skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
พลังงานทดแทนโลกอนาคตเพื่อไฟฟ้าสะอาด

พลังงานทดแทนโลกอนาคตเพื่อไฟฟ้าสะอาด

พลังงานทดแทนโลกอนาคตเพื่อไฟฟ้าสะอาด

 

การอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 12 ภายใต้กรอบคิด “ผู้นำแห่งอนาคต (The Future Leader) : ผ่านทุกวิกฤติ ด้วยวิถีสัมมาชีพ” ที่โรงแรม รามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ มีนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายกําพล โชคสุนทสุทธิ์ นายกสมาคมส่งเสริมดิจิทัลเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม (สสกอ. หรือ DPAI) เป็นวิทยากร เมื่อ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา

 

นายอรรถพล กล่าวในหัวข้อ “พลิกเศรษฐกิจประเทศไทย ด้วยมุมมองสู่อนาคต” โดยระบุถึงสถานการณ์โลกและประเทศไทยหลังการระบาดของโควิด-19 เบาบางลงว่า ภาวะเศรษฐกิจหลักของโลกโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปเริ่มฟื้นตัว เมื่อปี 2564 เติบโตขึ้นประมาณ 6.1 % เมื่อเทียบกับไทยช่วงเดียวกันเติบโตได้น้อยลงแค่ 1% ส่วนในปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะโตน้อยลงคาดประมาณ 3.6% และไทยจะโตขึ้นประมาณ 3% เนื่องจากมีปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน มากระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก พร้อมกับกระทบต่อไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เมื่อเศรษฐกิจโลกโตน้อยลงไทยก็ส่งออกได้น้อยลงตามไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตนั้น จะสะท้อนการเติบโตในรูปแบบ K-Shape คือ เมื่อมีโควิดทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่เมื่อฟื้นตัวในระบบธุรกิจจะไม่เท่ากัน บางธุรกิจฟื้นตัวไปได้ดี แต่บางธุรกิจกลับย่ำแย่อยู่ โดยอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตจะเป็นทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสาร ยานยนต์ รวมทั้งธุรกิจทางการแพทย์ และธุรกิจค้าปลีก ส่วนธุรกิจชะลอตัวจะด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งด้านการบิน ซึ่งต้องจับตาว่า จะกลับมาฟื้นอีกในระยะยาว

 

การท้าทายของโลกที่ต้องเผชิญและต้องปรับตัว คือ ทางด้านเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่รูปแบบเก่ามากขึ้น ทำให้ระบบการทำงานต้องเปลี่ยนไป การบริหารก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น การทำงานที่บ้านและบางส่วนมาทำงานที่สำนักงาน นอกจากนี้ โรงงานจะมีหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทแทนคนในสายงานที่ไม่เป็นที่ต้องการ

 

อีกทั้งการเปลี่ยนของแหล่งวัตถุดิบป้อนต่อสายการผลิตของโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยทุกประเทศพยายามพึ่งพาตนเองมากขึ้น ส่งผลกระทบให้รูปแบบการผลิตเปลี่ยนแปลง ปรับตัวไปด้วย รวมถึงธุรกิจด้านสุขภาพ สิ่งแวดล่้อม สังคมและแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืนจะยิ่งทำให้เกิดความสนใจมากขึ้นด้วย

 

 

อนาคตและทิศทางของพลังงาน

ในด้านพลังงานจะเปลี่ยนไปสู่ Go-Green ด้านพลังงานจึงเกิดการเปลี่ยนโลกครั้งสำคัญมาสู่การใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม แดด คาดว่า ในปี ค.ศ. 2050 จะเติบโตถึง 40% มาแทนที่พลังงานฟอสซิลจำพวกถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อน

 

อีกทั้งมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ Go-Electric โดยทำให้ต้นธานเกิดระบบไฟฟ้าสะอาดแล้วนำไปสู่ขับเคลื่อนทั้งโครงการการผลิตอื่นๆ จะเน้นความสะอาดตามไปด้วย เช่น ใช้พลังงานทดแทนมาผลิตไฟฟ้า แล้วนำไปขับเคลื่อนระบบการผลิตอื่นๆก็สะอาดไปด้วย พร้อมกับกระจายผู้ผลิตรายเล็กและใหญ่มาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ไม่ผูกขาดที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ) แห่งเดียว

 

ดังนั้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตทั้ง 2 ทิศทางดังกล่าว จะทำให้เกิดความสำคัญกับการมุ่งสู่ Net-Zero โดยบริษัทใหญ่ด้านพลังงานของโลกมีแผนลงทุนด้านพลังงานทดแทนมากขึ้นถึง 30-40% ส่วนไทยประกาศปล่อยก๊าซเสียเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 ภายใต้เงื่อนไขได้รับสนับสนุนทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้ว สำหรับ ปตท. บริษัทพลังงานใหญ่ก็จะประกาศ Net-Zero เร็วกว่าปี ค.ศ. 2065 ต้องรอติดตาม

