มสช. MOU ม.เกษตร เติมวิชาการเร่งด่วน มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
มสช. MOU ม.เกษตร เติมวิชาการเร่งด่วน
มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
มูลนิธิสัมมาชีพกับสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร ม.เกษตรศาสตร์ ลงนามความร่วมมือ เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก นำวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพและกรณีศึกษาอื่นๆ รวม 101 ราย เป็น “ต้นแบบ” ขยายผลเร่งด่วนสู่เกษตรกร วิสาหกิจ
เภสัชกร ดร. พิสิฐ อุ่ยรุ่งโรจน์ นายกสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (MOU) ระหว่างมูลนิธิสัมมาชีพ และสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหารฯ ว่า สืบเนื่องจากมีการทำกรณีศึกษา 101 วิสาหกิจชุมชน เพื่อศึกษาถึงแนวทางสร้างความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนเหล่านั้น และในโอกาสครบรอบ 80 ปีของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทางสมาคมจึงสนใจที่จะนำความสำเร็จของเหล่าวิสาหกิจมาช่วยพัฒนาเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ต่อไป จึงได้ทำ MOU กับมูลนิธิสัมมาชีพเพื่อร่วมมือกันทั้งด้านวิชาการและการขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร โดยในระยะต่อไปจะได้หารือถึงการออกแบบหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มวิสาหกิจ เกษตรกร
ทางด้านน.ส. วลัยพร ทิพยศุภลักษณ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า ในความร่วมมือครั้งนี้ มูลนิธิฯ จะนำความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 16 แห่งที่ได้รับรางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพมาเป็นแนวทางปรับใช้กับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนแห่งอื่นต่อไป ซึ่งการนำต้นแบบเหล่านี้มาขยายผลต่อ จะช่วยให้วิสาหกิจแห่งอื่นมีแนวปฏิบัติสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น เป็นการช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจท้องถิ่นในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น
“มูลนิธิฯ มีภารกิจร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้นความร่วมมือนี้จะเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้สำเร็จเร็วขึ้น และเป็นการทำงานด้านวิชาการร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของสมาคมที่มุ่งให้บริการทางวิชาการแก่สาธารณะด้วย”
ขณะที่ดร.สุนทร คุณชัยมัง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ว่า ความร่วมมือของทั้งสององค์กรจะช่วยกันเติมเต็มด้านวิชาการให้กับวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจ SME เป็นการต่อยอดให้กับฐานรากอย่างเร่งด่วนและทันกับความรู้สมัยใหม่
“ความร่วมมือนี้จะเน้นนำอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมความรู้ ไปเติมเต็มวิสาหกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยกำหนดเป็นหลักสูตรเร่งด่วนระยะสั้น 3 ด้าน และจะเริ่มดำเนินการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566”
ดร.สุนทร กล่าวว่า การอบรมทั้ง 3 หลักสูตรจะเป็นหลักสูตรระยะสั้น ประกอบด้วย หนึ่ง เรียนรู้และสำรวจความพร้อมของธุรกิจตัวเอง ทั้งด้านการตลาดและวิธีการทำอย่างไร มีอะไรเป็นจุดแข็ง รวมทั้งความสำเร็จระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจสังคมของแคนวาส (Model Canvas)
หลักสูตรที่สอง เป็นการวิเคราะห์คุณค่าเชิงพื้นที่ว่า ถ้าดำเนินการแล้วจะสร้างคุณค่าการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เกิดประโยชน์ในท้องถิ่น ชุมชนอย่างไร ทั้งด้านรายได้และการเปลี่ยนแปลง ขณะที่หลักสูตรที่สาม เป็นการวิเคราะห์ความเหมาะสมที่มีต้นแบบแล้ว 16 วิสาหกิจชุมชน รวมทั้ง SME 11 แห่ง เพื่อใช้เป็นตัวแบบความสำเร็จขยายไปสู่พื้นอื่น
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพและประธานในพิธีลงนาม MOU กล่าวว่า ยินดีที่ทั้งสององค์กรได้มาร่วมมือกันผลิต 3 หลักสูตร เพื่อผลักดันให้คนยากจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือสามารถเป็นผู้ประกอบการและสามารถรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน
“หลักสูตรทั้ง 3 เป็นสิ่งที่ดี จะทำให้ชุมชนเติบโตเร็วขึ้นอย่างมีเป้าหมายและเกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจฐานราก แต่สิ่งสำคัญ ต้องนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันปัญหา ซึ่งถือเป็นแนวทางการวางแผนแก้ไขปัญหาด้วย” นายเอ็นนูกล่าว
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv