skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ของไทย บรรลุผลที่ลาว  โดย ปัทมา วิไลเลิศ

ปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ของไทย บรรลุผลที่ลาว โดย ปัทมา วิไลเลิศ

ภาพผลผลิตจาก SEP (ซ้าย) และผู้เยี่ยมชมสหภาพยุโรปกับ จิตตะกอน สีสานน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง (ขวา) เครดิต: วิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง

 

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของไทยในปี พ.ศ. 2540 ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตรัสกับพสกนิกรว่าแทนที่จะสร้างโรงงานเพื่อเป็นเสือแห่งเอเชีย สิ่งสำคัญสำหรับคนไทยคือให้ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงการมีให้พอเลี้ยงตัวเองได้” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตรัส [1] และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หมู่บ้านในประเทศไทยกว่า 23,000 แห่งได้ในนำทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจนี้มาปรับใช้ และทฤษฎีนี้กำลังเป็นที่รู้จักในประเทศลาว-เพื่อนบ้านของไทย

ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ในวิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง ตั้งอยู่ห่างจาก “ตลาดเช้า” ที่พลุกพล่านในเวียงจันทน์เพียง 13 กม.

ศูนย์การเรียนรู้ฯประกอบด้วยสถานีการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ การเพาะเลี้ยงปลา และการเลี้ยงสัตว์

“ในปัจจุบัน เวียงจันทน์ ค่อนข้างทันสมัย ทำให้​​มีคนทำงานในไร่นาน้อยลงและพื้นที่เกษตรกรรมก็ลดลงเช่นกัน” วิทิดา ศิวะเกื้อ, นักวิเทศสหการชำนาญการพิเศษ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กล่าวกับ IDN (InDepthNews)

ความเห็นของ วิทิดา สอดสอดคล้องกับการสำรวจในปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติลาว, กระทรวงการวางแผนและการลงทุน ซึ่งระบุว่า จำนวนเกษตรกรลาวลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “เกษตรกรลาวมีเปอร์เซ็นต์ลดลงจากร้อยละ 77 ของประชากรทั้งหมด [7 ล้านคน] ในปี 2553 เหลือร้อยละ 69 ในปี 2563 เนื่องจากชาวลาวจำนวนมากเลิกทำนาเพื่อมาเป็นแรงงานในเมือง”

เพื่อทำให้ภาคการเกษตรของลาวมีความยั่งยืน และเพื่อผลิตนักศึกษาด้านการเกษตร อันจะส่งผลให้สังคมการเกษตรของประเทศลาวดำรงอยู่ต่อไป จิตตะกอน สีสานน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้าง มีความมุ่งมั่นที่จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP)

เขาบอกกับ IDN ว่า เขามีความคิดที่จะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้นี้ ตั้งแต่เขามาศึกษาที่ประเทศไทย ในช่วงปี 2546-2549 และได้ไปเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ SEP 2-3แห่ง ซึ่งทำให้เขาคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในประเทศลาว เพราะทรัพยากรธรรมชาติของทั้งสองประเทศมีความคล้ายคลึงกัน

ความคิดของเขาได้กลายเป็นความจริงเมื่อ TICA เข้ามาเยี่ยมชมวิทยาลัยกสิกรรมดงคำช้างในปี 2550 “แนวทางการสอนของเราสอดคล้องกับแนวคิด SEP ผมจึงติดต่อ TICA เพื่อให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อให้อาจารย์ นักศึกษา และชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำการเกษตร ตามแนวทาง SEP” จิตตะกอน สีสานน ระบุ

วิทิดา กล่าวเสริมว่า “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเผชิญกับวิกฤติการเงิน (ของไทย) ในต้นทศวรรษ 2533 และรัฐบาลไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทย”

“ประเทศไทยเคยเป็นประเทศผู้รับ เราได้เรียนรู้มากมายในขณะที่ได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและความรู้จากประเทศอื่น ๆ และปรับให้เข้ากับบริบทของไทย ตั้งแต่ปี 2506 เรากลายเป็นเป็นประเทศผู้ให้ (สิ่งซึ่ง) เราเก่งในการพัฒนา (เรา) ก็สามารถถ่ายทอดให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้” เธอบอกกับ IDN ด้วยแววตาที่เปล่งประกาย

