skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ปลุก Test And Go อีกครั้ง ร้านอาหารดื่มเหล้าถึง 5 ทุ่ม

ปลุก Test and Go อีกครั้ง ร้านอาหารดื่มเหล้าถึง 5 ทุ่ม

ปลุก Test and Go อีกครั้ง

ร้านอาหารดื่มเหล้าถึง 5 ทุ่ม

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เปิดเผยผลประชุมเมื่อ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน ซึ่งมีมติสำคัญ คือ ขยายระยะเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักรอีก 2 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-31 มี.ค. 2565)

 

นอกจากนี้ เห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 2565 โดยลดพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จาก 69 จังหวัดเหลือ 44 จังหวัด และเพิ่มพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) เป็น 25 จังหวัด ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ นครพนม นครสวรรค์ นราธิวาส บึงกาฬ ปัตตานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ยะลา ลำปาง ลำพูน เลย สกลนคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

 

 

ส่วนพื้นที่สีฟ้านำร่องการท่องเที่ยวยังเป็น 8 จังหวัดตามเดิม คือ กรุงเทพ กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา และภูเก็ต

 

สำหรับมาตรการรองรับการปรับสีในพื้นที่ต่างๆ อย่างพื้นที่สีส้ม ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนมากกว่า 500 คน พื้นที่สีเหลืองให้มีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมมากกว่า 1,000 คน ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว จัดกิจกรรมรวมกลุ่มตามความเหมาะสม

 

ขณะที่การใช้อาคารสถานที่ในพื้นที่สีส้มและสีเหลือง ให้ใช้ได้เพื่อจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติภายใต้มาตรการ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเสนอแนะว่า 3 หมื่นกว่าโรงเรียน เปิดไปแล้วเกือบ 1.8 หมื่นโรงเรียน ยังมีอีกกว่าหมื่นโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนใหญ่ นักเรียนเป็นหลักพันยังไม่สามารถเปิดได้ จากการเว้นระยะห่างของนักเรียนในชั้น จึงเป็นข้อจำกัด เพราะพื้นที่มีจำกัด ผอ.ศบค.จึงให้ไปหารือมาตรการเพื่อให้นักเรียนกลับมาเปิดเรียนได้เหมือนเดิม ซึ่งการใช้ชุดตรวจ ATK ในบางช่วงเวลาโดยไม่เป็นภาระเกินไปก็อาจช่วยได้

 

ขยายร้านอาหารดื่มเหล้าถึง 5 ทุ่ม

ศบค.เห็นชอบปรับพื้นที่สีสถานการณ์โควิด เดิมสีส้มทั้งหมด ปรับลดระดับเหลือ 44 จังหวัด สีเหลือง 25 จังหวัด พื้นที่ท่องเที่ยว 8 จังหวัด ส่วนมาตรการอนุญาตดื่มเหล้าในร้านอาหารปรับจาก 3 ทุ่ม เป็น 5 ทุ่ม

 

 

“ส่วนมาตรการการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร เดิมให้ดื่มได้ถึง 21.00น. แต่มีการร้องขอจากผู้ประกอบการขอขยายเวลา โดยมีการพิจารณาขยายไม่เกิน 23.00น. ในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

ที่สำคัญยังต้องมีการจำกัดประเภทร้านอาหารที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น และต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting หากไม่ปฏิบัติต้องดำเนินการตามกฎหมาย

 

 

สำหรับมาตรการสถานประกอบการ ที่เป็นสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ต้องการปรับเป็นร้านอาหาร ได้มีการปรับมาตรการโดยให้ขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กทม. ได้เมื่อมีความพร้อมโดยไม่กำหนดระยะเวลา จากเดิมต้องขออนุญาตก่อนวันที่ 15 ม.ค.2565

 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง โดยปัจจุบันให้คำนิยาม ดังนี้ ผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือไม่ได้ใส่ PPE ตามมาตรฐานตลอดช่วงเวลาที่มีการสัมผัส และใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เข้าข่ายหรือยืนยันในวันเริ่มป่วย หรือก่อนมีอาการ 2-3 วัน หรืออยู่ใกล้และมีการพูดคุยกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้เข้าข่ายในระยะ 2 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามจากผู้ป่วย นอกจากนี้ อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเทมากนัก ร่วมกับผู้ป่วยนานกว่า 30 นาที

 

“ส่วนเรื่องการกักตัวผู้เสี่ยงสูงขณะนี้ให้กักตัวเหลือ 7 วัน ตรวจ ATK ครั้งที่ 1 วันที่ 5 และ 6 หลังสัมผัสใกล้ชิดให้ตรวจอีกครั้ง จากนั้นสามารถออกไปดำเนินชีวิตปกติได้ แต่ต้องสังเกตอาการ จากนั้น 3 วันให้ตรวจหาเชื้ออีกครั้ง”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

