skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
มสช. จับมือ ธกส. หารือแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน

มสช. จับมือ ธกส. หารือแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน

                 

             เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 นางสาวอารีย์ คงแจ่ม ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการ พร้อมด้วยนางสาววิลาสินี ดอนเงิน และ นางสาวกมลทิพย์ ศรีอรรคพรหม เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการ มูลนิธิสัมมาชีพเดินทางร่วมประชุมหารือ แนวทางการขับเคลื่อน  MOU สานพลังขับเคลื่อน พัฒนาวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน ร่วมกับ นายอนุวัตร โสภา ผู้ช่วย ผู้อำนวยการสำนักผลิตภัณฑ์ลูกค้าและท่องเที่ยวชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  1 ใน 10 องค์กร  ผู้ลงนาม MOU โดยมีข้อสรุปทิศทางการทำงาน โดย ธกส. ดังนี้

1. ปักหมุดพัฒนาพื้นที่ พัฒนาวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน จำนวน 10 พื้นที่ แยกเป็นพื้นที่ตามข้อเสนอของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 5 พื้นที่ และพื้นที่ตามข้อเสนอของ ธนาคารออมสิน จำนวน 5 พื้นที่

2. พื้นที่ปักหมุดของ ธกส. 5 พื้นที่ ประกอบด้วย

  • ชุมชนบ้านสันทางหลวง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

“บ้านสันทางหลวง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และยังมีจุดเด่นเกี่ยวกับ “วิถีชาวไทยอง” ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นรวมถึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ในประเทศไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีประวัติเก่าแก่

  • หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนบ้านภู จังหวัดมุกดาหาร

ชุมชนบ้านภู เป็นชนเผ่าภูไท ที่อพยพจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเมื่อ พ.ศ. 2387 มาอาศัยอยู่ในระหว่างหุบเขาจึงได้ชื่อว่า บ้านหลุบภู ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านภู” แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันสวยงาม มีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาษา ดนตรี และประเพณีต่างๆ ที่น่าสนใจ ชาวบ้านนิยมการแต่งกายนุ่งซิ่นทิว ใส่เสื้อเย็บมือย้อมคราม แถบชายขอบแดง ห่มผ้าสไบพาดไหล่ซ้ายอันเป็น อัตลักษณ์ของชุมชน ที่นี่มีการอนุรักษ์สืบสานฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอย่างเข้มแข็ง มีกิจกรรมบนลานวัฒนธรรม บายศรีสู่ขวัญ รับประทานอาหารพาแลง มีการแสดงดนตรีพื้นบ้าน การฟ้อนผู้ไท และมีที่พักโฮมสเตย์ ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว

  • (หมู่บ้านช้าง) บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

หมู่บ้านช้างบ้านกะโพ-ตากลาง จังหวัดสุรินทร์ สัมผัสวิถีความเป็นอยู่ของคนในชุมชน บ้านตากลาง และช้างอย่างใกล้ชิด โดยแต่ละครัวเรือนจะมีช้างเลี้ยงไว้ และอาศัยอยู่รวมกัน เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างคนกับช้าง จนได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมชมโชว์การแสดงความสามารถสุดน่ารักของเหล่าช้างแสนรู้ในหมู่บ้าน

บ้านกะโพ–ตากลาง  เป็นชุมชนชาวกวยขนาดใหญ่ที่มีเขตติดต่อกันหลายหมู่บ้าน บริเวณริมแม่น้ำมูลและลำน้ำชี  หรือที่เรียกกันว่าชาวส่วยโบราณ(ภาษาส่วยไม่เหมือนภาษาเขมร) ซึ่งในอดีตเป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพหรือวิชาในการออกไปคล้องช้างป่า และนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือหนังประกำ ที่ใช้เป็นเชือกในการคล้องช้าง มีศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง เป็นสถานที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวิถีความเป็นอยู่ ความผูกพัน ของคนในชุมชนและช้าง รวมทั้งประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมอย่างใกล้ชิด ชาวบ้านตากลาง แต่ละครัวเรือนจะมีช้างที่เลี้ยงไว้อาศัยอยู่รวมกัน จนช้างที่พวกตนเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของตน ก่อให้เกิดสายใยความผูกพันที่แน่นเฟ้นขึ้น ระหว่างคนกับช้าง ณ บ้านตากลาง จ. สุรินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก มีบ้านพักโฮมสเตย์ รองรับนักท่องเที่ยว เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน

  • ชุมชนบ้านทุ่งเพล ต.ฉมัน อ.มะขาม จ.จันทบุรี เป็นชุมชนที่ชาวบ้านเล็งเห็นถึงคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ นักท่องเที่ยวแวะเวียนกันเข้ามาท่องเที่ยว ชมธรรมชาติในพื้นที่อย่างไม่ขาดสาย ชาวบ้านจึงมีการตัวกันทำที่พักโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชน

  • บ้านถ้ำเสือ ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

ชุมชนบ้านถ้ำเสือ ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก ชุมชนที่มาล้นไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราวความหลังในอดีตที่ยังคงรักษาตัวตนของบรรพชนของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยความที่เป็นชุมชนที่ยังคงสภาพพื้นที่ที่มีความสวยงาม ชุมชนบ้านถ้ำเสือจึงนับเป็นชุมชนที่มีวิถีในแบบฉบับของตนเองที่น่าค้นหาแห่งหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ชุมชนบ้านถ้ำเสือแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่มีความเหลือเชื่อกับความสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงสรรพสิ่งต่างๆ และคงความงดงามมาจนถึงปัจจุบัน หาดทรายร้อย สปาธรรมชาติที่มีเฉพาะตอนเช้าตรู่ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์  จึงนับเป็นไฮไลท์ในการผ่อนคลายของนักท่องเที่ยว ที่นิยมกันในการมาเยือนชุมชนบ้านถ้ำเสือแห่งนี้

3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ 5 พื้นที่ ให้เกิด “การสร้างเครือข่าย”  มุ่งหวังให้ 5 ชุมชน เป็นชุมชนต้นแบบ (ชุมชนอุดมสุข) และสามารถต่อยอดสู่ชุมชนอื่นได้

 

Back To Top