skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
พรรคคอมมิวนิสต์จีนกับการแก้ปัญหาความยากจน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนกับการแก้ปัญหาความยากจน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2464 พรรคการเมืองพรรคนี้มีจุดมุ่งหมายตั้งแต่เริ่มต้นคือการแก้ปัญหาความยากจนของชาวจีน โดยการต่อต้านเจ้าของที่ดินและชาวนาร่ำรวยที่เอารัดเอาเปรียบชาวนา รวมทั้งยังต่อต้านการรุกรานของบรรดาประเทศมหาอำนาจตะวันตก ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และสหรัฐฯ ฯลฯ ที่รุกรานและแบ่งปันการครอบครองดินแดนของประเทศจีนอยู่ในขณะนั้นด้วย

ในระยะเริ่มต้นพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นพรรคที่ผิดกฎหมายและเอนเอียงไปในทางที่เห็นด้วยกับแนวทางการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตรัสเซียที่เน้นการแก้ปัญหาของกรรมกรในเมืองเป็นหลัก และไม่ใคร่สนใจที่จะแก้ปัญหาให้แก่ชาวนามากนัก

ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรุ่นก่อนเหมาเป็นปัญญาชน “นักเรียนนอก” ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันลัทธิมาร์กซ-เลนิน ของสหภาพโซเวียต จึงสนใจ ทำงานกับกรรมกรในเมืองมากกว่าชาวนา

เหมาเป็นลูกชาวนา เรียนจบวิทยาลัยครู ทำงานเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุด เขาสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ ปรัชญา วรรณกรรมของจีน และลัทธิมาร์กซ เหมาไม่เคยผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ เขาสนใจศึกษาค้นคว้าความเป็นจริงในชนบทของจีนอย่างลึกซึ้ง เขาเป็นเจ้าของวลี “ค้นหาสัจจะ (truth) จากความเป็นจริง” (fact) เขาเป็นนักยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการทหาร เขาเขียนตำราทางการทหารไว้เป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากงานปรัชญาและบทกวี เขามีความเอนเอียงสูงที่ต่อต้านระบบทุนนิยม เพราะเห็นว่าระบบทุนนิยมนั้นเอารัดเอาเปรียบประชาชน

ตราบจนกระทั่งเมื่อ เหมา เจ๋อ ตุง ก้าวขึ้นเป็นผู้นำของพรรค พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเริ่มต้นที่จะมีความเป็นอิสระจากแนวทางของโซเวียต เหมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาเป็นหลัก และอาศัยกำลังของชาวนาเป็นกองกำลังสำคัญที่สุดในการขอจับมือกับพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น เพื่อขอให้พรรคก๊กมินตั๋งร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น พรรคก๊กมินตั๋งจำใจยอมร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์เพราะเสียงเรียกร้อง และแรงกดดันของประชาชนทั้งประเทศที่ขอให้ทั้งสองพรรคร่วมมือกันต่อต้านญี่ปุ่นก่อน ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างโดดเดี่ยว รวมทั้งยังต้องคอยป้องกันตัวเองจากการถูกโจมตีจากพรรคก๊กมินตั๋งอีกทางหนึ่งด้วย

หลังจากที่ญี่ปุ่นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว พรรคก๊กมินตั๋งได้ประกาศทำสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์ทันที ด้วยการบุกโจมตี และเข่นฆ่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับการสนับสนุนจากชาวนาภายในประเทศอย่างกว้างขวางในระหว่างการทำสงครามกับญี่ปุ่น ในที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในปี พ.ศ.2492

เหมาเป็นผู้นำรุ่นแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีโอกาสปกครองประเทศ แต่เขาไม่ใคร่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนชาวจีนนัก เนื่องจากเหมายอมรับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักตามแบบสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นต้นแบบของประเทศสังคมนิยมในขณะนั้น

