ผู้นำกับสื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ผู้นำกับสื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ในการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 11 เมื่อ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้บรรยายถึงบทบาทสื่อในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ดร.ธนกร กล่าวว่า จุดเน้นของกองทุนพัฒนาสื่อฯ คือการจัดสรรทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เนื่องจากมีคนจนต่ำกว่าเส้นความยากจนในระดับมีรายจ่าย 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน เมื่อรวมกับคนบนเส้นและเหนือเส้นความยากจนเล็กน้อยแล้ว จะมีคนจนกว่า 16 ล้านคน ดังนั้น ความยากจนของคนปัจจุบันส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่เรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงจึงควรเข้าใจเหตุและผล เพราะเหตุนำไปสู่การแก้ไขผลเก่า แล้วเกิดผลใหม่อย่างมีนัยเปลี่ยนแปลง
อีกอย่าง ผลจากการเหลื่อมล้ำนั้น ได้สะท้อนถึงการผูกขาดทางเศรษฐกิจ รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า คนไทย 86% มีเงินฝากไม่เกินคนละ 4,000 บาท ขณะเดียวกันคนอีกแค่ 2% กลับมีทรัพย์สินมากมายมหาศาล โดยโครงสร้างสังคมเช่นนี้น่ากลัว และสัมมาชีพจึงเกิดได้ยาก เพราะโครงสร้างสังคมบ่งบอกถึงการขาดการแบ่งปั่น
การไม่แบ่งปั่นเกิดจากวิถีการผลิตแตกต่างกัน เนื่องจากคนจนหรือชาวบ้านขาดปัจจัยการผลิตขนาดใหญ่มาเป็นเครื่องมือทำการผลิต ส่วนกลุ่มทุนที่มีความพร้อมทั้งปัจจัยการผลิตใหญ่และหลากหลายเทคโนโลยี จึงยากจะแข่งขันกันได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจึงควรคิดจากเหตุเพื่อจัดการปัญหา เปรียบดังกับการตักขยะออกจากน้ำ แต่ไม่คิดถึงสาเหตุน้ำเน่าเหม็นมาจากที่ไหน ด้วยเหตุอะไร และทำไม
นักคิดกับความเป็นผู้นำ
ดร.ธนกร เสนอว่า ผู้นำต้องเริ่มจากการเป็นนักคิดก่อน แล้วไปเป็นผู้นำเพื่อเปลี่ยนแปลง คำถามหลักคือ จะเปลี่ยนแปลงแบบไหน นำไปสู่สิ่งใหม่อย่างไร ซึ่งคำตอบอยู่ที่ใช้ฐานคิดอะไรมานำทางให้สิ่งเก่าเกิดการเปลี่ยนแปลง
หากว่าเฉพาะฐานคิดทางเศรษฐศาสตร์แล้ว มีอยู่ 2 กระแส โดยกระแสหลักให้ความสำคัญกับผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ยึดแนวทางกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อเกิดพลังบริโภคไปหมุนเครื่องจักรเศรษฐกิจให้เคลื่อนตัว ดังนั้น การช่วยเหลือค่าครองชีพ หรือการแจกเงินของรัฐบาล หรือโครงการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน โครงการเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อประคองภาคเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำมากไปกว่าวิกฤตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ด้วยแนวคิดรัฐกระตุ้นปั่นหมุนลงทุนให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อบริโภคมีต้นทางมาจากนักคิดเศรษฐศาสตร์มหภาคสำนักเคนส์เซียน (Keynesian Economics) โดย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เป็นต้นธารบุกเบิกรักษาอัตราเติบโตและความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจผสมไว้ ด้วยการใช้แนวทางรัฐทุ่มงบประมาณเพื่อรักษาภาคเศรษฐกิจเอกชนและชลอผลกระทบไปสู่สังคม
นอกจากนี้ ยังมีอีกแนวคิดซึ่งสวนทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เป็นชุดวิธีคิดแบบลงทุน แบ่งปั่น และจัดสรรทรัพยกรที่เป็นธรรม โดยมองเชิงโครงสร้างให้ผู้นำประเทศช่วยกันแก้ไขปัญหามากความซับซ้อนในสังคม
