skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ผวาตื่น“ฝีดาษลิง” ขอมั่นใจ สธ.ไทยเฝ้าระวังอยู่ !!!

ผวาตื่น“ฝีดาษลิง” ขอมั่นใจ สธ.ไทยเฝ้าระวังอยู่ !!!

ผวาตื่น“ฝีดาษลิง”

ขอมั่นใจ สธ.ไทยเฝ้าระวังอยู่ !!!

 

ไม่ว่าโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) หรือไทยนิยามคำสุภาพว่า “ฝีดาษวานร” ยังไม่แพร่ระบาดมาถึงไทย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันผู้ป่วย 3 รายในไทยมีตุ่มหนองทั่วตัว เป็นอาการโรคเริม แต่ในพื้นที่เอเชียโรคนี้ระบาดเล็ดลอดเข้ามาเพียง 1 รายในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และล่าสุดพบอีกในอิหร่าน เมื่อ 27 พ.ค. 2565

 

 

 

ส่วนหลายประเทศในยุโรปตะวันตกและสหรัฐ โรคผีดาษลิงกระจายเชื้อมากขึ้น โดยข้อมูลรายงาน ณ 20 พ.ค. พบเชื้อ 39 ราย วันที่ 24 พ.ค.ติดเชื้อเพิ่มเป็น 158 ราย วันที่ 26 พ.ค. 2565 มีผู้ป่วยทั้งหมด 344 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดโรค อีกทั้งอยู่ในกลุ่มอายุ 20-59 ปี

 

 

จากนั้น วันที่ 28 พ.ค. 2565 มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 484 ราย (เพิ่มขึ้น 53 ราย) เป็นผู้ป่วยยืนยัน 401 ราย (เพิ่มขึ้น 69 ราย) และผู้ป่วยสงสัย 83 ราย (ลดลง 16 ราย) ใน 27 ประเทศทั่วโลก (เพิ่มขึ้น 1 ประเทศ) โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 139 ราย (29%) อังกฤษ 101 ราย (21%) โปรตุเกส 74 ราย (15%) แคนาดา 63 ราย (13%) และเยอรมัน 21 ราย ( 4%)

 

ที่สำคัญประเทศกลุ่มเสี่ยงในยุโรปดังกล่าว คือ เป้าหมายของไทยเปิดประเทศดึงชวนเชิญให้มาเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ความหวั่นวิตกจึงเกิดขึ้นว่า จะนำพาโรคผีดาษลิงติดตัวเข้ามาด้วยหรือไม่ แต่เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยเฝ้าสแกนถี่ยิบ เพื่อป้องกัน ควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดในไทยซ้ำรอยโรคโควิด-19 ที่ซัดกระหน่ำฉุดลากให้เศรษฐกิจล่มจมมากว่า 2 ปี จนวายวอดถึงชั่วยามนี้

 

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ขอให้มั่นใจว่า ประเทศไทยมีการคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงที่ด่านคัดกรองโรคระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 2565 อัตราการเดินทางเข้าไทยทั้งคนต่างชาติและคนไทย เฉลี่ยวันละ 10,000 ราย แต่ยังไม่พบผู้ป่วยสงสัยเข้าข่าย

 

อย่าแตกตื่น! ฝีดาษลิง

ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2565 มีรายงานผู้ป่วยรายแรกในอังกฤษ ที่ไม่ได้ไปพื้นที่โรคประจำถิ่นของโรคฝีดาษลิงในทวีปแอฟริกา จากนั้นนับวันได้ลุกลามไปทั่วยุโรปตะวันตกอีกหลายประเทศจนมีผู้ติดเชื้อ 92 ราย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control: ECDC) รายงานเมื่อ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 219 รายจาก 19 ประเทศ แล้วแพร่เชื้อเพิ่มเป็น 344 รายในวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น ใน 1 วันทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 125 ราย จึงน่ากังวล แต่ไม่ควรวิตกสะพรึงกลัว

 

 

เชื้อไวรัสฝีดาษลิง เป็นโรคระบาดท้องถิ่น พบเป็นครั้งแรกในลิงทดลองเมื่อปี 2501 (ค.ศ.1958) และแพร่กระจายจากลิงไปสู่สัตว์ป่าและบางครั้งได้ระบาดไปสู่มนุษย์ แล้วพัฒนาการติดเชื้อแบบมนุษย์สู่มนุษย์ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ทางตอนกลางและทางฝั่งตะวันตกของแอฟริกา โดยพบมนุษย์ติดเชื้อครั้งแรกในปี 2513 (ค.ศ.1970) เป็นเด็กชายอายุ 9 ขวบ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศคองโก

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าทุก ๆ ปีมีผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงหลายพันรายในหลาย ๆ ประเทศในแอฟริกา โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศคองโก ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อปีละ 6,000 ราย และที่ไนจีเรียซึ่งมีผู้ติดเชื้อปีละประมาณ 3,000 ราย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้เนื่องจากการรายงานที่ไม่คงเส้นคงวาในประเทศต่าง ๆ

 

 

นอกจากนี้ ในบางครั้งยังมีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงนอกแอฟริกา ซึ่งรวมถึงในสหรัฐฯ และอังกฤษ โดยปกติแล้วการติดเชื้อดังกล่าวนี้มักเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกาหรือมีการสัมผัสจับต้องกับสัตว์ที่มาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้

 

คนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สิ่งคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้แต่มีโอกาสน้อยมาก ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังจากติดเชื้อแล้วประมาณ 12 วัน อาการป่วย ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และอ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย เมื่อเริ่มผิดสังเกตุจึงควรพบแพทย์ทันที

 

 

จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยมักเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่อาจทำให้เสียชีวิตได้ในอัตราส่วน 1 ใน 10 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่าอาการของโรคนี้จะรุนแรงกว่าในหมู่เด็ก ผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อควรกักตัว ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากสัมผัสจับต้องกับผู้ติดเชื้อ ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ

 

 

“ลิง”ต้นตระกูลไวรัสผีดาษ

เมื่อชื่อโรคระบาดลงท้าย “ลิง” ดังนั้น เดาได้ว่า ลิงเป็นสัตว์ต้นตระกูลให้เกิดโรค โดยสัตว์ตระกูลลิง ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคนี้เป็นพวกลิงโลกใหม่ ลิงโลกเก่า ลิงไม่มีหาง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด (หนู กระรอก prairie dog) กระต่ายสามารถติดเชื้อนี้ได้ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสัตว์ชนิดใดอีกบ้างที่สามารถติดโรคนี้ได้ อีกอย่างควรระมัดระวังสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงหลายชนิดอาจสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน

 

 

โรคฝีดาษลิงติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงระหว่างสัตว์ที่ติดเชื้อกับสัตว์ปกติ อาจสัมผัสกับรอยแผลบนผิวหนัง หรืออาจติดได้ทางการหายใจ อีกอย่างหลังได้รับเชื้อมักมีผื่นขึ้นอยู่นานประมาณ 4-6 สัปดาห์ และจะพบตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย บริเวณที่พบบ่อยที่สุด คือ ใบหน้า แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหาง เชื้อนี้มักไม่ทำให้สัตว์ตายแต่อาจพบการตายได้บ้างในลิงแรกเกิด ลิงบางตัวอาจจะติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการป่วยเลย

 

ในกระต่ายและสัตว์ฟันแทะรวมถึง prairie dog จะมีอาการเริ่มต้น คือ มีไข้ ตาแดง มีน้ำมูก ไอ ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึม และไม่กินอาหาร หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นและตุ่มหนองขึ้นตามตัว ร่วมกับมีขนร่วงเป็นหย่อมๆ ในสัตว์บางชนิดเชื้ออาจทำให้ปอดบวมและตายได้ ดังนั้น ควรแจ้งสัตวแพทย์ทันที

 

ในบางครั้งยังมีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงนอกแอฟริกา ซึ่งรวมถึงในสหรัฐฯ และอังกฤษ โดยปกติแล้วการติดเชื้อดังกล่าวนี้มักเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกาหรือมีการสัมผัสจับต้องกับสัตว์ที่มาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้

 

 

การติดเชื้อฝีดาษลิงนอกแอฟริกานั้น ในปี 2546 (ค.ศ.2003) มีผู้ป่วย 47 รายในสหรัฐฯ ที่ได้รับการยืนยันหรือน่าจะเป็นไปได้ว่าเป็นโรคฝีดาษลิง โดยพวกเขาได้รับเชื้อไวรัสจาก “แพร์รี่ด็อก” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะคล้ายกับหนูที่ติดเชื้อมาสัตว์ขนาดเล็ก ๆ ที่นำเข้ามาจากประเทศกานา

 

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดในหมู่คนที่ไม่ได้เดินทางไปแอฟริกา ซึ่งการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหมู่ชายรักร่วมเพศ ที่ยุโรปมีรายงานการติดเชื้อในประเทศอังกฤษ อิตาลี โปรตุเกส สเปน และสวีเดน แล้วกระจายไปทั่ว ลุกลามไปแล้วกว่า 27 ประเทศทั่วโลก

 

เฝ้าระวังอาการเข้าข่ายสงสัย

สำหรับอาการฝีดาษลิงที่เข้าข่ายสงสัยจะต้องเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยง ซึ่งกำลังระบาด คือ มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส หรือ มีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต ประกอบกับมีผื่นกระจายตามลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด

 

 

ดังนั้น ในยามเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวให้เข้าไทยอย่างเปิดกว้างเสรี จึงควรเฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยง และสังเกตุอาการของโรคฝีดาษลิงใน 21 วัน โดยช่วงสุดท้ายจะมีตุ่มหนอง ผื่นผุดขึ้นทั่วร่างกาย

 

ข้อแตกต่างระหว่างฝีดาษลิงและฝีดาษ (ทั่วไปไม่มีลิง) พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้สังเกตุว่า ในฝีดาษทั่วไปจะไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต แต่ในฝีดาษลิงจะเกิดขึ้นภายใน 1-3 วัน หลังจากมีอาการป่วย จะเริ่มมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้าแล้วลามไปที่ผิวหนังส่วนอื่น จากนั้นผื่นจะนูนขึ้นเป็นตุ่ม แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแตกออกเป็นสะเก็ดในที่สุด การดำเนินโรคจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10 สาเหตุจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในปอด การขาดน้ำและภาวะสมองอักเสบ

 

ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการใช้การตรวจด้วยวิธี PCR ของเหลวจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง รักษาโดยให้ยาต้านไวรัส cidofovir, Tecovirimat และ brincidofovir ปัจจุบันมีวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกา คือ JYNNEOS ส่วนวิธีการป้องกันเบื้องต้น ให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล งดรับประทานของป่าหรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มาจากพื้นที่เสี่ยงหรือสัตว์ป่าป่วย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ

 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top