เหมามองว่าการสร้างระบบสังคมนิยมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คุณธรรม” ของคนมากกว่า “แรงจูงใจ” ที่เป็นเงินทอง วัตถุหรือสิ่งของ ด้วยเหตุนี้เขาจึงลงโทษสมาชิกพรรคที่เขาเห็นว่าเดินแนวทาง “ทุนนิยม” รวมทั้งเหมายังให้การส่งเสริม และสนับสนุนการปฏิวัติวัฒนธรรม เพื่อสร้างสังคมนิยมตามอุดมคติของเขา

ในท้ายที่สุดแล้ว แนวทางการสร้าง สังคมนิยมของสหภาพโซเวียต และของเหมาต่างไม่ประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งคู่ ถึงแม้ว่าเหมาจะรักประชาชนอย่างลึกซึ้งมากมายเพียงใดก็ตาม แต่โลกทัศน์หรือความคิดของเขา กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด ที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจที่จะทำให้ประชาชนคนจีนอยู่ดีกินดีไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง คนจีนยังอยู่กันอย่างอัตคัดขาดแคลน เช่นเดียวกับประชาชนโซเวียต

ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศจีนยุคใหม่อย่างเห็นได้ชัดคือเติ้งเสี่ยวผิง ที่ได้รับโอกาสให้กลับมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจจีนหลังจากที่ศูนย์กลางพรรคจีนสามารถขจัดผู้นำที่เดินแนวทาง “ซ้ายจัด” ภายในพรรคได้สำเร็จ

เติ้งแตกต่างจากเหมา เพราะในวัยหนุ่มเขาเคยไปศึกษาต่อและทำงานอยู่ที่ฝรั่งเศส และต่อมายังได้ไปศึกษาต่อทีสหภาพโซเวียตด้วย ดังนั้น เติ้งจึงมีโอกาสเห็นโลกกว้างกว่าเหมา

เมื่อกลับจีน เขาเป็นผู้นำในการสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพก๊กมินตั๋งโดยตลอด

เติ้งนอกจากเป็นนักการทหารแล้วยังเป็นนักการทูตที่มีความสามารถในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศด้วย ครั้งหนึ่งในการเจรจากับนายกรัฐมนตรีอังกฤษนางมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ ซึ่งได้รับสมญานามว่า “นางสิงห์เหล็ก” เพราะเพิ่งส่งกองทัพเรือของอังกฤษไปยึดเกาะฟอล์กแลนด์ของประเทศอาร์เจนตินาได้สำเร็จ

การเจรจาต่อรองระหว่างเติ้งกับเเทชเชอร์ ที่มีความตึงเครียดสูงและยืดเยื้อยาวนาน เพราะอังกฤษพยายามยื้อไม่ยอมคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนหลังจากหมดสัญญาเช่า 99 ปีแล้ว จนกระทั่งเติ้งได้ขู่ว่า หากไม่สามารถตกลงกันได้ จีนพร้อมส่งกำลังทหารเข้ายึดเกาะฮ่องกงทันที ซึ่งทำให้อังกฤษเสียหน้าเป็นอย่างมาก

เติ้งผู้เป็นเจ้าของวลีอมตะว่า “แมวขาวหรือแมวดำ ถ้าจับหนูได้ ก็เป็นแมวที่ดี” ซึ่งทำให้เขาถูกเหมาปลดออกจากทุกตำแหน่ง ทั้งในพรรค ในหน่วยงานของรัฐบาล และกองทัพ แล้วถูกส่งไปทำงานหนักอยู่ในชนบทเป็นเวลาหลายปีถึงสองครั้งสองหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งหลัง ซึ่งเขามีอายุมากแล้ว แต่เขาไม่เคยยอมแพ้กับความเชื่อของตนเอง

เติ้งกลับมาในฐานะผู้นำพรรค หรือผู้นำบารมีที่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคหรือเป็นประธานาธิบดี แต่เขาคือผู้ออกแบบระบบเศรษฐกิจการเมืองของจีนยุคใหม่ที่เรียกกันว่า “สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศจีน” เนื่องจากสิ่งที่เขาคิดแตกต่างจากหลักคิดของปรมาจารย์ของลัทธิมาร์กซทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมาร์กซ เลนิน และเหมา เจ๋อ ตุง