 

ปตท.ปรับตัว เปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กร

ในระดับประเทศทิศทางการเปลี่ยนของไทยมีแนวโน้มเน้นความเป็นสีเขียวมากขึ้น ในด้านเศรษฐกิจจะนำสู่การปรับด้านลอจิสติก ดิจิทัส รถยนต์ ฮับทางการแพทย์ การศึกษา การเกษตร และการท่องเที่ยว อีกทั้งด้านไบโอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปรับตัวในองค์กรธุรกิจด้วย สำหรับ ปตท.แล้ว ได้เริ่มปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ขององค์กรให้สร้างความมั่นคงให้ประเทศ ดังนั้นจึงต้องทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพ สามารถสนับสนุนการค้าขายพลังงานในต่างประเทศให้ได้ เพราะพลังงานส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งไทยแค่นำเข้าเท่านั้น

 

การเปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กรใหม่มาสู่ทิศทาง “Powering Life with Future Energy and Beyond” เน้นไปที่พลังงานเพื่อผู้คน สังคม ครอบครัว ประเทศชาติ โดยขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งอนาคต ดังนั้น ในภาคธุรกิจองค์กรจะเกิดการปรับตัว เปลี่ยนมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนชีวิตด้วยพลังงานทดแทนและสั่งเครื่องมือที่นอกจากพลังงาน เช่น เครื่องมือแพทย์ เพื่อต่อยอดให้ไทยเป็นฮับทางการแพทย์ อีกทั้งมุ่งสู่ธุรกิจปิโตรเคมี รวมทั้งเพิ่มบทบาท วิจัยธุรกิจด้านหุ่นยนต์ในสายการผลิต โดยจะใช้งบประมาณ 30% จากเงินทุนที่ ปตท.มีอยู่

 

ด้วยทิศทางใหม่จึงส่อถึงการปรับวิถีการทำงานตามไปด้วย โดยยึดแนวทาง  PTT by PTT โดย PTT  แรก หรือ Powering Thailand’s Transformation มุ่งองค์กรและประเทศก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง ส่วน PTT หลัง เน้นทิศทางการดำเนินธุรกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ Partnership & Platform, Technology for All และ Transparency & Sustainability

 

การปรับตัวในทิศทางใหม่ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเกิดความก้าวหน้าพอสมควร โดยมีเป้าหมายลงทุนในพลังงานทดแทนให้ได้ 12,000 เมกะวัตต์ในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งตอนประกาศมีไม่ถึงพันเมกะวัตต์ จากนั้นผ่านมาเพียงปีเดียวก็ทำได้ถึงสองพันกว่าเมกะวัตต์ แต่ต้องเดินหน้าต่อให้ถึงเป้า 12,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังลงทุนด้านแบตเตอรี่ ตั้งโรงงานใหญ่ที่ จ.ระยอง อีกทั้งยังลงทุน Platform ให้สามารถซื้อขายพลังงานทดแทนกันได้ผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นต้น

 

เกษตรกรยุคใหม่-อุตสาหกรรมเกษตรดิจิทัส

ส่วนนายกําพล กล่าวในหัวข้อ “เกษตรยุคใหม่ เติบโตได้ โดยใช้เทคโนโลยี” ว่า สนับสนุนใช้ระบบดิจิทัสมาส่งเสริมเกษตกร เพื่อนำไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม ดังนั้นดิจิทัสจึงเป็นหนทางสำคัญของเกษตรกรที่จะขยายไปสู่การผลิตเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความสมดุลใน 3 ด้านคือ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการผลิตเชิงอาหาร และรักษาสิ่งแวดล้อม

 

การทำให้มีรายได้มากขึ้น คือการให้โอกาสเข้าถึง ซึ่งไม่ใช่การแจกเงิน โดยโอกาสนั้นต้องเน้นถึงการมีความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร โดยเฉพาะการเรียนฟรี เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปถึงเกษตรกร

 

“คนแนะนำหรือผู้นำต้องเข้าไปร่วม เข้าไปจับคู่ระหว่างผู้รู้เทคโนโลยีกับเกษตรกร สิ่งสำคัญต้องนำสิ่งสำเร็จเข้าไปหาเพื่อดึงเกษตรกรมาเข้าร่วม โดยเราต้องทำให้สำเร็จก่อนจึงเข้าไปจับคู่หรือเปลี่ยนชีวิตในครึ่งที่เกษตรกรทำมา สิ่งสำคัญต้องเข้าใจก่อนอื่นเลยว่า ปลูกเพื่ออะไรจึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ”

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

 

 

 

 

Back To Top