“ธีมหลักในการทำงานตามแนวคิด SEP คือ ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ ดังนั้น ก่อนที่เราจะแปลงแนวทาง SEP ให้เป็นโครงการ เราจะจัดการประชุมกับประเทศเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร เมื่อเราทราบแล้ว เราจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเทศไทยเพื่อพัฒนาโครงการร่วมกับเรา” วิทิดากล่าว

เศรษฐกิจพอเพียงมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความเหมาะสม และการมีภูมิคุ้มกันในตนเอง โดยมีเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ ความรู้และจริยธรรมที่เหมาะสม และคุณธรรม รวมถึงการนำความพอประมาณไปใช้อย่างสมเหตุสมผล คือ ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป ซึ่งเป็นแนวคิดแบบตะวันออกตามหลักทางสายกลางของชาวพุทธ

ทั้งนี้ ความเหมาะสมจะกำหนดให้สิ่งที่เราเลือกนั้นสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ กฎหมาย ค่านิยมทางศีลธรรม หรือบรรทัดฐานทางสังคม

ขณะเดียวกัน การมีภูมิคุ้มกันในตนเอง ถือเป็นความจำเป็นเพื่อรับมือต่อความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ด้วยการมีวิธีการบริหารความเสี่ยงที่ดี [2]

 

อนุสอน สายะวง เครดิต ภาพ: ปัทมา วิไลเลิศ

“ผมคิดว่า ผมเข้าใจว่า SEP คืออะไร” อนุสอน บอกกับ IDN ขณะที่กำลังดูแลวัวในศูนย์เรียนรู้ฯ “ครอบครัวของผมต้องการให้ผมเรียนที่นี่มากกว่าช่วยพวกเขาในไร่นาเหมือนคนอื่น ๆ และการได้เรียนที่นี่ก็คุ้มค่า เพราะผมได้เรียนรู้การวางแผนการผลิต และการทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งจำเป็นมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้ผลผลิตตามธรรมชาติไม่สามารถคาดเดาได้”

“ที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ นี้มีสะพานที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมพื้นที่สำหรับการเกษตรที่ทอดตัวอยู่ 2 ฝั่งของสะพาน ฝั่งหนึ่งเป็นบริเวณสำหรับสัตวบาลและอีกฝั่งสำหรับการดูแลพืช” อนุสอนอธิบาย “ผมมีหน้าที่ดูแลสัตว์ ผมจึงมาที่นี่ทุกเช้าเพื่อดูแลวัว และถ้าพวกมันป่วย ผมจะฉีดยาให้พวกมัน ส่วนเพื่อนร่วมชั้นเรียนของผมก็ทำงานในไร่อีกฝั่งหนึ่งเพื่อดูแลพืช”

จิตตะกอน อธิบายประเด็นของอนุสรณ์เพิ่มเติมว่า “จริง ๆ แล้ว ศูนย์การเรียนรู้ฯของเรามีสถานีการเรียนรู้ 22 แห่ง มาตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งแต่ละสถานีได้รับการออกแบบให้เข้ากับการเกษตรของประเทศลาว เช่น สถานีเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดและกบ และเมื่อเวลาผ่านไป เราก็ได้ดัดแปลงสถานีการเรียนรู้บางแห่งไปทำการปลูกพืชผัก ผลไม้ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด”

 

“เรายังได้เรียนรู้อีกว่า SEP ไม่ใช่แค่การผลิตผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการหาวิธีที่จะดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะทำให้ผลผลิตของเราสามารถจำหน่ายในตลาดที่กว้างขึ้น” จิตตะกอน กล่าวเสริม

“แคนตาลูปปลอดสาร เป็นสินค้าอันดับต้น ๆ ของเรา ที่เราปลูกไม่ทันกับความต้องการของตลาด” อนุสอน เล่าต่อ “เราขายแคนตาลูปได้ง่าย เพราะคนแถวนี้รู้ดีว่าผลผลิตของเราปลอดสารเคมี   และเราก็ประชาสัมพันธ์ในเพจ เมื่อขายแคนตาลูปได้ อาจารย์ที่สอนพวกเราจะเก็บเงินรายได้ไว้เป็นค่าใช้จ่ายของศูนย์เรียนรู้ฯ ผมเข้าใจว่า SEP เป็นแบบนี้ ” เขาบอกกับ IDN