เพราะเหล่าปรมาจารย์ของลัทธิมาร์กซข้างต้นทั้งหมดต่างมองว่าระบบสังคมนิยมเป็นปรปักษ์กับระบบทุนนิยมที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ มีแต่ต้องทำลายล้างกันลงไป

เติ้ง ทำให้ระบบเศรษฐกิจของจีนมีทั้งระบบสังคมนิยมและระบบทุนนิยมอยู่คู่กันได้ เหมือนความเชื่อเรื่อง “หยินกับหยาง” ของชาวจีน ระบบที่ดูเหมือนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันแต่กลับอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดอง

เติ้ง และผู้นำของจีนรุ่นต่อมาคือ จูหรงจีและหูจิ่นเทา เป็นผู้นำคนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของจีนมีความทันสมัยและเติบโตขึ้นอย่างมหัศจรรย์ จนเศรษฐกิจของจีนก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำของโลกได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของจีนเติบโตขึ้น ปัญหาที่ติดตามมาที่เหมือนกันทั้งโลกก็คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนมีกับคนจน และความยากจนยังมี ให้เห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ห่างไกล นอกจากนี้ระบบทุนนิยมยังนำมาซึ่งการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เห็นได้ทั่วทั้งโลกและในประเทศจีน

ก่อนหน้าการสร้างนวัตกรรมทางการเมืองของเติ้ง ประธานาธิบดีคอนราด อาเดนเนาเออร์ (Konrad Adenauer) ผู้นำของเยอรมันตะวันตกเป็นคนแรกที่ออกแบบระบบเศรษฐกิจของประเทศเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วยการเอาจุดแข็งของ ”ระบบทุนนิยม” คือเรื่องของ “ประสิทธิภาพ” กับจุดแข็งของ ”ระบบสังคมนิยม” คือเรื่องของ ”สวัสดิการ” มาผสมผสานกันเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเพื่อสังคม (social capitalism) หรือระบบเศรษฐกิจตลาดเพื่อสังคม (social market economy) ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้ทุนนิยมของเยอรมันมีทั้งประสิทธิภาพและมีทั้งระบบสวัสดิการที่ดีที่สุดในโลกซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของทุนนิยมเยอะมัน ที่แตกต่างจากทุนนิยมของอเมริกันที่เป็น ”ทุนนิยมเสรี”(free capitalism) ที่เป็นระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือเป็นทุนนิยมผูกขาดนั่นเอง

ถึงแม้ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนทุกคนต่างเอาใจใส่เรื่องการแก้ความยากจนของประชาชนมาโดยตลอดก็ตาม แต่สีจิ้นผิงเป็นผู้นำของจีนคนแรกที่ทุ่มเทในเรื่องการแก้ความยากจนเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

โดยหลักการแล้ว การแก้ปัญหาความยากจนต้องมีเจ้าภาพ สำหรับประเทศจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเจ้าภาพการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีน

ในระบบการเมืองของจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจสูงสุด พรรค คอมมิวนิสต์เป็นผู้นำทั้งรัฐบาลและกองทัพ พรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้กำหนดแนวทางและนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนทั่วทั้งประเทศจีน การแก้ปัญหาความยากจนในระดับมณฑล จังหวัด อำเภอจนกระทั่งถึงระดับหมู่บ้าน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคที่ระดับศูนย์กลาง กรรมการพรรคตั้งแต่ระดับมณฑลจนกระทั่งถึงระดับหมู่บ้าน ดังนั้นมาตรการในการแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละมณฑลลงไปถึงระดับหมู่บ้านจึงมีลักษณะที่อาจจะเหมือนกันและแตกต่างกันไปตามสภาพความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่