ไฟเขียว Test and Go อีกครั้ง

สำหรับการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิดกรณีการเดินทางเข้าราชอาณาจักรในระบบ Test and Go โดยที่ผ่านมาผู้เดินทางเข้ามามีคนลงทะเบียนประมาณ 3 แสนคน แต่เข้ามาจริงประมาณ 30% ของผู้ได้รับอนุมัติ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปรับช่วงเวลาการขอเข้าราชอาณาจักรใหม่ โดยให้เริ่มขอขึ้นทะเบียนใหม่ได้ตั้งแต่ 1 ก.พ.2565 ในทุกประเทศ แต่ต้องจองโรงแรมในการพักวันที่ 1 และวันที่ 5 และต้องตรวจ RT-PCR ที่พักวันแรกและวันที่ 5 รวมเป็น 2 ครั้ง ต้องมีหลักฐานตั้งแต่ลงทะเบียนเข้ามา มีหลักฐานการชำระเงิน และต้องจ่ายเงินเองทั้งค่าโรงแรมและ RT-PCR

 

รวมถึงเรื่องประกันต้องครอบคลุม เพราะที่ผ่านมาพบค่าห้อง ค่ารักษา หรือจำนวนวันมาอยู่ไม่เพียงพอ และต้องรวมถึงการเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงด้วย ต้องให้ครอบคลุมด้วย หากระบาดมากขึ้นจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์กลับมาใช้แซนด์บ็อกซ์แทน และต้องมีระบบติดตามตัวในการมาตรวจวันที่ 5 มีระบบแจ้งถ้ายังไม่เช็กอินเข้าโรงแรมนี้ ผู้ที่เป็น Manager ต้องติดตามตัวให้เจอ ให้มาพักวันที่ 5 เพื่อตรวจรอบที่ 2 ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอชนะเพื่อติดตามตัวให้ได้

 

 

ส่วนแซนด์บ็อกซ์ให้มีเพิ่มขึ้นที่ ชลบุรี อ.บางละมุง พัทยา ศรีราชา เกาะสีชัง สัตหีบ (เฉพาะตำบลนาจอมเทียนและบางเสร่) , ตราด (เกาะช้าง) การเปิดพื้นที่เดินทางเชื่อมโยงในกลุ่มภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย พะงัน เกาะเต่า) ในช่วง 7 วันที่ต้องพำนักในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว และต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับในนักท่องเที่ยวทุกคนว่าไปไหนมา

 

 

แผนวัคซีน 65 เร่งฉีดเด็ก-กระตุ้นแหล่งท่องเที่ยว

การบริการให้วัคซีนโควิดที่ผ่านมาเป็นไปตามเป้าหมาย ครอบคลุม 72.1% ของประชากร เดิมตั้งไว้ 72 ล้านคน แต่มีการปรับฐานประชากรนับให้ตรงกัน จึงเอาฐานประชากรจากสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ตามสิทธิรักษาข้อมูลจังหวัด และตามสิทธิรักษา สปสช. ตัวเลขยอมรับคือ 68.6 ล้านคน รวมและไม่มีสิทธิรักษาทั้งสัญชาติไทยและไม่ใช่สัญชาติไทยอีก 0.96 ล้านคน รวม 69.6 ล้านคน น้อยกว่าเดิม 2 ล้านคน

 

ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนมี 4 แผน คือ 1) การฉีดวัคซีนกลุ่มเด็ก 5-11 ปี วัคซีนไฟเซอร์โดสเด็กกำลังเข้ามา ล็อตแกรปลายเดือนนี้ 2) แผนรณรงค์เร่งรัดวัคซีนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวในเข็มกระตุ้น ห่างจากเข็มก่อนหน้าสามเดือน 3) แผนการส่งคืนวัคซีนแลกเปลี่ยนต่างประเทศ คือสิงคโปร์และภูฏานที่ยืมมา และ 4) การบริจาควัคซีนให้แก่ต่างประเทศ ส่วน ก.พ. จะมีวัคซีนบริหารจัดการรวม 11.6 ล้านโดส

 

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิดในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สำหรับแผนการรณรงค์เร่งรัดการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดในจังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยวและพื้นที่ระบาด เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี กาญจนบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร จำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน

 

โดยจะกระจายจุดฉีดให้ทั่วถึงในทุกจังหวัด มีจุดฉีดที่ระดับ รพ.สต./คลินิกเวชกรรม โดยมีวัคซีนพร้อมในทุกพื้นที่ รวมถึง รพ.สต. (ตอนนี้ได้จัดส่งวัคซีนให้พื้นที่แล้วประมาณ 1 ล้านโดส) และมีสูตรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3 ดังนี้

 

  • หากเข็มที่ 1-2 เป็น ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม-แอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 3 ต้องเป็น แอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่าง 3 เดือนขึ้นไป หลังเข็ม 2
  • หากเข็มที่ 1-2 เป็น แอสตร้าเซนเนก้า-แอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 3 ต้องเป็น ไฟเซอร์ ระยะห่าง 3 เดือนขึ้นไป หลังเข็มที่ 2

 

ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 4 วางแผนบริหารดังนี้

  • หากวัคซีนเข็มที่ 1-2 เป็น ซิโนแวค-ซิโนแวค เข็มที่ 3 เป็น แอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 4 ต้องเป็น แอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่าง 3 เดือนขึ้นไป หลังเข็มที่ 3
  • หากวัคซีนเข็มที่ 1-2 เป็น ซิโนแวค-ซิโนแวค เข็มที่ 3 เป็น ไฟเซอร์ เข็มที่ 4 ต้องเป็น ไฟเซอร์ ระยะห่าง 3 เดือนขึ้นไป หลังเข็มที่ 3

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top