผลิตได้ต่อปีประมาณ 48,500 ด้าม ราคาด้ามละ 40 บาท คิดเป็นมูลค่า 1,940,000 บาท กลุ่มหน่อไม้ปี๊บรวม 89 ครอบครัวผลผลิตรวมต่อปี 126,250 ปิ๊บ ราคาปิ๊บละ 250 บาท รวมมูลค่า 2,493,400 บาท
อีกทั้งมีการเก็บกลอย ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ 8 ครอบครัว น้ำหนักกลอย 12,200 กิโลกรัม มูลค่า 122,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ควายและวัวอีกประมาณ 1,000 ตัว มูลค่า 28 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งกลุ่มท่องเที่ยวมีร้านค้า 18 ร้านในบริเวณมอหินขาว รวมเป็นรายเสริมได้มากถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ ไม่อยากให้อุทยานภูแลนคามาสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตชุมชน การพึ่งพาอาศัยหาอยู่หากินบนพื้นที่ อีกทั้งไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับมอหินขาว
ชาวบ้านมองถึงอนาคตว่า ถ้ามอหินขาวและบริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ชุมชนจะเกิดการห่วงแหนป่า พร้อมกับการดูแลรักษา เพราะสิ่งนี้คือ แหล่งชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านมากกว่า 900 ครอบครัวที่ได้ประโยชน์
อนาคตที่ชาวบ้านวาดหวังไว้กับการท่องเที่ยว คือ พัฒนามอหินขาว และรวมมือกับฝ่ายรัฐ สร้างความน่าดึงดูดใจในสถานที่ท่องเที่ยวมาชม สัมผัสประติมากรรมแท่งหินที่ธรรมชาติสร้างขึ้น มีความเก่าแก่มีรอยผุกร่อนที่สวยงาม มีกลุ่มหินโขลงช้าง กลุ่มหินต้นไทร และผาหัวนาคให้เที่ยวชม มีจุดชมวิวหลายจุดเพราะมีหน้าผาหลายด้าน
นอกจากนี้ใน วันสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ได้สัมผัสอากาศหนาวเย็นทุกปี การพัฒนาเชิญชวนให้เป็นแหล่งดูดาวที่เห็นชัด สิบสองเดือนเจ็ดดาวเก้าตะวัน ช่วงเดือนสี่เดือนห้าก็เย็น สงกรานต์อากาศเย็น มีฝนดาวตกมานั่งดูดาวกัน
รวมทั้งได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางไปเที่ยวชมมอหินขาว กลุ่มหินโขลงช้าง และเกิดความความประทับใจ ได้กางเต็นท์เข้าถึงธรรมชาติ สัมผัสอากาศเย็นและกลางคืนหนาว เสียงลมพัดตึ้มๆ มาจากเทือกภู
ถึงที่สุดแล้ว แหล่งท่องเที่ยวชุมชนจะประสานเป็นเนื้อเดียวกับป่าชุมชน เกิดอาชีพ 6 ด้านที่เป็นแหล่งรายได้เสริมให้ชาวบ้าน ดังนั้น เสียงของชาวบ้านจึงยังมั่นคง และยืนกรานไม่ยอมให้อุทยานภูแลนคาผนวกพื้นที่มอหินขาว
เพราะมอหินขาวและบริเวณโดยรอบคือชีวิตของชุมชน เป็นแหล่งรายได้ เป็นผืนป่าที่ก่อเกิดประโยชน์มาเนินนานกว่า 60 ปีจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น เสียงร้องของชาวบ้านจึงแผดเสียงดัง “ไม่ยอมผนวกพื้นที่” และไม่เชื่อถือคำมั่นจาก MOU จะเป็นจริง เนื่องจากเคยถูกรัฐราชการเบี้ยวมาแล้ว
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