หมู่บ้านที่ยากจนในมณฑลหนึ่งไม่ได้หมายความว่าหมู่บ้านนั้นมีแต่คนจนทั้งหมด จริงๆ แล้วในหมู่บ้านยังมีชาวนาที่ไม่ยากจนอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง ชาวนาที่ยากจนมีอยู่ระหว่าง ร้อยละ 20-100 ของชาวนาทั้งหมดในแต่ละหมู่บ้าน แต่การแก้ปัญหาคนจนในแต่ละหมู่บ้านจะถูกรวมศูนย์ด้วยทรัพยากรทุกอย่างของประเทศทั้งจากภาคการเมืองคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ภาคราชการคือฝ่ายรัฐบาล ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนในหมู่บ้านด้วย

การแก้ปัญหาความยากจนของจีนมีลักษณะคล้ายการทำสงคราม กล่าวคือรวมศูนย์กำลังทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าข้าศึกราว 10 เท่า แล้วบดขยี้กองกำลังของข้าศึกที่มีจำนวนน้อยกว่ามาก จนข้าศึกย่อยยับ ไม่เหลือชิ้นดี นี่เป็นวิธีการทำสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ใช้ทำสงครามกับญี่ปุ่นและพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งมีกำลังมากกว่า แต่เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้วิธีการรวมศูนย์กำลังทั้งหมดในการรบแต่ละครั้ง ดังนั้น ในทางยุทธวิธี ของการทำสงครามแล้ว พวกเขากลับมีกำลังมากกว่าฝ่ายข้าศึก ทั้งๆ ที่ในทางยุทธศาสตร์แล้ว ข้าศึกมีกำลังทหารมากกว่าพลพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์มากก็ตาม

ระบบเศรษฐกิจของจีนที่มีทั้งทุนนิยมและสังคมนิยมอยู่ร่วมกันนั้น
เมื่อระยะเวลาผ่านไปกลไกของทั้งสองระบบเกิดการทำงานร่วมกัน และผสมผสานกันจนเกิดปทัฏฐาน (norm) ใหม่ของสังคมขึ้น นักธุรกิจไม่ได้มีแต่เพียงจุดมุ่งหมายที่จะแสวงหากำไรให้แก่ตัวเอง และธุรกิจของตนเท่านั้น แต่พวกเขายังมีจุดมุ่งหมายที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน และแสดงออกถึง ”ความรักชาติ” ที่จะสร้างให้ประเทศจีนให้มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันพวกเขาแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะเป็นหุ้นส่วนในการ “แบ่งปันความมั่งคั่ง” ที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจร่วมกับรัฐบาลและคนระดับล่างของสังคม นี่เป็นอุดมการณ์ “ชาตินิยมแบบรักชาติ และรักประชาชน” ของกลุ่มธุรกิจจีนยุคใหม่ ซึ่งแตกต่างจากอุดมการณ์ของนักธุรกิจในประเทศทุนนิยมทั่วไป

ในระบบทุนนิยม กลไกราคาจะทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรให้แก่สังคม การจัดสรรทรัพยากรเช่นว่านี้อาจจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม อาจจะยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมก็ได้

แต่ในระบบเศรษฐกิจแบบจีน จีนให้โอกาสแก่กลไกราคาทำงาน เพราะพวกเขาเชื่อว่ากลไกราคาของทุนนิยมจะจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่พวกเขาไม่ได้วางใจกลไกราคาไปเสียทั้งหมด ดังนั้นในบางเรื่องรัฐจึงเข้ามาร่วมทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรกับกลไกราคาด้วย ดังที่เราจะเห็นได้ว่าในการจัดหาทรัพยากรให้แก่หมู่บ้านที่ยากจนนั้น ธุรกิจเอกชนจะเข้ามาช่วยเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว ฯลฯ แต่รัฐบาลสามารถที่จะเข้ามาช่วยทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่นไฟฟ้า น้ำประปา และระบบอินเตอร์เน็ตให้แก่ เกษตรกร เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่าถ้าหากปล่อยให้กลไกราคาทำงานอย่างอิสระโดยปราศจากการ แทรกแซงเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้แล้ว โครงสร้างพื้นฐานอาจเกิดได้ช้าและทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันการ

โดยทั่วไปแล้ว วิธีการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศทุนนิยมหรือทุนนิยมเพื่อสังคม ใช้การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อเอาภาษีเหล่านั้นไปอุดหนุนระบบการศึกษาที่สร้างความเท่าเทียมในสังคม รวมทั้งสร้างระบบสวัสดิการให้แก่สังคม

ในประเทศไทยใช้วิธีให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ส่งเสริมการทำธุรกิจเพื่อสังคมโดยให้บริษัทเอกชนบริจาคงบประมาณส่วนหนึ่งตามความสมัครใจให้แก่มูลนิธิ หรือชุมชนที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

ในประเทศจีน สีเสนอนโยบาย ”แบ่งปันความมั่งคั่งร่วมกัน” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยให้ธุรกิจเข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับรัฐบาลและประชาชนในการแก้ปัญหาความยากจนในระดับหมู่บ้านร่วมกัน โดยที่ธุรกิจช่วยอุดหนุนเรื่องของเงินทุน ความรู้ เทคโนโลยีและการตลาด เป็นต้น ดังนั้นบทบาทของนักธุรกิจจีนต่อสังคมจึงอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับบทบาทของนักธุรกิจในระบบทุนนิยมทั่วไป

จุดเด่นประการหนึ่งในเรื่องการแก้ความยากจนของจีนคือ จีนมองว่าการแก้ปัญหาความยากจนกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นมีความเกี่ยวข้องกัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนพบว่างบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาประเทศของรัฐบาลตกไปอยู่ในมือของผู้นำพรรค ผู้นำรัฐบาล และผู้บริหารของรัฐบาลทั้งในส่วนกลางและในส่วนท้องถิ่น ดังนั้นประธานาธิบดีสีจึงประกาศปราบการคอร์รัปชั่นด้วยการใช้นโยบายว่าจะตีทั้ง “เสือและแมลงวัน” คือรัฐบาลจะจัดการทั้งผู้บริหารระดับสูงและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น นโยบายที่ไม่ลูบหน้าปะจมูกของสีทำให้ผู้บริหารระดับสูงสุดของพรรคตั้งแต่ในระดับกรมการเมืองซึ่งมีจำนวนเจ็ดคนที่มีอำนาจสูงสุดของพรรค และของประเทศจีนถูกดำเนินคดีโดยต้องพ้นจากตำแหน่งและถูกจำคุก ประมาณการกันว่าผู้นำพรรคระดับสูง รัฐมนตรี สมาชิกพรรค และข้าราชการนับแสนถึงล้านคนถูกลงโทษจากข้อหาคอร์รัปชั่น

สิ่งที่น่าตื่นใจอีกประการหนึ่งในเรื่องการแก้จนของจีนก็คือ การสร้างระบบการแก้ความยากจนลงไปถึงระดับครัวเรือน และถึงตัวคนแต่ละคน และเมื่อแก้ความยากจนได้แล้ว พวกเขายังสร้างระบบเฝ้าติดตามทุกครอบครัวไม่ให้มีโอกาสกลับมาจนซ้ำอีก นี่เป็นสิ่งที่ระบบทุนนิยมไม่สามารถทำให้ได้ เพราะต้นทุนแพงเกินไป

สำหรับสีแล้วการขจัดความยากจน ออกไปจนหมดสิ้นจากประเทศจีนแล้ว ยังไม่ใช่เป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางไกลอีกครั้งหนึ่งของประเทศจีนเท่านั้น พวกเขายังคงมีความฝันที่จะสร้างประเทศจีนให้เป็นระบบสังคมนิยมที่ทันสมัยของโลกยุคใหม่ในปี 2035 (พ.ศ.2578) อีกด้วย

 

ที่มา: คุณสังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

3 สิงหาคม 2566

 


 

Back To Top