บทบาทของสื่อเช่นกัน ในอดีตมีความพยายามอธิบายปัญหาซับซ้อนสะท้อนถึงผู้มีอำนาจนำไปตรวจสอบแก้ไข แต่สื่อแนวทางนี้ในเชิงธุรกิจอยู่ไม่ได้ จึงหันหารายได้จากโฆษณามาสนับสนุนเป็นหลัก ดังนั้น ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำบริษัทใหญ่จึงควรเน้นการทำซีเอสอาร์ให้มาก เพื่อแบ่งปั่นตามหลักคิดแบบสัมมาชีพ หากนิ่งเฉยแล้ว วันหนึ่งอาจจะสายเกินไป
รู้เท่าทันสื่อ
ในวงการสื่อ โดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น ทีวีและสิ่งพิมพ์ ล้วนมีเนื้อหาที่แย่ไม่แตกต่างกัน การใส่ใจปัญหาสังคมมองไม่ถึงรากเหง้าแท้จริง ข่าวดีๆตามวิถีดำรงชีวิตของสังคมถูกมองข้ามและสื่อไม่ให้ความสนใจนำเสนอ
ดร.ธนกร เสนอว่า สื่อต้องทำหน้าที่อยู่บนฐานความจริงมากกว่าสร้างอารมณ์ดราม่าให้ผู้รับสื่อติดตามแบบขาดสติ เพราะความจริงกับดราม่าเป็นปรากฎการณ์ย้อนแย้งสวนทางต่อกัน รูปแบบดราม่าทำให้สังคมเกิดบาดหมางทะเลาะกันทั้งในด้านความคิดเห็น ความเชื่อ ชุดความรู้ และอุดมการณ์ โดยสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สัจธรรม เนื่องจากเมื่อเวลาเปลี่ยนก็เปลี่ยนแปลงใหม่ได้
ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เปลี่ยนแปลง สิ่งแรกเริ่มคือ การรู้เท่าทันสื่อก่อน โดยวิเคราะห์ผลกระทบได้ด้วยการตั้งคำถาม เกิดข้อสงสัยให้มาก อีกอย่างควรแยกแยะบทบาทสื่อที่สะท้อนผ่านความเป็นวิชาชีพด้วยจรรยาบรรณ และความเป็นศาสตร์ที่เน้นถึงการวิเคราะห์ลุ่มลึก
“อันที่จริงสื่อเป็นเครื่องมือผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม ตอกย้ำความคิดความเชื่อสังคม หากรู้ไม่เท่าทันจะตกเป็นเครื่องมือในการผลิตชุดอุดมการณ์บางอย่าง สิ่งหนึ่งที่คนตีกันทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลของสื่อทั้งแนวใหม่และเก่า เมื่อสื่อมีความสำคัญเช่นนี้ เราต้องเป็นผู้เปิดรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน และเป็นผู้ผลิตสื่ออย่างมีคุณภาพ”
สื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ดร.ธนกร เสนอว่า การเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงต้องใช้หลักการของสื่อมาเป็นครื่องมือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยมีตัวอย่างสื่อวิทยุทางภาคใต้รายหนึ่ง คิดเปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางช่วยเศรษฐกิจชาวบ้าน เขาจัดรายการวิทยุเผยแพร่และไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กขายหมอนยางพาราหนึ่งชั่วโมงได้ถึงพันใบ สาเหตุที่ขายได้ เพราะหมอนได้บอกเรื่องราวของสมาชิกที่ขาดรายได้ กำลังจะอดตาย จึงทำให้คนมาซื้อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชน”
นักจัดรายการวิทยุคนนี้ เกิดความคิดเปิดตลาดนัดผลผลิตเกษตร เขาขายกล้วยน้ำหว้า แล้วไปจับมือกับหน่วยงานเกษตร ลงไปพื้นที่ให้ชาวบ้านปลูกกล้วยปลอดสารพิษแปลงเล็ก บ้านละ 4-5 ต้นรวม 30 ครัวเรือน เมื่อกล้วยออกเครือจะได้ผลผลิตประมาณ 150 เครือ
จากนั้น เขาเปิดร้านที่หาดใหญ่ ประกาศรับซื้อกล้วยจากชาวบ้านราคาหวีละ 30 บาท สถานนีวิทยุขอกำไร 10 บาท ขาย 40 บาท แพงกว่าราคาตลาดเล็กน้อย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ขายดีมาก เพราะผู้ซื้อเต็มใจซื้อของแพงเพื่อช่วยชาวบ้าน ไม่เพียงเท่านั้น เขาใช้สื่อมาช่วยเปิดร้านขายเมล่อนของค่ายทหาร และขายดีอีกเช่นเดิม
เรื่องราวนำมาเล่านั้น เป็นการทำงานส่วนหนึ่งของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนให้คนเล็ก คนน้อยได้ใช้สื่อเป็น มีนวัตรกรรมนำไปเปลี่ยนแปลงชีวิตชุมชน จึงเป็นเป้าหมายอุดมการณ์เดียวกันกับมูลนิธิสัมมาชีพ
