skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ฝ่าดงโควิดลุยถนนคนเดิน พายเรือคายัคคลองโอ่งอ่าง

ฝ่าดงโควิดลุยถนนคนเดิน พายเรือคายัคคลองโอ่งอ่าง

ฝ่าดงโควิดลุยถนนคนเดิน

พายเรือคายัคคลองโอ่งอ่าง

 

แม้กรุงเทพฯ ยามเย็นเริ่มได้สัมผัสลมหนาวเบาบาง แต่ยังหวั่นสะท้านกับเชื้อโควิดรายวันพุ่งสูงครองอันดับหนึ่งของประเทศต่อเนื่องมาหลายเดือน ข้อมูลเมื่อ 13 พ.ย. กรุงเทพพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 667 คน ทำให้มียอดสะสม 4 แสนคน ขณะที่ทั้งประเทศติดเชื้อสะสมทะลุหลัก 2 ล้านคนไปแล้ว

 

มีความวิตกกังวลกันอยู่บ้างกับนโยบายเปิดประเทศที่เริ่มเมื่อ 1 พ.ย. ว่า จะทำให้เชื้อโควิดแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ยิ่งกรุงเทพเป็นแหล่งเที่ยวยอดนิยมของต่างชาติ ดังนั้นเสียงเตือนตอกย้ำอย่าใช้ชีวิตประมาท เพราะนักท่องเที่ยวยุโรปซึ่งขยับเป็นศูนย์กลางระบาดใหม่เริ่มทยอยมาไทย ส่วนใหญ่เมื่อลงเครื่องบินแล้วปักหลักเที่ยวในกรุงเทพเป็นด่านแรก โดย ศบค.รายงานว่า ถึง 13 พ.ย.ที่นมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยรวมกว่า 3.9 หมื่นคน

 

ขณะนี้ รัฐบาลเน้นเชิญชวนให้ 63 ประเทศกลุ่มมีความเสี่ยงโควิดต่ำให้เข้ามาเที่ยวในพื้นที่ 17 จังหวัดนำร่อง แต่มีเพียง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพ ภูเก็ต กระบี่ และ พังงา สามารถขายและดื่มเหล้า-เบียร์ในร้านอาหารได้ ส่วนสถานบันเทิงยามค่ำคืนทั้งผับ บาร์ ยังสั่งห้ามเปิด เพราะเกรงจะสุ่มเสี่ยงเป็นคลัสเตอร์แพร่เชื้อครั้งใหญ่ คงต้องรอลุ้นอีกครั้งวันที่ 16 ม.ค. 2565 ว่าจะได้รับอนุญาติหรือไม่

 

แม้ย่านราตรีในกรุงเทพยามโควิดระบาดมักเงียบเหงา ไร้ไฟแสงสีเชิญชวนก็ตาม แต่มี“ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง” เป็นแหล่งเที่ยวเพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้มาผ่อนคลายยามเย็นทุกศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ หลังจากปิดหนีโควิดนานหลายเดือน บัดนี้เริ่มเปิดใหม่อีกครั้งระหว่างเวลา 15.00–20.00 น. ตั้งแต่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกรุงเทพเน้นรับประกันว่า ได้ป้องกันการแพร่ระบาดและความปลอดภัยของทุกคนไว้เป็นอย่างดีตามมาตรการสาธารณสุขทุกกระเบียดนิ้ว

อีกทั้งผู้ค้าหรือประกอบการทุกรายและทุกครั้งขณะค้าขายจะมีบัตรประจำตัวผ่านการตรวจคัดกรอง ATK ทุกสัปดาห์ไว้แสดงเพื่อความสะบายใจของผู้ซื้อ พร้อมมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ที่สำคัญยึดการเว้นระยะห่าง ซึ่งเป็นมาตรการหลักให้ปฏิบัติ

 

ตามที่มาของคลองโอ่งอ่างนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุงที่ขุดตั้งแต่สร้างกรุงเทพ ในสมัยรัชกาลที่ 1 เดิมทีเป็นย่านค้าขายเครื่องปั้นดินเผา จึงเป็นที่มาของชื่อคลองโอ่งอ่าง และยังเชื่อมโยงกับพื้นที่ตลาดบกคือ สำเพ็ง พาหุรัด ที่ตั้งอยู่บนฝั่ง ทำให้สมัยก่อนย่านนี้คึกคักทั้งส่วนของตลาดบกและตลาดน้ำ พร้อมทั้งยังมีวิกลิเกหลวงสันท์ที่โด่งดัง ตั้งอยู่ที่ริมคลองแห่งนี้ด้วย

    

ในยุค คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2558 รัฐบาลมีมติให้รื้อถอนอาคารร้านค้าต่างๆ เพื่อจัดระเบียบ ‘คลองโอ่งอ่าง’ ใหม่ ใช้งบประมาณกว่า 400 ล้านบาทจนปรับภูมิทัศน์แล้วเสร็จในปี 2562 สร้างถนนใหม่ตลอดทางเดินริมคลองสองฝั่งตลอดความยาว 1.5 กิโลเมตร โดยมุ่งหวังให้สมกับฉายา “เวนิสเมืองไทย” และเป็นอีกแลนด์มาร์กสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ

 

ปัจจุบันพื้นที่สองฝั่งคลองโอ่งอ่างปูพื้นอิฐ ปลูกต้นไม้ พร้อมจัดสวนเล็กน้อยไว้รองรับการพักผ่อน เปิดเป็น “ถนนคนเดิน” ริมคลอง ช่วงสะพานภานุพันธ์ถึงสะพานดำรงสถิตย์ จะได้ชมภาพวาดสตรีทอาร์ตตลอดผนังกำแพงบริเวณทางเดิน เป็นผลงานศิลปะสวยงาม เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ พหุวัฒนธรรมชุมชนที่ซ่อนอยู่ในย่านแห่งนี้ พร้อมมีนักดนตรีเปิดหมวก มีการแสดงของเยาวชน และประชาชนทั่วไป กระจายกันอยู่สองฝั่งคลองที่มีน้ำใส สะอาด กลิ่นดี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าปัญหาน้ำเน่าเสียในกรุงเทพสามารถแก้ได้จริง ถ้าทุกฝ่ายทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนตั้งใจและร่วมมือกันจริงๆ

 

ตลอดทางถนนคนเดิน 750 เมตร ช่วงสะพานดำรงสถิตถึงสะพานโอสถานนท์ มีร้านค้าและแผงขายอาหารและสินค้าต่างๆ ที่กรุงเทพเปิดให้พ่อค้า แม่ขายนำมาเปิดแผง รวมจำนวน 261 ร้าน แบ่งเป็นร้านค้า 119 ร้าน และแผงค้า 142 แผง เรียกได้ว่า เป็นพื้นที่ Street food  นานาชาติ ทั้ง ไทย จีน อินเดีย ภูฏาน เกาหลี ไต้หวัน ไว้ให้นักท่องเที่ยวลองลิ้มชิมรสชาติจนอิ่มพุง

 

   

 

ลงไปในคลองโอ่งอ่างยังให้ประชาชนพายเรือคายัคฟรี โดยมีเรือบริการ 15 ลำ รอบละ 30 นาที สามารถรับบัตรคิวได้ที่ท่าน้ำหน้าร้านสะพานเหล็กสแควร์ เมื่อน้ำคลองสะอาด ไม่เน่าเสีย ผู้คนจึงสนใจพายเรือชมสองฝั่งคลองทิวทัศน์ ผู้คน การแสดง ฟังเพลงเปิดหมวก จึงเป็นกิจกรรมที่มีเสน่ห์ดึงดูดให้ตื่นตาตื่นใจดี

 

ทุกยามเย็นสุดสัปดาห์ ในช่วงอากาศสบายๆ มีลมหนาวอ่อนๆ กลางแสงสียามค่ำคืนที่ถูกประดับให้ถนนคนเดินและคลองโอ่งอ่างสวยงามตื่นตา ดังนั้น พื้นที่แห่งนี้ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวไว้อวดสายตาและรองรับต่างชาติให้ผ่อนคลายจากเชื้อโควิดระบาดได้ไม่น้อยที่เดียว

 


 

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee</a

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top