วิสัยทัศน์ 2030 และยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 10 ปี (2016-2025) ของ ประเทศลาว ระบุว่า วิสัยทัศน์ของภาคการเกษตรในปี 2030 มีเป้าหมายอยู่ที่ “หลักประกันความมั่นคงทางอาหาร การผลิตสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพแข่งขันได้ และการพัฒนาเกษตรกรรมที่สะอาด ปลอดภัยและยั่งยืน แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจการเกษตรที่ทันสมัย ซึ่งมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาชนบทที่เอื้อต่อพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ”

เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์นี้ รัฐบาลลาวสนับสนุนเงิน 200,000 กีบ (11 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือนให้กับผู้ที่เรียนด้านการเกษตร ช่างไม้ ช่างโลหะ และก่อสร้าง แต่มีนักศึกษาเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ต้องการเรียนในสาขาเหล่านี้

หอมมาลา เพ็ญสีสานวง อาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว บอกเล่าความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ลดลงว่า “ตั้งแต่ปี 2562 จำนวนนักเรียน นักศึกษาในลาวลดลงถึง 38% ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัย โควิด-19 เป็นหนึ่งในสาเหตุและอีกประการหนึ่ง คือพ่อแม่ไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงส่งเสียบุตรหลาน” เธอกล่าว

จิตตะกอน เห็นด้วย กับหอมมาลา เขาระบุว่า “ปัจจุบันค่าครองชีพในลาวสูงมาก เนื่องจากเงินเฟ้อ แม้ว่าธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจะให้เงินกู้ผ่านรัฐบาลของเรา แต่ก็มีไม่กี่คนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินกู้ ผมจึงพยายามทำให้ศูนย์การเรียนรู้ฯ มีความยั่งยืน เพื่อที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับอาจารย์และนักศึกษาในระยะยาวได้บ้าง”

“ทุกปีๆ ศูนย์การเรียนรู้ฯแห่งนี้ต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมจากองค์กรพัฒนาต่าง ๆ จำนวนมาก ขณะนี้ เรากำลังทำงานร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในการฝึกอบรมด้านการตลาดให้กับอาจารย์ของเรา หลังจากการฝึกอบรม เราหวังว่าจะทำการตลาดผลผลิตของเราทางออนไลน์ และเรายังติดต่อกับธนาคารโลก เพื่อขอทุนสนับสนุนในสร้างร้านขายของหน้าศูนย์ฯ และในปี 2568 เราจะเปิดศูนย์ฯ ให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม ด้วยการทำสิ่งเหล่านี้ ศูนย์การเรียนรู้ฯ และชีวิตของพวกเราจะดำรงอยู่ได้” จิตตะกอน บอกกับ IDN

วิทยาลัยเทคนิคกสิกรรมดงคำช้างไม่ใช่สถาบันเดียว ที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) มาปรับใช้ ในปัจจุบัน ยังมีศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อีก 4 แห่งกระจายอยู่ในประเทศลาว ที่แขวง อัตตะปือ บ่อแก้ว คำม่วน และ ไชยบุรี

“ประเทศลาวไม่แตกต่างจากไทยในด้านภาษาและวัฒนธรรม จึงทำให้แนวทาง SEP บรรลุผลได้” วิทิดากล่าว นอกจากลาวแล้ว ประเทศติมอร์-เลสเต ยังนำแนวทาง SEP ไปใช้ในภาคการเกษตรด้วย “เกษตรกรไทยสอนผู้นำการเกษตรชาวติมอร์เกี่ยวกับวิธีการใช้ SEP ในฟาร์มของพวกเขา และตอนนี้พวกเขาสามารถฝึกอบรมเกษตรกรได้ด้วยตัวเอง นี่คือภารกิจของ TICA ที่จะทำให้แนวคิดด้านการพัฒนากลายเป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ” [IDN-InDepthNews]

 

 

[1] Thailand Human Development Report 2007; Sufficiency Economy and Human Development(PDF). Bangkok: United Nations Development Program (UNDP). 2007

[2] Philosophy of Sufficiency Economy – https://thaiembassy.se/en/monarchy/philosophy-of-sufficiency-economy/

 


Back To Top