“เราเห็นปัญหาซับซ้อนเชิงโครงสร้าง แต่เราไม่สามารถไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เราจึงเลือกทำให้จุดเล็กๆ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไม่ส่งเสริมให้ชุมชนแปรรูปสินค้าจำหน่ายในตลาดผูกขาด”
ดร.ธนกร กล่าวว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริง เศรษฐกิจต้องกระจายตัวและคนฐานรากจะเติบโตตามไปด้วย ถ้าวันนี้เราขับเคลื่อนสื่อให้ลงสู่ชุมชน จะนำไปสู่การกระตุ้นตลาดขายผลผลิตเกษตรสร้างรายได้มาจุนเจื่อชัวิตชุมชน
ดังนั้น สิ่งที่จะทำร่วมกันเพื่อการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันความขัดแย้งก็มาพร้อมการเปลี่ยนแปลง สิ่งแรกความเป็นผู้นำต้องหนักแน่น เราต้องไม่ปักใจ เลิกลุ่มหลงกับเนื้อหาสังคมที่เป็นความเชื่อและความแตกต่างทางความคิดในช่วงเวลาหนึ่งๆ ของสังคม แต่เราต้องวางอุเบกขาในเรื่องเหล่านี้
สองปัญหาสังคมควรวิเคราะห์ให้มากขึ้น ต้องตั้งคำถามสืบสาวหาเหตุปัจจัยและจะทำให้เห็นอกเห็นใจคนในปัญหา แล้วเราจะรักทุกคนได้โดยที่คิดไม่เหมือนเรา ซึ่งจะทำให้เข้าใจปัญหาแท้จริงที่โยงใยอีกหลายสาเหตุ และทำให้เราไม่เป็นคนด่วนสรุปในประเด็นที่เป็นปัญหาทางสังคม
ผู้นำนักคิด-เปิดรับ-สร้างสื่อคุณภาพ
กองทุนพัฒนาสื่อฯ เน้นให้เกิดการเปิดรับสื่อที่ดีมีคุณภาพ โดยได้จับมือร่วมทำงานกับหลายหน่วยงาน เช่น ชัวร์ก่อนแชร์กับ อสมท. ทำมาแล้ว 4 ปี ทำโครงการศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม โครงการบ่มเพาะสอนเด็กเยาวชนผลิตสื่อเพื่อเสนอเรื่องราวในชุมชนได้ เป็นต้น
“สำหรับผู้นำ ขอให้เป็นผู้นำเปิดรับสื่อที่ดีมีคุณภาพ ควรมีอารมณ์ไม่รีบแชร์ ต้องอ่านแล้วตั้งหลักคิดเสียก่อน มากกว่านั้น ทุกคนในที่นี้สามารถสร้างนวัตรกรรมสื่อไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้ทุกคน สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆคือ เอาวิธีคิดลงสู่ชุมชน สอนวิธีวิเคราะห์ ให้หาองค์ความรู้ และทำให้สิ่งใหม่เกิดคุณค่าและมูลค่าขึ้นมา”
ดร.ธนกร กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทั้งทางเศรษฐกิจชุมชน สินค้าท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยว ถ้าทำสิ่งที่เป็นคุณค่าทางสังคมท้องถิ่นให้เกิดมูลค่าขึ้นมาแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ในชุมขนและจะส่งผลกระทบมาถึงระดับชาติด้วย
ส่วนการควบรวมกิจการคอนซูเมอร์รายใหญ่นั้น ดร.ธนกร กล่าวว่า การครอบครองส่วนแบ่งตลาด 70% แต่คณะกรรมการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าวินิจฉัยว่า ก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาดแต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ซึ่งทำให้งงมากและไม่เข้าใจ ดังนั้น ผู้นำการเปลี่ยนแปลงควรหยิบยกเรื่องเช่นนี้สะท้อนออกสู่สาธารณะด้วยเสียงดังๆ
อีกอย่าง แม้รัฐบาลพยายามทำให้เกิดมาตรฐานดีๆของสังคมแต่ทำยังไม่ถึงที่สุด ขอเสนอให้ผู้นำทำในสิ่งเล็กๆไปให้ถึงที่สุด เพราะเศรษฐกิจฐานรากต้องการความยั่งยืน ซึ่งชาวบ้านทำอยู่แล้ว แต่ผู้นำต้องบอกและกระตุ้นให้ทุนรายใหญ่อย่าทำให้สิ่งที่ชาวบ้านทำอยู่แล้ว นั่นหมายถึงเปิดทางให้ชุมชนมีตลาดเสรีเพื่อจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้หล่อเลี้ยงครัวเรือนมีรายจ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจน
กลับสู่หน้าหลัก โครงการผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลง คลิก
ติดตามข้อมูลข่าวสานของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv