ปตท.ดันวัคซีนทางเลือก ปรับตัวขยายเพิ่มธุรกิจยา
ปตท.ดันวัคซีนทางเลือก
ปรับตัวขยายเพิ่มธุรกิจยา
ปรากฎการณ์ “ซิโนฟาร์ม” ปลุกความหวังการกระจายวัคซีนของไทยครั้งสำคัญ หน่วยงานภาครัฐ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และกลุ่มธุรกิจเอกชน ประกาศจองคิวซื้อล็อตแรกที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้า 1 ล้านโดสในเดือนมิถุนายนนี้อย่างแน่นขนัด
ขณะที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ประกาศจอง 500,000 โดสตั้งแต่คิวแรกๆ พร้อมถูกเลือกเป็น “ต้นแบบ” กระจายวัคซีนซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะนำไปปฏิบัติต่อ อบจ.จังหวัดอื่นอีกจำนวน 62 อบจ.ที่รอคิวการซื้อซิโนฟาร์มในล็อตต่อๆไปเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่า ต้องใช้วัคซีนมากถึง 20 ล้านโดสมาบริการความต้องการซื้อ
ส่วนภาคเอกชนมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จองซื้อ 300,000 โดส นอกจากนี้กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประกาศซื้อเช่นกัน แต่ยังไม่ระบุจำนวน ดังนั้น ดูเหมือนการนำเข้าล็อตแรก 1 ล้านโดสแทบหมดลงในเวลารวดเร็ว
วัคซีนซิโนฟาร์ม เป็น”วัคซีนเชื้อตาย” มีประสิทธิภาพประมาณ 78.1% ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จึงเป็นวัคซีนของรัฐบาลจีน และได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เรียบร้อยแล้ว โดยผู้รับการฉีดต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 60 ปี ฉีดจำนวน 2 โดส (2 เข็ม) หางกันประมาณ์ 3-4 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มนั้น มี ปตท.ได้ร่วมบุกเบิกจัดหาวัคซีนทางเลือกกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อนำมาบริการประชาชน โดยมีเงื่อนไขต้องผ่านองค์กรหรือหน่วยงานรัฐและเอกชน ซื้อไปฉีดฟรีให้กับบุคลากรและประชาชนในพื้นที่
“ปตท.ได้เข้าไปร่วมมือกับราชวิทยาลัยฯเพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกมาให้ประชาชน ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ได้เข้ามร่วมกัน เพราะเชื่อว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยบรรเทาปัญหาโควิดได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันหลังจากเมื่อปริมาณวัคซีนเริ่มเข้ามาจำนวนมาก จะต้องมีรูปแบบการกระจายวัคซีนให้เร็วและทั่วถึง ซึ่งปตท.ก็พร้อมจะช่วยเหลือในการจัดหาสถานที่ เป็นจุดให้บริการวัคซีนด้วย” นายอรรถพล กล่าว
อีกทั้ง ในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ ปตท.ผู้นำในธุรกิจพลังงานก็จำเป็นต้องปรับตัวเช่นกัน ดังนั้น การบุกเบิกและซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม ย่อมสอดคล้องกับแผนขยายธุรกิจ ปรับตัวองค์กรในอนาคต
นายอรรถพล กล่าวถึงการจองซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า เป็นการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพื่อช่วยบรรเทาภาระและงบประมาณให้กับรัฐบาล ในการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ดังนั้นหากเร่งการฉีดได้มากเท่าไหร่จะเป็นเรื่องที่ดี
ส่วนการปรับตัวของ ปตท.นั้น นายอรรถพล กล่าวว่า แผนการลงทุนระหว่างปี 2564-2568 วางไว้ 8.51 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการขยายธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับไออาร์พีซี ตั้งบริษัท Innopolymed สร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขยายพอร์ตธุรกิจยา โดยมีบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ดำเนินการ ส่วนธุรกิจอาหาร ล่าสุดได้ร่วมทุนกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่าย เพื่อเจาะตลาดผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชแบบครบวงจร
“ล่าสุดปลายเดือนมิถุนายนนี้ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งร่วมทุนกับ Lotus บริษัทยาแห่งไต้หวัน เตรียมนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง จำนวน 2 พันขวด เพื่อบริจาคให้รัฐบาลไทยและนำไปบริหารจัดการในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศไทยนำเข้ามาแล้ว 4 พันขวด ยังมีความจำเป็นต้องใช้อีกมาก”
ทั้งนี้ การซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ “Lotus Pharmaceutical Company Limited” หรือ “Lotus” (เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน) จํานวน 17,517,348 หุ้น ที่ราคา 80.7 เหรียญไต้หวันใหม่ต่อหุ้น คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (กว่า 1,564 ล้านบาท) ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 อนุมัติให้ “บริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง จํากัด” ซึ่งถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จํากัด (บริษัทย่อยของ ปตท.) เข้าทำการซื้อหุ้นดำเนินการ
สำหรับ “Lotus” ดําเนินธุรกิจหลักในการคิดค้นพัฒนา (R&D) ผลิตและจําหน่ายยา โดยมุ่งเน้นยาสามัญ (Generic drugs) ที่ครอบคลุมหลายกลุ่มโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง และโรคระบบประสาท ดังนั้น การลงทุนครั้งนี้จะทําให้ ปตท. สามารถต่อยอดและขยายการลงทุนไปยังตลาดยาต้านมะเร็งวิทยาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยในภูมิภาคดังกล่าวสามารถเข้าถึงยาสามัญได้มากขึ้น
สิ่งสำคัญ การปรับตัวขยายธุรกิจในช่วงโควิดระบาดรุนแรงนี้ ปตท.จึงมีความจำเป็นเร่งฉีดวัคซีนให้บุคลากรขององค์กร ร่วมทั้งการเปิดธุรกิจใหม่ด้านยาและผลิตภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งการบุกเบิกช่องทางนำเข้าวัคซีนทางเลือกมาบริการฟรีประชาชนโดยผ่านองค์กรรัฐและเอกชนนั้น อีกทั้งการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจยาที่ออกนอกสายธุรกิจพลังงานจึงน่าสนใจและต้องจับตาในยุคโควิดระบาด
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv