skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ผู้นำก่อการดี-สัมมาชีพต้นแบบชัยภูมิ  ขับเคลื่อนก้าวสู่“เมืองสมุนไพร”

ผู้นำก่อการดี-สัมมาชีพต้นแบบชัยภูมิ ขับเคลื่อนก้าวสู่“เมืองสมุนไพร”

ผู้นำก่อการดี-สัมมาชีพต้นแบบชัยภูมิ

ขับเคลื่อนก้าวสู่“เมืองสมุนไพร”

 

นายกอบชัย บุญอรณะ  อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กรรมการมูลนิธิสัมมาชีพและที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ (ท่านแรกภาพซ้ายมือ)

“กอบชัย บุญอรณะ” นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นําการเปลี่ยนแปลงภูมิภาค จังหวัดชัยภูมิ หลังจากมูลนิธิสัมมาชีพร่วมกับเครือข่าย LFC ชัยภูมิ จัดอบรมผู้ปฎิบัติงานจริงในพื้นที่รวม 64 คน จาก  8 อําเภอ ได้แก่ อ.เมืองชัยภูมิ คอนสวรรค์ แก้งคร้อ เนินสง่า หนองบัวแดง เกษตรสมบูรณ์ หนองบัวระเหว และ อ.บ้านเขว้า โดยแต่ละอำเภอได้นำเสนอกิจกรรมออกแบบโครงการอำเภอละ 1 โครงการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ ซึ่งเป็นแผนงานระยะแรกของการสร้างสัมมาชีพพื้นที่ต้นแบบ

 

8 อำเภอ 8 โครงการนำร่องเต็มพื้นที่ชัยภูมิ

โครงการปฏิบัติจริงของแต่ละอำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองชัยภูมิ เสนอโครงการพัฒนาเครือข่ายเห็ดครบวงจร ซึ่งมุ่งหวังถึงการเปิดศูนย์เรียนรู้เรื่องเห็ดได้ 1 ศูนย์ สร้างทีมวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องเห็ดจํานวน 8 คน และขยายเครือข่ายผู้ปลูกเห็ดจํานวน 5 ราย โดยคาดว่า จะส่งผลให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนกว่า 100 คน นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปเห็ดเป็นแผ่น plant based อาหารเพื่อสุขภาพจากเห็ดด้วย

 

     

 

ส่วน อ.เกษตรสมบูรณ์นั้น “กอบชัย บุญอรณะ” รายงานว่า ได้นำเสนอโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนสาวบ้านแต หวังพัฒนาลายผ้าสาวบ้านแต้ 11 ศรี ขึ้น ถือเป็นตัวแทนชาวเกษตรสมบูรณ์ทั้ง 11 ตําบล และได้ประชาสัมพันธ์ผ่าน Fanpage facebook อําเภอเกษตรสมบูรณ์ พบว่า ได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้า มีคําสั่งซื้อผ่านเข้ามาต่อเนื่อง และที่พิเศษไปกว่านั้นได้พัฒนาลายผ้าทอเป็น“ลายสิงห์บ้านแต้” (ลายผู้ชาย) ออกแบบลงเสื้อวิ่งในโครงการของ อ.เกษตรสมบูรณ์

 

     

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันเครือข่าย LFC เกษตรสมบูรณ์ มีกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยพัฒนาทําฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด และทําจิ้งหรีดแช่แข็งส่งขาย ซึ่งอยู่ระหว่างการเพิ่มเครือข่ายผู้เลี้ยงเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน

 

สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเลี้ยงโคต้นน้ำแบบมีมาตรฐาน GFM ของ อ.เนินสง่า ได้ออกแบบสู่การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเลี้ยงโคและอบรมพัฒนาศักยภาพปราชญ์ชุมชนด้านการเลี้ยงโคครบทั้ง 4 ตําบล รวมทั้งสร้างปราชญ์ชุมชนที่มีทักษะความรู้มาพัฒนาหลักสูตร “การเลี้ยงโคแบบประณีต” ตามมาตรฐาน GFM ได้ จํานวน 16 คน

 

 

อีกทั้ง ยังจัดทํา Program เก็บข้อมูลโค โดยแต่ละฟาร์มสามารถกําหนดรหัส และ User ของตนเองได้ แล้วบรรจุแผนฝึกอบรมพัฒนาอาชีพเกษตรกร เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาตําบลกะฮาดปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นแผนการฝึกอบรมที่สนับสนุนการขับเคลื่อนงานภายใต้โครงการ ของ LFC เนินสง่า

 

ตลอดจนเตรียมความพร้อมกลุ่มเป้าหมายที่ร่วมโครงการเกษตรกรผู้ผลิตโคต้นน้ำคุณภาพ ทํางานรูปแบบคลัสเตอร์สร้างความร่วมมือส่งต่อโคให้กับโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อคุณภาพ LFC  อ.คอนสวรรค์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตโคขุนออกสู่ตลาด

 

อย่างไรก็ตาม โครงการการเลี้ยงโคต้นน้ำของ อ.เนินสง่า ยังเชื่อมประสานกับ อ.คอนสวรรค์ ซึ่งมีโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อคุณภาพ โดยจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานในระดับตําบล ครบทั้ง 9 ตําบล และจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานระดับอําเภอจำนวน 1 คณะ

 

นอกจากนี้ได้จัดทําฐานข้อมูลการเลี้ยงโคเนื้อ อ.คอนสวรรค์ โดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้เลี้ยงโคเนื้อ สํานักงานปศุสัตว์อําเภอคอนสวรรค์ และสํานักงานเกษตรอําเภอคอนสวรรค์ ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด “คอกกลาง” เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมและพัฒนาโคขุนออกสู่ตลาด โดยดําเนิน

การไปแล้วในพื้นที่ 2 ตําบล คือ หนองขาม และ บ้านโสก คงเหลือ 7 ตําบล ซึ่งคณะทํางานมุ่งผลักดันให้เกิดครบทุกตําบล ในระยะต่อไป

 

ยังมีโครงการนักการตลาดน้อย (Born2Be Ban Khwao) อ.บ้านเขว้า ได้สร้างนักการตลาดน้อยจํานวน 30 คน สามารถเปิดพื้นที่การตลาดได้ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญเกิดผู้ก่อการดีที่ผ่านกระบวนการฝึกอบรม “อาหารเป็นยา” และการดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเองในแนวแพทย์ธรรมชาติจํานวน 160 คน ขยายสู่ 8 อําเภอของชัยภูมิ แล้วยังมีข้อมูลผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบ e-catalog จํานวน 1 แพลตฟอร์มด้วย

 

อ.หนองบัวระเหว เสนอโครงการพัฒนานักสื่อสารการท่องเที่ยวมืออาชีพ (Mr. Chaiyaphum) และสร้างนักสื่อสารการท่องเที่ยวได้จํานวน 30 คน มีช่องทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในจังหวัดชัยภูมิ ผ่าน Youtube และ Fanpage ซึ่งมีผู้ติดตามเพิ่มจาก 500 คน เป็น 1,937 คนในปัจจุบัน

 

     

 

ไม่เพียงเท่านั้น “กอบชัย บุญอรณะ” รายงานว่า อ.หนองบัวแดง นำเสนอโครงการยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร (มะม่วง) โดยสร้างเพจ “ของดี ผลไม้ดัง อําเภอหนองบัวแดง” เป็นช่องทางสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ มีผู้ติดตาม 738 คน คณะทํางาน LFC อําเภอหนองบัวแดง ได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดช่องทางการตลาดให้กว้างขึ้นทั้งในแบบออฟไลน์ และออนไลน์ และจัดกิจกรรมออกบูธจําหน่ายสินค้าทางการเกษตร ในจังหวัดชัยภูมิ อีกทั้งสนับสนุนการปลูกผลไม้หลากหลายชนิดในอําเภอหนองบัวแดง

 

 

      

 

ส่วนโครงการศูนย์การเรียนรู้นาประยุกต์ ของ อ.แก้งคร้อ ได้จัดกิจกรรมตรียมแปลงสาธิต โดยให้ร่วมลงพื้นที่ดํานา แล้วมีการทดลองสั่งจองข้าวที่เป็นผลผลิตจากแปลงสาธิตที่ตนเองลงปลูกดําในฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา พบว่า ได้ผลตอบรับในการสั่งจองเป็นอย่างดี

 

“อุทัย เกิดมงคล” 1 ใน คณะทํางาน LFC อําเภอแก้งคร้อ ซึ่งเป็นเจ้าของแปลงนาสาธิตต้นแบบ ได้ปรับแผนการทํานา มาลงผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา เพื่อนําไปจําหน่ายยังตลาดสีเขียวในทุกๆ วันศุกร์ จนก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 5,000 บาท/สัปดาห์ หรือ 20,000 บาท/เดือน

 

 

 

จับมือ “ไทยเปฟ” ขยับรุกสู่เมืองสมุนไพรต้นแบบ

“กอบชัย บุญอรณะ” รายงานว่า ในระยะที่สอง มีแนวทางพัฒนา “ผู้นำ-นําการเปลี่ยนแปลงจังหวัดชัยภูมิ” เพื่อพัฒนาพื้นที่เครือข่ายสู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบสัมมาชีพ ส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ให้กระจายรายได้สู่คนในชุมชน

 

โดยโครงการระยะนี้ ได้ร่วมมือกับ “ไทยเบฟ” มุ่งหวังให้กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพร จ.ชัยภูมิ ทําแปลงสาธิตรวมพันธุ์สมุนไพรใน 7 อําเภอ ของ จ.ชัยภูมิ พร้อมขยับไปสู่การจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจเครือข่ายผู้ปลูกสมุนไพรด้วย

 

     

 

แนวคิดแปลงรวมพันธุ์สมุนไพรนั้น เน้นให้เป็นแปลงขยายพันธุ์สมุนไพรและสาธิตการเรียนรู้ให้กับสมาชิกกลุ่ม โดยมีหลักเกณฑ์ว่า ต้องมีแปลงรวมจำนวน 5-10 ไร่ มีแหล่งน้ำ มีคนทำงานและมีการจัดการ ภายใต้การร่วมมือเครือข่ายให้กลุ่มยืมงบประมาณพัฒนาแปลงรวม โดยกลุ่มคืนเป็นเงินเมื่อขายผลผลิตให้กับเครือข่าย

 

 

“การขับเคลื่อนเครือข่ายสมุนไรชัยภูมิกำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้ชัยภูมิเป็นเมืองสมุนไพร สมาชิกมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้เพิ่ม มีความมั่นคงด้านการตลาด และมีปราชญ์ชาวบ้านนำความรู้นำไปขยายผลได้”

 

“กอบชัย บุญอรณะ” รายงานว่า ภารกิจของเครือข่ายจะส่งเสริมและขยายช่องทางตลาด พัฒนาองค์ความรู้ด้านสมุนไพร แลกเปลี่ยนและเรียนรู้การทำงานของสมาชิก ซึ่งมี 13 กลุ่มวิสากิจชุมชนจำนวน 246 ราย จาก 7 อำเภอของชัยภูมิ คือ อ.เมือง ภูเขียว จตุรัส แก้งคร้อ คอนสวรรค์ บำเหน็จณรงค์ และหนองบัวระเหว โดยเบื้องต้นมีพื้นที่รวม 147 ไร่ และยังสามารถขยายได้อีก 135 ไร่

 

ส่วนแผนการตลาดนั้น ในระยะแรกจะมุ่งถอดบทเรียนแปลงรวมบ้านไทรงาม แล้วเน้นพัฒนาพื้นที่แปลงรวมพันธุ์สมุนไพรบ้านโนนทอง อ.จตุรัสจำนวน 3 งานจากสมาชิก 13 ราย และบ้านนางเม้ง ต.โพนทอง อ.เมือง จำนวน 20 ไร่ ตลอดจนบ้านโนนเสลา อ.ภูเขียว สมาชิกจำนวน 12 รายในพื้นที่แปลงรวม 8 ไร่ ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนการเรียนรู้จากวิทยาลัยเกษตรชัยภูมิ ตามโครงการ “1 วิทยาลัย 1 ตำบล” มาพัฒนาความรู้และสนับสนุนปราชญ์สมุนไพรให้ขยายไปเต็มพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ

 


ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

https://www.instagram.com/sammachiv/

Back To Top